อนุฯสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ สภาทนายฯ พบว่ามีเด็กชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จำนวนมากยังคงไร้สัญชาติ เผยเตรียมวางแผนกับภาคีเครือข่าย แก้ปัญหาไร้สัญชาติ สิทธิอาศัยและได้รับที่ทำกิน อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากเด็กก่อน
26 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พบว่ามีเด็กชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวนมากยังคงไร้สัญชาติ โดยสืบเนื่องจากการที่สภาทนายความ ได้ลงพื้นที่เพราะได้รับการประสานจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งลึก ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในด้านกฎหมายแก่คณะครูและผู้ปกครองของเด็กไร้สัญชาติที่อยู่ในความดูแลของศูนย์เด็กเล็ก เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติซึ่งรวมถึงการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์และการแจ้งเกิดย้อนหลัง
สมนึก ตุ้มสุภาพ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ กล่าวว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ ได้ลงพื้นที่และให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ชาวบ้านบางกลอยหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงครั้งนี้และเมื่อครั้งเป็นทนายความในคดีที่ชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีที่กรมอุทยานฯ เผาขับไล่ชาวบ้านในพื้นที่แก่งกระจาน พบว่า พื้นทีในหมู่ 1 บ้านบางกลอย และ หมู่ 2 บ้านโป่งลึก ในเขตอำเภอแก่งกระจานมีชาวกะเหรี่ยงอีกจำนวนมากที่ยังตกเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนหรือเอกสารประจำตัว ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็เกิดและทำกินอยู่ที่พื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ก่อนที่จะมีระบบทะเบียนราษฎรและก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านซึ่งรวมถึงเด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ เป็นบุคคลที่เปราะบาง ไร้ตัวตน ไร้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจากรัฐและสังคม
“ชาวบ้านให้ความสำคัญกับสิทธิอาศัยและการมีสิทธิได้รับที่ทำกิน ทั้งนี้เพราะชาวกะเหรี่ยงมีความผูกพันกับผืนป่าและพื้นที่ โดยมีวัฒนธรรมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นอัตลักษณ์ แต่รัฐมักจะมองว่าชาวบ้านเหล่านี้ไม่ใช่คนไทยจึงไม่สมควรได้รับสิทธิ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายที่เคารพสิทธิชุมชน สิทธิเด็ก และสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาของพื้นที่นี้จึงต้องทำงานควบคู่กันระหว่างการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไร้สัญชาติ และการช่วยให้ชาวบ้านได้รับสิทธิต่างๆ อันรวมถึงสิทธิอาศัยและได้รับที่ทำกิน โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ วางแผนที่จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากเด็กก่อน” สมนึก กล่าว
ในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 7 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งระบุว่าเด็กทุกคนมีสิทธิในการได้รับการจดทะเบียนเกิดเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติ มีการแก้ไขกฎหมายการทะเบียนราษฎรหลายฉบับเพื่อรับรองสิทธิในทะเบียนเกิดสำหรับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย และมีความพยายามในการระบุสถานภาพการไร้สัญชาติของเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย อันเกิดจากการสร้างแนวปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อนให้แก่เจ้าหน้าที่และขาดการเข้าถึงและเข้าใจวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยและชาวต่างชาติที่มีความเปราะบาง จึงยังทำให้เด็กจำนวนมากยังไม่มีเอกสารแสดงตัวตนและตกเป็นคนไร้สัญชาติ แม้จะผ่านมาแล้วถึง 7 ปีหลังจากไทยถอนข้อสงวนในเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ประเทศไทยยังรับโครงการ I Belong ของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อหยุดยั้งการสภาวะการไร้สัญชาติภายในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจากสถิติของยูเอ็นเอชซีอาร์พบว่ามีประชากรอีก 10 ล้านคนทั่วโลกที่ตกเป็นผู้ไร้สัญชาติ และประมาณสี่แสนกว่าคนเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย
แสดงความคิดเห็น