Posted: 31 Jan 2019 08:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-31 23:28


กองทัพบก มีแผนจัดซื้อรถเกราะล้อยาง VN1 8x8 จากประเทศจีน 30 คัน รถเกราะกู้ซ่อม 9 คัน รถซ่อมบำรุง 2 คัน และ เครื่องช่วยฝึกกับกระสุน วงเงินกว่า 2.2 พันล้านบาท

31 ม.ค.2562 เว็บไซต์ PPTV รายงานอ้างถึงเว็บไซต์กรมสรรพาวุธทหารบกว่าได้เผยแพร่เอกสารแผนการจัดซื้อจัดจ้าง (ชั่วคราว) โครงการยานเกราะล้อยาง แบบ VN1 ชนิดต่างๆ จํานวน 5 รายการ และรถซ่อมบํารุง จํานวน 2 รายการ เครื่องช่วยฝึก และ สป. 5 จํานวน 3 รายการ เช่น

1.รถเกราะลำเลียงพล VN1 8x8 Wheeled Armoured Vehicle 3 คัน

2.รถเกราะติดตั้ง ค.หนัก (120 มม.) VN1 120 mm. Wheeled Self-Propelled Mortar 12 คัน

3.รถเกราะกู้ซ่อม VS27 Recovery Wheeled Armoured Vehicle 9 คัน

4.รถซ่อมบำรุงเครื่องมือทางกล Mechanical Maintenance Vehicle 1 คัน

5.รถเครื่องซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้า Photoelectric Maintenance Vehicle 1 คัน

6.รถเกราะที่บังคับการ VN1 8x8 Wheeled Armoured Battalion Command Vehicle 12 คัน

7.รถเกราะพยาบาล VN1 8x8 Wheeled Armoured Medical Vehicle 3 คัน

ในวงเงิน 2,251,928,086 บาท

สำหรับการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยาง แบบ VN1 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหน้านี้กองทัพบก เคยชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อว่าจะนำมาทดแทนรถยานเกราะล้อยาง แบบ V150 ที่ใช้มานาน กว่า 50 ปี โดยกองทัพบกมีแผนปรับความพร้อมรบตามกรอบระยะเวลาแผนพัฒนากองทัพ ปี 2560-2564 เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง พร้อมตลอดสนองนโยบายรัฐบาลด้านผลประโยชน์ชาติ

ก่อนหน้านี้เมื่อราวเดือนเมษายน 2560 เว็บไซต์ ThaiArmedForce.com รายงานว่า กองทัพบกไทยได้ลงนามจัดซื้อยานเกราะล้อยาน 8x8 แบบ ZBL-09 (Snow Leopard) หรือ VN-1 จาก NORICO ประเทศจีนแล้วจำนวน 34 คัน พร้อมกระสุน 12,506 นัด โดยจะเข้าประจำการในหน่วยทหารม้า เชื่อว่าการจัดหาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการจัดตั้งโรงงานซ่อมสร้างยุทธยานยนต์จีนมูลค่า 400 ล้านบาทที่กระทรวงกลาโหมจะลงทุนที่โรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธของกองทัพบก เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถซ่อมบำรุงรถถัง VT-4 และยานเกราะ Type-85 รวมถึง ZBL-09 ดังกล่าว โดยคาดหวังว่าโรงงานจะเป็นศูนย์กลางในการซ่อมบำรุงยุทธยานยนต์ของจีนในภูมิภาคได้

กลางปีถัดมา (2561)พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช. เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยได้พบหารือ พล.อ.หัน เว่ย กั๋ว ผบ.ทบ.กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพบกของทั้งสองประเทศ โดยมีการหารือความร่วมมือทางทหาร การฝึกร่วม ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่จีนจะมาตั้งศูนย์ซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ในไทยในปีนี้ และความคืบหน้าจากการที่ ทบ.จัดซื้อรถถัง VT4 และรถเกราะ VN1 จากจีนก่อนหน้านี้ที่ทยอยจัดส่ง

ในส่วนรถถึง VT4 นั้น เมื่อ 26 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา กองทัพบกจัดการทดสอบสมรรถนะของรถถัง VT4 ที่ซื้อมาจากประเทศจีน เพื่อทดแทนรถถัง M41 ที่ใช้มานานกว่า 50 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้หน่วยกำลังรบมียุทโธปกรณ์หลักที่มีอำนาจการทำลาย ข่มขวัญ และมีประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย การทดสอบสมรรถนะรถถังนี้มีขึ้นหนึ่งวัน หลังจากกองทัพอากาศเชิญนักข่าวไปในพิธีรับเครื่องบินขับไล่/ฝึก T-50TH "อินทรีทอง" 2 ลำที่สั่งซื้อมาจากเกาหลีใต้ที่ฐานทัพอากาศใน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

พล.ต.วันชาติ ผลไพบูลย์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี กล่าวว่า หลังจากที่มีการรับรถถังมา 28 คันไว้ที่ศูนย์ฯ และตรวจรับตามสัญญาที่ระบุไว้เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่แล้ว ก็ได้มีการฝึกการปฏิบัติเป็นเวลา 60 วัน ปัจจุบันเป็นสัปดาห์ที่ 8 และจากการทดสอบยุทโธปกรณ์ ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

รถถัง VT4 เป็นการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยบริษัท Norinko เป็นผู้ผลิต และขายให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก

ด้านพรรคอนาคตใหม่ที่มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพอย่างชัดเจนนั้น เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงแนวทางการทำกองทัพไทยให้ร่วมสมัย และยังกล่าวแสดงความเห็นกรณีกองทัพบกเตรียมจัดซื้อรถถังจีน VT-4 อีก 14 คัน งบราว 2.3 พันล้านบาท ว่า

ประการแรก เป้าหมายการซื้อรถถังจีนรุ่นนี้คือ 52 คัน ซื้อมาแล้ว 2 ล็อต และที่เหลือคงห้ามอะไรไม่ได้แล้ว แต่ที่ควรคิดคือ การซื้อ VT-4 นี้ เน้นปริมาณมาก ราคาถูกไว้ก่อนเพื่อให้ครบจำนวน แทนที่จะคำนึงถึงการมีประสิทธิภาพ และเกราะที่หนากว่า เช่น Leopard ของเยอรมนี และลดขนาดกองทัพลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น

ประการที่สอง คือ การถูกใช้งานมาระยะหนึ่งหรือใช้กันในตลาดโลกส่วนใหญ่จนเป็นที่เชื่อถือ เช่น ของรัสเซีย หรือยุโรป ที่ราคาไม่สูงกว่ากันมาก

ประการที่สาม คือ รัสเซียขายรถถังหลัก T90ms ให้อิหร่านโดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เต็มรูปแบบ ส่วน VT-4 บอกแต่ว่าบางส่วน และ VT-4 ไม่ใช่รถถังหลักที่ประจำการของจีน เป็นเพียงการย่อส่วนลงเพื่อการส่งออกขายเท่านั้น เทคโนโลยีเต็มรูปแบบก็ยังไม่เพียงพอ

ประการที่สี่ เรื่องระบบการสนับสนุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยควรใช้เทคโนโลยีของนาโต ของยุโรปมากกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องอยู่ข้างสหรัฐฯ รัสเซียหรือจีนจนเกินไป

ข้อเสียของการมีอาวุธชนิดเดียวกันจากหลายค่าย คือ เราต้องตั้งระบบส่งกำลังบำรุงแยกจากกัน สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น และกระทบต่อความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจไม่มีใครคบ เพราะมีนโยบายระหว่างประเทศแบบไม่จริงใจ เป็นเพียงผู้ซื้อที่ถูกเอาเปรียบเท่านั้น

ประการที่ห้า การซื้ออาวุธ ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงควรให้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่รอบคอบกว่าเป็นผู้ตัดสินใจ ในการจัดซื้อช่วงรัฐประหารที่ผ่านๆ มาหรือในยุครัฐบาลทหาร จะมีผลเสียที่ต้องให้รัฐบาลพลเรือนตามชดใช้ให้อยู่ตลอดมา


ข่าว
เศรษฐกิจ
ความมั่นคง
รถเกราะ VN1
กองทัพบก
อาวุธ
ประเทศจีน
ซื้ออาวุธจีน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.