ภาพการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 จากแฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
Posted: 11 Nov 2018 01:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-11-11 16:23
รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เรียกร้องยกเลิกข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองเพื่อให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม เปิดกว้างให้องค์กรต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งควรให้ UN ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
11 พ.ย. 2561 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมากต่ออนาคตของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของสังคม คุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีหรือเศรษฐกิจของประชาชน พวกเราประชาชนชาวไทยจึงต้องร่วมกับองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมาย เป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เป็นกลไกที่ให้ทุกฝ่ายยอมรับและสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ อุปสรรคและความยากลำบากของประเทศและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ก็คือเรากำลังมีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้สร้างระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยขึ้นมาหลังการเลือกตั้ง และภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง มีการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวและไม่มีที่ใดในโลกซึ่งจะทำให้เสถียรภาพของระบบการเมืองไทยมีปัญหาในอนาคต อย่างไรก็ตามการมีการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมดีกว่าการอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร
ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจึงต้องช่วยกันทำให้ “การเลือกตั้ง” ได้รับการยอมรับให้เป็นกติกากลางของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่สามารถสร้างเงื่อนไขทุกฝ่ายยอมรับกติกาการเลือกตั้ง รัฐประหารจะเกิดอีกเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าการเลือกตั้งกลายเป็นกติกาหลัก ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหรือฝ่ายใดขึ้นสู่อำนาจ ไม่ว่าจะมีความเชื่อหรืออุดมการณ์หรือผลประโยชน์แตกต่างหลากหลายกัน อย่างไรก็ตามแต่ทุกคนอยู่บนกติกาอันเดียวกัน คือ ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม ความเสี่ยงในการเกิดรัฐประหารในอนาคตจะลดลงมาก และสังคมไทยจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงได้ เมื่อประเทศมีประชาธิปไตยที่มั่นคงย่อมเป็นพื้นฐานของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่าเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นทางออกของประเทศ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ขอเรียกร้องยกเลิกข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองเพื่อให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยก่อนการเลือกตั้ง และหยุดการดำเนินคดีกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ปลดล็อคทางการเมืองให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ชี้แจงนโยบายและรณรงค์การเลือกตั้งอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาและความคิดเห็นเพื่อพรรคการเมืองสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยกลไกการบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต
2.การเปิดกว้างให้องค์กรต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งควรให้ องค์กรสหประชาชาติหรือ UN ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผลการเลือกตั้งและจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ การแสดงเจตจำนงของสหภาพยุโรปหรืออียูในการส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งมาไทยเป็นเรื่องที่น่ายินดีและแสดงให้เห็นว่า อียูให้ความสำคัญต่อความเป็นประชาธิปไตยในไทยและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหารไปสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย กกต. และ รัฐบาล คสช. ควรเปิดกว้างและต้อนรับคณะสังเกตการณ์เลือกตั้งจากอียูเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อกระบวนการเลือกตั้งในไทย
3.คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ควรขอให้ คณะรักษาความสงบเรียบร้องแห่งชาติ หรือ “คสช.” ยกเลิกรายการเดินหน้าประเทศไทย (ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ) เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการชี้แจงนโยบายและสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้การเลือกตั้งมีความหมายและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างเต็มที่
4.รัฐบาล คสช. กกต. และ องค์กรอิสระทั้งหลายที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ต้องยึดถือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนทั่วทุกแห่งทั่วโลกไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบไหน โดยสิทธิมนุษยชนต้องครอบคลุมสิทธิพื้นฐาน 5 ประเภท คือ สิทธิพลเมือง (Civil Right) สิทธิทางการเมือง (Political Right) สิทธิทางสังคม (Social Right) สิทธิทางเศรษฐกิจ (Economic Right) สิทธิทางวัฒนธรรมและศาสนา (Cultural Right) มนุษย์ทั้งหลายรวมทั้งชาวไทยทุกคนนั้นเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา การคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ
5.ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้วางกติกาและกลไกจำนวนมากเอาไว้เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลดทอนอย่างมีนัยสำคัญ พลังการเมืองประชาธิปไตยต่างๆถูกกดปราบภายใต้คำสั่ง คสช. ทุกคนอันหมายถึงคนไทยทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน บุคคลใดๆ จะถูกทรมาน หรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้ ทุกคนย่อมเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใดๆอันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญา และจากการยุยงให้เลือกปฏิบัติดังกล่าว บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพละการไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผย จากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและการกระทำผิดอาชญาใดๆ ที่ตนถูกกล่าวหา
6.ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยการผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงกันอย่างทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้ง ความเป็นธรรม ภราดรภาพ สันติภาพ การปฏิรูปประเทศ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ความรุ่งเรืองก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน ปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ต้องพัฒนาร่วมกันไปโดยไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
7. “ประชาธิปไตย” มีลักษณะเป็นองค์รวมไม่แยกส่วน ประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมืองการปกครอง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม การพัฒนาให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบบูรณาการจะพัฒนาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้เช่นเดียวกับการจะปฏิรูป ประเทศของเราจะมีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชน และ ประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนในการกำหนดรัฐบาลและการเลือกตั้งจะต้องกลับคืนมาตามกำหนดเวลาซึ่งถูกเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว หลังการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยต้องผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นกว่าเดิม (Transition to better Democracy) ไม่ใช่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Transition to Non-Democracy) แปด ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องมือในการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของระบอบอำนาจนิยมและเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย
แสดงความคิดเห็น