Posted: 01 Feb 2019 10:06 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-02-02 13:06
นักข่าวจากสมาคมสื่อกัมพูชาเพื่อเสรีภาพ ถูกทำร้ายเพราะทำข่าวการตัดไม้และการลอบจับปลาอย่างผิดกฎหมายในเสียมเรียบ โดยที่นักข่าวเล่าว่ามีผู้นำชุมชนในละแวกนั้นที่กำลังดื่มเหล้าอยู่เข้ามาคุกคามเขาในตอนที่ทำข่าวเรื่องนี้
1 ก.พ. 2562 สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) รายงานว่า มีผู้นำชุมชนในพื้นที่ทำร้ายนักข่าวรายหนึ่งที่กำลังทำข่าวการตัดไม้และลอบจับปลาอย่างผิดกฎหมายในจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา
นักข่าวคนที่ถูกจับกุมชื่อ ซิม ชีพวิเชียร พิเสธ เป็นนักข่าวจากสมาคมสื่อกัมพูชาเพื่อเสรีภาพ เขาถูกโจมตีในขณะที่กำลังถ่ายภาพและทำข่าวการจับปลาอย่างผิดกฎหมายในชุมชนเบิงเปียรัง จังหวัดเสียมเรียบ รวมถึงมีการเข้าไปในพื้นที่เพื่อต้องการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายที่ส่งผลทางลบต่อการประมงแม่น้ำด้วย
ซิมเล่าว่า คง มังกุล ผู้นำชุมชนที่กำลังดื่มเหล้าอยู่ในบริเวณนั้นเข้ามาหาเขาแล้วก็ตะคอกใส่ รวมถึงท้าชกต่อยกับเพื่อนร่วมงานของซิม เหตุเกิดขึ้นในช่วงเวลาราว 1 ทุ่มของวันนั้น ส่วน คง ปฏิเสธการกล่าวหาของพิเสธ แต่ก็กล่าวยืนยันว่ามีลูกน้องของเขาประมาณ 10 รายที่ทำร้ายซิมเพื่อแก้แค้นกรณีการรายงานข่าวของซิม
เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ยังไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นนี้ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการจับกุมในเหตุเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง
ทั้งนี้ ซิม ยังวางแผนจะฟ้องร้อง คง กับลูกน้องของเขา โดยยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนี้
รายงานสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดทำโดย SEAPA ที่เผยแพร่ครั้งแรกในเดือน พ.ค. 2561 พบว่าเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ได้รับการจัดอันดับจากองค์กรสื่อนานาชาติอย่างองค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) ในกลุ่มอันดับล่างๆ การทำงานในฐานะสื่อเป็นเรื่องเปราะบางต่อคนทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 SEAPA ได้บันทึกเหตุการณ์การข่มขู่ ไปจนถึงการโจมตีสื่อรอบภูมิภาคได้ถึง 128 กรณีด้วยกัน
กรณีการละเมิด หรือคุกคามสื่อนั้นถูกแบ่งเป็นการกำกับควบคุมผ่านกฎหมาย การเซ็นเซอร์เนื้อหาทั้งจากทางการและการเซ็นเซอร์ตัวเอง การดำเนินคดีกับสื่อ การข่มขู่ การทำร้าย และการฆ่า ซึ่งห้าประเภทนี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น
ประเทศฟิลิปปินส์นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังการขึ้นมาของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กลุ่มฐานเสียงของเขา รวมถึงรัฐบาลเองต่างสร้างความเกลียดชังต่อสื่อมวลชนทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง ทั้งยังมีการฆ่านักข่าวด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีที่ไม่ได้รับรายงานจากประเทศอื่นในภูมิภาค รองลงมาเป็นพม่าที่มีกรณีการดำเนินคดี จับกุมและกักขังนักข่าวรวม 11 กรณี อันดับสามเป็นประเทศไทย ที่มีกรณีการเซ็นเซอร์ ระงับใบอนุญาตประกอบการอาชีพสื่อ และแบนเนื้อหาบางประการรวม 7 กรณี
อย่างไรก็ตาม จาก 128 กรณีที่มีการบันทึก มีถึง 86 กรณีที่การคุกคามสื่อเกิดจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประมุขรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานด้านข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การรายงานข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารรัฐ ถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐมองเป็นเรื่องการต่อต้านรัฐบาล นำเสนอข่าวมีอคติและไม่ยุติธรรม หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ
นอกจากนั้น วาทกรรมเรื่องข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีสื่อที่นำเสนอข่าวที่ไม่พึงประสงค์ ยิ่งโหมกระพือการโจมตีสื่อทั้งในทางวจีกรรมและทางกฎหมายที่มีมานานแล้ว
เรียบเรียงจาก
[Cambodia] Journalist attacked while covering illegal forest clearing, fishing in Siem Reap, SEAPA, Feb. 1, 2019
- ข่าว
- สิทธิมนุษยชน
- ต่างประเทศ
- อาชญากรรม
- สื่อมวลชน
- การใช้ความรุนแรงต่อสื่อ
- ซิม ชีพวิเชียร พิเสธ
- สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- SEAPA
- คดีทำร้ายร้างกาย
- การคุกคามสื่อ
- คง มังกุล
- เสียมเรียบ
- กัมพชา
- การลักลอบตัดไม้
- การประมงผิดกฎหมาย
แสดงความคิดเห็น