Posted: 04 Jul 2017 10:20 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย โวย หลังสตง.จี้ สปสช.ทบทวนบริการไตวายเรื้อรัง ตามมติ ครม.ปี 50 ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมค่าใช้จ่าย เหตุกองทุนบัตรทองติดหนี้ 2 พันล้าน ชี้เป็นข้อเสนอทำร้ายผู้ป่วย ด้าน สปสช.แจงสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายยังเหมือนเดิม ยึดตามเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า



4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) นำโดย สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย สมควร เกตุทอง รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย และสมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่าย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้สนับสนุนงบประมาณในการให้บริการผู้ป่วยไตเรื้อรัง โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการบอร์ด สปสช.เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน

สุภัทรา กล่าวว่า ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แนะนำให้บอร์ด สปสช.ทบทวนการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยอ้างข้อสังเกตของสำนักงบประมาณในปี 2550 ว่าการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูงมากและสร้างภาระให้กับงบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นหากมีแนวทางให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนตามความเหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากยิ่งขึ้น พร้อมระบุว่า บอร์ด สปสช.มิได้ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้องรังมีส่วนร่วมชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามข้อสังเกตจนทำให้ค่าบริการทดแทนไตวายเรื้อรังที่ สปสช.ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และทำให้เกิดหนี้สินจำนวน 2,317 ล้านบาท

ทั้งนี้ชมรมผู้ป่วยโรตไตแห่งประเทศไทยและเครือข่ายผู้ป่วยรู้สึกผิดหวังต่อทัศนคติ สตง.ที่ขาดความเข้าใจและขาดข้อมูลเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและงบประมาณประเทศ เพราะข้อมูลเป้าประสงค์ของแผนบูรณาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพกำหนดไว้ว่า รายจ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.2 เท่านั้น ขณะที่รายจ่ายสุขภาพไม่เกินร้อยละ 20 ของจ่ายรัฐบาลทั้งหมดที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17

ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศเกิดจากระบบรักษาในสวัสดิการข้าราชการที่ขาดประสิทธิภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 13,000 บาทต่อคน ขณะที่งบบัตรทองอยู่ที่ 3,100 บาทต่อคน แต่กลับไม่ได้รบการท้วงติงจาก สตง.ในเรื่องนี้

อภิวัฒน์ กล่าวว่า การให้ความเห็น สตง.ครั้งนี้ สะท้อนแนวคิดที่เป็นปัญหา ทำร้ายผู้ป่วย ทำร้ายประชาชน เป็นข้อเสนอที่จับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพราะการเข้าถึงการล้างไตช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ ถือเป็นความไม่รู้ของ สตง. ดังนั้น สตง.ควรที่จะทบทวนตนเองว่าเข้าใจเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและ 3 กองสุขภาพดีแค่ไหน ขณะเดียวกันบอร์ด สปสช.เองต้องให้ความรู้กับ สตง.ด้วยว่า สิ่งที่ สตง.เสนอมานั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขัดต่อหลักมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งในการจัดการงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพมีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ในการจัดหางบเพิ่มเติม และมีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่ใช่ให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายโดยตรง อีกทั้ง 3 กองทุนสุขภาพยังมีความไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นควรจะมีการพัฒนาระบบรวม 3 กองทุนให้บริการรักษาเป็นมาตรฐานเดียวกันมากกว่า

“เราขอตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประเด็นร่วมจ่ายก็เป็นหนึ่งในที่มีการถกเถียงการแก้ไข แต่อยู่ๆ สตง.ก็โผล่เรื่องนี้ขึ้นมา เราไม่รู้ว่ามีอะไรที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด ซึ่งเรากังวลว่าหากมีการร่วมจ่าย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกที่ต้องร่วมจ่ายนี้ ทั้งนี้ในวันนี้เราจะไปยื่นหนังสือนี้ต่อ สตง.ที่มีการจัดทำข้อเสนอนี้ และจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” อภิวัฒน์ กล่าว

สมควร กล่าวว่า ในฐานะผู้ป่วยขอชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการบริหารจัดการของ สปสช. ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้าถึงการรักษาได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกรณี สตง.ที่เสนอให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องร่วมจ่ายค่ารักษานั้น เป็นข้อเสนอที่กระทบต่อผู้ป่วยโดยตรงและทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวนกว่า 5 หมื่นคน

ขณะที่ สมชาย กล่าวว่า ขอเสนอ รมว.สาธารณสุขและบอร์ด สปสช.พิจารณาเสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ดังนี้


1. ยึดประโยชน์ผู้ป่วยเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยมีหลักประกันสุขภาพที่จะไม่ถูกปฏิเสธการรักษา และต้องต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์รวมถึงค่าบริการต่างๆ ให้มีราคาถูกลง และมีคุณภาพ รวมทั้งมีการดำเนินการเพื่อการส่งเสริมป้องกันให้ผู้ป่วยมีจำนวนน้อยลงอย่างเข้มข้น

2. ยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเป็นผู้ป่วยเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเข้าไม่ถึงบริการ

3. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ให้บริการเกินสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้องรังจำนวน 2,317 ล้านบาท โดยให้มีงบประมาณเพียงพอเพื่อจัดบริการ

4. เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิรูป และลดความเหลื่อมล้ำระบบบริการสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. วาระพิจารณา “ข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561” ได้มีการหารือในงบประมาณบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยปี 2561 อยู่ที่ 8,165.60 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 636.37 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.45 โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องมีการคำนวณล่วงหน้า ซึ่งเราคงตั้งงบประมาณปลายเปิดไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงบประมาณรับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า ส่วนการจะร่วมจ่ายหรือไม่เราคงต้องมาช่วยกันคิด รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการโรคไตวายเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาแม้แต่คลินิกไตวายเพื่อชะลอการล้างไตก็ทำมาแล้ว ทั้งหมดนี้ต้องมีการประมาณการณ์ล่วงหน้า

กรรณิการ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยต่างกังวลต่อการร่วมจ่ายเพราะอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษา โดยในวันนี้เครือข่ายผู้ป่วยได้มายื่นหนังสือต่อบอร์ด สปสช.เพื่อให้ทบทวนแนวคิดการร่วมจ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2550 ที่มีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ไตวายเรื้อรังเข้าสู่ ครม.ได้มีการประมาณการงบประมาณดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในปี 2560 ถึง 18,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเราใช้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แปลว่าเราได้บริหารจัดการระบบและควบคุมงบประมาณได้ดี และขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกมนตรี ได้มีการประกาศจะไม่อนุมัติแผนงานงบประมาณที่ผูกพันและมีผลกระทบระยะยาว แต่กลับอนุมัติโครงการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนี้ ซึ่งจากที่ได้พบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงถามว่า ทำไมจึงอนุมัติโครงการนี้ที่สวนทางกับนโยบายรัฐบาล ท่านตอบว่า คุณหมอ คนที่ไม่ได้รับการล้างไตตายนะ คนที่รับถึงรอด คนจน คนรายได้ปานกลางจึงขายทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด รัฐไม่ช่วยไม่ได้ ซึ่งหลักการของหลักประกันสุขภาพคือต้องประกันรักษาในเรื่องร้ายแรง ไม่ใช่เจ็บป่วยเล็กน้อย และเรื่องนี้ก็เป็นบาทสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นจึงขอให้กลับไปดูข้อเสนอโครงการในปี 2550 ใหม่


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.

สปสช.ยันสิทธิประโยชน์ยังเหมือนเดิม ยึดตามเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.กล่าวถึงกรณีที่ชมรมเพื่อนโรคไตยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ไม่เห็นด้วยข้อเสนอ สตง.ที่ให้ สปสช.ทบทวนให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังร่วมจ่าย ว่า สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ยึดหลักการให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นหลักประกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกปฏิเสธการรักษา โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดแนวทางนโยบายล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก กรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ สามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันยังใช้หลักเกณฑ์นี้อยู่ ไม่มีการตัดสิทธิการรักษาของผู้ป่วยแต่อย่างใด

“บอร์ด สปสช.ยังไม่ได้ปรับหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอของ สตง.แต่อย่างใด และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ให้ผู้ป่วยต้องถูกปฏิเสธการรักษา เนื่องด้วยปัญหาค่าใช้จ่าย และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย” โฆษก สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์การให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังใช้หลักเกณฑ์เดิมเมื่อปี 2559 ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องร่วมจ่ายและกรณีที่ไม่ต้องร่วมจ่าย โดยสรุปคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดมาก่อนวันที่ 1 ต.ค.51 ซึ่งเป็นวันที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มให้สิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่ต้องร่วมจ่าย รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องได้ ก็ไม่ต้องร่วมจ่ายเช่นกัน แต่สำหรับผู้ป่วยหลังวันที่ 1 ต.ค.51 หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่สมัครใจเลือกรับบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบคณะกรรมการเพื่อให้ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.