ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ

Posted: 01 Feb 2019 10:59 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-02-02 01:59


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในบริบทวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ (คริสต์ศตวรรษที่ 11 – ปัจจุบัน) ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดการประชุมวิชาการ “เถรวาทในเอเชียอาคเนย์: ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยในโครงการและนิทรรศการ "สนามโครงการ": 3D Scanning กับการศึกษาจิตรกรรมฝาผนังและสนามชาติพันธุ์-วัฒนธรรม

ศ.ดร.เสมอชัยกล่าวว่า โครงการของตนสนศึกษาภาพจิตรกรรมพุกามมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปี ซึ่งนับเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สำคัญ งานวิจัยนี้จึงเป็นการทำความเข้าใจของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทยด้วยการย้อนไปในอดีต ซึ่งเราต้องรับรู้ภายใต้กรอบภูมิศาสตร์อีกแบบหนึ่ง และเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่รัฐชาติที่เกิดใหม่

พุกามมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทของเอเชียอาคเนย์ระหว่างยุครุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 ที่มีอิทธิพลทางศาสนาอย่างกว้างขวางและเผยแผ่เข้ามาในดินแดนไทย มีเครือข่ายจากความสัมพันธ์ของพุกามในหลายพื้นที่ เช่น หริภุญชัยในภาคเหนือ และลพบุรี ราชบุรี ในภาคกลาง ความเสื่อมสภาพของโบราณสถานในพุกามนั้น ศ. ดร.เสมอชัยระบุมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติดังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดบนรอยเลื่อนสกายที่สร้างความเสียหายระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งแต่โบราณสถานยังคงอยู่ ก็แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมก่อสร้างที่ก้าวหน้าพอสมควรในอดีต ขณะที่ภาพจิตรกรรมก็ได้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาและคุณภาพของวัสดุ ส่วนความเสียหายจากมนุษย์ การบูรณะโบราณสถานในอดีตมักใช้ปูนขาวทาทับทำให้ภาพจิตรกรรมเปลี่ยนรูปไป


ภาพจิตรกรรม

“เราต้องเข้าใจถึงความซับซ้อนของวัฒนธรรมพุทธศาสนาและผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาคนี้ในภาพรวมก่อนที่จะถูกแบ่งแยก เราให้ความสำคัญของภาพจิตรกรรมที่วัดเตนมาซี โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ในหลายด้านทั้งการเป็นตัวอย่างของแบบแผนการเขียนภาพที่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้เข้าใจความคิดของผู้สร้างงานว่าคิดและตัดสินใจอย่างไรจึงได้แสดงออกเช่นนั้น รวมถึงการที่ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นได้รับความเสียหายจากกระแสการตื่นตัวของการสร้างพิพิธภัณฑ์ในทวีปยุโรปช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ได้ทิ้งปัญหาว่าปัจจุบันเราควรมีวิธีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมอย่างไรกับที่มาอันไม่ชอบธรรม”


ภาพจำลองวัดเตนมาซี


แบบสามมิติ

จากการตั้งคำถามของ ศ. ดร.เสมอชัย ถึงความชอบธรรมที่จะรักษามรดกทางวัฒนธรรมต่อไป จึงเป็นโจทย์ร่วมสมัยที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งในมิติด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายควรใส่ใจและใคร่ครวญให้ดี ไม่ว่าจะเป็นประเทศต้นทางทางวัฒนธรรม นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์ผู้ครอบครอง และองค์กรวัฒนธรรมระดับโลกอย่างยูเนสโก


คณะวิจัย

คณะวิจัยได้ถอดรหัสภาพชาดกในอาคารซึ่งมีอดีตพุทธ 28 พระองค์ตามคัมภีร์พุทธวงศ์ ตำแหน่งการเขียนภาพ ผนังทั้งสี่ด้าน โดยด้านบนมีภาพของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ตามลำดับการอุบัติบนโลก ส่วนด้านล่างมีภาพเขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์เสด็จออกบรรพชาด้วยพาหะนะที่แตกต่างกัน จารึกแต่ละพระองค์มีชื่อบาลีของพระพุทธเจ้า ชนิดของต้นมหาโพธิ์ ความสูงของพระวรกาย อายุของพระพุทธเจ้า และพาหนะทรง ซึ่งพบว่ามีบางส่วนคลาดเคลื่อนไปจากหลักฐานเดิม โดยเฉพาะภาพการแสดงพาหนะทรงของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรกซึ่งในคัมภีร์พุทธวงศ์ไม่ได้ระบุอย่างละเอียด ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าพุกามน่าจะมีคัมภีร์หลายเวอร์ชัน

คณะวิจัยได้เห็นตัวอย่างวัตถุวัฒนธรรมที่ตกเป็นจำเลยในยุคล่าอาณานิคม โดยเฉพาะภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจำนวนมากที่ถูกกะเทาะและลักลอบนำออกไปจากพุกามอย่างเป็นระบบโดยชาวต่างชาติ และนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรนำโดย ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเครื่องมือสแกนภาพสามมิติและโดรนสำรวจพื้นที่ผนังภายในทั้งหมด โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินความเสียหายจากบาดแผลร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้บนผนัง เพื่อคำนวณว่ามีภาพจิตรกรรมกี่ชิ้นที่หายไป แต่ละชิ้นมีขนาดและขอบเขตอย่างไร ทั้งภาพเกี่ยวกับจักรวาล ชาดก พุทธประวัติและปรินิพพาน รวมถึงภาพทั่วไป เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อมูลภาพจำลองสามมิติแปะกลับเข้าไปในตำแหน่งที่สูญหายไปอีกครั้งให้ครบถ้วนในโลกดิจิทัล รวมถึงสร้างข้อสันนิษฐานว่าด้วยโปรแกรมการเขียนภาพที่สมบูรณ์ การวางระบบให้ภาพมีความสัมพันธ์กัน และปรับโครงสร้างภาพให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งบนพื้นฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ และแม้ภาพจิตรกรรมที่วัดเตนมาซีจะมีแบบแผนการเขียนภาพพิเศษบางอย่าง แต่เราก็จะวิเคราะห์ให้ได้ว่าภาพที่หายไปนั้นคืออะไร และเปรียบเทียบกับโบราณสถานแห่งอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน


ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ

การศึกษางานวิจัยนี้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลุ่มลึกมากขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกเอเชียอาคเนย์ที่เกี่ยวข้องกับพุกามยุคโบราณจนมาถึงปัจจุบันที่พุกามกำลังจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เราจึงควรมีส่วนร่วมในความภาคภูมิ และมีบทบาทในการร่วมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้วยการช่วยกอบกู้มรดกทางวัฒนธรรมด้วยพื้นฐานความรู้และเทคโนโลยีของเรา อันจะส่งผลดีทั้งต่อภูมิภาคและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนการทอดสะพานสู่เพื่อนบ้านในโดเมนของวิชาการ

ในขั้นตอนต่อไปเราก็จะเรียนรู้ไปด้วยกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เราควรมองประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน คิดให้มากกว่าเส้นพรมแดนประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออีกหลายด้านในภายภาคหน้า โดยงานวิจัยของเราได้ปูความสัมพันธ์กับกรมโบราณคดีของเมียนมา ซึ่งจะเป็นช่องทางความร่วมมืออย่างยั่งยืนต่อไป


นิทรรศการ
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.