Posted: 30 Jan 2019 05:41 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-30 20:41
สั่งปิดโรงเรียน-มหาวิทยาลัย กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่ 30 ม.ค.- 1 ก.พ. กทม. ขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง-งดรถควันดำ พร้อมติดตั้งเครื่องผลิตหมอกน้ำบริเวณที่ก่อสร้าง ฉีดน้ำจากตึกใบหยกเริ่มแล้ว นักวิชาการระบุไม่ช่วยแก้ปัญหา ‘ประยุทธ์’ ชี้ โรงงานต้องมีช่วงปิด นั่งรถต้องมีเพื่อนนั่งด้วย 2-3 คน ถ้ายังแก้ไม่ได้ จะให้วิ่งรถวันคู่-วันคี่ กรุงเทพฯ ขึ้นอันดับ 5 ค่า AQI สูงสุดในโลก
จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า วันนี้ (30 ม.ค. 62) เวลา 15.00 น. จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ในช่วงบ่ายในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล อากาศลอยตัวได้น้อย ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น โดยสถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันนี้ 30 มกราคม 2562 เวลา 15.00 น. ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลา 12.00 น. โดยค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม. ) 41 พื้นที่ โดย พื้นที่ริมถนน เกินค่ามาตรฐาน 25 สถานี, พื้นที่ทั่วไป เกินค่ามาตรฐาน 17 สถานี และคาดการณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้อากาศจะลอยตัวได้น้อย ลมสงบ ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าลักษณะเช่นนี้จะเป็นไปจนถึงวันที่ 4 ก.พ. 62
ปิดโรงเรียน-มหาวิทยาลัย กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่ 30 ม.ค.- 1 ก.พ.
30 ม.ค. 2562 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานว่า มีคำสั่งประกาศปิดสถานศึกษา เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5กระทรวงศึกษาธิการ ให้สถานศึกษาในกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และสถานศึกษาในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ปิดสถานศึกษา ตั้งแต่ วันที่ 30 มกราคม 2562 เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการสั่งปิดโรงเรียนใน กทม. และปริมณฑล ส่วนของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ในพื้นที่ กทม.ได้ประกาศหยุดงดการเรียนการสอน เนื่องจากหวั่นผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งศูนย์รังสิตและท่าพระจันทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นต้น โดยสั่งหยุดไปจนถึงวันที่ 1 ก.พ.62
กทม. ขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง-งดรถควันดำ พร้อมติดตั้งเครื่องผลิตหมอกน้ำบริเวณที่ก่อสร้าง
วันนี้ เวิร์คพอยท์นิวส์รายงานว่า ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวภายหลังการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานครเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อรับทราบมาตรการและประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
อันเนื่องมาจากคุณภาพของอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนโดยได้กำหนดพื้นที่กรุงเทพทั้ง 50 เขตเป็นพื้นที่ควบคุม และกำหนดมาตรการควบคุมไว้หลายประการ อาทิห้ามมิให้นำรถเครื่องยนต์ดีเซลที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานมาวิ่งใช้งานบนท้องถนน ห้ามการเผาในที่โล่งแจ้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เว้นแต่การเผาตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี และกำหนดให้โครงการก่อสร้างทุกโครงการปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด
กรุงเทพมหานครมอบหมายให้สำนักการโยธาเชิญหน่วยงานก่อสร้างสาธารณูปโภค ผู้ประกอบการงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง และผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคารสูงร่วมประชุมหารือและขอความร่วมมือดำเนินมาตรการลดปริมาณฝุ่นละออง
เช่น การติดตั้งเครื่องผลิตละอองหมอกน้ำในบริเวณโครงการหากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 มีค่าประมาณ 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร กรุงเทพมหานครจะใช้มาตรการขอความร่วมมือ แต่หากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าประมาณ 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร จะให้เขตพื้นที่เข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะบริเวณโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือ รฟม. ให้ประสานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกำกับดูแลของ รฟม. ติดตั้งเครื่องผลิตหมอกน้ำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นบริเวณโครงการ รวมทั้งขอให้บริษัทผู้รับจ้างลดการใช้พื้นที่ผิวการจราจรเกินความจำเป็น เพื่อลดความแออัดคับคั่งของการจราจรบริเวณจุดก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นการลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มาจากไอเสียรถยนต์ทางหนึ่ง
ในส่วนของการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ประชาชน และให้สำนักอนามัยจัดชุดบริการสาธารณสุขออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพและให้ความรู้ประชาชนในชุมชนบริเวณจุดเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในปริมาณสูง
ฉีดน้ำจากตึกใบหยกเริ่มแล้ว นักวิชาการระบุไม่ช่วยแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอวิธีแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม.และ 5 จังหวัดโดยรอบ โดยมีแนวคิดให้เพิ่มการพ่นละอองน้ำจากตึกสูง เช่น จากตึกใบหยกลงมา ในวันนี้ได้มีการฉีดน้ำลงมาจากตึกใบหยกแล้วเป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่ด้านโลกออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างล้นหลาม โดยหนึ่งในนั้นคือ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า "รัฐบาลกำลังจะลดฝุ่น2.5โดยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำบนอาคารสูงเช่น ตึกใบหยก เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวคิดของผู้บริหาร.. ผมเรียนอย่างนี้ในต่างประเทศทั้งในประเทศจีนหรือยุโรปก็ทำเช่นกัน แต่ไม่ใช่สเปร์หรือฉีดน้ำเป็นฝอยลงมาจากตึกสูงเหมือนฝนตกเบาๆซึ่งจะไม่ช่วยในการจับฝุ่นขนาดเล็กที่แขวนลอยในอากาศเลย" ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องคือ
1.ต้องติดตั้งหัวกระจายน้ำเป็นฝอยบนหลังคาของตึกสูงไม่เกิน100 เมตร เรียกว่า Skyscraper sprinkler system โดยจะพ่นละอองฝอยของน้าขนาด0.1-3 ไมครอน (ขนาดใกล้เคียงฝุ่น 2.5) ออกไปสู่บรรยากาศโดยรอบในรัศมีอย่างน้อย 50เมตร จะสามารถจับฝุ่นดังกล่าวลงสู่พื้นดินได้ แต่ต้องทำพร้อมกันหลายๆตึกในระดับความสูงไม่เกิน100 เมตรโดยทำในวันที่มีค่าPM 2.5 สูงเกินมาตรฐานและลมสงบ (Bad day)
2.การพ่นละอองน้ำต้องทำอย่างต่อเนื่องกันอย่างน้อย30นาที และเว้นระยะ30นาที-1ชม.จึงพ่นต่อได้สามารถลดฝุ่นลงได้ถึงร้อยละ70ในบริเวณดังกล่าว
3.ในต่างประเทศตึกที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือแม่น้ำที่สะอาดก็สามารถดูดขึ้นมาและพ่นออกไปเป็นฝอยเล็กๆได้ซึ่งจะประหยัด ใช้พลังงานน้อย และได้ผลกว่าที่คิด
4.เป็นวิธีการที่จะช่วยบรรเทาลดความเข้มข้นของฝุนละอองขนาดเล็กลงได้มากแต่วิธีที่ดีที่สุดคือการไปx-rayพื้นที่และจัดการกับแหล่งกำเนิดจะดีและถูกต้องที่สุด
“นอกจากนี้ ในประเทศจีนกับประเทศอินเดีย ในช่วงที่อากาศปิด ลมสงบค่าPM 2.5สูง เขาจะใช้รถบรรทุก Anti-smog gun (mist water cannon) ฉีดน้ำให้เป็นละอองฝอยขนาด0.1- 3ไมครอน เหนือเส้นทางจราจรที่มีรถยนต์วิ่งจำนวนมากให้มีความสูงประมาณ50เมตร เจ้าหน้าที่จีนบอกว่ามีประสิทธิภาพสามารถลดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ค่อนข้างดี แต่เป็นเพียงมาตรการบรรเทาเท่านั้น” สนธิระบุ
‘ประยุทธ์’ ชี้ โรงงานต้องมีช่วงปิด นั่งรถต้องมีเพื่อนนั่งด้วย 2-3 คน ถ้ายังแก้ไม่ได้ จะให้วิ่งรถวันคู่-วันคี่
วันเดียวกัน ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในตอนหนึ่งในงาน“อนาคตไทย อนาคตเรา : our country our future” ว่า ในด้านการจราจรต้องมีการตรวจรถควันดำ รถดีเซลไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถบัส ต้องตรวจเช็กสภาพรถจากอู่มา หากพบควันดำจะถูกสั่งให้หยุดวิ่งจนกว่าจะปรับปรุงแล้วค่อยวิ่งได้
“ถ้าแก้ไขยังไม่ได้ ผมจะให้วิ่งรถเป็นวันคู่-วันคี่ และต่อไปจะห้ามไม่ให้รถดีเซลวิ่งบนถนนเส้นเหล่านี้ มันจะมีปัญหากันอีกหรือไม่ เมื่อทุกคนบอกว่าผมอ่อนเกินไปในเรื่องนี้ ไม่เข้มงวดจริงจัง แต่ความจริงผมพร้อมทำทุกอย่าง ทุกคนต้องร่วมมือกัน รีบไปแก้เสียในวันนี้”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนในต่างจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ต้องทำให้ค่าฝุ่นละอองลดลงให้ได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมอาจต้องปิดโรงงานในช่วงเช้า บ่าย หรือเย็น หรือช่วงที่ค่าฝุ่นละอองสูงขอให้เตรียมตัวไว้ และจะมาบอกว่านายกฯ ไม่เอาใจใส่อีกไม่ได้ คอยดูก็แล้วกันว่าจะมีอะไรกลับมาหรือไม่ จะยอมเสียสละกันหรือไม่ วันนี้จะขอให้รณรงค์กัน โรงงานหยุดทำการในช่วงเช้าหรือเย็นได้หรือไม่ วันละ 1 ชั่วโมงก็ยังดี แล้วจะต้องตรวจโรงงาน โดยใช้อำนาจ คสช.ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.แต่ละจังหวัดเข้าไปตรวจสอบทุกโรงงาน วันนี้ได้ออกคำสั่งแล้วเพื่อให้ดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากโรงงานใดไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ ไปชี้เป้ามา เรามีหน่วยตรวจสอบอยู่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความจริงทุกโรงงานต่างมีระบบการตรวจสอบของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษ การขจัดน้ำเสีย แต่โรงงานเก่ากลับไม่ค่อยแก้ไขปัญหา วันนี้ต้องปรับปรุง ความจริงแล้วควรจะมีกฎหมายรวมว่างานอุตสาหกรรม การจราจร การเกษตร ทั้งหมดควรทำอย่างไร เพราะการเผาวัชพืชต่างๆ นั้นมีกฎหมายกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงต้องควรเอาจริงเอาจังในกฎหมายเหล่านี้
“เดี๋ยวผมจะออกคำสั่ง คสช. แต่ไม่ใช้มาตรา 44 เพราะมาตรา 44 นั้นมีอำนาจอยู่แล้ว พอใจหรือไม่ ที่ผมประกาศแบบนี้ ต่อไปนั่งรถคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อนนั่งรถไปด้วย 2-3 คน เอากันสิครับ ด่าผมดีนัก ว่าอย่างนี้ทำหรือไม่ทำ เด็กไอจะเป็นเลือดอยู่แล้ว วันนี้ผมจะทำให้ ต่อไปนี้ไปไหนต้องชวนเพื่อนไปด้วย จะนั่งแท็กซี่คนเดียวไม่ได้ ต้องลากคนขึ้นไปด้วย 2-3 ที่หมาย ถ้าไม่แก้กันผมจะทำแบบนี้ เดี๋ยวจะทบทวนว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่วันนี้จะออกคำสั่งไปก่อน กอ.รมน. และทหารทุกคนต้องเข้าไปตรวจทุกโรงงาน น้ำเสีย ขยะ ใครทำสารพิษไปจี้ไปดูแล้วรายงานให้ผม ผมจะลงโทษหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด 76 จังหวัด จะมีใครคัดค้านผมบ้าง ใครไม่เห็นชอบให้บอกมา เงียบแสดงว่าทุกคนเห็นชอบร่วมกับผม หากมีอะไรสะท้อนกลับมาก็ช่วยกันรับผิดชอบด้วย ยุให้นายกฯ ทำดีนัก แต่พอมีเรื่อง กูไปก่อน”
กรุงเทพฯ ขึ้นอันดับ 5 ค่า AQI สูงสุดในโลก
30 ม.ค. 62 เว็บไซต์ airvisual.com ได้รายงานสภาพปริมาณมลพิษทางอากาศโดยใช้หน่วย AQI ซึ่งทำการประมวลผลเมื่อช่วงเวลา 20.02 น.พบว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 5 โดยค่าคุณภาพทางอากาศ อยู่ที่ 159 ขณะที่เมืองลาฮอร์ ของปากีสถาน ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 ค่าคุณภาพอากาศอยู่ที่ 190
ข่าว
สังคม
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
สิ่งแวดล้อม
PM2.5
กรมควบคุมมลพิษ
มลพิษ
กรุงเทพมหานคร
ปริมณฑล
แสดงความคิดเห็น