Posted: 25 Jul 2017 01:52 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


คำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม อาจได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในกระบวนการยุติธรรมของไทยที่สามารถเอาผิดขบวนการค้ามนุษย์ที่มีลักษณะเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติที่มีจำเลยมากกว่าร้อยคน แต่ก็นั่นแหล่ะ ยังคงมีคำถามถึงการขยายผล การติดตามผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีกกว่าครึ่งร้อย กระบวนการพิจารณาคดีที่ปิดลับ โดยเฉพาะเมื่อสืบถึงพลโทมนัส อีกหลายคำถามที่อาจมีคนสนใจหาคำตอบน้อยลงไปเรื่อยๆ นอกเหนือจากการอุทธรณ์ทางกฎหมายที่ยังต้องสู้กันต่อไป การสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาและความท้าทายที่ยังคงปรากฎอยู่ต่อหน้าพวกเรา อย่างน้อยมีเรื่องใหญ่ที่ควรได้รับการพิจารณาทบทวนอย่างจริง รวมถึงการจัดการกับความท้าทายที่ยังคงรอเราให้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไข คือ หนึ่งการให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงจัดการกับการเคลื่อนย้ายของผู้ในพื้นที่ชายแดนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นนั้นมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ และสองการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายชาวโรฮิงญาเกือบสองร้อยคน ที่ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน


ปัญหาของยุทธศาสตร์การจัดการคนเคลื่อนย้ายบนแนวคิดความมั่นคง

คำพิพากษาในคดีนี้ได้แสดงให้เห็นรายละเอียดของปรากฎการณ์การดำเนินนโยบายลับของหน่วยงานความมั่นคงภายใต้ข้ออ้างความมั่นคงของชาติที่สอดคล้องกับขบวนการนอกกฎหมายในพื้นชายแดน ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจกลับแสวงหาผลประโยชน์จากทั้งงบประมาณของรัฐ เงินสนับสนุนหน่วยงานจากเอกชน และการเรียกผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่แสวงหาการปกป้องคุ้มครองจากบ้านเกิด ยุทธศาสตร์การจัดการคนหลบหนีเข้าเมือง แผนพิทักษ์อันดามันคือความล้มเหลว ระบบการจัดการคนเคลื่อนย้ายในพื้นที่ชายแดนที่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานความมั่นคงต้องได้รับการทบทวน การเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับปัญหาผู้อพยพทางทะเลโดยอาศัยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแสดงให้เห็นว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อต้องเผชิญกับการอพยพเคลื่อนย้ายที่แตกต่างไปจากอดีต แต่กระนั้นการใช้แนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้นก็ไม่ได้เพียงพอเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่มีสถานะเป็นคนไร้รัฐ เช่นชาวโรฮิงญา ซึ่งมีเงื่อนไขที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะ "ผู้ลี้ภัย" ที่ไทยยังไม่ระบบกฏหมายรองรับอยู่ในปัจจุบัน

การอพยพทางเรือของชาวโรฮิงญาจากพื้นที่ชายแดนเมียนมาและบังคลาเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ของไทยเริ่มพบกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อพยพทางเรือเข้ามาในประเทศไทยประมาณปี 2549 สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในบังคลาเทศ ประเทศที่เคยเป็นพักพิงชั่วคราวเมื่อชาวโรฮิงญาต้องหนีออกมาจากบ้านเกิดในประเทศเมียนมาในปี 2458 กลุ่มมุสลิมนิยมความรุนแรงบังคลาเทศก่อเหตุวางระเบิดขึ้นทั่วประเทศทำให้รัฐบาลบังคลาเทศเพิ่มมาตรการความปลอดภัยและควบคุมชายแดนของตนมากขึ้นเลยส่งผลให้ชาวโรฮิงญาไม่อาจใช้เส้นทางเดิมได้ ประกอบกับความพยายามของชาวบังคลาเทศที่ต้องการไปทำงานในมาเลเซียแต่ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าเดินทางได้ พวกเขาจึงเลือกใช้การลงเรือมุ่งสู่อ่าวเบงกอลเข้าสู่ทะเลอันดามันและขึ้นฝั่งที่มาเลเซีย การอพยพในเส้นทางทะเลจึงเกิดขึ้นโดยผสมผสานทั้งการแสวงหาโอกาศทางเศรษฐกิจในมาเลเซียและการหนีความตายในบ้านเกิดของตนเอง

จนกระทั่งปี 2555 เกิดการปะทะระหว่างชาวโรฮิงญากับชาวพุทธในรัฐยะใข่และได้ขยายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในหลายพื้นที่ในประเทศเมียนมา ชาวโรฮิงญาและมุสลิมอื่นๆ กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในบ้านเกิดของตนเอง หลายแสนคนยังคงอยู่ภายในค่ายพักชั่วคราวที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ทรัพย์สินบ้านเรือนถูกทำลายหรือถูกยึดเอาไป หลายร้อยคนถูกฆ่า การอพยพหนีจากบ้านเกิดจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ความต้องการหนีออกจากบ้านของชาวโรฮิงญาและความต้องการไปหางานทำในมาเลเซียของชาวบังคลาเทศได้รับการตอบสนองจากขบวนการผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดนของไทยที่ช่วยเหลือนำพาคนข้ามแดนผิดกฎหมายอยู่แล้วในพื้นที่ จึงทำให้คนที่อพยพเข้ามาทางเรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ.2555 สำนักงานข้าลวงใหญ่ประเมินว่าจำนวนคนที่ออกมาจากชายฝั่งระหว่างมิถุนายน 2555 จนถึงสิ้นปี 2557 มีจำนวน 83,000 คน[1] และในช่วงสามเดือนแรกของปี 2558 มีคนเดินทางออกมาเพิ่มเป็น 31,000 คน[2] ในกลุ่มคนจำนวนนี้จึงมีทั้งชาวบังคลาเทศ, ชาวโรฮิงญาจากบังคลาเทศ และชาวโรฮิงญาจากเมียนมา พวกเขาขึ้นเรือออกมาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ทั้งเพื่อไปหางานทำ หรือไปหาญาติ หรืออนาคตในมาเลเซีย หรือหนีความรุนแรง ความอดอยากออกมาโดยไม่ได้มีการคิดวางแผนอะไร รวมถึงบางคนถูกหลอก ถูกบังคับให้ขึ้นเรือมาเพื่อจะเอาไปขายเป็นแรงงานต่อทั้งในไทยและมาเลเซีย การอพยพทางเรือในมหาสมุทรอินเดียจึงแตกต่างไปจากการอพยพในพื้นที่ชายแดนอื่นๆ ที่ไทยเคยพบมาก่อน แนวทางการจัดการที่อิงบนกรอบความมั่นคงและมองผู้อพยพกลุ่มนี้เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ไทยจะดำเนินการ “ให้ความช่วยเหลือและผลักดัน” ออกนอกราชอาณาจักรจึงกลายเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่เป็นการสนับสนุนกระบวนการผิดกฏหมายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่มีใครทราบ

การดำเนินการตามนโยบายในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ พ.ศ.2555 โดยเน้นการป้องกันการเข้ามาใหม่ที่นำไปสู่แนวทางปฏิบัติ “ช่วยเหลือให้ไปต่อ”ทั้งทางน้ำในช่วงก่อนปี 2555 และทางบกในช่วงหลังจากนั้นของหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้อำนาจนอกเหนือไปจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยมอบหมายให้ทั้งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) รวมถึงกองทัพโดยเฉพาะกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการ

ภายในยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ สภาความมั่นคงแห่งชาติจะรับผิดชอบการจัดการปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อยูในประเทศ และกองทัพไทยรับผิดชอบในการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้ามาใหม่ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่และอำนาจตามกฎหมายที่แตกต่างจากการดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กองทัพไทยจึงกลายเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องเผชิญกับการหลบหนีเข้ามาทางทะเลของคนไร้รัฐชาวโรฮิงญา ภายใต้แนวทางปฏิบัติของตนเองที่ไม่ได้อยู่ภายในกฎหมายคนเข้าเมือง คนไร้รัฐชาวโรฮิงญาได้เผชิญกับการ "ช่วยเหลือให้ไปต่อ หรือ Help on" ทั้งทางทะเลก่อนที่ชาวโรฮิงญาจะเข้ามาถึงชายฝั่ง และทางบกเมื่อพวกเขามาถึงชายฝั่งแล้ว

ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศศป.2 กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาคนต่างหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น"ศูนย์ประสานงานปฏิบัติการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา" หรือ ศปป.ร.ญ. เพื่อรับผิดชอบการดำเนินการเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนย่อย 1 (กอ.รมน. ภาค 4 สย.1 ) จังหวัดระนองเป็นหน่วยงานหลักในระดับพื้นที่ในการปฏิบัติการตามแผนพิทักษ์อันดามัน

การดำเนินการของ พลโทมนัส คงแป้น จึงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีกอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และ พลโทมนัส คงแป้น เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่สำคัญคือจังหวัดระนองที่เป็นรอยต่อระหว่างไทยกับเมียนมา ฉะนั้นหากว่าพลโทมนัสจะเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่รับเงินจากขบวนการนอกกฎหมายก็ตาม แต่สิ่งที่พลโทมนัสจะดำเนินการก็ยังคงเป็นสิ่งเดียวกันที่ขบวนการนอกกฏหมายทำคือการนำพาผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้ามาทางทะเลจากชายฝั่งเมียนมาบังคลาเทศเพื่อไปยังประเทศมาเลเซียอยู่ดี และเมื่อการจับกุมได้จากหน่วยงานอื่นๆ กลุ่มผู้หลบหนีชาวโรฮิงญาก็จะต้องเข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้ง และนั่นคือสิ่งที่ทำให้การดำเนินการของหน่วยงานความมั่นคงชายแดนถูกตั้งคำถาม และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่ได่มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มที่ใช้กฏหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ แทนยุทธศาสตร์ฯ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอำนาจของ กอ.รมน.

การนำพาชาวโรฮิงญาจากชายฝั่งอันดามันไปชายแดนมาเลเซียเริ่มถูกจับกุมโดยหน่วยงานของรัฐที่อยู่นอกพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และบ้านพักเด็กและครอบครัวในหลายจังหวัดของภาคใต้ ต้องทำงานอย่างหนักในการดูแลกลุ่มชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้หญิงและเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อพบว่าหลายคนถูกนำพากลับมาเป็นครั้งที่สอง เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่เริ่มสัมภาษณ์หาข้อเท็จจริง และเลือกที่จะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้สหวิชาชีพที่ประกอบด้วยนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าพนักงานสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เข้าร่วมการคัดแยกกลุ่มบุคคลที่สงสัยว่าตกเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์

การใช้กฎหมายที่แตกต่าง โดยหน่วยงานอื่นๆ ที่คำนึงถึงมิติความมั่นคงของมนุษย์แทนที่ความมั่นคงของรัฐเริ่มเปิดให้เห็นข้อเท็จจริงที่ปกปิดภายใต้นโยบายและแนวทางที่ถูกกำกับจากหน่วยงานความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทั้งผู้อพยพ และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็ได้ทำให้ญาติพี่น้องของชาวโรฮิงญามีความมั่นใจในกระบวนการกฎหมายของไทยมากขึ้น มีความกล้าในการเข้าไปให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เข้าถึงเบาะแสจนกระทั่งสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการลักลอบนำพาคนเข้าเมืองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในที่สุด

นอกเหนือจากการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว การทบทวนแนวทางยุทธศาสตร์ฯ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงที่กำกับพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะ กอ.รมน.จำเป็นต้องได้รับการทบทวนอย่างเร็วที่สุด การใช้อำนาจดำเนินการตามนโยบาลลับของ อดีตหัวหน้า กอ.รมน.ภาค4 สย.1 ระนองกลายเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือขบวนการค้ามนุษย์อย่างเช่นอดีตที่ผ่านมาเป็นภายความมั่นคงมากกว่าผู้อพยพชาวโรฮิงญา

เมื่อโครงสร้างการใช้อำนาจในพื้นที่ชายแดนที่ปราศจากการตรวจสอบของรัฐถูกบิดเบือน กว่าสังคมจะตระหนักความเสียหายก็มากเกินกว่าจะเยียวยา ชีวิตของผู้อพยพที่เสียไปภายใต้การถูกควบคุมในขบวนการ การคุกคามเจ้าหน้าที่ของรัฐและพลเมืองดีที่พยายามช่วยเหลือตามหน้าที่ของตน ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ และความเสียหายอื่นๆ เกิดขึ้นมากกว่าจะเยียวยาได้

สำหรับชีวิตที่รอดมาได้ ชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่ในประเทศไทยสมควรได้รับการพิจารณาภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ใหม่ทั้งหมด และทำให้สิทธิที่ได้รับการบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวเป็นไปได้จริง ทั้งการอยู่อาศัยชั่วคราวในระหว่างการฟื้นฟูแม้คดีจะสิ้นสุดลง การอนุญาตให้ทำงานเพื่อเตรียมพวกเขากลับคืนสู่ชุมชน สังคมปกติ และการประเมินทางเลือกในการส่งคืนกลับสู่ครอบครัว สังคมของพวกเขาภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของการเป็น “คนไร้รัฐ” ชาวโรฮิงญา



เชิงอรรถ

[1] http://www.refworld.org/country,,UNHCR,,THA,,53f74c194,0.html

[2] อ้างแล้ว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.