Posted: 05 Feb 2019 07:49 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-02-05 22:49


กานดา นาคน้อย

ช่วงนี้ชาวโซเชียลเมืองกรุงและปริมณฑลตื่นตัวด้านปัญหามลพิษอากาศ เนื่องจากกรุงเทพฯมีมลพิษมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเมื่อวัดด้วยดัชนีคุณภาพอากาศที่เรียกว่า“เอคิวไอ”(AQI) หลายเมืองในจีนก็ติดอันดับโลกด้านมลพิษอากาศเช่นกัน [1]

ต่างจังหวัดก็มีมลพิษอากาศ

ชาวโซเชียลต่างจังหวัดก็ร่วมแบ่งปันข้อมูล อาทิ เชียงใหม่มีมลพิษอากาศในฤดูนี้มาหลายปีแล้ว สระบุรีและราชบุรีแย่ยิ่งกว่ากรุงเทพฯ ชลบุรีก็แย่กว่ากรุงเทพฯ สมุทรสาครและสุพรรณบุรีก็ไม่น้อยหน้า ฯลฯ สารมลพิษที่รวมในดัชนีเอคิวไอก็มีหลายแบบ ฝุ่นละอองก็มีหลายขนาด ขนาดเล็กจิ๋วจนผ่านขนจมูกเข้าปอดก็มี และฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วไม่ได้เป็นสิ่งเดียวในดัชนีเอคิวไอ

นักวิทยาศาสตร์บางท่านชี้ว่าไอเสียเครื่องยนต์ดีเซลเป็นปัจจัยหลักที่ผลิตฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว ปัจจัยรองคือการเผาชีวมวล เช่น ไร่อ้อย ซังข้าวโพด โรงงานอุตสาหกรรมมีผลบ้างแต่น้อยกว่า 2 ปัจจัยแรก [2]

แรกๆ รัฐบาลก็สั่งให้เจ้าหน้าที่“ฉีดน้ำ”ในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการฉีดน้ำไม่ช่วยลดฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว เมื่อสื่อต่างประเทศลงข่าวติดต่อกันรัฐบาลก็ยกระดับขอให้ชาวไร่อ้อยหยุดเผาไร่ [3] ขอให้โรงโม่หินที่สระบุรีปิดชั่วคราว [4] ขอให้โรงงานโอ่งที่ราชบุรีหยุดเผาโอ่งชั่วคราว [5] และห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯชั้นใน [6]

นโยบายส่งเสริมการส่งออกปูนซีเมนต์

มีข่าวสวนทางว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ทำเหมืองหิน 8 โครงการ ประกอบด้วยคำขอประทานบัตรและคำขอต่ออายุประทานบัตรจำนวน 34 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวม 14,121 ไร่ และคิดเป็นมูลค่าแร่ที่ทำเหมืองได้กว่า 169,000 ล้านบาท โดยอ้างอิงเหตุผลว่า “จะทำให้มีหินปูนซีเมนต์ใช้ไม่ขาดและต่อเนื่อง” [7]

เหตุผลดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถิติส่งออก ไทยผลิตปูนซีเมนต์มากเกินความต้องการในประเทศจนไทยกลายเป็นผู้ส่งออกปูนซีเมนต์อันดับ 1 ใน 3 ของโลกมา 20 ปีแล้ว เคยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ด้วยซ้ำ (พศ.2542-2544) [8] ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าไทยส่งออกปูนซีเมนต์เป็นอันดับ 2 รองจากจีน (พศ.2560) [9]

ถ้าการปิดโรงงานโม่หินที่สระบุรีชั่วคราวตามที่รัฐบาลขอร้องจะทำให้มลพิษอากาศที่สระบุรีลดลงได้ ก็จะหมายความว่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมของโรงโม่หินในไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นและประเทศตะวันตก ถ้าเป็นเช่นนั้นภาครัฐจะส่งเสริมการส่งออกปูนซีเมนต์เพื่ออะไร? เพื่อให้ทัดเทียมกับจีนหรือ?

ไทยมีเหมืองหินในหลายจังหวัดไม่ใช่แค่สระบุรี อาทิ ราชบุรี ชลบุรี ลำปาง ฯลฯ ผู้อ่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสัมปทานเหมืองหินในจังหวัดต่างๆ ได้ที่ฐานข้อมูลประทานบัตรเหมืองแร่ทั่วประเทศ(ออนไลน์ http://www1.dpim.go.th/mne/mn.php) [10]

แล้วไอเสียดีเซลล่ะ?


โปรดสังเกตว่ารัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาหลัก นั่นคือไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล การห้ามไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ากรุงเทพฯชั้นในก็ไม่ได้ทำให้ไอเสียดีเซลหายไปจากจังหวัดอื่น

ที่สำคัญรถกระบะ รถตู้ และรถยนต์บางรุ่นก็ใช้น้ำมันดีเซลเช่นกัน ตราบใดที่รัฐบาลไม่ออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และมาตรฐานน้ำมันให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยากที่จะแก้ปัญหาระยะยาวได้



หมายเหตุ : ผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะได้ที่ทวิตเตอร์ https://twitter.com/kandainthai



ที่มา :

[1] World Air Quality Ranking: https://www.airvisual.com/world-air-quality-ranking

[2] “พบไอเสียดีเซลต้นตอสำคัญปัญหาฝุ่นละอองกรุงเทพ” กองบรรณาธิการ TCIJ, 13 ม.ค. 2562

https://www.tcijthai.com/news/2019/1/scoop/8665

[3] ห้ามเผาอ้อย! สอน.ขอชาวไร่อ้อยห้ามเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาลเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศ ประชาชาติธุรกิจ, 19 มกราคม 2562: https://www.prachachat.net/economy/news-277686

[4] โรงงาน - โรงโม่หิน พื้นที่เสี่ยงปิดชั่วคราว จัดบิ๊กคลีนนิ่ง ลดฝุ่น ข่าวไทยพีบีเอส 3 กุมภาพันธ์ 2562: http://news.thaipbs.or.th/content/277439

[5] หยุดเผา โอ่งมังกร! ปิดเตา 5 วัน หวังช่วยลดฝุ่นพิษในอากาศ ไทยรัฐ 1 กุมภาพันธ์ 2562: https://www.thairath.co.th/content/1485385

[6] “ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพมหานครชั้นใน” ไทยรัฐ 2 กุมภาพันธ์ 2562: https://www.thairath.co.th/content/1485801

[7] “ไฟเขียวเหมืองหิน 8 โครงการ” ประชาชาติธุรกิจ, 30 มกราคม 2562: https://www.prachachat.net/economy/news-284093

[8] สถิติการค้าระหว่างประเทศจากสหประชาชาติ: https://comtrade.un.org/data/ (รหัสอุตสาหกรรม HS Code 2523)

[9] World’s Top Exports - Cement Exports by Country (2017): http://www.worldstopexports.com/cement-exports-by-country/

[10] ฐานข้อมูลประทานบัตรเหมืองแร่ทั่วประเทศ โดยกลุ่มควบคุมสัมปทานและกำกับการผลิต สำนักเหมืองแร่และสัมปทาน ในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

http://www1.dpim.go.th/mne/mn.php

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.