Posted: 02 Jul 2017 03:29 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รัฐบาลเมียนมาร์นำโดยอองซานซูจีประกาศว่าพวกเขาจะปฏิเสธไม่ให้วีซ่ากับทีมสืบสวนจากสหประชาชาติที่ต้องการสืบสวนเรื่องเกี่ยวกับกรณีโรฮิงยา โดยทีมดังกล่าวมีแผนการเข้าไปสืบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก่อเหตุการสังหาร ข่มขืน และทารุณกรรม ชาวโรฮิงยา

2 ก.ค. 2560 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเปิดเผยว่าอองซานซูจีจะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะสืบสวนของยูเอ็น โดยบอกว่าจะสั่งสถานทูตเมียนมาร์ไม่ออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการค้นหาความจริงของยูเอ็น

ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. 2560 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้มีปฏิบัติการสืบหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระในกรณีที่กองทัพเมียนมาร์ต้องสงสัยละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะต่อชาวโรฮิงยาในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมายูเอ็นได้แต่งตั้งทีมสืบสวนได้แก่ ทนายความชาวอินเดีย อินดิรา ใจสิง และอดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชนศรีลังกา ราติกา กุมารัสวามี และนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนชาวออสเตรเลีย คริสโตเฟอร์ โดมินิค สิดอติ และกำหนดให้ต้องมีร่างรายงานการสืบสวนภายในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้

เมื่อเดือน ต.ค. 2559 มีการก่อเหตุโจมตีจากขบวนการติดอาวุธชาวโรฮิงยาที่โจมตีด่านตรวจคนข้ามแดนจนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 ราย หลังจากนั้นกองทัพเมียนมาร์จึงทำการกวาดล้างชาวโรฮิงยาจนมีผู้เสียชีวิต 1,000 ราย และมัผู้พลัดถิ่น 90,000 ราย

ทางยูเอ็นเผยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการข่มขืน ทารุณกรรม และฆาตกรรมพลเรือนโดยกองทัพเมียนมาร์ในช่วงที่มีการกวาดล้างเป็นเวลา 4 เดือน จากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา แต่รัฐบาลเมียนมาร์ก็กล่าวปกป้องกองทัพว่าข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง

หัวหน้าพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีบอกว่าพวกเขาไม่สนใจ "การรายงานที่ไม่เป็นธรรม" จากยูเอ็น ส่วนอองซานซูจีปฏิเสธทีมสืบสวนของยูเอ็นมาโดยตลอดแต่ขออนุโลมให้ใช้คณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ทำงานแทนซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวนี้นำโดย โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น และแต่งตั้งโดยสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของอองซานซูจี อย่างไรก็ตามคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ไม่รายงานเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในเดือน เม.ย. มีกลุ่มสิทธิมนุษยชน 23 กลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความร่วมมือกับคณะทำงานของยูเอ็น

อองซานซูจีเข้าสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมาในฐานะ "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" ช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองโดยทหารมาเป็นการปกครองที่ฝ่ายบริหารส่วนหนึ่งเป็นพลเรือน แต่อองซานซูจีก็ถูกวิจารณ์ว่าเธอเมินเฉยต่อชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงยาพลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน



เรียบเรียงจาก

Suu Kyi orders visa ban on UN investigators, Coconuts Yangon, 30-06-2017
https://coconuts.co/yangon/news/suu-kyi-orders-visa-ban-on-un-investigators/

Myanmar refuses visas to UN team investigating abuse of Rohingya Muslims, The Guardian, 30-06-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/jun/30/myanmar-refuses-visas-un-abuse-rohingya-muslims

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.