Officer Trak S., Chicago Police Academy

ตำรวจนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ได้ชื่อว่าต้องรับมือกับงานหนักในการรักษาความปลอดภัยและจัดการกับปัญหาอาชญากรรมติดอันดับต้นๆของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันนครแห่งนี้มีโรงเรียนฝึกตำรวจที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกัน

วีโอเอ ภาคภาษาไทย มีจะพาไปรู้จัก ภารกิจและงานที่ท้าทายของครูฝึกตำรวจเชื้อสายไทยในศูนย์ฝึกตำรวจนครชิคาโก หรือ 'Chicago PD'

เจ้าหน้าที่ ‘ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์’ ครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโกรัฐอิลลินอยส์ หรือที่รู้จักว่า ‘Trak’ เป็นตำรวจชิคาโก พีดี เชื้อสายไทยคนเดียวได้รับคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นครูฝึกที่โรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก ศูนย์ฝึกตำรวจที่มีหลักสูตรเข้มข้นที่สุดอีกแห่งหนึ่งของอเมริกา

‘ตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่ เทรนนิง อคาเดมี หรือศูนย์ฝึกตำรวจ ทุกคนจะต้องเริ่มที่นี่หมด ก่อนหน้านั้นอยู่ฝ่ายสายตรวจ ในเขต 14 ดิสทริคท์ หรือ (เขตที่ 14 ทางตอนเหนือฝั่งตะวันตกของชิคาโก)ซึ่งที่ชิคาโกจะมีสถานตำรวจทั้งหมด 22 แห่ง อยู่สายตรวจมาหลายปีเหมือนกันครับ ก็ย้ายมาเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ (plainclothes) จะเป็น Tactical Unit ไม่ได้ขับรถที่ไม่มีป้ายตำรวจ ก็จะไม่รับเรียกการออกปฏิบัติงาน แต่จะทำงานด้านสืบสวนพวกแก๊งค์ พวกขายยา หรือกลุ่มอาชญากรรมต่างๆ’

ประสบการณ์จากการทำหน้าที่ตำรวจมาโชกโชน และผลงานที่โดดเด่น รวมทั้งการพัฒนาทักษะและความรู้อยู่เสมอ คือคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ ตระกูลรักษ์ ก้าวขึ้นมาเป็นครูฝึกตำรวจฝรั่งในนครชิคาโกได้สำเร็จ

‘จริงๆแล้วก่อนผมจะมาอยู่ชิคาโก ผมไปลองทำงานอยู่นอกเมือง เมืองเล็กๆประชาชนราวๆ 50,000 คน แต่ตอนนั้นเด็กรุ่นใหม่ๆไฟแรง ถ้าอยากเป็นตำรวจจริงๆก็ต้องไปอยู่เมืองใหญ่ ผมก็เลยเข้ามาอยู่ชิคาโก เพราะผมก็โตที่นี่อยู่แล้ว เรียนตั้งแต่ระดับประถมฯ มัธยมฯ ที่นี่ พอจบปริญญาตรีด้านธุรกิจก็มาสอบเข้าตำรวจ พอเข้ามาอยู่สักพักก็ชอบ ขอบงานตำรวจชอบได้รู้ได้เห็น ก็เลยไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)’

Officer Trak S., Chicago Police Academy


หน้าที่หลักของ ครู 'Trak' แห่ง 'Chicago PD' นอกจากจะเป็น 'ฝ่ายบู๊' ในการฝึกยุทธวิธีและทักษะการต่อกรกับคนร้ายแล้ว ยังมีหน้าที่เป็น 'ฝ่ายบุ๋น' ที่ช่วยออกแบบหลักสูตรการฝึกตำรวจชิคาโก และเป็นตัวแทนของ Chicago PD ที่จะให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาความเหมาะสมการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในแต่ละสถานการณ์

‘..เพราะว่าตัวผมเองจะไปหาข้อมูล จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ หน่วยงานสำนักบังคับคดีอาญาของสหรัฐฯ (U.S. Marshall) หรือจากองค์กรอื่นแล้วจะมาวิเคราะห์ว่า อันไหนที่เรานำมาฝึกแล้วปลอดภัยสำหรับเรา ปลอดภัยสำหรับประชาชนเรา ความรับผิดขอบของผมอีกอย่างคือผมต้องเขียน แผนการ license plan ด้วย..’

Chicago Police Academy


‘ช่วงปีนี้ผมจะเป็นตัวแทนของตำรวจชิคาโกไปขึ้นศาลถ้าเกิดมีการฟ้องร้องกัน มีตำรวจยิงประชาชนแล้วมีการฟ้องร้อง ทางศาลก็จะหาคนที่มีทักษะพิเศษด้านกฎการใช้กำลัง (Use of Force)มาให้ความเห็นกับคณะลูกขุน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กำลังตามสมควร หรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจที่เขาเลือก เพราะเป็นทักษะพิเศษที่ผมถนัดมากที่สุด’

แม้จะได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ แต่ความท้าทายสำคัญของการเป็นครูฝึกเชื้อสายไทยเพียงคนเดียวในโรงเรียนตำรวจชิคาโก คือการมุ่งพิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถ

‘การเป็นอาจารย์เนี่ย เราต้องรู้เต็มร้อย และยิ่งถ้าเป็นเอเชียตอนที่ผมมาครั้งแรกถือว่าเป็นเอเชียคนแรก ขณะที่คนไทยนั้น ในจำนวนตำรวจชิคาโกที่มีอยู่ราว 13,000 นายนั้นมีคนไทยที่รวมผมด้วยอยู่ประมาณ 10 นาย ที่พูดภาษาไทยได้มีประมาณ 3-4 คน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจที่เป็นคนเอเชียคนแรกในศูนย์ฝึกตำรวจชิคาโกแห่งนี้’

ติดตามเรื่องราวของ เจ้าหน้าที่ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ ครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเชื้อสายไทยในศูนย์ฝึกตำรวจนครชิคาโก ที่หันมาประสานความร่วมมือ ใช้ความรู้ทักษะและความสามารถเดินทางมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนให้กับครูฝึกตำรวจในเมืองประเทศไทยในรายงานตอนที่ 2



source ;- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=065999459708214970


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.