Posted: 30 Jun 2017 11:19 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักวิชาการชี้ประวัติศาสตร์แรงงานไทยหล่นหาย
 
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เขตมักกะสัน กทม.ได้มีการจัดงานรำลึกและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อดีตผู้นำแรงงานและผู้มีคุณูปการต่อขบวนการแรงงานที่เสียชีวิตไปแล้ว พร้อมทั้งมีการทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์แรงงาน โดยในช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์และถวายกองผ้าป่า ส่วนช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “แรงงานอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดยมีนำแรงแรงงาน และผู้คนในแวดวงแรงงานมาร่วมกันอย่างคับคั่ง ศ.ดร.พรรณี บัวเล็ก ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาการประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล คณะศิปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่าแรงงานอยู่มากกว่าประวัติศาสตร์ไทยเพราะมนุษย์วิวัฒนาการการใช้แรงงานเรื่อยมาโดยแรงงานอยู่ในทุกๆที่ของขั้นตอนในประวัติศาสตร์ แต่ในช่วงสงครามแรงงานถูกลดค่าให้มีหน้าที่ต่อนาย และในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มปลดปล่อยไพร่เพื่อไปผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว ไพร่เปลี่ยนสถานะเป็นชาวนา ส่วนกรรมกรยุคแรกเป็นชาวจีนเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าข้าว ขณะเดียวกันในยุคใหม่แรงงานกลายเป็นตัวกำหนดในสังคมอุตสาหกรรมตามที่บริษัทข้ามชาติวางไว้ จนกระทั่งปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่หวังว่าจะรอดจากการขายแรงงานราคาถูก แต่ไม่แน่ว่าจะรอดหรือไม่ เพราะต้องอาศัยสังคมประชาธิปไตยและระบบธรรมาภิบาล โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วงที่สังคมมีเสรีภาพและคนหลุดพ้นจากอำนาจทั้งปวง เช่นเดียวกันยุโรปสมัยหนึ่ง
 
“เหตุใดแรงงานไทยถึงไม่มีประวัติศาสตร์ก็เพราะว่าผู้บันทึกประวัติศาสตร์คือชนชั้นสูงเท่านั้น สมัยก่อนพระมหากษัตริย์เป็นคนบันทึกก็จะเห็นแต่บารมีของตัวเอง ประวัติศาสตร์จึงไม่มีพื้นที่สำหรับชนชั้นล่างหรือสามัญชน แต่ในบางยุคก็มีการท้าท้าย เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีก.ศ.ร.กุหลาบ ที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ถูกลงโทษ อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่เป็นตำนานหรืออยู่ในท้องถิ่นที่ไม่ถูกบันทึกและนักเรียนก็ไม่เคยได้เรียนเรื่องของชนชั้นล่าง แม้ในช่วง 20 ปีมีความพยายามฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์ของชนชั้นล่าง แต่ลำบากเพราะหาคนทำได้น้อยที่สำคัญคือไม่ค่อยมีข้อมูล มีแต่เรื่องเล่าของชาวบ้าน ที่ฉันทำงานมาตระหนักในคุณค่าของสามัญชนมาโดยตลอดเพราะต้องการให้เกิดบันทึก”ศ.ดร.พรรณี กล่าว ศ.ดร.พรรณีกล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการตระหนักถึงการทำวิจัยเพื่อให้เห็นพื้นที่ของชนชั้นล่างมากขึ้น ส่วนที่สำคัญของประวัติศาสตร์คือทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองแต่เมื่อประวัติศาสตร์ของแรงงานไม่ถูกนำมาถ่ายทอดทำให้แรงงานไม่เห็นคุณค่าของตัวเองและเรียนแต่คุณค่าของชนชั้นสูงที่เขียนประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่เห็นค่าของตัวเองก็จะไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีสำนึกร่วมและชีวิตไม่มีการพัฒนาหรือไม่เราก็ต้องบีบตัวเองให้เป็นชนชั้นอื่น “ในศตวรรษที่ 15 มนุษย์หลุดจากอำนาจของพระเจ้าและชนชั้นปกครอง ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาและการสร้างสรรค์มากมาย เช่น สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้”ศ.ดร.พรรณี กล่าว ศ.ดร.พรรณีกล่าวว่า การจะทำให้แรงานเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น ต้องดูว่าวันนี้มีความรู้เรื่องเหล่านี้กันแค่ไหน จำเป็นต้องทำวิจัยเกี่ยวกับความรู้ของชนชั้นล่างให้มากและสนับสนุนให้มีการหยิบมาใช้ จริงๆแล้วชาวบ้านเป็นที่สั่งสมภูมิปัญญาซึ่งเป็นรากของสังคมไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การดำรงชีวิต ตลอดจนสมุนไพรต่างๆ เราต้องเอาคุณค่าในระดับรากหญ้าเหล่านี้ และจริงๆแล้วทุกคนสามารถสร้างบันทึกของตัวเองได้ แรงงานสามารถบันทึกของตัวเองหรือเก็บไว้ในองค์กร หรือบันทึกเรื่องราวของผู้นำแรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่า การบันทึกแรงงานทำให้เกิดความภาคภูมิใจในเรื่องเล่าเหล่านี้
 
 
ก.แรงงาน เตรียมแก้กฏหมายขยายเวลารับเงินชราภาพ เป็น 60 ปี
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวงแรงงาน โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญ กับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคง ของแรงงานทั้งในช่วงที่อยู่ในระบบแรงงาน และเมื่อต้อง ออกจากระบบแรงงานไปแล้ว จึงมีนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงาน ในส่วนของผู้ประกันตน
 
ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก อายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะทำให้การรับเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ จะทำได้ต่อเมื่ออายุ 60 ปีแล้ว เป็นการขยายเวลาการส่งเงินสมทบ และสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ ที่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินชราภาพ 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนรวม 5 ปีสุดท้ายของการทำงาน เป็นรายเดือนให้แก่ผู้ประกันตน
 
ซึ่งจะต้องดำเนินแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 ปี
 
ซึ่งเรื่องนี้ เป็นแนวคิดที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นชอบ และสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
 
 
เบรค นศ.WORK AND TRAVEL
 
กรมการจัดหางานถก Work and Travel หลังนักศึกษาร้องทุกข์ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย สั่งชะลอ-ยุติส่งนศ.ไปฝึกงานในต่างประเทศชั่วคราวก่อนมีมาตรการต่อไป
 
26 มิ.ย.2560 นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย มีหนังสือรายงานมาว่า นักศึกษาร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย เนื่องจากไปศึกษาดูงานในประเทศเกาหลี ลักษณะ Work and travel แต่ถูกใช้แรงงาน จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาหารือร่วมกัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานคระกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงแรงงาน ที่ห้องประชุมเทียน ชัชนนท์ กรมการจัดหางาน
 
"ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการส่งนักเรียน นักศึกษา ไปฝึกงานในต่างประเทศในช่วงนี้ก่อน โดยจะนำข้อสรุปของที่ประชุมเสนอต่อ รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณารายงานต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป"
 
นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบว่าสถาบันการศึกษาใดที่มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งจะตกลงร่วมกันว่าจะส่งนศ.ไปดูงานตามหลักสูตร จากนั้นขอให้รายงานข้อมูลต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป ตลอดจนขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยประสานขอข้อมูลจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยว่าบริษัทเอกชนกี่แห่ง และที่ใดบ้าง ที่ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนประสานงานพา นศ.ไปดูงานในต่างประเทศ จากนั้นจะเชิญตัวแทนบริษัทเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไปด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางไปในลักษณะ เวิร์ค แอนด์ ทราเวล นี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาที่กลับมาแล้วสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เช่นการใช้ภาษาของประเทศนั้น เพราะบางโครงการก่อนเดินทางไปบางประเทศ เช่นเกาหลี ไม่ได้มีข้อกำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องผ่านการเรียนวิชาภาษาเกาหลีก่อนไป จึงทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร กรณีที่ถูกละเมิดด้านการใช้แรงงาน ที่สำคัญคือการถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
 
 
ลูกจ้างบ.บริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ 111 ชีวิต ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนลูกจ้าง คนละไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นบาท 
 
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2560 -นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)เปิดเผยกับ“เวบไซดฺ์คมชัดลึก”ว่า จากเหตุการณ์ของบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ ได้ปิดกิจการลงหลังจากศาลพิพากษาให้บริษัทล้มละลาย ทำให้คนงานทั้งหมดจำนวน 111 คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ต้องถูกลอยแพคนงาน โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่าย นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 ทำให้คนงานต้องประสบกับความเดือดร้อนอย่างมาก
 
นายชาลี กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคนงานบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ ก็ได้พยายามหาวิธีการให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นนายจ้าง หน่วยงานภาครัฐ คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมบังคับคดี เพื่อให้หาแนวทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องคนงาน รวมทั้งการเขียนคำร้องเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และความพยายามก็เกิดขึ้นหลายครั้ง ในการประสานหน่วยงานต่างๆ แต่การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปด้วยความล่าช้า
 
“คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรงที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้างโดยไม่รับผิดชอบใดๆ การบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเรื่องดังกล่าวก็เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งทุกครั้งที่มีการติดตามเรื่องก็จะได้รับคำตอบว่า “นายจ้างล้มละลายจะให้ทำอย่างไรได้ ก็ได้พยายามแล้ว”นายชาลี กล่าว
 
นายชาลี กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งอำนาจหน้าที่ ที่จะเยียวยาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในการบรรเทาทุกข์ของคนงาน จากเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ก็อ้างเรื่องสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตรวจสอบเรื่องการบริหารกองทุนที่มียอดเงินลดลง ทำให้มีปัญหาในการจ่าย
 
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการประชุมกรรมการบริหาร คสรท.เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ได้มีมติให้ คสรท.ร่วมกับสหภาพแรงงานบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ เร่งดำเนินการผลักดันเพื่อให้คนงานได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้โดยเร็วต่อไป และในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 คสรท.นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.,นายไพฑูรย์ บางหรง กรรมการบริหาร และประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก และผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ร่วมกับสหภาพแรงงานบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ สนมาชิกประมาณ 40 คน ได้ไปติดตามเรื่องการเยียวยาจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งมีการประชุมในวันดังกล่าวกระทั่งการประชุมสิ้นสุดลงผลการประชุมมีดังนี้
 
"1.อนุมัติการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ให้แก่คนงานไทยซึ่งจะได้รับประมาณคนละไม่เกิน 18,000 บาท 2.สำหรับแรงงานข้ามชาติประมาณ 20 คน ต้องไปตรวจสอบเอกสารการทำงานว่าถูกต้องหรือไม่ หากมีเอกสารการทำงานและเดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีสิทธิในการรับเงินสงเคราะห์ แต่หากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีแค่ใบอนุญาตทำงานชั่วคราว(บัตรสีชมพู)ไม่สามารถจ่ายได้ ซึ่งจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหลังตรวจสอบเอกสารแล้ว 3.ส่วนการจ่ายเงินจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน" รองประธาน คสรท. กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรับฟังคำชี้แจงจากผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้ว นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.กล่าวขอบคุณประธานและคณะกรรมการลูกจ้าง ผู้อำนวยการ รวมทั้งข้าราชการกระทรวงแรงงานหลายคนที่อำนวยความสะดวกให้การต้อนรับรวมทั้ง ทหาร ตำรวจ ที่เฝ้าเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากหอพักคนงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่จนถึงกระทรวงแรงงาน
 
“คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ขอขอบคุณองค์กรสมาชิก และเพื่อนพี่น้องเครือข่ายที่ได้ส่งกำลังใจและการสนับสนุนจนทำให้เกิดความสำเร็จไประดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีเรื่องค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานซึ่งคนงานยังไม่ได้รับก็คงเป็นจังหวะก้าวในการติดตามต่อไป...และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความรักที่มีต่อกันของพี่น้องคนงาน ความสามัคคีอย่างมีพลังจะนำพาพวกเราสู่ความกินดี อยู่ดี มีความสุข”นาสาวิทย์ กล่าวในที่สุด
 
 
สหรัฐคงระดับค้ามนุษย์ไทย “เทียร์ 2 จับตา”
 
นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงถึงรายงาน ทิป รีพอร์ต ประจำปี 2560 โดยสหรัฐฯ ยังจัดให้ไทยคงอันดับเดิมที่ “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” เป็นปีที่สองติดต่อกัน หลังจากก่อนหน้านั้นไทยเคยถูกจัดอยู่ที่ระดับ “เทียร์ 3” ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ส่วนรัสเซียและคิวบายังคงอันดับเดิมในปีนี้เช่นกัน
 
นอกจากนี้ รายงาน ทิป รีพอร์ต ในปีนี้ยังเลื่อนระดับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้กับเมียนมา อัฟกานิสถาน มาเลเซีย และกาตาร์ เนื่องจากมีสถานการณ์ดีขึ้น ขณะเดียวกันได้ลดระดับจีนสู่ “เทียร์ 3” ซึ่งเป็นระดับเดียวกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจีนยังไม่แก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
 
รายงานประจำปีที่ครอบคลุมประเทศและดินแดนต่างๆ จำนวน 188 ประเทศ แบ่งเกณฑ์การประเมินประวัติการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ ออกเป็นเทียร์ต่างๆ ได้แก่ เทียร์ 1 สำหรับชาติต่างๆ ที่ได้มาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ เทียร์ 2 สำหรับประเทศที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดที่จะพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน และ เทียร์ 3 คือประเทศที่ล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดของสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัด
 
นายเร็กซ์ แถลงรายงานค้ามนุษย์ประจำปี 2560 คงอันดับไทยให้อยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” โดยให้เหตุผลว่า แม้ไทยไม่ได้ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามค้ามนุษย์ แต่แสดงความพยายามด้วยการปราบปราม และยึดทรัพย์ จากบรรดาผู้ค้ามนุษย์ รวมมูลค่า 784 ล้านบาท ทั้งยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงมากขึ้น พร้อมยืดระยะเวลาให้เหยื่อ และพยานชาวต่างชาติในคดีค้ามนุษย์ ได้พำนักอยู่ในประเทศนานขึ้น
 
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และไม่ได้ดำเนินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันมากนัก
 
 
ประกันสังคมร่อนหนังสือแจงยิบ หลังโดนร้องเรียนบริการแย่!
 
นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ส่งหนังสือชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผู้ประกันตนถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมปีละ 9,000 บาท แต่เมื่อไปรับบริการทางการแพทย์กับโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้รับการบริการที่ไม่ดีนั้น ทางสำนักงานประกันสังคมจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
 
1.สำนักงานประกันสังคมเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และผู้ประกันตนร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยคำนวณค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งกำหนดจากฐานค่าจ้างเป็นรายเดือนต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี ให้แก่ผู้ประกับตน ประกอบด้วย กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
 
ดังนั้นผู้ประกับตนจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดเดือนละ 750 บาท ปีละ 9,000 บาท แต่จะมีเงินสมทบกรณีชราภาพเดือนละ 450 บาท ปีละ 5,400 บาท และยังมีเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายสมทบอีกเดือนละ 450 บาทปีละ 5,400 บาท ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์
 
2.การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมมีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ และโรงพยาบาลที่รับส่งตัวผู้ประกันตนเพื่อเข้ารับการรักษา เพื่อให้ผู้ประกันตนเกิดความเชื่อมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม
 
3.ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองต่างๆ ให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคที่มีภาระเสี่ยง และเพิ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้แก่สถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยยึดหลักมุ่งมั่น ทุ่มเทการทำงานเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความพึงพอใจ
รวมถึงต้องปฏิรูประบบให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ นำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน
 
 
กม.แรงงานต่างด้าวใหม่ ให้โอกาส 2 เดือนเข้าระบบถูกต้อง
 
(29 มิ.ย.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ว่า กรมฯ ได้นำข้อมูลและผลการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ก่อนเสนอร่าง พ.ร.ก. ต่อ ครม. และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างฯ แล้วเสร็จ กรมฯ ก็ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นด้วยวิธีการสัมมนา ส่งแบบสอบถาม และรับฟังผ่านเว็บไซต์มาตลอด ส่วนกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) มีหนังสือเสนอให้เปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง ต้องเรียนว่า ที่ผ่านมา มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 4 ครั้งแล้ว หากยังเปิดลงทะเบียนเรื่อยๆ ก็จะมีอีกต่อไป แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะไม่มีวันหมด สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะไม่มีมาตรการดูแลเลย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีกำชับว่า ต้องหามาตรการมาดูแลเพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยกรมการจัดหางาน ได้มีแนวทางวางไว้ให้ คือ 1.มีมาตรการผ่อนคลายด้วยการให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กลับไปดำเนินการให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เป็นเวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ซึ่งหากเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลย และต้องกลับประเทศไปดำเนินการให้ถูกต้อง มั่นใจว่าระยะเวลาดังกล่าวน่าจะเพียงพอในการดำเนินการ โดยมีค่าใช้จ่ายตกคนละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการถูกกฎหมาย และลดปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ ระหว่างนี้หากผู้ประกอบการไม่มีแรงงานในการดำเนินงาน ก็สามารถติดต่อมายัง กกจ. ได้ เนื่องจากมีคนไทยที่พร้อมจะทำงานอีกประมาณ 7 - 8 พันคนต่อเดือน ซึ่งจะทดแทนปัญหาจุดนี้ได้
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า 2. เปิดโอกาสให้นายจ้างมายื่นขอเปลี่ยนชื่อนายจ้างใหม่ได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 100 บาท เนื่องจากเดิมทีนายจ้างจะประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวย้ายงาน แต่ชื่อยังติดกับนายจ้างคนเดิม อาจจะเกิดปัญหาได้ จึงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนชื่อนายจ้างได้ ซึ่งจากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบปัญหาแรงงานต่างด้าวทำงานไม่ตรงกับนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่าครึ่ง วิธีนี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ และ 3. การลงนามความร่วมมือกับพม่า เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกกฎหมาย โดยวันที่ 29 มิ.ย. จะเดินทางไปยังพม่าเพื่อหารือเรื่องนี้
 
“ข้อกังวลเรื่องโทษปรับที่มากถึง 4 แสนบาท ต้องบอกว่า โทษก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเดิม แต่ที่ปรับให้มากขึ้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับอื่นด้วย เช่น กฎหมายการค้ามนุษย์ กฎหมายการใช้แรงงานเด็ก และกฎหมายแรงงานประมง หากทำผิดก็มีโทษปรับ 4 แสนบาทเช่นกัน ซึ่งการมีมาตรฐานของโทษที่ใกล้เคียงกันจะทำให้สังคมโลกยอมรับในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ส่วนข้อกังวลเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าปรับ ขอย้ำว่า หากมีการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับ ณ ที่เกิดเหตุได้ทันที แต่ต้องมีการส่งเรื่องและประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณา และให้ผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดยอมรับสารภาพ และเปรียบเทียบปรับตามขั้นตอน ซึ่งหากพบเจ้าหน้าที่เรียกเก็บถือว่ามีความผิด ก็ยื่นเรื่องเอาผิดได้เช่นกัน ซึ่งนายกฯ ก็กำชับว่า ต้องดูแลให้ดีหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด หรือทุจริตต้องมีโทษหนักเช่นกัน ส่วนที่กังวลว่ามีโทษถึง 8 แสนบาทนั้น เป็นโทษขั้นสูงจะหมายถึงมีความผิดกรณีอื่นๆ เช่น ค้ามนุษย์ แต่ทั้งหมดอยู่ดุลพินิจของศาล” นายวรานนท์ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงงานต่างด้าวมีการย้ายพื้นที่ทำงาน จะเข้าข่ายผิดกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่ นายวรานนท์ กล่าวว่า ไม่ผิดแน่นอน เพราะกฎหมายปลดล็อกโดยไม่ระบุพื้นที่ทำงาน แต่ขอให้ทำงานตรงกับนายจ้างที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดให้นายจ้างมาเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง รวมทั้งยังตัดช่องทางการถูกเจ้าหน้าที่รีดไถ และการเปลี่ยนนายจ้างเองของลูกจ้างด้วย เช่น เดิมอยู่กับนายจ้าง ก. ก็เปลี่ยนเองไปอยู่กับนายจ้าง ข. เป็นต้น สำหรับการตรวจจับนั้น หากพบว่านายจ้างมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งหน้า คือ ระหว่างทำงาน เจ้าหน้าที่รัฐพบต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทันที มิฉะนั้น จะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่หากนายจ้างคนใดทราบว่า แรงงานของตนผิดกฎหมาย ให้รีบส่งแรงงานต่างด้าวมาแสดงตนและดำเนินการให้ถูกต้องจะดีที่สุด ซึ่งหากมีการดำเนินการก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับกุม
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว นอกจากจะทำทุกอย่างอย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังพบว่า ช่วยลดปัญหาเรื่องสาธารณสุขอีก เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ต้องใช้งบประมาณในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องสูงถึง 8,000 ล้านบาท แต่หากเข้ามาถูกกฎหมายก็จะอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะถือเป็นเรื่องของความเป็นธรรมกับคนไทยเองในเรื่องนี้ที่ต้องจ่ายภาษีกันทุกคน
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้มีมากมาย อาทิ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะควบคุมดูแลได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ตามที่พึงได้ อีกทั้ง เนื้อหาสาระของ พ.ร.ก. ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Promotion) ส่งเสริมการจ้างแรงงานไทย โดยเปิดโอกาสให้รับแรงงานไทยเข้าทำงานเป็นลำดับแรก ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงระเบียบให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อการเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายน้อยและสะดวกรวดเร็ว การกระทำผิดกฎหมายก็จะลดลงตามลำดับ และเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืน
 
 
สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้(29 มิ.ย.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 ซึ่งพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใช้แรงงานและนายจ้างที่มีผลต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ กรรมาธิการฯ จึงพิจารณาปรับแก้ไข โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคแรงงาน
 
พล.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า กฎหมายนี้มีทั้งสิ้น 7 มาตรา กรรมาธิการฯ แก้ไข 3 มาตราเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 87 เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงาน แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 108 และมาตรา 110 ปรับปรุงเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้าง
 
“มาตรา 118/1 ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุเพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 144(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ พร้อมกับเพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา 144 กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ” พล.อ.สิงห์ศึก กล่าว
 
ทั้งนี้ ไม่มีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติ โดยหลังการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเอกฉันท์ 208 เสียง ในวาระ 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
 
กม.แรงงานโหด กระทบพม่าถูกลอยแพกว่า 400 คน จนท.เมียนมาชี้สวนทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
 
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 60 แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ประมาณ 400 คน ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา ที่จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังจากที่นายจ้าง และผู้ประกอบการไม่กล้าจ้างแรงงานต่างด้าว ที่ผิดกฏหมาย และไม่สามารถนำแรงงานเมียนมา เข้ามาทำงานตรงกับอาชีพที่ระบุไว้ได้
 
หลังจากที่ประเทศไทยได้ออกกฏหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่มีโทษรุนแรง ทำให้สถานประกอบเริ่มได้ผลกระทบ และทางการเมียนมาต้องแบกรับภาระการหลั่งไหลกลับไปของแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน โดยซื้อข้าวห่อไปเลี้ยงแรงงานที่ตกงานทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีบรรดานายหน้าที่เคยส่งแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียน ก็ไม่รับแรงงานต่างด้าวอีกเกรงว่าจะถูกจับกุม และได้รับโทษที่รุนแรง
 
เจ้าหน้าที่เมียนมา รายหนึ่งแจ้งว่า แรงงานเมียนมา ที่กลับไป ต่างบอกว่า ไม่ได้ไปก่ออาชญากรรม และกระทำผิดกฏหมายความมั่นคงของไทย ทำไมต้องมากำหนดโทษรุนแรง และยังเป็นช่องทางหากินของเจ้าหน้าที่ไทยด้วย
 
สำหรับเรื่องนี้ กำลังเป็นที่ถูกวิพากษ์จารณ์จากนายจ้างคนไทย และผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว โดยการออกกฏหมายลักษณะเช่นนี้ ไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุน ของไทย และยังสวนทางกับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากด้วย
 
นายหม่อง จ่อ อายุ 25 ปี แรงงานเมียนมา รายหนึ่งที่กลับไปยังจังหวัดเมียวดี บอกว่า ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าวิ่งหางานทำให้ ในราคา 3,000 บาท พอไปถึงโรงงาน นายจ้างไม่กล้ารับเพราะกลัวถูกจับ จึงกลับไปฝั่งเมียนมา เพื่อกลับบ้าน แต่ที่สำคัญไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เงินหมดตัว เพราะจ่ายเงินให้นายหน้าไปหมดแล้ว
 
 
กลุ่มผู้แปรรูปยางพาราร้อง สนช.ขอขยายเวลาคุ้มครองชั่วคราว พรก.จัดการการทำงานของคนต่างด้าว
 
กลุ่มผู้แปรรูปยางพาราและกลุ่มผู้ประกอบกิจการยางพารา เข้ายื่นเรื่องต่อ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และ การแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เรียกร้องให้มีการขยายเวลาคุ้มครองชั่วคราว พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งพระราชกำหนดดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้แปรรูปยางพาราและกลุ่มผู้ประกอบกิจการยางพารา เพราะต้องใช้เวลาดำเนินการ เพื่อให้ทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และต้องมีระยะเวลาจัดทำเอกสารประมาน 30-90 วัน
 
ทั้งนี้ การผลิตและแปรรูปยางพารานั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีฝีมือจากต่างประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องมีการทดลองฝีมือแรงงานก่อนทำข้อตกลงกัน ทำให้มีระยะเวลาดำเนินการหลายขั้นตอน ทั้งนี้ทางกลุ่มยืนยันว่า การยื่นเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การคัดค้านการออกกฎหมาย และยินดีที่จะทำตามอย่างเคร่งครัด
 
 
มูลนิธิ LPN ร้องรัฐทบทวนกฏหมายแรงงาน
 
นายสมพงค์ สระแก้ว มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) บอกว่า นโยบายด้านแรงงานช่วงนี้ เสมือนการเก็บต้อนส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับวิธีคิดจัดการปัญหาระดับอาเซียนในมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมาคือ การจับผลักดันส่งกลับไม่มีผลต่อการลดจำนวนแรงงานเพื่อนบ้านในประเทศไทย อีกทั้งเสียงบประมาณโดยวันนี้ได้พูดคุยกับพี่น้องแรงงานชาวพม่า พบว่า แรงงานเหล่านี้ต่างหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐและอยากเปลี่ยนนายจ้างใหม่ นายจ้างเก่าไม่ยอมทำงานและขับไล่ออกจากที่ทำงาน ล่าสุดบอกว่า แต่ละคนต่างหาทางกลับประเทศตนเอง รัฐบาลจะต้องทบทวนนโนบายด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน เพราะหลายๆ อย่างในความเป็นจริงเชิงระบบ คือ ตัดตอนผลประโยชน์อยู่ในแต่ละพื้นที่ส่วยแรงงานมีแทบทุกที่ ควรเอามาขึ้นทะเบียนใหม่ นำเงินเข้ารัฐบาลมาแก้ไขปัญหาดีกว่า เพราะสงสารแรงงาน และเด็กๆ ที่ลำบากในประเทศไทย
 
 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.