Posted: 02 Jul 2017 06:14 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในวันนี้เมื่อยี่สิบปีก่อน ....2 กรกฎาคม 2540 ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกประชุมนายธนาคารทุกแห่งในเวลาเช้าตรู่ 7.00 น. แล้วประกาศว่า ประเทศไทยจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งหมายความว่า ธปท.จะไม่เป็นผู้กำหนดและจะไม่แทรกแซงขนาดหนักอย่างที่เคยทำมา (ซึ่งทุกคนก็รู้โดยทันทีเลยว่า ธปท.สารภาพว่าเงินทุนสำรองหมดเก๊ะแล้ว ไม่มีเค้าจะแทรกแซงได้อีก) ...และนั่นก็เท่ากับการประกาศจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ"วิกฤติเศรษฐกิจ"ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี ที่เราเรียกกันว่า"วิกฤติต้มยำกุ้ง" ซึ่งในที่สุดก็ลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค มีKimchi Crisisของเกาหลี Abodo Crisisของฟิลิปปินส์ Gado Gado Crisisของอินโดนีเชีย และNasi Lemak Crisisของมาเลเซีย ทยอยตามมาติดๆ

ผมว่าการที่ใช้อาหารประจำชาติมาตั้งฉายาให้วิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามในครั้งนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะมากทีเดียว เพราะการลุกลามนั้นไม่ใช่เป็นการติดเชื้อโรคเท่านั้น แต่เพราะสาเหตุที่แท้จริงนั้นมันเป็นเพราะต่างก็กินอาหารแสลงเหมือนๆกัน นั่นก็คือการลงทุนที่ผิดพลาด (ลงในสิ่งที่มีผลตอบแทนไม่คุ้มค่า) และใช้แหล่งเงินทุนที่ผิดพลาด (เอาเงินกู้ระยะสั้นสกุลต่างประเทศมาลงทุนระยะยาว)

สาเหตุ ความเป็นไป วิธีการแก้ปัญหา รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่องจากวิกฤติครั้งนั้น ผมได้เคยเขียนบรรยายรายละเอียดไว้แล้วในบทความยาว 8 ตอน ที่เขียนเมื่อ 2 กค. 2556 - 18 กค.2556 ใครสนใจไปหาอ่านได้ใน ThaiPublica นะครับ ....วันนี้จะพูดถึงบทเรียนที่ได้ กับผลจากการแก้ปัญหา และอุทธาหรณ์อื่นๆ

การแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนั้นของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ต่างก็ขอเข้ารับความช่วยเหลือจากIMF ขอเงินกู้ ($ 17, $42 และ $58 พันล้าน ตามลำดับ) โดยยอมตัวเข้าผูกพันตามโครงการปฏิรูปภายใต้บันทึกข้อตกลง(LOI) ขณะที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาไม่มากนัก เงินสำรองมีมากและดุลการค้าก็ได้เปรียบ ถึงแม้ค่าเงินจะลดลงมาก แต่ศก.ก็ถดถอยเพียงเล็กน้อย(ตำ่กว่า5% ขณะที่ประเทศอื่นๆมากกว่า10%) ฟิลิปปินส์จึงใช้แค่Technical Assistance คำปรึกษาจากIMFโดยไม่ต้องขอกู้ ...ส่วนมาเลเซียของคุณพี่มหาเด่ร์นั้นไปอีกแนว ประกาศไม่เอาIMFแถมด่ารายวัน(แหะๆ...จริงๆไม่ใช่รายวันแบบแถวทำเนียบเรานะครับ เป็นแค่ประมาณเดือนละครั้ง) แล้วก็มีการควบคุมการไหลเข้าออกของทุน(Capital Control) แถมกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว(Fixed Exchange Rate) กึ่งๆปิดประเทศบางส่วน อาศัยว่ามีเงินทุนสำรองค่อนข้างมาก กับราคานำ้มันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักอันหนึ่งปรับตัวดีขึ้นก็เลยรอดตัวพัฒนามาได้

วันนี้วิกฤติผ่านมายี่สิบปีเต็ม ต้องบอกว่าทุกประเทศต่างก็ผ่านวิกฤติมาได้ หลังจากต่างก็ชะงักงันเศรษฐกิจติดลบไปแค่ปีสองปี ในที่สุดก็ตั้งหลักเดินต่อกันได้ ซึ่งแทบทุกประเทศกลับมามีอัตราเติบโตได้ดีซึ่งถ้านับจากปี คศ.2000 ที่ต่างก็ตั้งหลักกันได้จนถึง คศ.2016 ส่วนใหญ่สามารถกลับมาเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ ...ฟิลิปปินส์ เติบโตได้เฉลี่ย 4.95%ต่อปี ...ขณะที่อินโดนีเซีย ก็พัฒนาได้ดี เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยได้สูงถึง 5.3%ต่อปีแถมประชาธิปไตยเบ่งบาน เผด็จการถูกโค่นล้ม ธรรมาภิบาลก็พัฒนา คนโกงโดนลงโทษ ดัชนีคอร์รัปชั่นปรับขึ้นจาก17คะแนน มาเป็น37คะแนน อันดับพุ่งพรวดจาก 140 มาเป็นที่ 90 ของโลก ...ด้านมาเลเซียที่ก่อนวิกฤติทำท่าจะโดนพี่ไทยแซงหน้าแต่พอหลังวิกฤติกลับเติบโตได้แข็งแรงเฉลี่ยปีละถึง 5.07%จนค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียภายในปี2520นี้เป็นแน่ ...ข้างเกาหลีใต้นั้น แทบไม่ต้องพูดถึง แม้จะโดนวิกฤติอ่วมต้องพึ่งเงินช่วยจากIMFตั้งครึ่งแสนล้านเหรียญ แต่หลังแก้ไข กัดลูกปืนปฏิรูปหลายด้านจนยังเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึง 4.19% นับว่าโตมากที่สุดประเทศหนึ่งในเหล่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย จนมีรายได้ต่อคนต่อปีเกือบ $28,000 รำ่รวยเป็นอันดับที่ 25 ของโลก

สรุปว่ามีเพียงประเทศเดียวที่แป้กยาว คือประเทศไทยแลนด์ของเรานี่เอง ที่ 2000-2016 เศรษฐกิจเติบโตแบบตำ่เตี้ย เฉลี่ยแค่ 3.95%ต่อปี โดยที่หกปีหลัง(2010-2016)นี่โตแค่เฉลี่ยปีละ2.98% ที่ไม่ใช่จะแค่ตำ่สุดในเหล่าประเทศที่โดนวิกฤติเท่านั้น แต่นับว่าตำ่สุดแห่งหนึ่งในโลกในเหล่าประเทศกำลังพัฒนา(Emerging Market)เลยทีเดียว ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า9%ในช่วงสิบปี(1986-1996)ก่อนเกิดวิกฤติแล้ว นับว่าเป็นฟ้ากะเหวเลยทีเดียว

ผมเลยอยากชวนวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมวิกฤติเมื่อยี่สิบปีก่อน ถึงได้เปลี่ยนสถานะเราจากหน้ามือกลายมาเป็นหลังตีน จากประเทศดาวรุ่งคั่วตำแหน่งเสือตัวใหม่กลายมาเป็นประเทศติดกับดักฉายา"คนป่วยแห่งเอเชีย"ได้ขนาดนี้ ซึ่งผมขอตั้งประเด็นเป็นข้อๆเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์วิจัยกันต่อนะครับ

1. ในวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยนั้น เป็นวิกฤติในภาคเอกชน ที่ลงทุนเกินตัว โดยใช้แหล่งเงินผิดประเภท คือไปกู้ระยะสั้นมาจากต่างประเทศ พอเราถูกบังคับให้ลดค่าเงิน ผู้กู้ก็ล้มระเนระนาด แต่ก็เป็นเพียงพวกพ่อค้าคนรวยส่วนใหญ่ คนทั่วไปถึงจะเดือดร้อนจากการที่ศก.หดตัวรุนแรง แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น แถมลักษณะสังคมไทยที่ใครเดือดร้อนตกงานก็ยังโอบอุ้มช่วยเหลือ ไม่มีใครอดตาย ทำให้เราไม่มีวิกฤติสังคมไม่มีSocial Unrest ...พอเราลดค่าเงินลงมาก สินค้าเกษตรก็ราคาพุ่งขึ้น เกษตรกรกลายเป็นดีขึ้นมาก สินค้าส่งออกอื่นๆก็พุ่งขึ้นอย่างมากเพราะมีexternal price adjustment(ลดค่าเงิน)ขนานใหญ่ มีการลงทุนมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มมาก คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์

2. ประเทศไทยมีวินัยการคลังต่อเนื่องกันมายาวนาน เราจึงมีระดับหนี้สาธารณะที่ตำ่ รัฐบาลจึงมีทางเลือกทางนโยบายที่จะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นศก.ได้ค่อนข้างมาก นอกจากนั้นจากการที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เน้นการกระจายอำนาจและทรัพยากร กับการให้รัฐบาลมีอำนาจบริหารมากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมประชานิยม ที่เอาทรัพยากรส่วนกลางไปใช้จ่ายแจกได้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการขยายตัวของบทบาทและขนาดของรัฐอย่างมากผ่านรัฐวิสาหกิจ และนโยบายแทรกแซงตลาดแบบต่างๆ(เช่น การคำ้ประกันราคาพืชผล) ทำให้ในระยะสั้น ยังทำให้เศรษฐกิจพอจะขยายตัวไปได้

3. จากสองข้อข้างต้น ทำให้เราผ่านวิกฤติมาได้โดยค่อนข้างง่าย ไม่มีแรงกดดันให้ต้องปฏิรูปขนานใหญ่ใดๆ เอกชนมีการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพน้อย เพราะไม่มีความจำเป็น สังเกตได้จากTotal Factor Productivityของภาคอุตสาหกรรมที่แทบไม่เพิ่มเลย การลงทุนเพื่อupgrade productivityมีน้อย แถมการขยายตัวอย่างมากของรัฐ เท่ากับว่าเอาทรัพยากรจำนวนมากไปอยู่ในภาคที่ประสิทธิภาพ และผลิตภาพตำ่ และส่งเสริมให้การคอร์รัปชั่นขยายตัวเต็มที่

4. พอเสถียรภาพค่าเงินกลับมา มีการเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงินต่อเนื่อง ค่าเงินย่อมถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้น ความได้เปรียบด้านราคาย่อมหมดไป แถมประเทศเกิดใหม่รุ่นใหม่อื่นๆเริ่มมีประสิทธิภาพการแข่งขัน มีผลิตภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมส่งออกเราก็เลยเริ่มมีปัญหา ไม่สามารถแข่งขันได้ ในขณะที่หนี้สาธารณะทั้งที่อยู่ในระบบ และที่แอบแฝงอยู่(เช่น ขาดทุนจำนำข้าว ขาดทุนธนาคารรัฐฯลฯ) ก็เริ่มที่จะมีเพดานข้อจำกัด การขยายตัวแบบ"รัฐแอบอัด"ก็เริ่มจะถึงทางตัน

โดยสรุป ....ผมคิดว่า เราเรียนรู้จากวิกฤติ"ต้มยำกุ้ง"น้อยมาก เราแทบไม่ได้ใช้โอกาสจากวิกฤติในการปฏิรูปใดๆเลย สิ่งที่ทำ ก็ดูเหมือนจะเป็นแค่สร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้กับสถาบันการเงิน (แต่ก็ด้วยต้นทุนที่สูงลิ่ว) แต่ผลิตภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจดูจะมีเพิ่มน้อยมาก พอปัจจัยต่างๆเริ่มจำกัด เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ(แรงงานเริ่มจำกัด) เพดานหนี้เริ่มปริ่มทั้งหนี้รัฐ หนี้เอกชน หนี้ครัวเรือน ฯลฯ เราก็เลยติดกับดักลึกลงไปทุกที

ยี่สิบปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ...แน่นอนครับ เรามีโอกาสน้อยมากที่จะเจอวิกฤติแบบเดิมอีก แต่สิ่งที่น่าจะเจอมากกว่า จะกลายเป็นความหนืด ความอืด ที่เศรษฐกิจจะไม่เติบโต หรือโตช้า ซึ่งหลายคนบอกว่า นั่นอาจจะเป็นเครื่องป้องกันวิกฤติที่ดีได้อย่างหนึ่ง (วิกฤติมักจะตามการเติบโตที่ร้อนแรง) แต่ที่ผมกลัวมากกว่าก็คือ ประวัติศาสตร์สอนว่า ในยามที่ศก.โตช้าความเหลื่อมล้ำจะยิ่งทวี (เรื่องนี้ Thomas Picketty ดูจะเขียนไว้ชัดในหนังสือ Capital in 21st century ของเขา ว่า ระบบ Capitalism ใน Low growth economy จะค่อยๆถ่ายโอนสมบัติจากคนจนไปสู่คนรวย ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม) ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจก็อาจมีวิกฤติสังคม ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างรุนแรง ก็อาจจะล้มล้างระบบไปเลยอย่างที่เคยเกิดในรัสเซีย จีน เวียตนาม กัมพูชา

ซึ่งถ้าเกิดวิกฤติสังคม เกิดสงครามชนชั้น มีสงครามกลางเมืองขึ้นมาจริง เราคงไม่ได้ฟื้นง่ายๆเหมือนตอนปี 2540 หรอกครับ คงต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.