Posted: 20 Jul 2017 07:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ยกฟ้อง 40 คน คดีประวัติศาสตร์อ่านพิพากษายาว 13 ชม.คำพิพากษาเปิดเผยระบบค้ามนุษย์เป็นขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย กระทำชำเรา เรียกค่าไถ่สารพัด เรียกคนเป็น “ตัว” “เชือก” "ลัง" ไต่สวนยังคุ ข่มขู่กันทั้งใน นอกศาล พล.ท.มนัส อดีต ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง คุก 27 ปี “โกโต้ง” อดีตนายก อบจ.สตูล คุก 75 ปี


ชาวโรฮิงญา (ที่มา:แฟ้มภาพ)

เมื่อ 19 ก.ค. 2560 องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ที่ศาลอาญา ถ. รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา หรือโรฮิงญา คดีหมายเลขดำที่ คม. 19,27, 28, 29, 32, 35, 36, 40, 41, 47, 63/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ คม. 33, 34, 35, 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43/2560 รวม 11 สำนวน โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องยื่นฟ้องจำเลยที่จำนวน 103 คนที่ประกอบด้วยตำรวจกับพลเรือน รวมถึง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกและผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง (จำเลยที่ 54) และ ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารสว่นจังหวัด (อบจ.) จ.สตูล (จำเลยที่29)

นอกจากนั้นยังมีโจทก์ร่วมฟ้องอีก 4 คน ได้แก่ มาฮาหมัด ซิงค์ มูฮัมหมัด อับบอลอารี ซองซูอารอม และ มะหะมะรอฟิด โดยทั้ง 11 สำนวนถูกฟ้องในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองคก์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดต่อ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง และความผิดต่อ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ลหุโทษ ค่าสินไหมทดแทน โดยอัยการทยอยฟ้องมาตั้งแต่ปี 2558

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ทางการไทยเข้าทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ แล้วขุดค้นพบหลุมฝังศพใกล้กับชายแดนมาเลเซียที่เชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงยาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ลี้ภัยมาจากพม่าเพื่อหาทางไปมาเลเซีย และผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่มาจากบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกลุ่มผู้ลี้ภัย

กลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์ที่เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เฝ้าสังเกตุการณ์ตลอดการไต่สวนคดีความและพบว่ามีการข่มขู่ทั้งโจทก์ พยาน รวมถึงล่ามที่ถูกประทุษร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ ถูกขู่ฆ่า แม้แต่ในชั้นศาลก็มีล่ามโดนข่มขู่จากจำเลย ซึ่งศาลก็ไม่ได้สั่งให้นำตัวจำเลยคนดังกล่าวออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด การข่มขู่ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่กับหัวหน้าชุดสอบสวนคดี พล.ต.ต.ฟวีณ พงศ์สิรินทร์ ที่ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย หลังจากการพิจารณาคดีเริ่มขึ้นไม่นาน โดยเขาอ้างว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงขู่ฆ่า พล.ต.ต.ปวีณ ควรจะได้เป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่และจำเลยหลายคน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จากเอกสารคำพิพากษาพบว่า จากจำเลย 103 คน มี 7 คนที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นในขณะนั้น (จำเลยที่ 1, 2, 6, 14, 23, 24, 27) มีเจ้าพนักงานฝ่ายการปกครอง 2 คน (จำเลยที่ 5, 35) ข้าราชการตำรวจ 4 คน (จำเลยที่ 7, 9, 31, 33) ข้าราชการทหาร สังกัดกองทัพบก 2 (จำเลยที่ 55,90) คนและข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ 1 คน (จำเลยที่ 69) โดยจำเลยร่วมกระทำความผิดร่วมกันหลายกรรมต่างกันตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2554 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2558 ทั้งนี้มีจำเลยเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย คือ สุรีชัย อาหะหมัด จำเลยที่ 26 จึงเหลือจำเลยที่รอการพิพากษา 102 คน
เอกสารคำพิพากษาเปิดปูมระบบค้ามนุษย์ต้นน้ำยันปลายน้ำ แฉทารุณกรรม ทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์

จากเอกสารคำพิพากษา ระบุว่า โจทก์ทั้ง 11 สำนวนฟ้องในประเด็นที่มีขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นจำเลยคดีนี้และที่ยังจับกุมไม่ได้หลายคนได้ชักชวน หลอกลวงขู่บังคับชาวบังกลาเทศและชาวโรฮิงญามายังประเทศไทยและส่งไปประเทศมาเลเซีย โดยหลอกลวงว่าจะสามารถส่งไปทำงานที่มาเลเซีย โดยมีทั้งการขนส่งคนที่สมัครใจ และใช้กำลัง หรือใช้อาวุธปืนข่มขู่บังคับคนที่ไม่สมัครใจให้ไป บางคนเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ขบวนการอาชญากรรมรวบรวมคนได้จำนวนหนึ่งแล้วพาไปลงเรือและจอดรออยู่ในทะเลจนรวมคนได้ 200-500 คน จึงเดินทางเข้ามาในทะเลเขตน่านน้ำไทย ระหว่างนั้นจะมีคนถืออาวุธทั้งปืนและอาวุธอื่นๆ คุมไว้ไม่ให้เหยื่อหลบหนี เหยื่อได้รับอาหารและน้ำในปริมาณจำกัด ถ้าขอเพิ่มหรือส่งเสียงดังก่อกวนจะถูกทำร้าย หลังจากนั้นเหยื่อจะถูกนำขึ้นเรือเล็กไปอาศัยบนเกาะ หรือขึ้นฝั่งไปหลบซ่อนตามแนวป่าเป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อรอรถมารับ พื้นที่รับขึ้นฝั่งอยู่ในจ.ระนอง พังงา และสตูล จากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ผ่านเส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยมีจุดหมายอยู่ที่แคมป์ชั่วคราวต่างๆ บนเทือกเขาแก้วในเขต ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเอา จ.สงขลา ส่วนที่ขึ้นฝั่งมาจาก จ.สตูลจะเดินทางมาโดยรถยนต์แล้วจึงเดินเท้าเข้ามาที่แคมป์

ผู้เสียหายที่มีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อญาติจะถูกบังคับให้ติดต่อญาติเพื่อเรียกค่าไถ่ มีการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขณะคุยโทรศัพท์เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเสียงร้องเป็นการบังคับให้ฐาติยอมจ่ายเงินค่าไถ่ ซึ่งตกอยู่ประมาณ 30,300 บาท ถึง 500,000 บาท ผู้เสียหายถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ไปที่ใด มีการโยกย้ายที่พักหลายครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบของเจ้าหน้าที่ ใช้คำเรียกผู้เสียหายว่า “ตัว” “เชือก” “ลัง” ส่วนแคมป์ที่พักเรียกว่า “คอก” มีการจัดทำบัญชีว่า “ขายได้” ออกไปจากการควบคุมจำนวนเท่าใด ราคาขายของผู้เสียหายในสกุลเงินไทยอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท โดยระหว่างการคุมขังมีผู้เสียหายอดอาหาร บางคนเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยศพจะถูกนำไปฝังใกล้กับบริเวณแคมป์
อ่านคำพิพากษา จำเลย จนท. รัฐ เอื้อค้ามนุษย์ ร่วมจำเลยอื่นทำกันเป็นระบบ เปิดเส้นทางเงิน-ข้อมูลพูดคุยโทรศัพท์

สำนักข่าวมติชน รายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษานานกว่า 13 ชม. พบว่า ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ จำเลยที่ 29 ที่คนแวดล้อมของจำเลยเรียกกันว่า “บิ๊กบอส” ทำหน้าที่รับชาวโรฮิงญาจากทะเลมาขึ้นฝั่งที่สตูล ก่อนนำไปพักไว้แคมป์คนงานแล้วจึงส่งต่อไปที่มาเลเซีย การเบิกความของพยานสอดคล้องกันว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีจำเลยที่ 29 เกี่ยวข้องทุกครั้ง ความผิดของจำเลยที่ 29 จึงเป็นความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมช้ามชาติ ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กไม่เกิน 15 ปี, ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี, ร่วมกันค้ามนุษย์อายุเกินกว่า 18 ปี, ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษเป็นส 2 เท่า, สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์, ร่วมกันนำพาชาวต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรและให้ที่พักพิงชาวต่างด้าว

ในขณะที่จำเลยที่ 7 หรือ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 7 ต้องประจำอยู่ด่านตรวจในพื้นที่ที่กลุ่มจำเลยต้องสัญจรผ่าน และรับเงินค่าผ่านทางในการขนส่งชาวโรฮิงญา

จำเลยที่ 14 หรือ สจ.บู ฮะอูรา สารภาพในชั้นสอบสวนว่าตนทำหน้าที่รับชาวโรฮิงญาจากที่บ้านวังประจัน จ.สตูล แล้วส่งไปมาเลเซีย โดยระบุการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน เล่าเหตุที่มีการกระทำผิดอย่างละเอียด ส่วนจำเลยที่ 14 มีพิรุธเพราะมีเงินในบัญชีจำนวน 4.2 ล้านบาทซึ่งเดิมอ้างว่าได้รับโอนจากภรรยาจากการขายอาหารทะเลกับจำเลยที่ 67 แต่จำเลยที่ 67 เป็นเกษตรกรจึงไม่มีเหตุผลที่จะซื้ออาหารทะเลมูลค่ามากตามที่จำเลย 14 อ้าง จำเลยที่ 14 จึงมีความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษเป็น 2 เล่า, สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์

จำเลยที่ 17 หรือสุวรรณ แสงทอง หรือโกหนุ่ย และปิยวัฒน์ พงษ์ไทย หรือโกหย่ง จำเลยที่ 22 โจทก์มีหลักฐานข้อมูลการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยทั้งสอง วันที่ 1-25 ม.ค. 2558 มีการติดต่อกันถึง 48 ครั้งในเวลาเพียง 25 วัน ถือว่ามีความถี่มากกว่าเหตุธรรมดาทั่วไป จากการนำสืบพยานโจทก์พบว่า จำเลยทั้งสองได้ติดต่อกันเรื่องจัดหาเรือประมงเพื่อขนส่งชาวโรฮิงญา จึงมีความผิดร่วมกันฐานร่วมกันค้ามนุษย์กับบุคคลที่มีอายุ 15-18 ปี, มีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ให้ที่พักพิงกับชาวต่างด้าว

จำเลยที่ 31 พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยานโจทก์ให้การสอดคล้องกันว่า จำเลยทำหน้าที่คุ้มครองดูแลขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา มีหลักฐานการรับโอนเงินระหว่างร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์จำเลยที่ 33 และวิรัช เบ็ญโส๊ะ จำเลยที่ 27 เจ้าของเรือ จำเลยที่ 33 จะดูแลกลุ่มทีส่งแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มในพื้นที่ จ.ระนองและชุมพร

จำเลยที่ 54 พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง ศาลเห็นว่าในช่วงที่ทางการได้มีนโยบายผลักดันกลุ่มชาวโรฮิงญาที่มาจากเมียนมาร์และบังกลาเทศออกจากประเทศไทย พล.ท.มนัสที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.กอรมน. ตำรวจสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้ 200 กว่าคน ซึ่งต้องส่งลงเรือสู่น่านน้ำสากลเพราะทั้งเมียนมาร์และบังกลาเทศปฏิเสธสถานะความเป็นพลเมือง แต่โจทก์ก็มีชาวโรฮิงญาที่แจ้งว่า แม้จะถูกส่งลอยลำไปแล้วแต่ก็ถูกนำกลับมาที่แคมป์เทือกเขาแก้วโดยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ขณะที่การค้นบ้านพักของ อรปภา จันทร์พ่วง จำเลยที่ 65 และศิริพร อุดมฤกษ์ จำเลยที่ 82 พบหลักฐานเกี่ยวกับสลิปการโอนเงินที่เชื่อมโยงกับบัญชีของมนัส พยานหลักฐานโจทก์ระบุว่ามีการรับโอนเงิน 65 ครั้ง มูลค่ารวม 14,850,000 บาท เป็นการโอนช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2555 จำนวน 61 ครั้ง เป็นเงิน 13,800,000 บาท และในช่วงเดือน ส.ค. 2556 อีก 2 ครั้งเป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ แม้ มนัสจะบอกว่าเงินดังกล่าวได้มากจากการพนันวัวชน ซื้อขายวัวและเป็นเงินสนับสนุนจากเอกชนในการผลักดันแรงงานโรฮิงญา แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารที่ชัดเจน ทั้งการผลักดันแรงงานก็มีงบประมาณรัฐสนับสนุนอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าเงินที่ได้รับโอนมาจากผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลผู้กระทำผิด จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสบคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฯ และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยที่ 54 เป็นเจ้าพนักงาน จึงต้องระวางโทษ 2 เท่า
ลงดาบจำเลย 62 ราย ยกฟ้อง 40 จำคุกสูงสุด 78 ปี จ่ายเงินชดเชยเหยื่อกว่า 4 ล้าน 5 แสนบาท

เวลา 20.45 น. ศาลจึงอ่านบทลงโทษให้จำคุก มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 เป็นเวลา 27 ปี อนัตตา โชติบุญทอง จำเลยที่ 18 เป็นเวลา 77 ปี พิชัย คงเอียง จำเลยที่ 28 เป็นเวลา 57 ปี 9 เดือน หมิด หมอชื่น จำเลยที่ 43 เป็นเวลา 51 ปี 4 เดือน ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ จำเลยที่ 29 เป็นเวลา 75 ปี โคเทวย์ หรือโกทรี จำเลยที่ 16 อูเซ็น จำเลยที่ 38 จำคุกคนละ 75 ปี อับดุลลาชีด มันตะสุม จำเลยที่ 40 เป็นเวลา 50 ปี ฮาซอล จำเลยที่ 57 และอับดุลนาเซท นอช็อต จำเลยที่ 58 จำคุกคนละ 76 ปี

สุวรรณ แสงทอง จำเลยที่ 17 สาแล๊ะ จางวาง จำเลยที่ 96 จำคุกคนละ 22 ปี สมรรถชัย ฮะหมัด จำเลยที่ 20 จำคุกคนละ 14 ปี 8 เดือน สาโรจน์ แก้วมณีโชติ จำเลยที่ 8 ทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ จำเลยที่ 30 ทนงศักดิ์ เหมมันต์ จำเลยที่ 45 สะอารี เขร็ม จำเลยที่ 48 ถาวร มณี จำเลยที่ 49 ดีน เหมมันต์ จำเลยที่ 50 ชาคริต หลงสาม๊ะ จำเลยที่ 51 และจันทร์ตรี แซ่เตีย จำเลยที่ 81 จำคุกคนละ 23 ปี

มูปะกาส แขกพงศ์ จำเลยที่ 21 ประสิทธิ์ แก้วประดับ จำเลยที่ 55 จำคุก 11 ปี 6 เดือน สราวุธ พรหมกะหมัด จำเลยที่ 44 จำคุก 15 ปี 4 เดือน, เจ๊ะมุสา สีสัย จำเลยที่ 13 สถิต แหมถิ่น จำเลยที่ 19 จำคุก 17 ปี 3 เดือน ชาญ อู่ทอง จำเลยที่ 31 นราทอน สัมพันธ์ จำเลยที่ 33 อาบู หรือ สจ.บู ฮะอุรา จำเลยที่ 14 จำคุก 27 ปี บรรณจง ปองผล จำเลยที่ 1 อ่าสัน อินทธนู จำเลยที่ 2 ร่อเอ สนยาแหละ จำเลยที่ 3 จำคุกคนละ 78 ปี

ทั้งนี้ ศาลได้ยกฟ้องจำเลย 40 ราย โดยให้ขังจำเลยไว้ก่อนระหว่างอุทธรณ์ 28 รายจาก 40 ราย และให้จำเลย 62 ราย ที่ศาลพิพากษาลงโทษ ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายต่อเสรีภาพกับทุกข์ต่อจิตใจและร่างกาย และการขาดรายได้กับผู้เสียหายที่เป็นเด็กชาย 7 ราย กับผู้เสียหายที่อายุกว่า 15-18 ปี จำนวน 58 คน รายละ 50,000-159,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,400,250 ซึ่งขณะนั้นล่วงเลยเวลาทำการแล้ว จำเลยที่จะยื่นประกันระหว่างต่อสู้อุทธรณ์ยังไม่สามารถยื่นคำร้องได้ โดยจำเลยถูกคุมตัวไปขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางก่อน และสามารถยื่นประกันตัวได้เมื่อเริ่มเวลาราชการ ส่วนจำเลย 12 ราย ที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ขังระหว่างอุทธรณ์จะได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำต่อไป

มติชน ยังรายงานว่า คดีนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ของการอ่านคำพิพากษาคดีอาญาต่อเนื่องนาน 13 ชั่วโมง โดยองค์คณะฯ 9 คนผลัดเปลี่ยนอ่านคำพิพากษาโดยมีการพักเบรก 2 ครั้งๆ ละ 30 นาทีเท่านั้น เป็นคดีแรกที่ได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ ทหาร จนมีคำตัดสินลงโทษ คดีนี้ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานกว่า 200 ปาก ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559-ก.พ. 2560 ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตัดสินของศาลชั้นต้น กฎหมายยังเปิดโอกาสให้จำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดีได้อีก

การพิจารณาคดีครั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดี แต่ได้จัดพื้นที่ให้นั่งฟังผลที่ห้องอื่นแทน โดยมีการถ่ายทอดภาพและเสียงการอ่านคำพิพากษาคดีผ่านกล้องวงจรปิด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.