Posted: 03 Jul 2017 09:23 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

โฆษกที่ประชุมวิป สนช. เผยเตรียมนำพระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนข้อกังวลจากเอกชน ถือเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะหาทางแก้ไข เชื่อต้องออก พ.ร.ก. เพราะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง


แฟ้มภาพแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ระหว่างรอทำบัตรอนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ซึ่งเปิดเพื่อจดทะเบียนแรงงานที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารจาก พม่า ลาว กัมพูชา ที่ จ.สมุทรสาคร พื้นที่นำร่องแห่งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

กรณีที่รัฐบาล คสช. ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และเกิดผลกระทบ โดยมีรายงานการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในรอบสัปดาห์นี้นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ในรายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ โฆษกคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐบาล ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอ พ.ร.ก.การบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เข้าสู่ที่ประชุมวิป สนช. เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป

ส่วนข้อกังวลจากภาคเอกชนต่อมาตราในพระราชกําหนดดังกล่าว เห็นว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลกำลังหาแนวทางในการแก้ไข ผ่านการออกคำสั่งตามมาตรา 44 โดยวิปรัฐบาลได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และที่มาของพระราชกำหนดดังกล่าว ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกรมการจัดหางานได้ชี้แจงว่าปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตจำนวน 1 ล้าน 3 แสนคน แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว หรือมีบัตรชมพูจำนวน 1 ล้าน 3 แสนคน ส่วนแรงงานผิดกฎหมายนั้นไม่ทราบจำนวน

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า ตามหลักการต้องมีการจัดระเบียบแรงงานที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อเกิดผลกระทบรัฐบาล รัฐบาลก็จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากพระราชกําหนดมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยการออกเป็นพระราชกำหนดเนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐบาล

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.