Posted: 18 Oct 2017 11:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

EnLAW รายงาน ศาลปกครองสูงสุดชี้ 'มาบตาพุด' มลพิษร้ายแรงจริง กก.สิ่งแวดล้อมละเลยต่อหน้าที่ ต้องประกาศเป็น 'เขตควบคุมมลพิษ' แต่ให้จำหน่ายคดี เนื่องจากมีการออกประกาศแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์

18 ต.ค. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW' รายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค. 60) ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน มาบตาพุด ผู้ได้รับผลกระทบมลพิษจากหลายนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางมายังศาลปกครองระยองเพื่อฟังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อเดือนตุลาคม 2550 กรณีการละเลยต่อหน้าที่ในการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2552 เห็นว่า พื้นที่มาบตาพุดมีปัญหามลพิษร้ายแรงจริงในระดับที่ กก.วล. ต้องประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษแต่กลับละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า โดยพิพากษาให้ กก.วล. ดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่ กก.วล. ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด

EnLAW ระบุว่า ผ่านไปกว่า 8 ปี วันนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเรื่องข้อมูลการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนมลพิษ โดยเฉพาะสารโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็ง ในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ ดิน น้ำ สัตวน้ำ และข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง รับฟังได้ว่ามีปัญหามลพิษในระดับร้ายแรงถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เข้าหลักเกณฑ์ที่ กก.วล. ต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยวางบรรทัดฐานที่สำคัญว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มร้ายแรงที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 59 แล้ว กก.วล. ก็มีหน้าที่ต้องประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่อาจอ้างว่าจะประกาศเขตควบคุมมลพิษหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจโดยแท้ของ กก.วล. ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมเรื่อง “การป้องกันไว้ก่อน ” (Precautionary Principle) ที่ระบุอยู่ในข้อ 15 ของ ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ที่มีสาระสำคัญว่า “ในกรณีที่มีความน่ากลัวว่าจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดีได้ รัฐจะต้องใช้แนวทางระวังไว้ก่อนอย่างแพร่หลายตามความสามารถของตนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนแน่นอนจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเหตุผลในการผัดผ่อนการดำเนินมาตรการโดยยึดหลักการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดี กก.วล.ได้มีประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ อันเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ทำให้เหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไปโดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับอีก จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

อนึ่ง แม้ในที่สุดแล้วการฟ้องคดีนี้จะส่งผลให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมาศาลในวันนี้ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากในมาบตาพุดที่ยังคงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งมีความห่วงกังวลมากขึ้นถึงนโยบายของรัฐที่กำลังผลักดันแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่น่าเชื่อว่าจะเข้ามาซ้ำเติมปัญหามลพิษในพื้นที่ให้หนักขึ้นอีก ในขณะที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ก้าวต่อไป การประกาศ "มาบตาพุด" เป็น "เขตควบคุมมลพิษ"

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.