นักวิชาการ ม.ทักษิณ วิจารณ์การสร้างอุปลักษณ์ ยุคประเทศไทย 4.0 เนื่องในวันภาษาไทย ชี้ดูแคลนพลเมือง เส้นทางโรดแมปเลื่อนเปลี่ยนไปมาสะกดให้ประชาชนเชื่อ-มีความหวังในความลวง แนะเปิดพื้นที่ให้ประชาชน มีสิทธิเสรีภาพ สร้างคำ ความคิดเชิงอุปลักษณ์ ได้อย่างอิสระเสรี มีหลักประกันคุ้มครอง ปกป้องที่เพียงพอปราศจากการละเมิด
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา
26 ก.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา และเป็นนักวิชาการที่เกาะติดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แถลงในประเด็น การใช้ภาษาไทยกับการเมือง : การอุปลักษณ์และความแย้งย้อน ยุคประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ย. ของทุกปี
รศ.ดร.ณฐพงศ์ แถลงว่า ในท่ามกลางกระแสและการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ของสังคมและประชาชนทั่วไป ต่อการดำเนินนโยบายทางการเมืองและการริเริ่มนโยบายพัฒนาประเทศเพื่อพัฒนา เปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากวิกฤตการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้รูปแบบการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 นั้น ภาษาไทยมีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร สร้างอุดมการณ์และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง ซ่อนเงื่อนโยงใยไม่สิ้นสุด ผ่านการสร้างอุปลักษณ์ หรือ Metaphor ที่ไม่เป็นเพียง ถ้อยคำเปรียบเทียบที่แล่นวูบ เท่านั้น แต่เต็มไปด้วยศิลปะ ชั้นเชิงของการประดิษฐ์ประดอยภาษา ที่เกิดจากสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ หรือ Conceptual Metaphor อันหลายหลาก ภายใต้วิธีคิด วิธีการ กระบวนการ และการปฏิบัติการทางการเมืองที่ลึกซึ้ง และแยบยล กระทั่งกลายเป็น คำอุปลักษณ์ที่ดำรง ผลึกแน่นในการรับรู้และสามัญวิถีของผู้คนในสังคมนั้น โดยกลไกรัฐเชิงสถาบันและโครงสร้างอำนาจ ที่ทำให้ปราศจากการตั้งคำถาม การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมทั้งการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง จ้องจับ ทำให้หวาดกลัวด้วยกลไกอำนาจรัฐทั้งที่เปิดเผยและปิดเร้นอำพราง ดังเช่น คำอุปลักษณ์ว่าด้วย การคืนความสุข จากการเสียสละเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปราบโกง กวาดล้างการคอรัปชั่น การสร้างความสามัคคีปรองดอง ยุทธศาสตร์ชาติ และอนาคตประเทศไทย” เป็นต้น
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวต่อว่า การใช้ภาษาเพื่อประกอบสร้างความคิดเชิงเชิงอุปลักษณ์ มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายรูปแบบและวิธีการ โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรม ทำให้หลุดจากกรอบความรับผิดชอบทางจริยธรรม ผลประโยชน์ส่วนรวม และความเป็นประชาธิปไตย การอุปลักษณ์ ความสุขและการคืนความสุข ให้ประเทศไทย ที่เป็นการหยิบยื่นความสุขฝ่ายเดียวในนามของความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ พร้อมๆกับการดึงประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง หยิบยื่นความสุขเพื่อสถาปนาอำนาจนำและทำให้ประชาชน กลุ่มต่างๆ ในสังคม เชื่องและเซื่องซึมอยู่ในความสุขที่ตายตัว ทั้งที่ความสุขนั้นมีความหมายที่ซับซ้อน หลายหลากมิติ ทั้งในแง่ความสุขจากการสรรค์สร้างของปัจเจกบุคล และประชาชน พลเมือง ในกิจการสร้างสุข ท่ามกลางการมีชีวิตสาธารณะที่ผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมส่วนรวม
การอุปลักษณ์รัฐธรรมนูญให้เท่ากับเป็นประชาธิปไตยทว่ารัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คน การรับรองสิทธิเสรีภาพ การจัดสรรทรัพยากร และการกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน ให้บรรลุเป้าหมายอันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในหลักการประชาธิปไตย ความเป็นนิติธรรม และนิติรัฐ กลับมีเนื้อหาที่ไม่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย ขาดการยึดโยงกับประชาชน การเปิดช่องให้อำนาจรัฐราชการเข้ามามีบทบาทในระบบรัฐสภา การลิดรอนระบบการตรวจสอบ ควบคุม และถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันในระบอบประชาธิปไตย พร้อมเชิดชูความโดดเด่นด้วยมายาภาพอันเก่าก่อน คือ การการต้านโกง อันเป็นการตอกตรึงและย้ำความทรงจำอันเลวร้ายของผู้คนที่มีต่อนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ทั้งที่การทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นในแทบทุกอณูของสังคม การใช้มาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ การปฏิรูปในนามของคนดี ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างอนาคต 20 ปี และคงไว้ซึ่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44
ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 ที่กำลังเดินไปตามการทิศทางพัฒนา สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น รศ.ดร.ณฐพงศ์ กลาาวว่า กลายมาเป็นคำอุปลักษณ์ที่ติดหูติดตาประชาชนมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยภาษาและถ้อยคำใหม่ๆ เช่น นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกษตรอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกปลอบ สร้างระบบปฏิบัติการให้สังคมยินยอมพร้อมใจเปล่ง คำดั่ง “นกแก้วนกขุนทอง”
เพราะการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้กำหนดเป้าหมายไว้ที่การขับเคลื่อนสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แต่กลับให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกและอุตสาหกรรมข้ามชาติ โดยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ แต่อย่างใด ดังสะท้อนจากการริเริมโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายประชารัฐ เป็นต้น
สำหรับเส้นทางสู่การเลือกตั้ง หรือ โรดแมป (Road Map) ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่องนั้น รศ.ดร.ณฐพงศ์ วิจารณ์ว่า กลับไม่มีความแน่นอนมากนัก ในแง่ระยะเวลาที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง แต่มีความชัดเจนในแง่การใช้คำเป็นเกมส์ภาษา หรือ Language Game เพื่อปักหลักรักษาพื้นที่อำนาจทางการเมืองบนฐานความชอบธรรมจากการทับถมซากปรักหักโดยผู้ร้ายตลอดกาลอย่างนักเลือกตั้ง และการตั้งคำถามอันชาญฉลาด 4ข้อเชิญชวนประชาชนส่งความคิดเห็นยังศูนย์ดำรงธรรม เพื่อรวบรวมให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตั้งคำถามแบบไม่ประสงค์คำตอบหรือมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ภายใต้ฐานคติ ความคิด ความเชื่อที่ฝังจำต่อนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง ที่สำคัญคือการดูแคลนประชาชน พลเมืองจะไม่สามารถใช้เจตจำนงได้อิสรเสรีและเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างมีคุณภาพในพื้นที่และปริมณฑลทางการเมือง จึงเป็นความชอบธรรมที่จะเข้ามายึดกลับคืน ขณะถือไพ่เหนือกว่าของรัฐ ชนชั้นนำ โดยที่เส้นทาง ตารางเวลาหรือโรดแมป ที่กำหนดและเลื่อนเปลี่ยนไปมา ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือในการ สะกดและควบคุมให้ประชาชนเชื่อและมีความหวังในความลวง
การใช้ภาษาไทยกับการเมือง รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวสรุป ว่าภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารอย่างผิวเผิน เท่านั้น แต่คืออำนาจในการสร้าง กำกับ ตอก ตรึง ควบคุม อำพราง ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ความรู้ ความจริง โดยเฉพาะการปฏิบัติการและการโฆษณาทางการเมือง ด้วยวิธีการที่เรียกว่าการอุปลักษณ์ถ้อยคำจากการประกอบสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ ที่มีความหลากวิธีการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ บทเพลง บทกวี ภาพยนตร์บันเทิง วาไรตี้ เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งนับวันความคิดและการประกอบสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ ยิ่งทวีสร้างความย้อนแย้งให้แก่สังคมมากขึ้นไปเงาตามตัว เพราะคำเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการปฏิบัติ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่าง ภาษากับการปฏิบัติของผู้พูดหลายกรณี อาทิ พอเพียงกับซื้ออาวุธ ประชาธิปไตยกับวุฒิสมาชิกแต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ฯลฯ การมุ่งสร้างอุปลักษณ์ทางการเมือง แม้จะเป็นการรุก กรุยทาง สร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ การละเมิดสิทธิ บิดประชาธิปไตย และประชาชนให้อยู่ในปกครองแบบกระชับหรือกำกับแน่น ด้วยกฎหมายอันชอบหรือมิชอบ กระนั้นในทางกลับกันประชาชน พลเมือง ก็ไม่ได้นิ่งงันหรือยอมจำนนโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่จะมีปฏิบัติการ สร้างการเคลื่อนไหวตอบโต้ด้วยการสร้างชุดคำและการประกอบสร้างความคิดอุปลักษณ์เพื่อขจัดความแย้งย้อนด้วยไปพร้อมๆกัน
เพราะในด้านหนึ่งประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 อันเกิดจากการมุ่งสร้างอุปลักษณ์ทางการเมืองจะถูกบันทึกไว้ และประชาชนก็พร้อมที่จะรื้อค้น ถอดถอน นำกลับมาตรวจสอบ โต้ตอบ และเทียบเคียง กับพฤติกรรมและการปฏิบัติของผู้สร้างอุปลักษณ์ได้อย่างทันท่วงที และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆอีกไป การนี้จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้ารอบใหม่ในอนาคตอันใกล้
รศ.ดร.ณฐพงศ์ มีข้อเสนอและทางออกด้วยว่า ในวันนี้จึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้ประชาชน พลเมือง และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในสังคม มีสิทธิ เสรีภาพ ในการปฏิบัติการสร้างคำ ความคิดเชิงอุปลักษณ์ ได้อย่างอิสระ เสรี มีหลักประกันคุ้มครอง ปกป้องที่เพียงพอ ปราศจากการละเมิดใดๆต่อผู้ปรารถนา ร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย และแสดงออกบนหลักการพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสากล ที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้การเลือกตั้ง ในฐานะคำอุปลักษณ์และความคิดเชิงอุปลักษณ์ที่ถึงพร้อมการยอมรับของอารยะสังคมกลับคืน สังคมไทยโดยเร็วที่สุด
แสดงความคิดเห็น