Posted: 06 Jul 2017 05:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลทหารยกฟ้องคดี 'จิตรา คชเดช' ฝืนคำสั่งรายงานตัวกับ คสช. ชี้ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่จะดำเนินการได้แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด ขณะที่เลื่อนสืบพยานคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ รอศาลสั่งรวมคดีรังสิมันต์ โรม เข้าเป็นคดีเดียวกัน


จิตรา คชเดช

6 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.ค.60) เมื่อเวลา 9.30 น. ศาลทหารอ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดี จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว จากการที่เธอไม่ได้เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2557 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557

โดยศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อ คสช. มีคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2557 โดยกำหนดให้ผู้มีรายชื่อในคำสั่งดังกล่าวไปรายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 เวลา 10.00 - 12.00 น. โดยจำเลยมีรายชื่ออยู่ในคำสั่งลำดับที่ 10 จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดตามฟ้องโจทก์ จำเลยซึ่งให้การปฏิเสธและอ้างตัวเองเป็นพยานนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จำเลยเดินทางไปประเทศสวีเดน ก่อนที่คสช. มีคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว และหลังจากมีคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 ไม่มีข้อความระบุว่าหากไม่สามารถมารายงานตัวตามกำหนดต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อจำเลยทราบคำสั่ง ได้ไปขอรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 เวลา 10.00 น. ซึ่งตรงกับเวลาที่ให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. ชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถมารายงานตัว ตามกำหนดได้ การไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน จำเลยพบกับ เลขานุการทูตชั้นเอก ซึ่งแจ้งว่าทูตทหารที่ประจำการที่สถานทูต และเอกอัคราชทูตไม่อยู่ และสถานทูตไม่มีกรอบการทำงานการรับรายงานตัว จำเลยได้บันทึกภาพการเดินทางมาที่สถานทูตไทยในสวีเดน และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทำการบันทึกภาพการเดินทาง และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน แล้วนำภาพจากโทรศัพท์เคลื่อนที่คัดลอกข้อมูลลงแผ่นบันทึกภาพและเสียงเป็นวีซีดีเป็นวัตถุพยาน และจำเลยได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. และพยายามติดต่อทางโทรศัพท์ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ คสช.

จากนั้นได้ทำหนังสือติดต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ส่งคนมารับที่สนามบิน ในวันเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันที่ 13 มิ.ย. 2557 รวมทั้งจำเลยมีนายมาธิอัส สโกล์ด เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้พาจำเลยเดินทางไปสถานทูตและบันทึกภาพในการติดต่อสถานทูตไว้ และ เกศรินทร์ เตียวสกุล เป็นพยานเบิกความว่า พยานแนะนำให้จำเลยทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและฝ่ายกฎหมาย คสช. และได้ไปรับจำเลยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันเดินทางกลับด้วย และมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นพยานเบิกความว่า ได้นำเอกสารที่จำเลยมีถึงหัวหน้า คสช. ส่งให้กับ เจ้าหน้าที่ที่รับรายงานตัว รับไว้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2557 เมื่อถูกจับกุมตัว จำเลยได้ให้การพร้อมกับแสดงเอกสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้มารายงานตัว ตามสำเนาบันทึกในชั้นสอบสวน และได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการทหาร ซึ่ง พ.ท.ชัยยง เจ้าหน้าที่ที่รับรายงานตัว และ ร.ท.ไพทูลย์ พนักงานงานสอบสวน พยานโจทก์ ก็เบิกความเจือสมกับจำเลย ที่นำสืบว่า จำเลยมีเหตุที่ไม่สามารถมารายงานตัวตามที่กำหนดได้ เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ขณะมีคำสั่ง คสช. ให้มารายงานตัว และไม่สามารถกลับมาได้ทัน และระหว่างที่อยู่ประเทศสวีเดนได้ไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน ตามวันเวลาที่กำหนดในคำสั่ง

ศาลระบุด้วยว่า เห็นได้ว่าจำเลยได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่จะดำเนินการได้แล้ว อีกทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน ถึงชั้นพิจารณาของศาล โดยนำเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตามสมควรแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้อง

จิตรา ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งหลังทราบคำพิพากษาว่า 3 ปีที่ถูกดำเนินคดีนี้ทำให้ตนต้องเสียทั้งเวลาและสุขภาพ ตนไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีหรือออกหมายจับแต่ต้นอยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีมีเจตนา และ คสช. เรียกรายงานตัวก็อ้างเรื่องการสร้างความปรองดอง จึงไม่ควรดำเนินคดีหรือออกหมายจับกับคนที่ถูกเรียกรายงานตัว

ทั้งนี้ จิตรา ถูก คสช. เรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งที่ 44/2557 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.57 แต่ไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้เนื่องจากติดภารกิจดูงานกิจกรรมสหภาพแรงงานที่สวีเดน อย่างไรก็ตามเธอได้แจ้งกับสถานทูตไทยในสวีเดนแล้ว ฝากเพื่อนยื่นหนังสือชี้แจงถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ไม่เป็นผล ยังถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว เมื่อจิตราเดินทางกลับจากสวีเดนถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 13 มิ.ย.57 ก็ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองปราบ 1 คืนก่อนจะได้รับการประกันตัวและถูกดำเนินคดีดังกล่าว ตลอดการสู้คดีจิตรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงการเข้ารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ดังกล่าว

เลื่อนสืบพยานคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ รอศาลสั่งรวมคดีรังสิมันต์ โรม เข้าเป็นคดีเดียวกัน

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีนักศึกษาและนักกิจกรรมทำกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารของ คสช. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากอัยการทหารยื่นคำร้องขอรวมคดีของรังสิมันต์ โรม ที่เพิ่งฟ้องเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2560 เข้าเป็นคดีเดียวกัน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานออกไปก่อน จนกว่าศาลในคดีของรังสิมันต์จะมีคำสั่งให้รวมคดี


ส่วนหนึ่งของจำเลยคดีรำลึก 1 ปีรัฐประหารของ คสช. ที่หน้าหอศิลป์ฯ


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.