Posted: 05 Jul 2017 05:42 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บทสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ต่อวาระ 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งกับการเกิดขึ้นของทางเลือกการพัฒนาอย่าง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ และ 3 ปัจจัยที่ผลักดันผ่านบทบาทรัฐ องค์กรระหว่างประเทศและการเมืองภาคประชาชน รวมถึงความสอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่


เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย หรือที่เรียกกันว่า วิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2540 ของรัฐบาลไทย ซึ่งมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี การลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างทันทีทันใด จากเดิมประมาณ 25.60 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 28.75 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และค่าเงินบาทอ่อนลงตามลำดับ ในช่วงต่ำสุดเคยตกลงถึง 55 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ธุรกิจเอกชน หลายแห่งต้องปิดกิจการ มีหนี้ท่วมตัว คนงานจำนวนมากถูกปลดออกจากงาน และรัฐบาลถูกกดดันให้ลาออก รวมทั้งขยายวงกระทบทั่วเอเชีย จากนั้นเกิดความพยายามแก้ไขในฐานะเป็นวาระร่วมของชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือประชาสังคม เช่น ความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพยุงค่าเงินบาท ทำให้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศหมดคลังจนต้องขอกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงฐานะทางการเงินของประเทศ และรัฐบาลไทยจำต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดขึ้น เช่น งบประมาณแผ่นดินจะต้องตั้งเกินดุล 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น [1]

อีกด้านหนึ่งก็มีการพูดถึงทางเลือกการพัฒานาอื่นๆ เช่น การเกิดขึ้นของ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" หลังจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2540 ว่า "..การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง..." แนวคิดดังกล่าวถูกนำไปผลักดันเป็นโครงการ นโยบายต่างๆ ของรัฐ หรือแม้กระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิชาเรียนในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีการสรุปภายใต้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ พอประมาณ มีเหตุผล และ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ประกอบกับ 2 เงื่อนไขคือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม นอกจากนี้ภาคประชาสังคมก็นำหลักการนี้ไปใช้ในหลายมิติ ทั้งการเสนอเป็นทางเลือกของการพัฒนาเศรษฐกิจ การใช้เป็นหลักการเพื่อตอบโต้กับแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองอื่นๆ เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" จึงมีบทบาทในหลายแบบ

ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ 'การเมืองว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นในประเทศไทยจาก พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2549' ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจการก่อเกิดและบทบาทของ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ใน 20 ปีที่ผ่านมา

00000


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

ประชาไท : การขึ้นมาของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งมันขึ้นมาได้อย่างไร?

เก่งกิจ : คิดว่ามีอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกเลยคือว่าบทบาทของรัฐโดยเฉพาะบทบาทของในหลวงที่เสนอเรื่องนี้ อันที่ 2 บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะพวก IMF ธนาคารโลก ซึ่งเราจะเห็นเลยว่านโยบายเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องใหม่ มันมีการพูดถึงความคิดแบบชุมชนการเศรษฐกิจทางเลือกวิถียังชีพที่เป็นทางเลือก ซึ่งพวกธนาคารโลกและ IMF ก็มีการโฆษณาเรื่องนี้ในทศวรรษ 1990 เพราะว่าประเด็นพวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่เอาต่อสู้กับขบวนการฝ่ายซ้าย ขบวนการอื่นๆ เราจะเห็นบทบาทของสหรัฐอเมริกา พวก IMF และธนาคารโลกที่เข้าไปในละตินอเมริกาและในหลายๆ ที่ รวมถึงในเกาหลีใต้ ที่เข้าไปสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นอะไรพวกนี้ทั้งหลาย

ส่วนที่ 3 เราจะเห็นบทบาทของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งการเมืองภาคประชาชนของไทยมีบทบาทอย่างมากในการ พยายามที่จะต่อต้านความคิดซึ่งตอนนั้นก็จะเรียกว่าต่อต้านเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ คำว่าเสรีนิยมใหม่ อะไรพวกนี้ยังไม่เป็นที่นิยม ในยุคนั้นก็จะเรียกว่าโลกาภิวัตน์ เราก็จะเห็นกระแสชุมชนนิยมที่นำเสนอความคิดเรื่องชุมชนเพื่อมาต่อสู้กับเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นมันจึงมีการสร้างขั้วตรงข้ามในภาคประชาชน และหากดูการเมืองเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนจะเห็นพวกโวหารเกี่ยวกับการใช้คำว่า ทุนข้ามชาติ ทุนโลกาภิวัตน์ อะไรพวกนี้ และเศรษฐกิจชุมนุมก็มีนัยะของการพูดถึงความคิดของท้องถิ่นนิยม ความคิดแบบชาตินิยม ซึ่งเราจะเห็นว่าทั้ง 3 ส่วนนี้ เอาจริงๆ การเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2540 ของในหลวงไม่ใช่เรื่องใหม่ ในแง่ของบริบทระหว่างประเทศก็มีการพูดเรื่องนี้อยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นส่วนในการโต้ความคิดแบบขบวนการฝ่ายซ้าย หรือขบวนการสังคมนิยม

ความจริงในยุคหลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น อันนี้เราจะเห็นตัวอย่างชัดเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าไปตั้งในเงินสนับสนุนเอ็นจีโอในประเทศโลที่ 3 ทั้งหลายให้ทำงานแนวสังคมสงเคราะห์ แนวให้ความช่วยเหลือ การพึ่งพาตัวเองเพราะว่าในการพึ่งพาตัวเองเหล่านี้มันเป็นกลไกที่จะทำให้ลดการพึงพารัฐ เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องการลดการพึ่งพารัฐ การพึ่งพาตัวเองหรือความพอเพียงในตัวเองนี้ มันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่เป็นโครงการทางการเมืองของการทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เพราะฉะนั้น 3 ส่วนนี้มันมาบรรจบกัน ทั้งในระดับของการเมืองภาคประชาชนในระดับของรัฐไทย ชนชั้นนำไทยแล้วก็ในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนก็คือว่าสิ่งที่มาภายหลังสุดก็คือการที่ชนชั้นนำไทยออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจริงๆ แล้วมาภายหลังจาก 2 ส่วนนั้น

ทำไมแนวคิดด้านหนึ่งต่อต้านโลกาภิวัตน์แต่ทำไมอีกด้านไปสอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ได้อย่างไร?

เพราะว่าการต่อต้านโลกาภิวัตน์มันสามารถที่จะพูดได้จากหลายจุดยืน แต่จุดยืนที่การเมืองภาคประชาชน และปัญญาชนที่เป็นชนชั้นนำทั้งหลายในประเทศที่ใช้ก็คือจุดยืนแบบชาตินิยม เราจะเห็นในช่วง 2540 มันจะมีกระแสความคิดชาตินิยมที่เข้มข้นขึ้นมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปัญญาชนภูมิปัญญาท้องถิ่น เอ็นจีโอหรือแม้กระทั่งขบวนการแรงงาน เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็เป็นองค์กรที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ยังจำได้ว่ามีการประณามทุนข้ามชาติ ประณามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นการประณามบนฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของชาติไม่ใช่เรื่องมิติทางชนชั้น เพราะฉะนั้นประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์เสรีนิยมใหม่หรือโลกาภิวัตน์มันไม่ได้วางอยู่บนประเด็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ แต่มันวางอยู่บนฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งโวหารนี้เป็นโวหารทางการเมืองที่สุดท้ายมันไปรับใช้กับความคิดแบบชาตินิยม

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาใช้กับประชานิยม มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้าเรามองอย่างถึงที่สุดจะพบว่านโยบายของรัฐไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตามไม่ได้มีความแตกต่างกันมากในการสนับสนุนเสรีนิยมใหม่หรือโลกาภิวัตน์ ทุกๆ รัฐบาลสนับสนุนเสรีนิยมใหม่หมด สิ่งที่ต่างก็คือโวหารในการสนับสนุนเสรีนิยมใหม่ เราจะเห็นว่าชนชั้นนำฝั่งที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็จะใช้โวหารแบบชาตินิยมหรือท้องถิ่นหรือชุมชนนิยม แต่ฝั่งนักการเมืองอย่าพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย เขาไม่ได้มองเสรีนิยมในฐานะที่เป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะส่วนบนของนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มองว่าโครงการทางการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่จะบรรลุได้มันจะต้องมีการจัดการปรับเปลี่ยนความคิด รูปแบบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้มันรับใช้กับเสรีนิยมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มองการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังทางการผลิต ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเรื่องสวัสดิการ การมีวิถีชีวิตที่มันดีขึ้น มีทักษะที่เพิ่มขึ้น การกลายเป็นผู้ประกอบการในชุมชนในหมู่บ้าน ทั้งหมดมันเป็นเสรีนิยมใหม่อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลทักษิณคือการเอาเสรีนิยมให้เข้าไปทำงานในระดับรากหญ้า มันต่างจากกรณีของโวหารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของชนชั้นนำของสถาบันกษัตริย์หรือทหารในปัจจุบันที่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติเชิงนโยบาย เพราะจริงๆ แล้วนโยบายทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเห็นว่ารัฐบาลทหารของประยุทธ์ก็ทำนโยบายเดียวกันกับที่ทักษิณทำ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีความต่าง ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ประชานิยมโดยยกเอาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาจึงเป็นเรื่องของการใช้โวหารทางการเมือง มากกว่าเป็นการต่อสู้ในเชิงนโยบาย

สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงไปสอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ อย่างไรบ้าง ?

ในช่วงทศวรรษ 1990 ตัวอย่างในโลกวิชาการจะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาสังคม ความเป็นอิสระของชุมชน นักวิชาการแนวประชาสังคมก็จะพูดถึงการที่รัฐควรจะถอยตัวออกไปจากการจัดการทางสังคมและให้ประชาสังคมจัดการกันเอง ซึ่งเหล่านี้จะเป็นความคิดของนักวิชาการสายเสรีนิยมในประเทศไทย เช่น อ.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือแม้กระทั่งหมอประเวศ เอ็นจีโอแนวชุมชนบางส่วนก็รับความคิดเรื่องนี้ โดยตีความคำว่า "ประชาสังคม" ก็คือ "ชุมชนท้องถิ่น" แล้วพวกชุมชนท้องถิ่นหรือกระแสการเมืองภาคประชาชนมันก็พูดถึงการเป็นอิสระจากรัฐ พูดถึงการจัดการทรัพยากรที่เป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตีความว่าเป็นความคิดแบบสังคมนิยมก็ได้ ตีความว่าเป็นความคิดแบบเสรีนิยมก็ได้ แต่เราจะพบว่าการที่การเมืองภาคประชาชน ไม่ได้มีจุดยืนแบบสังคมนิยมมันเลยทำให้โวหารทางเมืองหรือการต่อสู้เหล่านี้ในที่สุดมันก็จะถูกผลักไปต่อต้านรัฐกับทุน ซึ่งความจริงแล้วรัฐกับทุนไม่ได้ถูกนิยามอย่างเป็นระบบในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นเลยว่าการศึกษารัฐทำไมคนถึงได้สนใจสิ่งที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอ หรือคนเพิ่งมาสนใจบทบาทของกองทัพเพราะเวลาเราพูดถึงรัฐเพราะไม่รวมกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์เข้าไปด้วยอย่างเป็นระบบ เราพูดถึงรัฐเฉพาะนักการเมือง เพราะฉะนั้นการต่อต้านรัฐกับทุน ซึ่งหมายถึงการต่อต้านโลกาภิวัตน์มันจึงมุ่งไปที่การสนับสนุนความคิดแบบชาตินิยม มันจึงสนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะรัฐบาลหรือกลุ่มทุนบางกลุ่ม แต่มันไม่ได้ทำความเข้าใจจริงๆ ว่าทั้งหมดนี้มันคือโครงการทางการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่

เราจะเห็นว่าไอเดียเรื่องการถอยห่างออกจากรัฐ การเป็นอิสระการลดบทบาทของรัฐ ซึ่งแพร่หลายทั้งในระดับปัญญาชนและขบวนการภาคประชาชนมันคือส่วนสำคัญที่เปิดทางให้กับความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งเฉพาะชนชั้นนำไทยคิดเท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ WTO ฯลฯ มันคิดสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเพราะมันเป็นโวหารหรือม้าไม้เมืองทรอยที่ใช้คำพูดที่มันดูก้าวหน้าอิสระเพื่อที่จะกลับเข้าไปตีหรือทำลายระบบสวัสดิการ แต่สิ่งที่ทักษิณทำหรือรัฐบาลทหารทำ หรือชนชั้นนำที่เป็นอนุรักษ์นิยมอย่างรัฐบาลอานันท์ ปัญญารชุน หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์ทำมันก็ต่างจากรัฐบาลของทักษิณในแง่ที่มันตรงที่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังทางการผลิต ซึ่งทักษิณกลับมองว่าการที่จะเป็นเสรีนิยมใหม่ได้มันเน้นที่การแข่งขันเพราะฉะนั้นส่วนสำคัญก็คือการเข้าไปพัฒนาพลังในการผลิตในระดับรากหญ้านี่คือสิ่งที่ไม่ปรากฏในวิสัยทัศน์ของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย

มันมีการหยิบใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเข้าถึงทรัพยากรของรัฐบ้างหรือไม่?

จริงๆ แล้วรัฐกับภาคประชาชนหรือพวกนักวิชาการเองก็หยิบใช้ แบ่งปันแนวคิด โวหารทางการเมืองหรือแนวคิดต่างๆ กันอยู่แล้วเป็นปกติ ตัวอย่างเมื่อหลายปีก่อนหลังรัฐประหาร 2549 มีบทความชิ้นหนึ่งของอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียนลงประชาไทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วข้อเสนอของงานนี้คือว่าการเมืองของขบวนการประชาชนควรจะต้องหยิบฉวยการตีความและการให้ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงใหม่ ให้มันสอดคล้องหรือรับใช้ความคิดเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรม ไม่ใช่การปฏิเสธความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในคอมเม้นท์ของบทความ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้มาวิจารณ์บทความชิ้นนี้ โดยหากพูดอย่างสรุปก็คือ ฝ่ายขบวนการประชาชนไม่สามารถที่จะหยิบฉวยวาทกรรมหรือโวหารเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของชนชั้นนำได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้วมันจะไปสนับสนุนอำนาจนำของชนชั้นนำที่เสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีด้วย ในแง่ที่ว่ามันเป็นไปได้ไหมที่การเมืองภาคประชาชนหรือประชาชนที่หยิบฉวยเอาวาทกรรม โวหารหรือแนวคิดของชนชั้นนำทุกๆ แนวคิดมาตีความใหม่ เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าไอเดียแบบนี้มันวางอยู่กับความคิดแบบกรัมชี่ที่มองว่ามันย่อมมีการช่วงชิงอำนาจนำในการตีความวาทกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งไอเดียแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหยิบฉวยทุกอันมาใช้ จะเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนที่เติบโตมาในทศวรรษ 1990 ที่นำมาสู่การรัฐประหาร 49 มีแนวคิดแตกหักกันจนถึงทุกวันนี้มันคือผลผลิตสำคัญของการที่การเมืองภาคประชาชนไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่ก้าวหน้าของตัวเอง ไม่มีภาษาของตัวเอง การเมืองภาคประชาชนในทศวรรษ 1990 คือการอยู่ภายใต้วาทกรรมหรือโวหารของชนชั้นนำแบบเสรีนิยม ตัวอย่างเช่น คำว่า "ชุมชน" มันถูกผลักให้เป็นการสนับสนุนตลาดได้อย่างไร ในเมื่อถ้าคำว่าชุมชนมันมีพลัง หรือการต่อสู้ไอเดียเรื่องชุมชนมันวางอยู่บนจุดยืนที่มันมีความก้าวหน้าที่มันมั่นคงมันจะถูกช่วงชิงโดยชนชั้นนำได้อย่างไร นั่นแสดงว่าการต่อสู้อันนี้และหลายๆ ครั้ง ที่ผ่านมาเราไม่สามารถช่วงชิงการนิยามความคิดต่างๆ ที่ผลักไปสู่การพูดเรื่องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำหรือความยุติธรรมได้จริงๆ เราจะเห็นว่าทุกคนช่วงชิงไอเดียเรื่องชุมชนหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นทักษิณก็พูด การให้อำนาจกับรากหญ้าทุกคนช่วงชิงคำพูดที่การเมืองภาคประชาชนเคยสู้มาหมด

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า คำถามก็คือมันมาถึงจุดที่ว่า "อะไรล่ะที่ควรจะเป็นจุดยืน และนอกเหนือจากที่เป็นจุดยืน อะไรจะเป็นโวหารที่เราจะใช้เป็นมอตโต้ในการผลักดันจุดยืนของเราที่มันเป็นเรื่องของความยุติธรรมจริงๆ" เพราะในท้ายที่สุดแล้วทุกวันนี้มันเป็นเรื่องที่ตลกมากที่นักวิชาการบางคนที่พูดเรื่องชุมชน เรื่องสิทธิชุมชนทั้งหลาย ออกมาปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในโลกของการเมืองภาคประชาชนและมันสิ้นสุดไปแล้ว คำถามก็คือว่า "แล้วคุณพูดเรื่องชุมชนมา 20 ปี 30 ปี สิ่งเหล่านั้นไม่มีพลังเลยหรือ ไม่มีสิ่งที่หลงเหลืออยู่เลยหรือ ที่เราจะเอามาใช้ในการพูดถึงความยุติธรรมในการจัดการทรัพยากรหรือปัจจัยในการผลิตในสังคม" นั่นมันสะท้อนว่าคนที่เสนอเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหรือแนวชุมชน การจัดการทรัพยากรทั้งหลายในที่สุดเขาก็ตระหนักชัดว่าแนวคิดเรื่องชุมชนไม่สามารถผลักไปถึงที่สุดที่จะสนับสนุนขบวนการประชาชน เราจะเห็นเลยว่าทำไมนักวิชาการหลายคนให้การสนับสนุนขบวนการเสื้อแดง แต่ไม่มีวาทกรรมหรือโวหารเรื่องชุมชนอยู่ในนั้นเลย ไม่มีวาทกรรมเรื่องการพึ่งตนเอง การจัดการทรัพยากร สิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฎในขบวนการเสื้อแดงเลย คำถามคือ ทำไม? นั่นแสดงว่าวาทกรรมแบบนี้มันไม่ได้ลงหลักปักฐานในฐานะที่เป็นสิ่งที่มันก้าวหน้าจริงๆ ซึ่งอันนี้เป็นข้อจำกัดของขบวนการภาคประชาชนในทศวรรษ 1990

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนว่าถูกชูเป็นคู่ขัดแย้งหรือข้อตรงข้ามกับเสรีนิยมใหม่ ภาพเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เอาเข้าจริงเราก็ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนที่พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วไม่โปรเสรีนิยมใหม่ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นโวหารจริงๆ เป็นเหมือนม้าไม้เมืองทรอยที่เข้ามาสนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ความคิดแบบเสรีนิยมมีความชอบธรรมมากขึ้นในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างง่ายๆ ทำไมตอนนี้การคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจถึงไม่มีเลย และอะไรคือรูปธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์เสรีนิยมใหม่ เราจะพบเลยว่ามีหลายคนหลายกลุ่มที่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องการจัดสวัสดิการที่ก้าวหน้า แต่ทุกวันนี้วาทกรรมว่าด้วยรัฐสวัสดิการกับสวัสดิการที่ก้าวหน้าไม่ปรากฏเลยในการเมืองของการต่อสู้ของประชาชนตอนนี้ ทุกวันนี้เราไม่เคยมีแนวคิดจุดยืนทางการเมืองที่เป็นองค์รวมขึ้นเป็นทางเลือกนอกจากนอกเหนือไปจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ขบวนการเสื้อแดง พวกที่เป็นบุคคลสาธารณะ ปัญญาชนสาธารณะของขบวนการเสื้อแดงเกือบทั้งหมดเลยไม่มีใครคัดค้านเสรีนิยมใหม่ แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยส่วนใหญ่พูดหมดว่ากลไกตลาดเป็นสิ่งที่ดีแต่ถูกบิดเบือนโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร

จริงๆ แล้วเราสามารถฟันธงได้เลยว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้เราไม่ได้มีจุดยืนหรืออุดมการณ์ใดๆ ที่คัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างเป็นระบบจริงๆ ในประเทศไทย ถ้าเทียบในเรื่องนี้กับกรณีในต่างประเทศจุดยืนเดียวที่จะคัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยที่ไม่สนับสนุนบทบาทของชนชั้นนำนั่นคือจุดยืนแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์การพูดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตลกหรือดอกแมททิค(dogmatic) แต่ว่านี่คือสิ่งที่อิทธิพลของขบวนการฝ่ายซ้าย หรือนักคิดฝ่ายซ้ายในโลกตะวันตกมันกำลังก้าวหน้า นักคิดดังๆ เป็นฝ่ายซ้ายหมดเพราะขบวนการฝ่ายซ้ายหรือความคิดแบบสังคมนิยมเป็นจุดยืนเดียวที่คัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ถ้าย้อนกลับมาในประเทศไทยตอนนี้คือภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีขบวนการฝ่ายซ้ายหรือปัญญาชนฝ่ายซ้ายในขบวนการประชาชน หรือพูดอีกก็คือเราไม่มีปัญญาชนฝ่ายซ้ายหรือขบวนการฝ่ายซ้ายในเสื้อแดง ขบวนการเสื้อแดงจึงเป็นขบวนการที่ปกป้องประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมซึ่งสอดคล้องกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การทำลายลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นคำถามคือการต่อสู้อันนี้มันจะพัฒนาไปอย่างไร ตอนนี้เรามองไม่ออกเลยเพราะว่าเราไม่เคยมีเสาหลักของความคิดสังคมนิยมอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

เขาอาจจะแย้งว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ปะทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการดึงอำนาจเข้าสู่ระบบราชการหรือระบบอำมาตย์?

พูดง่ายๆ ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการที่เป็นเรื่องหลัก เราจะเห็นได้ว่าการขึ้นมาของรัฐบาลรัฐประหารหลังปี 2549 เราจะเห็นว่าเช่น รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลของประยุทธ์ ใช้นโยบายที่มีความเป็นประชานิยมเหมือนกัน แต่เป็นประชานิยมในแง่สังคมสงเคราะห์ไม่ใช่ประชานิยมในแง่การสร้างระบบสวัสดิการ เราจะเห็นว่าทุกวันนี้รัฐบาลประยุทธ์พยายามทำลายสวัสดิการในประเทศไทยทุกวิถีทาง การพยายามจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม พยายามทำโน่นนี่เพื่อเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพ แต่สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ทำไม่ใช่การสร้างระบอบเผด็จการ อย่าลืมว่าความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้เป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้ประชาชนมีเสียงกับฝั่งที่ต้องการให้ประชาชนมีเสียงหรือมีส่วนในการเมืองระบอบรัฐสภา ประเด็นที่เกิดขึ้นก็คือรัฐบาลเผด็จการทหารรู้ดีว่าการทำลายฐาน แม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การตัดอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนคือวิธีการที่จะทำลายขบวนการประชาชนให้อ่อนแอ คือการไม่มีสวัสดิการ การมีชีวิตที่ยากลำบากมันคือการทำลายฐานตรงนี้ เพราะเขาไม่ได้พึ่งพาฐานอันนี้ในการเข้าสู่อำนาจ

เพราฉะนั้นเราจะบอกได้อย่างไรว่าเราไม่ได้กำลังสู้กับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ในเมื่อที่ผ่านมามีการประท้วงกระทั่งประยุทธ์ต้องยอมถอย คำถามก็คือก่อนหน้านี้ประยุทธ์มียอมถอยเรื่องอะไรบ้างที่ประยุทธ์เป็นคนพูดเองนอกจากเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ประยุทธ์ยอมถอยเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ถ้าประยุทธ์ล้ม 30 บาท กับประยุทธ์ปกครองอยู่และจับผู้ต้องหาคดี ม.112 อะไรที่จะทำให้คนออกมาประท้วงได้มากกว่ากัน คำตอบก็คือว่าถ้าล้ม 30 บาท คนไม่ยอมแน่นอน ถ้าล้มกองทุนประกันสังคมคนไม่ยอมแน่นอน ต่อให้ทำรัฐประหารอีกรอบคนก็อาจไม่มาประท้วงได้ อาจไม่มีการเคลื่อนไหว หรือสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขบวนการเสื้อแดงไม่พูดถึงและไม่สร้างทางเลือกที่พูดถึงองค์รวมของความขัดแย้ง ทางเลือกที่พูดถึงองค์รวมของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้ง แน่นอนว่าเราต้องการการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหารทำคือการทำลายระบบสวัสดิการผ่านแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ นั่นควรจะเป็นจุดที่ฝ่ายขบวนการทั้งหลายหรือฝ่ายนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายควรจะกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะเรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการสู้ในเรื่องของระบอบการเมือง แต่เราไม่ได้พูดถึงความหมายของประชาธิปไตยที่เป็นองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการเรื่องความเท่าเทียมในรอบหลายปีที่ผ่านมามันไปจำกัดตัวเองอยู่ที่การมีสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่การเข้าถึงสวัสดิการก็เป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ว่ามันกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ไม่น้อยกว่าสิทธิเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกมองเป็นองค์รวม นั่นคือรากฐานความคิดแบบเสรีนิยมที่แยกส่วนระหว่างเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจออกจากกัน มันมีจุดยืนเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจกับการเมืองมันเป็นเรื่องเดียวกันก็คือจุดยืนแบบสังคมนิยม


สำหรับแนวนโยบายหลักของรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร[2] เขียนสรุปไว้คร่าวๆ ว่าประกอบด้วย การแปรรูปบริการของรัฐเป็นเอกชน (Privatisation) การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน (Trade and Financial liberalization) และการผ่อนคลายและลดกฎระเบียบ (Deregulation) เพราะหลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นคือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ) ดังนั้น โครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี

เอกสารอ้างอิง :

[1] รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต, วิกฤตต้มยำกุ้ง, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=วิกฤตต้มยำกุ้ง

[2] Kriangsak Teera, เสรีนิยมใหม่ พัฒนาการและอิทธิพล: บทนำ http://kriangsakt.blogspot.com/2008/07/blog-post_04.html

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.