Posted: 11 Oct 2017 09:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์และเรียบเรียง

คุยกับ กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี ผู้ก่อตั้ง ‘รางวัลปีศาจ’ รางวัลวรรณกรรมหน้าใหม่ ที่สนับสนุนแนวคิดที่ก้าวหน้า มีมาตรฐานอย่างต่ำคือความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กับแนวคิดของรางวัลที่ “ผู้มอบรางวัลรู้สึกขอบคุณที่คุณทำสิ่งนี้ด้วยใจจริง และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ หรือต้องค้อมตัวลงไปรับ”

ชวนมองวงการวรรณกรรมไทยจากจุดเริ่มต้นของรางวัลซีไรต์ ความเป็นซีไรต์ที่ควรถูกตั้งคำถาม ด้วยพิธีการรกรุงรังไม่จำเป็นเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล กระบวนการตัดสินที่ปิดลับ โครงสร้างของคณะกรรมการที่มีความเป็นพวกพ้อง กรรมการที่ไม่จำเป็นต้องอ่านงานเขียนในการตัดสินผู้ได้รางวัล ความเป็นสถาบันของซีไรต์ที่ในที่สุดก็หนีไม่พ้นการสนับสนุนค่านิยมกระแสหลัก อันเป็นที่มาของรางวัลปีศาจ ที่กิตติพลบอกว่า เป้าหมายหลักอาจไม่ใช่การท้าทายซีไรต์ แต่เป็นการทำ “สิ่งที่ควรมีมาตั้งนานแล้ว” ให้เป็นรูปธรรมสักที


กิตติพล สรัคคานนท์

วงการวรรณกรรมกับจุดเริ่มต้นของรางวัลซีไรต์ เมื่อไหร่ที่เราเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นซีไรต์?

ในความรู้สึกผม ซีไรต์มันเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ มันมีนัยสำคัญทางการเมือง เป็นที่รู้กันว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ภายหลังการหนีเข้าป่าของนักศึกษา ภายหลังการเคลื่อนไหวของพคท. มันส่งผลกับความคิดและแน่นอนส่งผลกับวรรณกรรม ซีไรต์เกิดขึ้นมาอย่างน่าคิด เพราะมาพร้อมๆ กับการโปรโมทรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ซึ่งคำนี้มีนัยสำคัญยังไงบ้าง หลายคนบอกว่าวรรณกรรมที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะเป็นรัฐหรืออะไรก็ตามไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ก็คือวรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือพูดง่ายๆ ว่าวรรณกรรมฝ่ายซ้าย

วรรณกรรมเพื่อชีวิตเหล่านี้สำหรับผม โอเค มันมีความเชย มันมีการเทศนา สั่งสอนอยู่ก็จริง แต่เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นนักเขียนคนหนึ่ง ตั้งคำถามว่าทำไมชาวนาต้องพูดภาษามาร์กซิส หรือทำไมต้องพยายามพูดเรื่องการขูดรีดทางชนชั้น ทำไมถึงต้องถูกโจมตีว่า นี่มันเชยว่ะ ไม่สมจริงเลยให้ชาวนามาพูดเรื่องพวกนี้ ปรากฎว่ามันสมจริงเพราะชาวนาก็สนใจจริงๆ ในช่วงเวลานั้นที่แนวความคิดนี้มันแพร่หลาย (พ.ศ. 2518-2519)

คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรียังพูดอยู่เลยว่าเขาใช้เวลาทั้งชีวิตต่อสู้กับวรรณกรรมที่ ‘ตกหล่มเพื่อชีวิต’ ซึ่งสำหรับผม ผมรู้สึกว่า โห ทำไมไม่ต่อสู้กับอำนาจแต่ไปต่อสู้กับวรรณกรรมที่คิดเรื่องการต่อสู้กับอำนาจ


สำหรับผม ทำไมชาวนาต้องพูดแนวคิด ปรัชญาแบบมาร์กซิส หรือเหมาอิส เพราะมันเป็นความคิดหรือปรัชญาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เขาตระหนักได้ว่ามีเท้าที่เหยียบเขาลงมา ทำให้รู้สึกถึงน้ำหนักที่กดลงมาบนหัวเขาหรือตัวเขาได้ เพราะเวลาที่เขาพูดภาษาพวกนี้ พูดกับคนอื่นว่าวันหนึ่งเราจะเท่ากัน วันหนึ่งเราจะไม่ต้องเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่การเทศนาสั่งสอนทั่วไป แต่มันคือภาษาที่ทำให้เขาตระหนักได้ถึงจุดที่เขายืนอยู่

เพราะฉะนั้นถ้าเราจะโจมตีเรื่องอุดมคติว่ามันไม่ซับซ้อนเพียงพอที่จะอธิบาย หรือจะบอกว่ากลวิธีการเขียนแบบนี้มันไม่แนบเนียน ก็ว่าไปเรื่องๆ

แต่ทีนี้สิ่งที่วรรณกรรมสร้างสรรค์มันพยายามเข้าไปโจมตีวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อให้มันเข้ามาแทน คือมันโจมตีเรื่องความเป็นน้ำเน่า พูดแต่เรื่องซ้ำๆ ซึ่งผมคิดว่าถ้าโลกยังไม่เปลี่ยน ความคิดทางสังคมยังต้องต่อสู้กันไปแบบนี้ ความเป็นน้ำเน่าไม่ใช่เหตุผลที่เราจะโจมตี เพราะถ้าสิ่งที่เราพูดมันเป็นความจริง และความจริงต้องพูดแบบนี้ มันก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

การพูดว่าน้ำเน่าจึงเป็นการโต้แย้งที่ผิดประเด็น แต่เพราะฉะนั้นวรรณกรรมสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นมาด้วยความคิดว่า โอเคเราจะไม่พูดแบบเดิม ด้านหนึ่งมันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี เราจะหาวิธีที่สร้างสรรค์ แล้วสร้างสรรค์ยังไงดีล่ะ ก็อาจจะไปพูดเรื่องนายทุน นักการเมือง หรือวิธีการอื่นที่สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ใช่ตกหล่มเพื่อชีวิต ดังนั้นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับการขับเคลื่อนแนวคิดบางอย่าง และน่าสนใจว่าบุคคลกรที่เข้าไปขับเคลื่อนส่วนหนึ่งก็เป็นซ้ายเก่า


คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ตั้งข้อสังเกตว่า ซีไรต์ คือการคืนดีกันระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย คือการต้อนนักเขียนฝ่ายซ้ายกลับมาเข้าคอก คุณไม่ต้องเป็นนักเขียนคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องเขียนงานเพื่อชีวิต หรือซ้ายแบบเดิม คุณมาเขียนงานที่มันสร้างสรรค์ และสามารถให้เงิน ให้ฐานะทางสังคมแก่คุณได้ รางวัลซีไรต์จึงเกิดขึ้นมาในลักษณะที่เป็นการเมืองมาก

และที่สำคัญกรรมการที่จัดงานกับกรรมการที่คัดเลือกคือคนละชุดกัน กรรมการที่จัดงานส่วนใหญ่จะมีบรรดาศักดิ์ เป็นชนชั้นสูงมาตั้งแต่ต้น มันเลยยากจะมีข้อถกเถียง

วรรณกรรมสร้างสรรค์ด้านหนึ่งมันไม่ใช่อาเซียนทั้งหมดหรอก พูดง่ายๆ เป็นแค่ประเทศเราด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมีการพยายามจะทำร่วมกัน แต่สำหรับผมผมมองว่ามัน local และมีความเปลี่ยนแปลงในตัวมันเองด้วย เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นการให้ทุกคนส่งประกวด มันเป็นลักษณะการคัดเลือก แต่ตอนคุณคมทวน คันธนูปฏิเสธที่จะรับรางวัล ก็เลยเกิดการปรับเปลี่ยนกติกาอีกครั้งคือจะไม่ใช่วิธีการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอีกแล้ว แต่จะใช้วิธีให้ทุกคนส่งเข้ามาประกวด

สำหรับผมซีไรต์มีงานที่แปลกที่ล้ำก็จริง แต่ว่าด้านหนึ่งมันก็จะมีงานที่ไม่ค่อยเป็นภัยทางการเมือง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ประนีประนอมทางความคิดบางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งผมคิดว่าคนที่รับรางวัลเองก็เช่นกัน เขารู้ว่าถ้าเขายอมที่จะรับเขาก็ต้องไม่มีปัญหากับอะไรบางอย่างที่เป็นใจกลางของปัญหาทั้งหมดในประเทศนี้

และบังเอิญว่ารางวัลนี้ก็เป็นรางวัลเดียวที่จัดมาต่อเนื่องยาวนาน และเป็นรางวัลเดียวที่ทำให้หนังสือถูกบรรจุเข้าไปในระบบการศึกษา เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา มันจึงเกิดเป็นอำนาจบางอย่าง คุณได้ตราอันนี้คุณสามารถขายผลงานของคุณได้ บรรดาสายส่งก็ต้องการส่งหนังสือที่เป็นซีไรต์เพราะรู้ว่า volume (ปริมาณ) มันเยอะในหลายๆครั้ง ไม่ได้หมายความว่านักเขียนจะรวยขึ้น แต่การมีหนังสือได้ซีไรต์ก็เป็นเครื่องประกันว่าคุณจะขายงานคุณได้ คนจะอ่านไม่อ่านไม่รู้แต่ก็จะมีคนซื้อไปเรื่อยๆ

โครงสร้างของกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสินก็มีความเกี่ยวข้องกับสมาคมนักเขียน สมาคมผู้จัดพิมพ์ คล้ายๆ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ – ที่มีทหารนั่งเก้าอี้อยู่จำนวนมาก) นั่นหมายความว่ามันจะมีอำนาจบางอย่างที่สามารถกำหนดกรรมการอะไรพวกนี้ได้ แต่ถึงเวลาตัดสิน คิดว่ามันก็มีช่วงที่เสียงแตกเหมือนกัน ไม่ได้สอดคล้องกันทั้งหมด

ยุคหนึ่ง เรื่องเงาสีขาว ของแดนอรัญ แสงทองถูกเสนอให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ มาได้หลังจากนั้นที่เป็นงานที่ซอฟท์ลงมา เชิงศาสนา เชิงนิทาน อย่างเรื่องอสรพิษ ก็เลยคิดว่าในจุดหนึ่งซีไรต์เป็นรางวัลที่สร้างสรรค์ในเชิง conservative ทางความคิดมาตั้งแต่เริ่มแรก
งานวรรณกรรมในความรู้สึกคุณต้องเป็นงานที่ไม่ประนีประนอมกับอำนาจ?

ผมไม่ได้พยายามจะเข้าใจวรรณกรรมในเชิงที่เป็นปรัชญาความคิดแบบลึกซึ้งมาก่อน จนกระทั่ง 4-5 ปีที่ผ่านมาพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิยาม คอนเซปต์เกี่ยวกับการเขียน วรรณกรรม เวลาที่ฝรั่งคิดเขาคิดแบบซีเรียสจริงๆ มันเลยทำให้เห็นว่าแนวคิดที่เรามาพูดกันเล่นๆ อย่าง นักประพันธ์ตายแล้ว อำนาจของการอ่านอยู่ที่นักอ่านผู้ตีความ นักอ่านคือนักเขียนอีกครั้งหนึ่ง ทฤษฎีที่เราเพิ่งมาพูดกันจริงๆ มันก่อตั้งขึ้นก่อนหน้า โรล็องด์ บาร์ตส์ อีก (Roland Barthes – นักวิพากษ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส ผู้เสนอแนวคิดความตายของผู้ประพันธ์)

โลกตะวันตกถกเถียงเรื่องวรรณกรรมกันแบบรุนแรงมากๆ ในขณะที่บ้านเราเซ็ตเพดานการเขียนไว้ค่อนข้างต่ำในเชิงความคิด พอไปอ่านจึงรู้สึกมีหลายแนวคิดที่เราจะไม่เห็นในงานเขียนของบ้านเรา


แต่ในโลกตะวันตกเอาการเขียนไปผูกกับการปฏิวัติ ให้เหตุผลการมีอยู่ของวรรณกรรมหรือรากฐานของวรรณกรรมว่าเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มันอยู่กับที่ไม่ได้

นวนิยายคือสิ่งที่จัดประเภทไม่ได้ในตอนต้น เพราะมันก่อกวน ปั่นป่วนคนอ่าน เหมือนงานของ แดเนียล เดอโฟ (Daniel Defoe) เรื่อง โรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe - เรื่องราวเกี่ยวกับการติดเกาะร้างอยู่ 36 ปี บนเกาะเขตร้อนชื้นอันไกลโพ้น) ตอนที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่ง มันคืองานที่บอกไม่ได้ว่าคือเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงของคนที่ไปติดเกาะ มันปั่นป่วน ทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือความหมายของวรรณกรรม ทำจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ให้มีอยู่ แล้ววันหนึ่งมันก็รื้อและทำใหม่ไปเรื่อยๆ

ผมรู้สึกว่าเราแทบไม่เคยเข้าไปเรียนรู้เรื่องพวกนี้เลย เพราะในเวลาที่เราสถาปนางานเขียนไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น ร้อยแก้วก็ดี เราถกเถียงแต่เรื่องว่าเราควรได้ตังค์ไหม มันควรเป็นวิชาชีพได้ไหม ซึ่งโลกตะวันตกมันถกเถียงไปถึงขั้นว่า เวลาคุณตั้งใจเขียนให้คนอ่าน คนอ่านไม่ได้อ่านหรอก เพราะงานเขียนทุกชนิดเมื่อคุณโยนมันลงไปมันตัดขาดจากผู้เขียนแล้ว ผู้อ่านเป็นผู้กำหนดความหมายของมัน เพราะฉะนั้นเวลาคุณจะเขียนอะไรขึ้นมาคุณต้องทำในสิ่งที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง มันต้องสร้างความปร่าแปร่งไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

งานเขียนก็จะมีพลังขับเคลื่อนในเรื่องพวกนี้ไป เพราะฉะนั้นงานเขียนมันจึงไม่เคยเหมือนเดิม วันนี้สิ่งที่เรียกมันว่านวนิยายก่อนหน้านี้อาจไม่ใช่นวนิยาย นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวางนิยามใหม่ โดยที่เราต้องไม่ลืมด้วยว่า โลกของการเขียนการอ่านไม่ได้อยู่ในสิ่งพิมพ์อย่างเดียวอีกแล้ว มันมีมิติต่างๆ ในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นอีกหลายช่องทางที่เราต้องเริ่มเรียนรู้


เพราะฉะนั้นรางวัลวรรณกรรมที่ทำกันอยู่อย่าง ‘ปีศาจ’ ถึงมองว่าหนังสือมันเป็นแค่ฟอร์มอันหนึ่งเท่านั้นเอง มันไม่ควรจะเอาแค่ฟอร์มอันนี้มาส่งประกวด แต่เราควรจะกลับไปที่ต้นทาง ความเป็นต้นฉบับ คนที่ไม่พิมพ์เป็นหนังสือเลยก็ยังประกวดได้ เพราะถ้าเชื่อว่างานเขียนมีศักยภาพของมันก็ไม่ควรจำกัดรูปฟอร์มแค่ความเป็นหนังสือที่ผ่านสำนักพิมพ์ อันนี้ก็คือคำตอบที่ว่าทำไมงานเขียนจึงต้องเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลง ต้องท้าทายกับอำนาจข้างบนด้วย ในที่นี้อำนาจข้างบนก็มีหลายรูปแบบมาก

แต่วรรณกรรมสร้างสรรค์เรามักจะติดว่า พอพูดถึงเรื่องการเมืองปุ๊บ พอวรรณกรรมตกหล่มการเมืองปุ๊บ มันก็เชย บางทีกูรูหรือผู้รู้ทางด้านวรรณกรรมก็หวาดกลัวที่จะตกหล่มนู้นนี้นั่นเกินไป จนลืมนึกว่ามันไม่มีหรอกอะไรแบบนั้น ไอ้สิ่งที่เรียกว่าหล่มเพื่อชีวิต เพราะบางอย่างถ้ามันเป็นความจริงผมว่ามันก็พูดได้ไม่กี่แบบ และยังต้องพูดซ้ำๆ อยู่ และผมคิดว่ารูปแบบของวรรณกรรมที่ท้าทายอำนาจมันก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ ผู้ตีความกฎหมายเป็นผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ตีความกฎหมายเป็นผู้มีอำนาจในเวลานี้ เราก็ไม่มีอำนาจ เราก็ต้องระมัดระวังเท่านั้นเอง ในฐานะผู้สร้างวรรณกรรมเราก็ต้องสร้างวรรณกรรมเพื่อไปต่อสู้
วรรณกรรมไทยถูกจำกัดด้วยผู้อ่านและผู้ตีความทางกฎหมาย?

ตอนนี้มีสองเรื่องที่ซ้อนกันอยู่ เวลาเราพูดถึงเสรีภาพ โลกปกติมีความน่าสนใจตรงที่มันมีหลายๆ สูตร แม้กระทั่งสมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็ยังเสนอสูตรว่ามีการเลือกตั้งไม่พอ ต้องมีการตรวจสอบอำนาจได้ด้วย ในขณะเดียวกันต้องมีเสรีภาพการแสดงออก แต่ของเราแม้กระทั่งช่วงที่เรามีเสรีภาพที่สุดเราก็มีแค่เลือกตั้ง การตรวจสอบแทบทำไม่ได้

แต่วรรณกรรมมีข้อได้เปรียบ นักเขียนมีข้อได้เปรียบ รวมทั้งผู้ทำงานสร้างสรรค์อีกหลายประเภทมีข้อได้เปรียบ ตรงที่ในโลกที่คุณถูกจำกัด แค่จัดวางบางอย่างที่ถูกห้ามแต่ในลำดับขั้นตอนที่เรารู้สึกว่ามันสื่อความหมายบางอย่างได้ ก็พูดในเรื่องที่ถูกห้ามพูดได้แล้ว หน้าที่ของศิลปินหรือนักเขียนก็คือการเข้าไปเขย่าสิ่งที่ถูกจำกัดไว้

แน่นอนบางเรื่องคุณพูดไม่ได้ ถ้าคุณพูด ไม่ได้เดือดร้อนแค่ตัวคุณ คนพิมพ์ บก. ของคุณ ก็จะเดือดร้อน แต่คุณเป็นนักเขียน คุณสามารถพูดได้ แต่ต้องคิดว่าจะพูดมันยังไง และสิ่งที่ทำให้นักเขียนได้เปรียบนักวิชาการก็คือนักวิชาการต้องพูดบนฐานของความจริง แต่นักเขียนแต่งได้ สร้างได้ บางอย่างที่คุณขาด คุณใช้ทริคบางอย่างได้ แต่สิ่งที่วินทร์ เลียววาริณทำมันคือการใช้ทริคบางอย่างเพื่อไปซับพอร์ทบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมีการซับพอร์ทในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งสำหรับผมมันไม่ท้าทาย

จุดเริ่มต้นและความเป็นไปของ ‘ปีศาจ’?

กิจกรรมหลายๆ ปีทำให้ผมพบปะผู้คนมากขึ้น การจัดงานเสวนาล่าสุดทำให้พบกับนักวิชาการบางท่านที่คิดตรงกันว่า ทำไมเราไม่สถาปนารางวัลสักอย่างที่ไม่ต้องอิงกับอำนาจที่มีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดแต่ยังไม่มีเวลาริเริ่ม เขามีงบประมาณให้ในระยะยาว อาจจะถึงสิบปี และหลังจากที่ได้คุยกับพี่จอย (ศราพัส บำรุงพงศ์-ปทุมรส, ลูกสาวของเสนีย์ เสาวพงศ์) เพื่อขออนุญาตอ้างชื่อ ‘ปีศาจ’ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เขาก็เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ เราก็กล้าที่จะทำตามแผนต่อไป

รางวัลปีศาจมีบทเรียนมาจากซีไรต์หรืออีกหลายอย่าง คือแม้สำหรับผมกรรมการบางท่านก็น่าสนใจและเลือกตัดสินอะไรได้บ้าง แต่เรามองว่ารางวัลนั้นมีข้อปัญหาสำคัญคือ มีนักเขียนกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่สบายใจที่จะขึ้นรับรางวัล เขาอยากจะจอยกับนักเขียนอาเซียน แต่เขารู้สึกไม่สบายใจและไม่รู้จะวางตัวยังไงกับการขึ้นรับรางวัล อันนี้สำคัญเพราะบางคนถึงขั้นไม่อยากประกวดเพียงเพราะไม่อยากรับรางวัล

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเรื่องพิธีการพิธีกรรมเขาคิดกันค่อนข้างมาก สำหรับผม เราควรจะตัดตรงส่วนนี้ เพราะเราก็ทราบข้อเท็จจริงบางอย่าง เรารู้ว่าเวลาที่มีพิธีการระดับนั้น สปอนเซอร์ล้านหนึ่งก็ใช้ไม่พอ พิธีการมอบรางวัลมีทุกอย่างตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ เชิญแขกเหรื่อต่างๆ จัดเลี้ยง มอบรางวัล เป็นผมผมเอาเงินสองแสนสามแสนใส่มือนักเขียน ตัดพิธีการออกจะดีกว่าไหม แต่ซีไรต์ไม่เคยปัดฝุ่นตรงนี้

สำหรับเรา รางวัลของเราต้องมีมาตรฐานที่แข็งแรง ลืมเรื่องของพิธีการไปได้เลย เราตัดออกไป ไม่มีค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยตรงนั้น แล้วเราก็โฟกัสเรื่องของการคัดเลือกต้นฉบับ ไม่ใช่นักเขียนทุกคนที่ได้พิมพ์หนังสือ พลัง เพียงพิรุฬห์ เท่าที่ทราบเขาก็พิมพ์หนังสือของเขาเองแล้วส่งประกวด หลายคนกับซีไรต์ก็ต้องออกตังค์พิมพ์หนังสือเอง

สำหรับเรามันตัดโอกาสงานอีกหลายประเภทที่ไม่ผ่านตาบก. หรืออาจถูกเขี่ยทิ้งตอนที่พิมพ์ไม่ทัน หรืออะไรก็ตาม หมายความว่ารางวัลของเราก็จะได้คนทั่วไปที่ไม่ได้บิ๊กเนม ไม่เป็นที่รู้จักเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง มันก็อาจจะมีช้างเผือกที่น่าสนใจปะปนเข้ามาจำนวนหนึ่ง

ความอึดอัดอัดอั้นในช่วงเวลานี้ทำให้คนรู้สึกว่าต้องทำอะไร จากที่เขาอาจจะแค่โพสต์เฟสบุ๊ก หรือเขียนใน fictionlog storylog หรือคิดจะเอามาทำเป็นต้นฉบับส่ง ผมคิดว่ามันน่าจะมีอยู่ไม่น้อย

การมีคนเข้ามาช่วยซับพอร์ทเยอะมันดี แต่ก็ต้องขอเลือกว่าใครจะเข้ามาแค่ไหนยังไง เพราะยังอยากให้รางวัลปีศาจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะของสำนักพิมพ์หรืออะไรเข้ามาผูกมากนัก อยากให้ทุกสปอนเซอร์ที่เข้ามาเข้าใจและอยู่ในฐานคิดเดียวกัน

กติกาของเราคือ งานเขียนประเภทเรื่องแต่งไม่จำกัดรูปแบบ ความยาว มีลักษณะเป็นนวนิยาย แต่ถ้าคุณมีความสามารถแต่งเป็นพระอภัยมณี เราก็ไม่จำกัด หรือถ้าคุณเขียนเรื่องสั้น 16 หน้าแต่มันมีพลังเท่ากับนวนิยาย เราก็ไม่มีปัญหา

รางวัลเราคัดเลือกมา 4 เล่ม เป้าหมายเราเล่มที่เข้ารอบน่าจะหาช่องทางทางการพิมพ์ เป็นรายได้กับเขา ซึ่งตรงนี้ต้องมานั่งคุยกันเพื่อให้เกิดความแฟร์กับทุกฝ่าย มอบรางวัล 6 ตุลาปีหน้า
ใครเป็นกรรมการ วิธีคัดเลือก?

อย่างของซีไรต์จะมีกรรมการคัดเลือกเรื่องทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีก็มี 100-200 เรื่อง กรรมการคัดเลือกก็จะเลือกมาเป็น long list แต่กรรมการตัดสินจะไม่ได้อ่านจาก long list เขาจะได้รับบรีฟจากกรรมการคัดเลือกแล้วคัดเลือกเป็น shot list และเขาอาจจะไม่ต้องอ่านเลยก็ได้ กรรมการบางคนไม่ได้อ่านเพราะไม่มีเวลา แต่กรรมการที่อ่านเขาก็ต้องหาวิธี convince (เชื้อเชิญ, โน้มน้าว) คนให้ได้ว่าในจำนวนนี้มีงานที่ดีอยู่ แต่ส่วนใหญ่แทบไม่ต้องอ่าน

รางวัลปีศาจ กรรมการที่ตัดสินจะต้องอ่าน เพราะเราเลือกให้เหลือแค่ 4 เล่มและกรรมการตัดสินก็มีเวลา กรรมการคัดเลือกก็มีงานหนักพอสมควรที่ต้องทำ และความแตกต่างของเรา เราทำเหมือนเปเปอร์วิชาการหรืองานที่มีมาตรฐาน คือ มีกองกลางที่รับเรื่อง ซึ่งจะเป็นคนดึงชื่อผู้แต่งออกทั้งหมด เพราะฉะนั้นกรรมการคัดเลือกจะได้รับไฟล์ที่มีแค่เนื้อหากับชื่อเรื่อง ซึ่งกรรมการคัดเลือกตอนนี้ก็มี บก.หนังสือ นักวิชาการด้านวรรณกรรม อาจารย์สอนปรัชญา และผม

ส่วนกรรมการตัดสิน ตอนนี้ที่ติดต่อทาบทามไปมีอ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งไม่มีใครรู้หรอกว่าอ.วรเจตน์อ่านวรรณกรรมเยอะแค่ไหน แกเป็นคนอ่านวรรณกรรมเยอะมาก โช ฟุกุโทมิ เป็นคนอ่านวรรณกรรมไทยแตกฉานมาก และเลือกงานไทยหลายอันไปแปล เป็นคนค่อนข้างเปิดกว้าง ถือว่าเป็นสายของนักแปล มีคุณก้อง ฤทธิ์ดี หลายคนคงทราบว่าแกอ่านวรรณกรรมเยอะมาก และอ.วริตตา ศรีรัตนา ผู้แปล ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน (Too Loud a Solitude) อันนี้แกก็จะเชี่ยวชาญงานพวกโมเดิร์นนิสต์ เพราะฉะนั้นสายตาแกก็จะคม และค่อนข้างวิจารณ์รุนแรง เราคิดว่าเราก็ได้บุคลากรค่อนข้างครบ ทั้งหญิงชาย เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสายวรรณกรรมโดยตรง


ที่น่าสนใจเราไม่ปิดรับ รีวิวที่เราคอมเมนต์ทั้งหมดจะเอามาเผยแพร่ และผมคิดว่ากรรมการตัดสินช่วงที่เขาประชุมกันอาจจะมีการถ่ายทอดด้วยซ้ำเพื่อให้เห็นว่าเขาคุยอะไรกัน เวลาที่เขาเสนอความคิด แลกเปลี่ยน เพราะกรรมการตัดสินต้องเลือกเล่มที่ชอบมาหนึ่งอัน แล้วเสนอไอเดียเกี่ยวกับเล่มนั้นเพื่อคุยกัน ซึ่งแน่นอนมันต้องไม่ตรงกันอยู่แล้ว

มันมีโจทย์อันหนึ่งที่กรรมการท่านหนึ่งเขาโยนมาว่า แม้มาตรฐานขั้นต่ำของเราคือต้องเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เราสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้างานมันดีมาก ล้ำมาก แต่ตัวอุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองมันล้าหลังมาก conservative มาก เชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลักอยู่ จะเป็นยังไง ผมก็บอกว่ามันเป็นหน้าที่ของกรรมการตัดสินนั่นแหละที่คุณต้องถกเถียงกัน แล้วมันจะเห็นลักษณะของการที่ไม่ได้ไปทิศทางเดียวกันทั้งหมดหรอก และเราก็ใช้ระบบเสียงข้างมากเพื่อตัดสิน
แล้วเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมืองเลยส่งได้ไหม?

คิดว่าก็ควรมีพื้นที่ให้กับงานจำพวกนี้ด้วยเหมือนกัน ถึงไม่ใช่งานที่มีแนวคิดก้าวหน้าทางการเมือง แต่ถ้ามันสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการเขียนหรือพูดง่ายๆ ทำลายฟอร์มบางอย่างของการเขียนเพื่อสร้างสิ่งใหม่แล้วมันน่าสนใจ ก็ควรมีที่ให้งานจำพวกนี้ด้วย
สมมติวันข้างหน้ารางวัลปีศาจกลายเป็นสถาบัน เราให้รางวัลไป แล้วเกิดกรณีแบบคุณไพฑูรย์ ธัญญา จะเอารางวัลคืนไหม?

พูดตรงๆ ว่าเรื่องพวกนี้มันไม่มีการการันตีนะ แต่ผมคิดว่าถ้าสามารถเซ็ตกติกาบางอย่างไว้ ก็สามารถบอกได้นะ ว่าถ้าวันหนึ่งคุณทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพยายามเขียนไว้ในงานคุณ อย่างสุดโต่งด้วย ผมคิดว่าการลบหรือทวงคืนรางวัลเป็นเรื่องปกติในสังคมที่รางวัลคือสิ่งที่พิสูจน์อุดมการณ์ ขึ้นอยู่กับกติกาที่เราจะวาง เป็นโจทย์ที่ผมต้องรับไปคิด
จากรัฐประหารปี 49 ถึงปัจจุบัน วงการวรรณกรรมไทยมีพลวัตรยังไง?

อย่างคุณไม้หนึ่ง (ก. กุนที) มีนักเขียนกี่คนเป็นแบบเขา มีน้อยมากนะ แล้วไม้หนึ่งเป็นเหมือนตัวตลกด้วยซ้ำที่พูดในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักเขียนทั่วไปไปเชียร์พันธมิตร แน่นอนในโลกวิชาการก็เป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกัน เขาคิดว่ามีบางอย่างที่ต้องเคลื่อนไหวผลักดัน แต่ผมว่านักเขียนช้ากว่ากลุ่มนักวิชาการ อย่างตอนนั้นมีการเสนอนายกฯ มาตรา 7 ก็ถอยกันมาหลายคน แต่นักเขียนยังเดินหน้ากันอยู่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนักเขียนที่ออกมาเป็นฝ่ายประชาชนตอนนี้ก็ออกมาทีหลังเกือบทั้งนั้น

อะไรหลายอย่างทำให้รู้สึกว่าโลกของวรรณกรรมมันไม่ได้เฉื่อยแค่ตัวรูปแบบนะ ความคิดมันก็เฉื่อย ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเลือกจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง หรือถกเถียงเรื่องทางการเมืองกันได้อย่างแม่นยำ แต่เมื่อเทียบกับโลกตะวันตกนักเขียนจะไม่ช้า จะมีความคิดบางอย่างที่ไปได้อย่างรวดเร็ว ตัดสินใจในโมเมนต์สำคัญได้ ในโมเมนต์ที่สำคัญก็มีทั้งคนที่พลาดและไม่พลาด แต่ของเราบังเอิญว่าคนที่พลาดมันเยอะกว่าคนที่ไม่พลาด

ตั้งแต่ปี 49 ความเปลี่ยนแปลงของนักเขียน ผมว่าตอนนั้นนักเขียนยังมึนๆ อยู่นะ ไม่ได้ออกมาแล้วบอกว่าไม่เอาบิ๊กบัง (สนธิ บุญยรัตกลิน) มีความขยับช้า หวาดระแวงคนเสื้อแดงอยู่ หรือบางครั้งก็สุดโต่งไปเลย เสื้อแดงถูกหมด พูดง่ายๆ เหมือนพยายามจะไถ่บาป และบางครั้งนักเขียนยังต้องการการค้ำยันบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะสถาบัน ทุกคนก็จะไม่ฉีกออกไป และยังมองว่าเป็นอะไรที่บริสุทธิ์หรือแยกจากการเมืองอยู่


ทำไมนักเขียนไทยช้า เฉื่อย?


สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เขาด่าเจ็บ เขาบอกว่านักเขียนไทยอ่านเฉพาะภาษาไทย นั่นคือปัญหา แล้วหนังสือพวกนี้มันแปลช้าและมันไม่ไปไหน แล้วความคิดมันก็วนอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนพูดอีสานได้พูดลาวได้อาจจะรู้ความจริงบางอย่างที่มากกว่านักเขียนภาคกลาง หรือนักเขียนที่ไม่รู้ภาษาท้องถิ่น และนักเขียนไทยพอห่างจากชีวิตที่เป็นชีวิตจริง โลกของตัวบทโลกของหนังสือก็อ่านเฉพาะที่เขาเคี้ยวแล้วเอามาป้อนให้ มันก็ได้เท่านั้น และความกระตือรือร้นมันไม่มี รู้แค่สองแต่พูดเหมือนรู้สิบ

และผมคิดว่านักเขียนไทยเขาพยายามจะนำเสนอความคิดแบบปรัชญา แบบคุนเดอร่า (มิลาน คุนเดอร่า) แต่มันไม่ใช่ จะเรียกว่าเป็นคุนเดอร่าซินโดรมก็ได้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเขียนอะไรลงไป ความคิดมันไม่นำเสนออย่างที่เขาตั้งใจด้วยซ้ำและมันขัดกัน แทนที่จะรู้สึกว่ากำลังแสดงปรัชญาอยู่ มันล้มเหลว หลายครั้งเวลาที่เขาจะถกประเด็นยากๆ เรื่องยากๆ ผมกลับรู้สึกว่า ถ้างั้นคุณไปลอกหนังสือมาใส่ไปเลยทั้งดุ้น แบบที่บางที ภู กระดาษ ทำ แบบนั้นยังจะซื่อสัตย์มากกว่า แต่คุณพยายามจะเป็นคุนเดอร่าแล้วมันล้มเหลว ไม่ใช่เฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ๆ นักเขียนรุ่นใหญ่ๆ ก็พลาด

สำหรับผม ผมคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็นแบบคุนเดอร่าที่เขาสามารถประคองความคิดเขาไปจนสุดได้แต่คุณทำไม่ได้ นักเขียนไทยมีแค่ฟอร์ม ซึ่งมันทำให้เป๋ไปหมด


นักเขียนไทยเลือกที่จะใช้โวหารกลบเกลื่อนความคิดที่มันกระพร่องกระแพร่ง สำหรับผมมันย้อนกลับไปได้ถึงกวีในสมัยรัตนโกสินทร์ พวกนี้มีโวหารเยอะมาก แต่เรื่องความคิดยังไม่เฉียบคมพอ ซึ่งการจะมีความคิดเฉียบคมพอผมไม่ได้บอกว่าเขาต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่เขาต้องอ่านให้แตก

เราอาจจะยังไม่ได้ใช้ศักยภาพการเขียน ไม่ได้ทดสอบหรือท้าทาย มันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

โดยส่วนตัวผมคิดว่านักเขียนเหล่านี้มีความน่ารัก แต่ผมคิดว่าไม่มีใครกล้าพูดเรื่องพวกนี้ สำหรับผมนักเขียนอินโดฯ หรือนักเขียนเพื่อนบ้านยังแม่นกว่าเรา โดยที่เขาอาจจะไม่ต้องเยอะเท่านี้ จริงๆ แล้วมันไม่มีใครโง่ใครฉลาด และนักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องฉลาดตลอดไปด้วยซ้ำ การที่ผมคัดเลือกกรรมการคัดเลือกเหล่านี้มาทำรางวัลปีศาจ ผมรู้สึกว่ามาทางเดียวกัน เราอ่านเชิงบรรณาธิการด้วย ถ้ามาแบบน้ำท่วมทุ่งแต่เนื้อหาไม่มีก็คงไม่ผ่าน

เหมือนเราอยากเขียนงานแบบแฮมมิ่งเวย์ แต่เราไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่แฮมมิ่งเวย์เขียน ภาษาแบบโทรเลข มันมีนัยสำคัญยังไงบ้าง นักเขียนไทยแค่คิดว่ามันเป็นรูปแบบ แต่ภาษาแบบโทรเลขของแฮมมิ่งเวย์มันมีอิมแพคมาก เพราะจริงๆ ถามว่าคนต้องพูดสั้นขนาดนั้นมั้ย อาจจะไม่ แต่เขาเลือกที่จะใช้วิธีการเขียนแบบนี้ กับเรื่องบางเรื่องมันกลายเป็นนวัตกรรม สำหรับเราเราก็แค่ ฉันอยากจะเขียนแบบแฮมมิ่งเวย์ แบบคลีนๆ สะอาดๆ น้อยๆ แต่เราอาจไม่ได้สนใจว่าที่มาที่ไปของภาษาพวกนี้คืออะไร และเราก็ใช้มันอยู่ตลอดตั้งแต่แฮมมิ่งเวย์ โกวเล้ง กิมย้ง มุราคามิ เราอยากจะเขียนด้วยฟอร์มแบบนั้น
การพิมพ์หนังสือ?

เรากำลังเลือกอยู่ว่าใครมาผลิตให้แล้วดูเป็นกลางที่สุด รางวัลปีศาจไม่ได้อิงกับสำนักพิมพ์ ซึ่งจริงๆ รางวัลมีคุณภาพหลายๆ รางวัลในโลกนี้สปอนเซอร์หลักเป็นสำนักพิมพ์ เช่น รางวัลอะกุตางาวะ ของญี่ปุ่น รางวัลกองกูร์ ของฝรั่งเศส

พูดได้ไหมว่ารางวัลปีศาจเกิดมาเพื่อท้าทายรางวัลอื่นๆ?


สำหรับเรามันคือการเซ็ตสิ่งที่ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว ควรจะเป็นจริงตั้งนานแล้ว แต่เป้าหมายว่ารางวัลเราจะไปแย่งบทบาทความสำคัญเขามาได้ไหมคงไม่ใช่เป้าหมายหลัก เป้าหมายหลักแค่ประคองให้รางวัลนี้มันได้มาตรฐาน

เซ็ตระบบที่มันแข็งแรงจริงๆ ให้ทำได้จริง และมีผลงานที่น่าสนใจออกมาในทุกครั้ง มีงานที่ก้าวหน้าทางความคิด การเมือง มีรูปแบบที่น่าสนใจ เปิดโอกาสให้นักเขียนที่ไม่ได้ตีพิมพ์
รางวัลปีศาจสะท้อนความขัดแย้งทางการเมือง?

ผมคิดว่ามันไม่ได้สะท้อนแค่ความขัดแย้ง แต่มันสะท้อนความเป็นจริงทางการเมือง ความเป็นจริงที่มันไม่ค่อยโอเค ไม่ค่อยปกติ


เพราะมันจะมีกี่รางวัลในประเทศนี้ที่เรารับแล้วเราไม่ต้องลงไปกราบ ลงไปหมอบ มันมีรางวัลไหนบ้างที่ผู้มอบรางวัลรู้สึกขอบคุณที่คุณทำสิ่งนี้ด้วยใจจริง และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ หรือต้องค้อมตัวลงไปรับ

วันที่ประกาศผล ทำไมถึงเลือกวันที่ 6 ตุลา ไม่เป็น 14 ตุลา?


เพราะ 6 เราแพ้ เพราะฉะนั้นเรามอบชัยชนะในวันที่เราพ่ายแพ้ และเราก็ถูกทรีตเหมือนปีศาจด้วยในเวลานั้น คิดว่าคงเป็นวันที่ดี


โพสต์จากเฟสบุ๊กของกิตติพลเกี่ยวกับที่มาและกติกาของรางวัลปีศาจ (วันที่ 10 ต.ค. 60)

คร่าวๆ สำหรับรางวัลปีศาจ (ขอบคุณน้องๆ พี่ๆ ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงครับ) ท่านใดสนใจเริ่มเขียนได้เลยครับ เช่นเดียวกับกรรมการ จะมีการรับสมัครเพิ่มเติมด้วยครับ จะแถลงอย่างเป็นทางการพฤศจิกายนนี้ครับ
_______________

ที่มา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรางวัลทางวรรณกรรมจำนวนมากกำเนิดขึ้น แต่ละรางวัลยึดโยงคุณค่ากับตัวบุคคล สถาบันหรือหน่วยงานผู้มอบให้ กระทั่งมุ่งรักษาสถานะของสถาบันหรือหน่วยงาน โดยอ้าง “ความสร้างสรรค์” ที่มักจะถูกจำกัด ตีกรอบแบบผูกขาดโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทบจะชุดเดียวกันโดยตลอด คำถามที่ตามมาก็คือ มีรางวัลใดบ้างที่สถาบันหรือหน่วยงานที่มอบตระหนักถึงคุณค่าของงานประพันธ์และผู้รับเองไม่ต้องถูกกดข่มให้หมอบราบลงไปรับรางวัลทั้งหลายเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังต้องสำนึกในบุญคุณอันสุดประมาณ ทั้งที่จริงๆ แล้วนักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมไม่จำเป็นต้องรู้สึกติดค้างผู้มอบรางวัลแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม ผู้มอบรางวัลหรือตัวแทนของรางวัลนั้นเสียอีกที่ควรขอบคุณนักเขียนผู้กอปรด้วยวิริยภาพในการสร้างผลงาน ดังนั้นถ้าจะมีรางวัลวรรณกรรมสักรางวัลหนึ่งมอบให้ผู้ประพันธ์ผลงานชิ้นยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะบทกวี เรื่องสั้น หรือนวนิยาย ฯลฯ เขาก็ควรยืนรับรางวัลนั้นอย่างภาคภูมิใจ มิใช่ต้องค้อมตัวลงแนบพื้นราวกับยอมตนเป็นเบี้ยล่าง

ด้วยเหตุนี้ “รางวัลปีศาจ” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง เพราะเราเชื่อว่าหัวใจหรือรากฐานความเป็น “วรรณกรรม” คือการเปลี่ยนแปลง งานเขียนคือการปฏิวัติ หรือการแตกหักกับอดีตอันหมายถึงกรงขังของประเพณีที่แฝงเร้นมาพร้อมโซ่ตรวนอำนาจนิยม เท่าที่ผ่านมานานหลายทศวรรษ เราตระหนักถึงความหมายและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้น้อยเกินไป เรากำหนดเพดานของความเป็นนักเขียนและงานเขียนไว้ต่ำเตี้ยเกินไป ทำให้การสร้างสรรค์มีความหมายเท่ากับอยู่กับที่ หรือถอยเข้าไปหากรอบมาตรฐานที่ผูกขาดโดยกรรมการไม่กี่คน

“รางวัลปีศาจ” ได้ชื่อมาจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมของเสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่อง ปีศาจ โดยมุ่งหมายให้เป็นรางวัลที่สนับสนุนผลงานที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบ ความคิด และวิธีการ เพื่อต่อต้านและช่วงชิงความหมายและพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ

“รางวัลปีศาจ” มีรากฐานมาจากประชาชน ความเป็นคนสามัญ จึงกล่าวได้ว่าเราสนับสนุนวรรณกรรม ส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเท่าเทียมที่เรายึดถือเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุด

เกณฑ์การคัดเลือกผลงาน

-เป็น “นวนิยาย” ที่ไม่จำกัดความยาว รูปแบบ และวิธีการนำเสนอ
-ต้นฉบับเป็นภาษาไทย และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
-สามารถส่งผลงานในรูปของ PDF หรือต้นฉบับพิมพ์ A4

โครงสร้างของคณะทำงาน

-เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงาน รับต้นฉบับ จัดเตรียมต้นฉบับที่ไม่มีชื่อผู้แต่งส่งให้คณะกรรมการคัดเลือก
-กรรมการคัดเลือกผลงาน จำนวน 5-10 คน ประกอบด้วย บรรณาธิการ นักวิชาการ นักวิจารณ์ นักเขียน และประชาชนทั่วไป ซึ่งทำหน้าที่อ่านและคัดเลือกผลงานให้เหลือ 4 เรื่อง
-กรรมการตัดสิน จำนวน 5-7 คน ประกอบด้วยนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักวรรณคดีศึกษา นักแปล และประชาชนทั่วไป อ่านและพิจารณารางวัลชนะเลิศ

ระยะเวลาในการทำงาน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานเริ่มรับต้นฉบับ และจัดเตรียมเพื่อส่งมอบให้กรรมการคัดเลือกนับจากเดือนแรกที่ประกาศ

กรรมการคัดเลือกใช้เวลา 3 เดือน อ่านและพิจารณาผลงาน มีการเผยแพร่บทวิจารณ์และข้อคิดเห็นต่อผลงานทางออนไลน์และช่องทางอื่นๆ

กรรมการตัดสินใช้เวลา 3 เดือนในการอ่านผลงานเข้ารอบสุดท้าย

กำหนดการเบื้องต้น

ปิดรับต้นฉบับเมษายน
ประกาศชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 24 มิถุนายน 2561
ประกาศรางวัลในวันที่ 6 ตุลาคม 2561

รางวัลปีศาจ

ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท

ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 4 ชิ้น จะได้รับการผลักดันและสนับสนุนเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือและได้รับค่าตอบแทนตามมาตรฐานงานที่ได้รับการตีพิมพ์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.