Posted: 01 Feb 2019 04:06 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-02-01 19:06
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้นในไทย ชี้แม้ว่าทุกคนหายใจโดยใช้อากาศร่วมกัน แต่เด็กยากจนเสี่ยงมากสุด เพราะไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน ร้องรัฐมีมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ
1 ก.พ.2562 จากสถานการณ์ปัญหาระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้นในประเทศไทยนั้น ล่าสุด องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและผลกระทบต่อเด็ก โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าวผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ฝุ่นละอองเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมอง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา
"มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น ยังมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน ถึงแม้ว่าทุกคนหายใจโดยใช้อากาศร่วมกัน แต่เด็กจากครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกรองอากาศ หรือหน้ากาก N95 อีกทั้งเด็ก ๆ เหล่านี้อาจต้องใช้เวลาอยู่ข้างนอกมากกว่าด้วย" องค์การยูนิเซฟฯ ระบุ
องค์การยูนิเซฟฯ ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการปล่อยอากาศเสีย การลงทุนในพลังงานทดแทน ระบบขนส่งมวลชน และการจัดการของเสียทางเคมีและการเกษตรที่ได้ประสิทธิภาพ
โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้
แถลงการณ์จากยูนิเซฟ ประเทศไทย เรื่องมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและผลกระทบต่อเด็ก
กรุงเทพฯ 1 กุมภาพันธ์ 2562 - องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยแสดงความกังวลเกี่ยวกับระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ๆ
ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงนี้ ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ปกติแล้ว เด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าเด็กจะสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไร อัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้นเท่านั้น และเนื่องจากอวัยวะของเด็กกำลังพัฒนา เด็กจึงมีความเปราะบางต่อผลกระทบต่าง ๆ มากกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ฝุ่นละอองเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมอง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเรียนรู้ ความเป็นอยู่ และความสามารถในการประกอบอาชีพในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น ยังมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน ถึงแม้ว่าทุกคนหายใจโดยใช้อากาศร่วมกัน แต่เด็กจากครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกรองอากาศ หรือหน้ากาก N95 อีกทั้งเด็ก ๆ เหล่านี้อาจต้องใช้เวลาอยู่ข้างนอกมากกว่าด้วย
มาตรการเร่งด่วนที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อเด็กและบุคคลทั่ว ได้แก่ พยายามอยู่ในบ้านเมื่อฝุ่นละอองมีอัตราสูง ทำห้องนอนให้สะอาดโดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรเป็นห้องที่มีหน้าต่างน้อย ๆ หรือพยายามไม่เปิดประตูและหน้าต่าง และหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย รุ่น N95 ที่ขนาดพอดี
อย่างไรก็ตาม แนวทางเร่งด่วนเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเด็ก ๆ ในระยะสั้น การลดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ได้นั้น จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพียงทางเดียวที่จะช่วยปกป้องสุขภาพของเด็กได้
องค์การยูนิเซฟเล็งเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสถานการณ์ปัจจุบันนี้เป็นเหมือนการตอกย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการปล่อยอากาศเสีย การลงทุนในพลังงานทดแทน ระบบขนส่งมวลชน และการจัดการของเสียทางเคมีและการเกษตรที่ได้ประสิทธิภาพ
มีเพียงแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวเท่านั้นที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด การแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของรัฐ ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็ก
[full-post]
แสดงความคิดเห็น