Posted: 05 Jul 2017 04:50 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รายงานพิเศษ วงเสวนา อนาคตประเทศไทย ภายใต้รถไฟจีน ม.44 สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation เปรียบเทียบดีลรถไฟจีน 3 ชาติในอาเซียน พบไทยได้ดีลแย่กว่า ลาว และอินโดนีเซีย ไร้อำนาจต่อรอง และอาจสร้างเงื่อนไขต่อรองที่ตกต่ำต่อไปในอนาคตกับโครงการระหว่างประเทศอื่นๆ

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “อนาคตประเทศไทย ภายใต้รถไฟจีน ม.44” ที่ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation, รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สมาชิก Start Up People, รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: รถไฟไทย-จีน สร้างข้อตกลงแย่กว่าลาว และอินโดนีเชีย


สุภลักษณ์ เริ่มต้นด้วยการระบุว่า โครงการรถไฟเป็นเรื่องที่พูดถึงในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกมามากกว่า 20 ปี เนื่องจากประเทศในภูมินี้ต้องการที่จะเชื่อมการคมนาคม การขนส่งทางบกระหว่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยมีต้นแบบความคิดมาจากประเทศแถบยุโรปที่สามารถเดินทางไปมาหากันได้อย่างไร้พรมแดน และไร้ขีดจำกัด โครงการรถไฟก็เป็นหนึ่งในช่องทางการคมนาคมที่มีการพูดถึงกัน โดยโครงการแรกๆ คือ โครงการรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้น

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงมีการพูดถึงกันในหลายประเทศ ภายใต้บริบทของการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยประเทศที่เป็นตัวตั้งตัวตี และพยายามที่จะศึกษาความเป็นไปได้คือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งระหว่างนั้นประเทศไทยเองก็มีความฝันเหมือนกันว่าตัวเองอยากจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนาคมในภูมิภาค และไทยเองก็มีรางรถไฟอยู่แล้ว แต่เป็นรางขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถวิ่งเร็วได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้เปลี่ยนเป็นรางขนาด 1.4 เมตร แต่ของไทยยังคงใช้รางที่ขนาดกว้างเพียง 1 เมตร ซึ่งหากจะทำให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมก็จะต้องมีการรื้อ และทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งประเด็นที่ว่า เราจะสร้างรางที่มีมาตราฐานเดียวกันเพื่อให้การสัญจรไปมาเชื่อมต่อกัน ก็เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการคมนาคมที่เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอซียตะวันออก โดยตามประวัติศาสตร์แล้วในปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศไทยกับประเทศจีน เริ่มมีรถไฟในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันจีนสามารถรถไฟที่มีความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ โดยเป็นระยะทางทั้งหมด 20,000 กิโลเมตร ในขณะที่ไทยมีระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร แต่วิ่งได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเทียบกับยานพาหนะอื่นๆ เช่นพัฒนาการของรถยนต์ พบว่า รถไฟไทยไม่ได้มีความก้าวหน้าเลย

เขาเห็นว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกฉียงใต้ต่างก็คล้ายกับไทย คือยังไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ขณะที่จีนขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้ขึ้นเป็นผู้ที่จะเสนอว่า ในเมื่อพวกคุณพูดเรื่องรถไฟกันมากว่า 20 ปี แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ให้จีนเป็นคนทำแล้วกันรับรองว่าใช้เวลาเพียง 4-5 ปี เมื่อเป็นเช่นนั้นในหลายประเทศต่างก็เริ่มยอมรับว่ามันมีความเป็นไปได้ หากจีนเป็นคนสร้างรถไฟให้

“ทีนี้มันก็เกิดจินตนาการอันเลอะเทอะว่า จีนจะสร้างให้เปล่าๆ ฟรีๆ แต่ในของความเป็นจริงมันไม่มีอะไรที่ได้ฟรี ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาทุกๆ ประเทศต่างก็ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาจากจีน ลาวก็ทำอย่างนั้น ไทยก็ทำอย่างนั้น เพราะวิธีทำให้ทางรถไฟเชื่อมกันเป็นจริงมากที่สุดก็ต้องไปหาจีน เพราะฉะนั้นปัจจุบันจีนก็เสนอโครงการรถไฟให้กับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้”

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้มี 3 ประเทศที่ได้ทำข้อตกลงเรื่องการสร้างรถไฟคือ ประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศลาวเริ่มตกลงเรื่องรถไฟกับจีน โดยมีข้อตกลงจะมีการสร้างรถไฟจากหลวงพระบาง ไปถึงเวียงจันทร์ มีระยะทางประมาณ 427 กิโลเมตร มีงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลาคืนทุน 35 ปี เงื่อนไขทางเทคนิคคือ รถไฟของลาวยังไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง รถไฟของลาวจะมีสองสเปค โดยที่ใช้สำหรับขนผู้โดยสารจะมีความเร็วประมาณ 160-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ว่ารางจะเป็นรางชนิดเดียวกัน ส่วนขบวนรถสำหรับขนสินค้าจะวิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี

“สิ่งที่สำคัญ และมีการถกเถียงกันมากในลาวคือ เรื่องที่ดินสองข้างทางรถไฟ โดยมีการพูดกันว่า จีนได้ขอเยอะมาก และขอไปถึงขั้นสัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานป่าไม้ เพื่อแลกกันการก่อสร้างทางรถไฟ อันนั้นอาจจะมีอยู่จริงแต่ไม่ได้มีเขียนไว้ในแผนโครงการรถไฟ อาจจะเป็นข้อตกลงข้างนอก เนื่องจากว่า ลาวไม่มีเงินสดมากพอ แต่สิ่งที่อยู่กันภายข้อตกลงรถไฟก็คือ สองข้างทางรถไฟจะมีการเวนคืนข้างละ 5 เมตร ยกเว้นบริเวณปากทางเข้าสถานีข้างละ 50 เมตร สถานีใหญ่ก็อาจจะใช้พื้นที่มากหน่อย เช่นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ รวมๆ แล้วลาวจะต้องเวนคืนที่ดินสำหรับโครงการนี้ประมาณ 19,112.5 ไร่ และพื้นที่สำหรับใช้ในก่อสร้าง เช่นกองอิฐ กองทราย ขุดดินขึ้นมาทำทางรถไฟอีกประมาณ 5,000 ไร่” สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เงื่อนไขในการก่อสร้างโครงการรถไฟในลาวก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากประเทศลาวไม่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ฉะนั้นบริษัทในการรับเหมาก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษาจัดระบบ จะเป็นบริษัทจากจีนทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขว่า งานซับคอนแทรคเตอร์ อย่างน้อยงานโยธา จะต้องให้บริษัทของลาวเข้าไปทำงานร่วมด้วย เงื่อนไขการลงทุนอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องมีการตั้งบริษัทร่วมลงทุน โดยลาวจะใส่เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นในสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้าง ส่วนที่เหลืออีก 60 เปอร์เซ็นต์เงินจะมาจากสถาบันการเงินของจีน โดยเริ่มต้นรัฐบาลลาวจะต้องลงทุนทั้ง 730 ล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากรัฐบาลลาวไม่มีเงินก้อนมากเพียงพอ จึงได้มีการเสนอให้เป็นการผ่อนชำระ 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี รวมเป็น 250 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อีก 450 ล้านดอลลาร์ลาวจะกู้จากจีน ในอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สุภลักษณ์ กล่าวว่า ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวสิ่งที่ลาวจะต้องให้กับจีนคือ การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับวิศวกร คนงาน ใครก็ตามแต่ที่เข้ามาทำงานในโครงการนี้ ลาวจะต้องยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมๆ แล้วนักวิเคราะห์ต่างก็มองว่า ลาวให้จีนค่อนข้ามาก โดยลาวต้องกู้เงินจีนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลาวให้พื้นที่กับจีนอีกมาก อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ เห็นว่า ดีลดังกล่าวเป็นดีลที่ดีที่เท่าทีลาวสามารถทำได้ เนื่องจากลาวไม่มีข้อต่อรองอะไรในการทำข้อตกลงกับจีนในครั้งนี้ ไม่มีทั้งเทคโนโลยี ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่เพียงพอที่จะต่อรองกับจีนได้ และบนข้อต่อรองที่ไม่อะไรเลย ลาวก็ยังสามารถขอให้มีซับคอนแทรคเตอร์ที่เป็นบริษัทของลาวได้ ซึ่งถือว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลลาวทำได้

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปถึงประเทศอินโดนีเซียว่า เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ทำข้อตกลงโครงการสร้างรถไฟกับประเทศจีน ซึ่งเป็นข้อตกลงในบริบทที่ใกล้เคียงกับไทย โดยเขามองว่าอินโดนีเซียมีทักษะในการทำข้อตกลงกับจีนที่ดีกว่าประเทศลาว โครงการที่อินโดนีเซียกำลังทำร่วมกับจีนคือ โครงการรถไฟ ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง โดยมีความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่รถไฟของจีนวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรุ่นใหม่ล่าสุดวิ่งที่ความเร็ว 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับเส้นทางในอินโดนีเซียที่กำลังก่อสร้างอยู่คือ จาการ์ตา-บันดุง ระยะทางทั้งหมด 142 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งหมด 5,9000 ล้านดอลลาร์ รวมระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสาย จาการ์ตา-บันดุง นั้น สุภลักษณ์ให้ข้อมูลว่า ทั้งสองประเทศจะมีการตั้งบริษัทร่วมลงทุน เช่นเดียวกันกับกรณีของลาว แต่ว่าบริษัทร่วมทุนของอินโดนีเซีย ทางอินโดนีเซียจะเป็นฝ่ายถือหุ้นข้างมากคือ 60 เปอร์เช็นต์ ฝ่ายจีนถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับแหล่งทุนนั้นมาจากจีนเช่นกัน โดยที่จีนจะต้องใส่เม็ดเงิน 75 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ดีลกับรัฐบาลจีนด้วยเงื่อนไขที่มีการดีลกับ 2 ชาติพร้อมกัน หนึ่งคือประเทศญี่ปุ่น และสองคือประเทศจีน โดยในช่วงแรกๆ ทั้งสองฝ่ายดูจะเสนอราคาที่แพงด้วยกันทั้งคู่ จนกระทั่ง โจโควี ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นว่า หากราคาแพงมากเกินไป ก็คงต้องปรับลดสเปคจากรถไฟความเร็วสูง มาเป็นรถไฟความเร็วปานกลางแทน จากนั้นจีนจึงมาพร้อมกับข้อเสนอใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับข้อเสนอเงื่อนไขการเงินที่รัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธไม่ได้คือ อินโดนีเซียไม่ต้องจ่าย และนอกจากไม่ต้องจ่ายก็ยังไม่ต้องกู้อีกด้วย ญี่ปุ่นจึงแพ้โครงการนี้ไป

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะเสนอว่าตัวเองมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่า ทั้งในแง่ของเทคนิค และความปลอดภัย และมีประสบการณ์ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงมากแล้ว 50 ปี ในขณะที่จีนเพิ่งเริ่มสร้างเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากว่าญี่ปุ่นอยู่ในโลกทุนนิยมจึงไม่สามารถสนับโครงการนี้ได้มาก แม้อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะตระหนักถึงการก้าวขึ้นมามีอำนาจในทะเลจีนใต้ที่กำลังแข่งขันกันระหว่างจีน กับญี่ปุ่น ซึ่งก็พยายามปลุกปั่นโครงการนี้ขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้นรัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอที่ทางอินโดนีเชียปฎิเสธไม่ได้ และท้ายที่สุดอินโดนีเชียก็เลือกจีน

สุภลักษณ์ กล่าวต่อมาถึงกรณีของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เพิ่งมีการคิดถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูง หากแต่มีการพูดถึงกันมาก่อนแล้วในสมัยก่อนหน้า เช่นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เคยมีการพูดถึงกันเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ได้คืบหน้ามากเพราะสถานการณ์ระหว่างประเทศในเวลานั้นไทยกำลังมีเรื่องกับกัมพูชา และมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ จึงไม่สามารถที่จะก่อรูปก่อร่างโครงการขึ้นมาได้ มีเพียงแต่การพูดกันไว้เฉยๆ ยังไม่ได้มีการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่าโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว เนื่องจากจีนมีความต้องการหาทางออกสู่ทะเล ด้วยเหตุที่ว่าทะเลจีนใต้เองก็มีปัญหามาก ฉะนั้นจีนก็จำเป็นต้องหาทางเลือกในการออกทะเลเผื่อไว้ ในกรณีที่ถูกบล็อคจากอีกฝั่งหนึ่ง จีนจะได้สามารถขนส่งสินค้าลงใต้มาทางท่าเรือของไทยได้ แต่ข้อด้อยก็คือว่า ท่าเรือของไทยก็แน่นแล้ว อย่างก็ตามไทยก็ได้ทำท่าเรือใหม่ที่ทวายเพื่อที่จะระบายสินค้าออกทางมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายขึ้น จีนเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่โอเค แต่ระหว่างนี้จีนเป็นประเทศที่ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก อย่างที่ทราบคือจีนเองก็เป็นประเทศที่เตรียมจะขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ฉะนั้นจีนไม่ได้แสดงอาการง้อไทยมากนัก ขณะที่ไทยยังสำคัญตัวเองผิดว่า ในทางภูมิศาสตร์ของไทยนั้นเป็นช่องทางเดียวที่จีนจะมาออกทะเลได้ แต่ในขณะที่จีนเจรจากับไทย เขาทำโครงการท่อแก๊สกับพม่า และส่งเข้าประเทศจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเปิดใช้งานแล้ว อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟความเร็วธรรมดาสายจากคุนหมิงไปถึงชายแดนพม่าก็เปิดใช้งานแล้ว ฉะนั้นเท่ากับว่าจีนมีทางเลือกที่จะออกสู่มหาสมุทรอินเดียแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ข้อต่อรองของไทยด้อยลง

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปถึงประเด็นที่สองในเรื่องการต่อรองโครงการรถไฟไทยจีนว่า สถานการณ์การทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรียกได้ว่า เลวมาก โดยหลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เขวี้ยงโครงการรถไฟของรัฐบาลที่แล้วลงไป พร้อมกับเหตุผลที่ว่าถนนลูกรังยังไม่หมดไป โครงการรถไฟก็ยังไม่จำเป็นต้องมี สิ่งนี้เองที่ทำให้จีนรู้ว่า ไทยกำลังมีปัญหามา

“หลังจากที่รัฐบาลนี้ขึ้นมาใหม่ๆ ก็พูดว่ารถไฟของเราต้องความเร็วไม่สูงนัก ทำไมรถความเร็วสูงไม่ได้ ก็เพราะในทางการเมืองแล้ว เราด่ารัฐบาลก่อนเรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้จะทำรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ ฉะนั้นทำรถไฟความเร็วที่เท่ากับรถปิคอัพดีกว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาก็ไม่สามารถพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูงได้ในระยะแรกๆ” สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางรถไฟของรัฐบาลนี้จึงออกมาเป็นเส้นทางจาก หนองคาย-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อระบายสินค้าออกทางท่าเรือแหลมฉบัง แต่อย่างไรก็ตามท่าเรื่อฝั่งอ่าวไทยไม่ใช่จุดที่จีนต้องการจะออก เพราะต้องอ้อมไปเข้ามหาสมุทรอินเดีย อย่างก็ตามความคิดที่ว่าจะใช้เส้นทางรถไฟดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าเป็นหลัก ก็ถูกตั้งคำถามว่าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อภาคอีสานเองก็ไม่ได้สินค้ามากนัก ฉะนั้นเส้นทางรถไฟของไทยเองก็ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก

“ระหว่างนั้นการรัฐประหารทำให้เกิดขีดจำกัดในการระหว่างประเทศของไทยค่อนข้างมาก และตอนที่ขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ ไม่น่าเชื่อว่า คนที่วิจารณ์รัฐบาลไทยด้วยคือ รัฐบาลญี่ปุ่น คงจำได้เคยมีผู้แทนไทยไปโตเกียว และกลับมาแถลงข่าวบอกว่า ญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยอย่างมาก แต่ทางญี่ปุนออกแถลงการณ์มาว่า อยากให้ประเทศไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เท่านั้นแหละก็รู้สึกว่าญี่ปุ่นคบไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นในดีลเรื่องรถไฟนี้ก็จึงไม่มีญี่ปุ่น สุดท้ายจึงไปเลือกว่าให้ญี่ปุ่นทำเส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ ด้วยความคิดที่ว่าเส้นทางนี้คนเดินทางมาก กรุงเทพ-หนองคายจะใช้ขนส่งสินค้าให้จีนทำไปแล้วกัน แต่ผมคิดว่านี่คือข้อผิดพลาดอย่างยิ่งในการทำดีล” สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ ให้ข้อมูลต่อว่า หลังจากการรัฐประหารใหม่ๆ ได้มีการประกาศว่าโครงการรถไฟไทย-จีน จะเป็นโมเดลตัวอย่างในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเองก็รู้สึกว่า ดีใจมากที่โครงการของไทยเป็นส่วนหนึ่งของจีนได้ และก็มีการเซ็น MOU กัน และมีการเริ่มเจรจากันเรื่องรถไฟตลอดมา แต่การเจรจาทั้งหมดที่ผ่าน 18 ครั้ง ดูเหมือนว่าไทยจะยังไม่ได้อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย นอกจากจีนจะสร้างรถไฟ ใช้เทคโนโลยีของจีน ใช้เทคนิคของจีน ทุกอย่างมาจากจีนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการทำดีลแบบนี้จึงต่างจากกรณีของอินโดนีเซีย คือไทยเลือกที่จะให้ญี่ปุ่นไปทำอีกสายหนึ่ง แทนที่จะให้มาร่วมประมูล เพื่อที่เราจะได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด

“ทำไมผมพูดแบบนี้ ในความเห็นว่าคิดว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เจรจาต่อรองได้ แม้ผมไม่ใช่นักการธนาคารแต่เท่าที่นายแบงค์พูด เราน่าจะมีพอที่จะลงทุน หรือหากมีไม่พอเราก็สามารถหาแหล่งเงินกู้ในตลาดโลกได้ ไทยอยู่ฐานะที่จะหาได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินกู้จากจีน สองเทคโนโลยี โอเคผมไม่เคยถามวิศวกรรมสถานว่า เรามีเอ็นจิเนียกี่คน มีความรู้มากพอที่จะทำรถไฟความเร็วสูงได้หรือไม่ เข้าใจว่าถ้าดูจากความเร็วของรถไฟไทย เราน่าจะไม่มี เพราะเราไม่เคยให้ความสำคัญกับรถไฟมาตลอดประวัติศาสตร์ที่มีรถไฟ ในขณะที่จีนให้ความสำคัญมากในการพัฒนารถไฟ แต่เราให้ความสำคัญมากกับการพัฒนารถยนต์ ฉะนั้นในแง่เทคนิคเราก็อาจจะไม่มี แต่ว่าประเทศไทยก็ไม่ได้แย่จนถึงขนาดว่าจะอ่านเรื่องนี้ไม่ออก เราไม่มีเทคนิคของตัวเองก็จริงอยู่ แต่ผมเชื่อว่าวิศวกรไทยสามารถเรียนรู้ได้หากมีการศึกษาเรื่องนี้จริงๆ จังๆ ” สุภลักษณ์ กล่าว

สุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในการเจรจาระหว่างไทยกับจีน ไทยไม่แผนอยู่ในมือว่า รถไฟที่ว่าจะเป็นรถไฟแบบไหน ความเร็วเท่าไหร่ สเปคเป็นอย่างไร เทคโนโลยีเป็นอย่างไร คิดแต่เพียงว่าจะให้จีนเข้ามาทำให้หมดทุกอย่าง ซึ่งมันผิดไปจากการทำโครงการขนาดใหญ่ตามแบบที่ประเทศไทยเคยทำในอดีต สิ่งที่เราเคยทำคือ การทำไปตามผลการศึกษา และมีการเปิดประมูลให้คอนแทรคเตอร์ที่ทำเรื่องนั้นๆ เก่งๆ เข้ามาเสนอ เช่นเราต้องการสร้างรถไฟความเร็วประมาณนี้ มีสเปคประมาณ และเรามีมีเงินอยู่ประมาณนี้ คุณจะมาเสนออะไรที่ดีที่สุดให้เรา ถ้าคุณทำตามได้เราก็เลือกคุณ แต่ถ้าทำตามไม่ได้เราก็อาจจะไม่เลือกคุณ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ และที่ผ่านเราก็ทำแบบนี้มาตลอด แต่พอเป็นรถไฟไทยจีนแล้ว ไทยกำหนดอะไรไม่ได้เลย

สุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า ไทยใช้เวลาเจรจา 18 รอบที่ผ่านมา โดยมีสภาพในลักษณะที่ว่า จีนเสนออะไรมา ไทยนำมาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะให้อะไรกับจีนได้หรือไม่ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ออกคำสั่งตาม ม.44 ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจต่อรองของไทยในการเจรจาเรื่องนี้ลดลงมาก และน้อยกว่าอินโดนีเซีย แม้ประเทศอินโดนีเซียจะใหญ่กว่า แต่ขนาดในทางเศรษฐกิจของไทยใหญ่กว่า ซึ่งดูเหมือนว่าควรจะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าอินโดนีเชีย แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในทางการเมืองไทยมีปัญหาทั้งกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศในสภาพยุโรป ซึ่งก็ทำให้ไทยเสียอำนาจในการต่อรอง

“การใช้อำนาจพิเศษยกเลิกอะไรที่เป็น International deal แบบนี้สร้างปัญหามาก สำหรับโครงการต่อๆ ไป ถ้าผมเป็นญี่ปุนและผมต้องทำเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ผมก็จะขอแบบจีนเช่นกัน เพราะไม่งั้นผมก็ไม่ทำ ผมกลายเป็นมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และหลักสากลในการทำการค้าระหว่างประเทศก็คือว่า ถ้าคุณให้ favour กับชาติหนึ่ง คุณก็ต้องให้กับชาติอื่นด้วย เงื่อนไขอะไรก็ตามที่คุณให้จีนคุณต้องให้ผมด้วย นี่คือการทำให้มาตราฐานของเราลดลงไปอย่างยิ่ง ซึ่งนี่เป็นข้อเสียหายอย่างรุนแรง และหากยังมีเวลาทบทวนได้ก็ควรจะทบทวนดีกว่า แล้วตั้งหลักใหม่” สุภลักษณ์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.