Posted: 05 Feb 2019 12:42 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-02-05 15:42


ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงาน

สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าศรีสะเกษ ผ่านถึงประธาน สนช.ให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ หวั่นกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมบริหารทรัพยากร อำนาจผูกขาดที่เจ้าหน้าที่รัฐ ชี้เคยรวมหมื่นรายชื่อเสนอ พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชนแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

5 ก.พ. 2562 วานนี้ เวลาประมาณ 10.00 น.ตัวแทนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย ชุมชนหนองบัว ชุมชนหนองหมู ต.โพธิ์ อ.เมืองศรีสะเกษ และชุมชนโคกป่าแดง ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางก์กู่ จ.ศรีสะเกษ กว่า 30 คน เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งถึงประธานสภานิติบัญญัติ ให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ (พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ)

ปฐม รัตนวรรณ สมาชิก คปอ.ตัวแทนชาวบ้านชุมชนหนองบัว กล่าวว่า ภายหลังตัวแทนพี่น้องสมาชิก คปอ.ในพื้นที่ศรีสะเกษ ที่ต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน เดินทางมาถึงบริเวณศาลากลางจังหวัด ได้ร่วมกันเขียนข้อความลงแผ่นกระดาษเพื่อเป็นสื่อรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคคลต่างๆที่พบเห็นได้เข้าใจความหมาย โดยมีใจความว่า คนอยู่กับป่าหาของป่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ,สนช.อยู่ในห้องแอร์ ชาวบ้านอยู่ในป่ามาแต่กำเนิด ใครควรมีสิทธิอยู่อาศัย,หยุดลิดรอนสิทธิชุมชน หยุดกระบวนการร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม,จำคุก 4 - 10 ปี ปรับ 400,000 - 2,000,000 บาท นี่หรือคือสิ่งที่ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น


ปฐม บอกอีกว่า จากนั้นร่วมกันถือแผ่นป้ายที่เขียนข้อความดังกล่าว เดินรณรงค์ในบริเวณศาลากลาง และเดินขึ้นไปยังอาคารเพื่อเข้าพบผู้ว่าฯ แต่ปรากฎว่าทั้งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ไม่อยู่ในห้องทำงาน ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าติดภารกิจที่อื่น จึงมอบหมายให้อนุรักษ์ ธรรมประจำจิต หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้รับและลงลายมือชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือที่ยื่นเพื่อส่งมอบให้ผู้ว่าฯ แทน

ตัวแทน คปอ.ชี้ว่า หาก พ.ร.บ.อุทยาน มีการประกาศใช้โดยไม่ปรับแก้เนื้อหา จะมีผลกระทบต่อคนที่อยู่ในป่า ซึ่ง พ.ร.บ.เดิมที่ใช้อยู่ก็กระทบอยู่แล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับยิ่งจะส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนมากกว่าเดิม

เช่น ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยการกำหนดให้มีการขออนุญาตใช้ประโยชน์เป็นรายบุคคล ที่ประชาชนสามารถทำกินได้คราวละ 20 ปี หากบุคคลนั้นเสียชีวิต ทายาทผู้สืบทอดต้องเริ่มดำเนินการขออนุญาตอีกครั้ง เป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิต และการขออนุญาตต้องอยู่ใต้อำนาจของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังกำหนดให้ชาวบ้านหาของป่าไม่ได้ เป็นต้น

"แสดงให้เห็นถึงขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่า โดยอำนาจผูกขาดอยู่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว ซึ่งมองว่าจะยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในอนาคตมากยิ่งขึ้น จึงมาร่วมแสดงจุดยืนว่า คนที่อยู่กับป่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. นี้ ทั้งที่ภาคประชาชนในหลายส่วนได้เคยรวบรวมรายชื่อ 10,000 กว่ารายชื่อยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับภาคประชาชนกลับไม่ได้รับการสนองกลับ ดังนั้น สนช.ควรพิจารณาในการชะลอ พ.ร.บ.อุทยานออกไปก่อน โดยเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในเนื้อหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่า ไม่ใช่เป็นการมาเพิ่มปัญหาให้ประชาชนยิ่งทุกข์หนักยิ่งไปอีก" ปฐม กล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.