รศ.ชาตรี ประกิตนนทการนำเสนอข้อมูล

Posted: 31 Jan 2019 07:03 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-31 22:03


ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร มองความสัมพันธ์เชิงอำนาจรัฐ-กษัตริย์-ประชาชน ผ่านการเปลี่ยนแปลงสารพัดใน 120 ปี ถ.ราชดำเนิน จากพื้นที่อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ถนนประชาธิปไตยสู่ความพยายามเบียดคนเล็กคนน้อยออกจากพื้นที่ และลดความร้อนแรงทางการเมืองลง ระบุ ความทรงจำคนเล็กคนน้อยสำคัญ ทำให้เรื่องเล่าของราชดำเนินเป็นของคน ไม่ใช่เรื่องเล่าของรัฐ

31 ม.ค. 2562 ที่มิวเซียมสยามมีการจัดเวทีเสวนา “เรื่อง (ไม่ถูก) เล่าในหน้าประวัติศาสตร์ 120 ราชดำเนิน” นำเสนอโดย รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เนื้อหาการนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกับมิวเซียมสยามเพื่อจัดแสดงเป็นนิทรรศกาลในปี 2563

ชาตรีมอง ถ.ราชดำเนินเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญที่สุดต่อสังคมการเมืองไทย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการแสดงออกทางอุดมการณ์ระหว่างรัฐและประชาชน และประชาชนกับประชาชน การที่ในประวัติศาสตร์มีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดออก ไม่เล่า ไม่พูดถึงสะท้อนว่าใครเป็นคนกุมอำนาจ อย่างเช่นการไม่เล่าถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไปจนถึงประสบการณ์ ความเชื่อมโยงกับราชดำเนินของคนเล็กคนน้อย


ภาพการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเหตุการณ์เดือน ต.ค. 2516 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

ชาตรีหาเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่าจากบันทึกความทรงจำ ภาพถ่าย วิดีโอ เอกสารราชการ และแผนที่รังวัดกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2430 และฉบับต่อจากนั้นราว 5-6 แผนที่ นำมาทาบทับเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ก่อนจะมี ถ.ราชดำเนิน

อาจารย์ ม.ศิลปากรสะท้อนเรื่องราวจากถนนราชดำเนินในสี่มุม ได้แก่เรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะราษฎร ราชดำเนินในฐานะถนนประชาธิปไตย และความทรงจำส่วนบุคคลของคนเล็กคนน้อย กลุ่มคนไร้เสียง ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การสรุปการศึกษาเรื่อง ถ.ราชดำเนินว่าป็นถนนเฉลิมพระเกียรติ สร้างการจดจำประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเรื่องพระราชกรณียกิจการพัฒนาประเทศของรัชกาลที่ห้า เป็นถนนสำหรับนักท่องเที่ยวแบบทุนนิยมที่ทำพื้นที่ให้สวยงาม เป็นของมวลชนที่มาถ่ายรูปเซลฟี่ และสุดท้าย เป็นถนนการเมืองที่ประชาชนไร้อำนาจ

ชาตรีกล่าวว่า เมื่อดูแผนที่พระนครใน พ.ศ. 2430 จะพบว่ายังไม่มีถนนราชดำเนิน สนามหลวงมีขนาดครึ่งเดียวของวันนี้เพราะอีกครึ่งหนึ่งเป็นวังหน้า วังหน้ากับวังหลวงนั้นแบ่งพระนครกันคนละครึ่ง ที่ผ่านมาในหน้าประวัติศาสตร์จึงมีวิกฤติการณ์ระหว่างวังหน้ากับวังหลวงมาตลอด หลังวิกฤติการณ์วังหน้าคลี่คลาย รัชกาลที่ห้าจึงเลิกระบบวังหน้าเสียแล้วแทนที่ด้วยระบบมกุฏราชกุมาร ความพยายามดังกล่าวมาพร้อมๆ กับการพัฒนาพื้นที่วังหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือแผนสร้างวังสวนดุสิตและตัดถนนราชดำเนิน ใน พ.ศ. 2450 การตัดถนนตามมาด้วยการขยายสนามหลวง ส่วนหนึ่งของวังหน้าก็หายไป



ภาพบน: สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเขียวด้านขวาคือวัดปรินายกเดิมที่มีขนาดของอุโบสถและฐานพระปรางค์

ภาพล่าง: วัดปรินายกหลัง ถ.ราชดำเนินตัดผ่านไปแล้ว

เมื่อตัด ถ.ราชดำเนินนอกมีเหตุการณ์ที่ชาตรีมองว่าสะท้อนความสำเร็จในการรวมศูนย์อำนาจของรัชกาลที่ห้าได้สำเร็จก็คือ เดิมขุนนางวางแนว ถ.ราชดำเนินเพื่อหลบหลีกวัด แต่รัชกาลที่ห้าให้แก้แนวถนน เนื่องจากทรงเห็นว่าแนวถนนเดิมไม่ตรงกับแนว ถ.เบญจมาศ จึงแก้ไขแนวถนนใหม่ ซึ่งแนวถนนดังกล่าวตัดเข้าไปที่วัดปรินายกซึ่งเป็นวัดของขุนนางใหญ่ หลักฐานจากวัดปรินายกเขียนว่า เมื่อถนนตัดมานั้นได้เฉียดใกล้กับพระอุโบสถ รัชกาลที่ห้าจึงได้ทรงย้ายอุโบสถไปสร้างใหม่ให้สวยงาม เป็นการเล่าเรื่องแบบวิน-วิน (ได้ทั้งสองฝ่าย) ทั้งนี้ หากดูจากแผนที่แล้วจะพบว่า ถ.ราชดำเนินนอกไม่ได้ตัดเฉียดอุโบสถ แต่ตัดผ่านอุโบสถและพระปรางค์ไปเลย และยังพบว่าแต่เดิมพื้นที่วัดมีขนาดใหญ่ มีอุโบสถขนาดใหญ่ และพระปรางค์ในแผนมีฐานใหญ่กับเท่ากับฐานป้อมทีเดียว

ชาตรีเล่าต่อไปว่า เมื่อตัด ถ.ราชดำเนินแล้วเสร็จ บนถนนดังกล่าวมีกิจกรรมของรัฐ หรือนัยหนึ่งคือกิจกรรมราชสำนักกับประชาชนเกิดขึ้น เช่น มีพิธีรับเสด็จ มีกิจกรรมที่รัชกาลที่ห้าแจกเสมาให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์แบบใกล้ชิดขึ้นมาใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยังมีจารึกในพงศาวดารเลยว่าประชาชนถูกยิงตาขณะเปิดหน้าต่างดูขบวนเสด็จ

ชาตรีเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ.2475 ว่า บน ถ.ราชดำเนินมีโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ และกิจกรรมใหม่เกิดขึ้นเยอะ ซึ่งชาตรีมองว่าเป็นความพยายามแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างประชาชน รัฐ และพระมหากษัตริย์ มีงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ มีการปักหมุดคณะราษฎรลงบริเวณที่พระยาพหลพลพยุหเสนา สมาชิกคณะราษฎรประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งนี้ชาตรีวิเคราะห์ว่า คณะราษฎรมีลักษณะการประนีประนอมทางการเมืองในการสร้างสัญลักษณ์ อย่างการวางหมุดคณะราษฎรเยื้องกับพระบรมรูปทรงม้านั้น หากเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงอาจมีการแทนที่พระบรมรูป การสร้างเคียงคู่ หรือย้ายพระบรมรูปออกไป นอกจากนั้นถนนราชดำเนินที่ถูกใช้เป็นโครงการก่อสร้างก็ทำใน ถ.ราชดำเนินที่เป็นพื้นที่ว่าง

ชาตรียังพูดถึงการทุบโรงหนังเฉลิมไทย หนึ่งในอาคารสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ที่มีข้อโต้แย้งเป็นวงกว้างในสมัยนั้น แต่เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เขียนบทความในสยามรัฐเมื่อปี 2535 ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มุมมองสาธารณะต่อโรงหนังเฉลิมไทยไม่ได้เป็นสิ่งที่จะต้องรักษาเอาไว้

“...การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง...แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทราม...เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะประาสาทก็จะแจ่มแจ้ง...เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรยินดี...เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบทิ้งตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ” (ที่มา: สไลด์นำเสนอของชาตรี)

อาจารย์ ม.ศิลปากรยังเล่าถึงความพยายามในการสถาปนาประวัติศาสตร์ ที่เขาบอกว่าส่วนมากรัฐเป็นฝ่ายชนะ อย่างกรณีอนุสรณ์สถานพฤษภาคม 2535 ที่ไม่มีประวัติศาสตร์กระแสหลักเข้าใจเรื่องการต้านเผด็จการ แต่กลับถูกจำเป็นเรื่องคนไทยทะเลาะกัน ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีความพยายามสร้างอนุสรณ์สถานบริเวณตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ แบบถูกแก้ไปกว่า 20 ครั้งแล้ว ในขณะที่จะมีโครงการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่เก้าในบริเวณใกล้เคียงแล้ว สะท้อนถึงการแย่งชิง เบียดขับความทรงจำบนถนนราชดำเนิน

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็มีความพยายามใส่ต้นไม้ ดอกไม้ ทาสีอาคารใหม่บริเวณ ถ.ราชดำเนิน กรณีนี้ชาตรีมองว่าเป็นการทำให้พื้นที่ดูนุ่มนวล หรือ ‘ซอฟต์’ ลง โดยการทำให้พื้นที่ดูไม่เอื้อให้กับการชุมนุมทางการเมือง ลดนัยความร้อนแรงของการต่อสู้ทางประชาธิปไตยที่มีเรื่อยมาบนถนนเส้นดังกล่าว

ในส่วนของความทรงจำคนเล็กคนน้อยนั้น ชาตรีนำเสนอผ่านรูปถ่ายสนามมวยราชดำเนิน ภาพสนามหลวงในวันที่เคยเป็นตลาดนัด วันคืนที่ชาตรีมองว่าสนามหลวงทำหน้าที่พื้นที่สาธารณะได้มากที่สุด เพราะทุกคนทำอะไรก็ได้แทบจะทุกอย่างตั้งแต่ขายของยันซื้อ-ขายบริการทางเพศ แต่ในปี 2525 กรุงเทพฯ และคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ (คณะกรรมการกรุงฯ) ได้ย้ายตลาดนัดไปอยู่ที่จัตุจักรอย่างที่เป็นทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังมีการทยอยย้ายหน่วยงานราชการออกไปข้างนอก ซึ่งส่วนตัวชาตรีมองว่าเป็นการเขี่ยคนธรรมดาออกไปทั้งทางตรง คือผู้ค้าขายของ และทางอ้อม คือคนที่หารายได้กับการกินการอยู่ของข้าราชการจำนวนมาก คณะกรรมการกรุงฯ พูดเรื่องการลดความแออัด ลดการใช้พื้นที่ แต่ก็ปล่อยให้รถทัวร์เข้ามาจำนวนมาก มันคือการผลักดันคนธรรมดาออกจากถนนราชดำเนิน

ชาตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ก็มีการยกเลิกกิจกรรมทางการเมืองในสนามหลวง สมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ์เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็สั่งปรับปรุงสนามหลวงแล้วล้อมรั้วเสีย มีเวลาปิดทำการ 22.00 น. มีการจำกัดกิจกรรมจนทุกวันนี้เล่นว่าวไม่ได้แล้วเพราะกลัวไปทำลายสนามหญ้า แต่ในวันนี้มีการลาดยางแล้วนำรถทัวร์มาจอด ในขณะที่แผนแม่บทถนนราชดำเนินที่ออกโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ล้อมรั้วพระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสนามหลวง เท่ากับประชาชนเข้าไปชุมนุมไม่ได้แล้ว

ชาตรีทิ้งท้ายว่าประวัติศาสตร์ของคนเล็กคนน้อยในพื้นที่มีความสำคัญ เพราะหากมีการนำมาพูดถึงมากขึ้น หรือรัฐทำให้มีการพูดถึงมากขึ้นก็จะทำให้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับ ถ.ราชดำเนิน นำไปสู่การหวงแหน ภาวะความเป็นเจ้าของ และประชาชนจะระแวดระวังการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากรัฐ ไม่เป็นการทำให้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่เป็นเรื่องเล่าของรัฐที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.