Posted: 20 Jul 2017 01:52 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักสิทธิมนุษยชน 6 คนซึ่งถูกจับระหว่างจัดประชุมเรื่องความปลอดภัยดิจิทัล ถูกศาลตุรกีสั่งจำคุกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พวกเขาถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งมักเป็นข้อหาที่รัฐบาลตุรกีใช้เล่นงานผู้ต่อต้านรัฐบาล นับจากที่รัฐบาลพยายามกวาดล้างผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน ภายหลังเกิดเหตุรัฐประหารล้มเหลวเมื่อปีก่อน


ที่มาของภาพประกอบ: hurriyetdailynews

ผู้ที่ถูกสั่งคุมขังทั้ง 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้อำนวยการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลตุรกี เป็นส่วนหนึ่งของนักกิจกรรมผู้ที่ถูกจับกุม 10 คน ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีการเข้าไปใช้อำนาจบังคับควบคุมตัวพวกเขาขณะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความปลอดภัยดิจิทัล เหล่าผู้ที่ถูกจับอีก 4 คนได้รับการประกันตัวโดยที่พวกเขามาจากองค์กรสิทธิพลเมืองอย่าง Citizen’s Assembly องค์กรด้านสตรีอย่าง Women’s Coalition และองค์กรด้านความเท่าเทียมอย่าง Equal Rights Watch Association กับองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Rights Initiative อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ต้องรอการไต่สวนจากศาลโดยห้ามออกนอกประเทศตุรกี

กระบวนการศาลในตุรกีอาจจะดำเนินเสร็จสิ้นในเวลาหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง แต่พรรคฝ่ายค้านของตุรกีก็แสดงความกังขาว่านักกิจกรรมเหล่านี้จะได้รับการไต่สวนดำเนินคดีที่เป็นธรรมหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้มีผู้พิพากษาและอัยการ 1 ใน 3 ของตุรกีถูกปลดออกในช่วงที่มีการกวาดล้างหลังการรัฐประหาร มุสตาฟา คาราดัก หัวหน้าสหภาพผู้พิพากษากล่าวว่ารัฐบาลตุรกีไล่ผู้พิพากษาและอัยการเดิมออก แล้วเอาคนที่จงรักภักดีต่อพวกเขาเข้าดำรงตำแหน่งแทน

แอมเนสตีระบุในแถลงการณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ข้อกล่าวหาเรื่องนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมืองเหล่านี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ 'พิศดาร' อีกทั้งซาลิล เชตตี เลขาธิการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินคดีที่ขาดความชอบธรรมและมีแรงจูงใจทางการเมือง

นอกจากนี้ นักกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกตั้งข้อหาว่ารับเงินจาก ‘สถานทูต’ ในการส่งเสริมโครงการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ สื่อรอยเตอร์รายงานว่า พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟทุลเลาะห์ กุยเลน ครูสอนศาสนาอิสลามที่รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพยายามทำรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในตุรกี

ดิ แอตแลนติค ระบุว่าถึงแม้ชาติตะวันตกรวมถึงประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษโดยทันที แต่ก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะดำเนินมาตรการใดๆ ต่อรัฐบาลตุรกีอย่างจริงจังหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลประเทศเหล่านี้มองตุรกีว่าเป็นพันธมิตรสำคัญในความขัดแย้งในซีเรียและในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิส ทำให้จอห์น ดาลฮุยเซน ผู้อำนวยการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลประจำยุโรปและเอเชียกลางกล่าวว่า มันอันตรายที่จะปล่อยให้ตุรกีเดินไปสู่เส้นทางอำนาจนิยม และการจับกุมนักสิทธิพลเมืองก็ถือเป็นการล้ำเส้นไปแล้ว ผู้นำทั่วโลกควรทำอะไรอย่างจริงจังกับเรื่องนี้

ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแสดงออกเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่ถูกคุมขัง โดยเฉพาะชายสัญชาติเยอรมนีอย่างปีเตอร์ ชตัดเนอร์ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีทำทุกวิถีทางให้มีการปล่อยตัวเขา จากที่ก่อนหน้านี้แมร์เคิลเคยประณามการที่ตุรกีจับกุมนักข่าวเยอรมันคนหนึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่าเป็นการพยายามข่มขู่คุกคามและถือเป็นเรื่องที่ "น่าผิดหวังและน่าขมขื่น"



เรียบเรียงจาก

Turkish Court Jails Human-Rights Activists, The Atlantic, 18-07-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.