Posted: 06 Jul 2017 04:08 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สนช. มีมติ 177 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเป็น พ.ร.บ. ต่อไป พร้อมฝากข้อสังเกตเรื่องบทลงโทษที่หนัก และปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ ย้ำการแก้ปัญหาต้องทำอย่างสุจริต



6 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ด้วยคะแนน เห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้คำนึกถึงการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของภายในและต่างประเทศ

ด้านสมาชิก สนช. เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากมองว่าปัญหาแรงงงานต่างด้าวเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จึงจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขและจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เกิดความชัดเจน แต่จะต้องทำอย่างสุจริต สะดวกต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อยและผู้ลงทะเบียน และป้องกันปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ ขณะเดียวกันได้ฝากข้อสังเกตในหลายประเด็นที่อาจก่อให้เกิดปัญหา เช่น บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะถูกโทษปรับ 4 - 8 แสนบาท ซึ่งถือเป็นโทษที่หนัก , การกำหนดประเภทงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำต้องชัดเจน อำนวยความสะดวกการรับแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศตั้งแต่ต้นทาง ป้องกันปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์

ส่วนประเด็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ในบางมาตรา ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชน ออกไปอีก 6 เดือน ถือเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่า เมื่อครบกำหนดเวลาหากยังมีปัญหา นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาและดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เหมาะสมและแก้ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.