Posted: 01 Feb 2019 04:42 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-02-01 19:42


นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอป Shoot it Rights 1 และ 2 ภาพ

กลุ่มช่างภาพ ‘เรียลเฟรม’ ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จัดเวิร์คชอปเล่าเรื่องด้วยภาพถ่าย หลากหลายประเด็นและความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ชุมชนมุสลิม ความเป็นหญิงที่ดี จนถึงกลุ่มเด็กรักการซิ่งรถ ฯลฯ

“เราทำงานภาพมาเยอะประมาณหนึ่ง อย่างหนึ่งที่เราเห็นปัญหาคือเราเป็นคนพูดแทนเขา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาพูดด้วยตัวเองมันจะมีพลังมากกว่า”

ยศธร ไตรยศ หนึ่งในสมาชิกเรียลเฟรม (Realframe) กลุ่มช่างภาพอิสระที่มีจุดร่วมเหมือนกันคือการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านรูปถ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเวิร์คชอป ‘Shoot it Rights 2’ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

‘Shoot it Rights 2’ คือเวิร์คชอปถ่ายภาพที่ประกาศรับสมัครผู้สนใจการถ่ายภาพและประเด็นในเชิงสิทธิมนุษยชน โดยเรียลเฟรมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล และคณะ ICTม.ศิลปากร มีวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดวิธีคิดและกระบวนการทำงานเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายอย่างมืออาชีพ ควบคู่กับการตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน ทั้งในฐานะผู้ผลิตผลงานภาพถ่ายและในฐานะของผู้บริโภคที่รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อหลายๆ ช่องทางในปัจจุบัน

นอกจากนี้ หลังจากเวิร์คชอปเสร็จ ยังมีการจัดแสดงผลงานชุดภาพถ่ายของผู้เข้าร่วม เมื่อวันที่ 12-13 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ชุมชนแพร่งภูธร กรุงเทพฯ


ทักษะเข้าสังคม สิ่งจำเป็นในการถ่ายภาพสารคดี

ยศธรเล่าว่า ครั้งนี้ก็ไม่ได้ต่างจากครั้งที่แล้วมาก เพียงแต่มีเนื้อหาบางอย่างที่ปรับให้เหมาะกับการเอาไปใช้มากขึ้น มีการบรรยายในประเด็นเช่น การเลือกประเด็นที่จะทำงาน โดยธิติ มีแต้ม จากเว็บไซต์ 101world การใช้ภาพในการสื่อสาร โดยวิทิต จันทามฤต ซึ่งเป็นช่างภาพที่ถนัดเล่าเรื่องด้วยภาพในสไตล์ร่วมสมัย ไม่ใช่แค่สไตล์สารคดีแบบคลาสสิครวมถึงเรื่องวิธีการสื่อสารแบบข่าวและสารคดี โดยอ.สุชาดา จักรพิสุทธิ์จากเว็บไซต์ TCIJ และเรื่องมานุษยวิทยาในการทำงานภาพถ่าย โดย สมัคร์ กอเซ็ม ซึ่งเป็นทั้งนักมานุษยวิทยาและศิลปิน

“เด็กรุ่นใหม่ใช้สื่อหรือแพลตฟอร์มที่หลากหลายขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแบบไหนเราเชื่อว่ามันสามารถเล่าเรื่องได้ ถ้าเขารู้จักเลือกใช้เราบอกกับทุกคนเสมอว่า 60-70% ของการทำงานสารคดีหรือการเล่าเรื่องมันเป็นเรื่องทักษะการทำงานกับสังคม ซึ่งเป็นทักษะทางมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยา อีก 30-40% ถึงเป็นเรื่องฝีมือหรือทักษะการถ่ายภาพ ซึ่งเราพบว่าน้องๆ หลายคนมีปัญหากับการทำงานกับคน มีปัญหากับการเอาตัวเองไปปะทะคนแปลกหน้า” ยศธรกล่าว

หากอธิบาย รูปถ่ายสารคดีอาจแบ่งง่ายๆ เป็นสารคดีแบบคลาสสิค คือการติดตามตัวละครหรือซับเจคที่เราเลือกไป อีกแบบคือแบบร่วมสมัยหรือคอนเซ็ปต์ชวล ซึ่งเป็นการใช้ส่วนผสมของงานศิลปะเข้ามา ไม่ต้องเล่าเรื่องตรงๆ เปิดพื้นที่ให้ตีความมากขึ้น ไม่ต้องปะทะกับตัวละครโดยตรง เล่าผ่านสิ่งรายล้อมของเขามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นถ่ายแค่มนุษย์

ซึ่งยศธรมองว่าแนวโน้มคนรุ่นใหม่จะสนใจแบบที่สองมากขึ้น และอีกเหตุผลคือด้วยระยะเวลาของค่ายที่มีจำกัด การตามใครสักคนเพื่อถ่ายอาจต้องใช้เวลานาน มีผลให้การทำแบบคลาสสิคเป็นไปได้ยาก ขณะที่แบบร่วมสมัยถ้าวางแผนดี ไอเดียชัด จะใช้เวลาทำงานน้อยกว่า


คนเก็บขยะ-คนไร้บ้าน ไม่ใช่ทั้งหมดของภาพถ่ายสารคดี

เมื่อให้เขาเล่าถึงปัญหาที่พบ ยศธรเล่าว่าบางครั้งผู้เข้าร่วมยังขาดประสบการณ์และมุมมองการรับรู้ที่มีต่อสังคม เช่น การทำให้บางอย่างกลายเป็นสิ่งดราม่าเกินไป

“เวลาเราถามเขาว่าถ้าอยากจะไปตามถ่ายใคร มันจะเป็นคนเก็บขยะหรือโฮมเลสขึ้นมา 4-5 คน ซึ่งไม่ได้ผิด ตัวละครบางคนน่าสนใจจริงๆ แต่มันสะท้อนให้เห็นมุมมองของเขาที่มีต่อสังคมยังมีน้อย หรือบางทีเขาคิดว่าคนกลุ่มนี้จะต้องมีอะไรดราม่า มีอะไรที่สังคมจะตื่นเต้นกับมัน แต่เขาไม่ได้อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไปพร้อมกับกระบวนการทำงาน ปัญหาสังคมที่เราบอก ไม่ได้จำกัดแค่สิทธิมนุษยชน แต่เราเปิดกว้างต่อทุกประเด็นที่เขาจะตั้งคำถามกับมันได้ เช่น ประเด็นความเหลื่อมล้ำประเด็นการศึกษา” ยศธรกล่าว

หรืออีกแบบหนึ่งคือ ยศธรมองว่าการยึดกับหลักสิทธิมนุษยชนมากเกินไปก็จะทำงานลำบาก ถ้าตั้งการ์ดว่าการทำทุกอย่างเป็นการละเมิดไปหมด เช่น การถ่ายคนในที่สาธารณะ หรือการเรียกคนที่เราถ่ายว่าซับเจ็ค

“ในความเห็นเรามองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรายังเห็นเขาเป็นคน และทุกคนก็เป็นซับเจ็คของใครก็ได้ทั้งนั้น มันขึ้นกับว่าเราทำงานอะไร ด้วยเจตนาอะไร เพื่ออะไร แค่นั้น คิดว่ามองแบบนี้ดีกว่า ทำงานได้ง่ายกว่า”


เมื่อคนในพื้นที่ลุกขึ้นพูดจะมีพลังมากกว่า

เนื่องจากเวิร์คชอปครั้งนี้ต้องการคนที่แตกต่างหลากหลายเข้าร่วม ซึ่งได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมจากทั้งผลงานและประเด็นที่สนใจ จึงได้ความแตกต่างหลากหลายทั้งแง่อาชีพ พื้นที่ อายุ เช่น ผู้เข้าร่วมจากชายแดนใต้ ผู้เข้าร่วมปกาเกอะญอ นักศึกษา นักเคลื่อนไหว

“เราทำงานภาพมาเยอะประมาณหนึ่ง อย่างหนึ่งที่เราเห็นปัญหาคือเราเป็นคนพูดแทนเขา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาพูดด้วยตัวเองมันจะมีพลังมากกว่า เพราะเขาเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ เพียงแค่เขาเล่าในมุมมองเขา ซึ่งที่เขาเผชิญอยู่ มันอาจตรงประเด็นกว่า อิมแพคกว่า

ในยุคนี้ที่คุณสามารถทำงานแล้วผลิตสื่อออกมาได้เอง ถ้าคุณมีเครื่องมือที่ถูกต้อง เราว่าภาพถ่ายมันเป็นเครื่องมือที่คลาสสิคที่ยังใช้ได้ ยังอยู่เหนือกาลเวลา ถ้าเขาลุกขึ้นมาเล่าเรื่องด้วยตัวเองผ่านเครื่องมือในสมัยนี้ที่ราคาถูกลง มีวิธีคิดที่ดี ก็จะสามารถทำงานออกมาได้หลากหลายกว่าเราอีก

เราเชื่อว่าที่ผ่านมามีคนทำประเด็นอะไรเยอะแยะไปหมด แต่มันขาดแค่เรื่องการสื่อสาร ถ้าเขาทำสื่อเป็น ใช้ภาพเล่าเรื่องเป็น จะทำให้งานเหล่านี้ไปไกลได้มากกว่าที่เป็น” ยศธรกล่าว


มูลีด ลาเต๊ะ: ความเป็นอยู่ของมุสลิมในเมือง

มูลีด ลาเต๊ะ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปจากปัตตานีเล่าว่า เรียนจบด้านการถ่ายภาพ ปัจจุบันเป็นช่างภาพงานแต่งงานและงานรับปริญญา สนใจเข้าร่วมเพราะอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยากเรียนรู้การถ่ายภาพเพิ่มเติม โดยประเด็นที่เขาสนใจคือ ความเป็นอยู่ของมุสลิมในเมืองหลวงทั้งเรื่อง การกิน การใช้ การทำงาน การละหมาด ซึ่งเขาเห็นว่าคล้ายกับที่ปัตตานี ต่างกันตรงที่คนมุสลิมที่กรุงเทพฯ บางคนไม่ไปละหมาด

“เป็นครั้งแรกที่มากรุงเทพฯ แรกๆ ก็กลัวจะมากรุงเทพฯ รถมันเยอะ พอมาก็ไปคนเดียว เดินคนเดียวได้ ไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่คิดไว้ พูดไทยก็ไม่ค่อยแข็งแรง แต่เราได้ลงพื้นที่ที่เราไม่เคยไป ที่นี่อยู่ร่วมกันได้ คนมุสลิมกับคนไทยพุทธ แต่ที่บ้านคนมุสลิมจะอยู่กับคนมุสลิม คนไทยพุทธก็จะอยู่กับคนไทยพุทธ น่าสนใจที่ที่นี่อยู่ร่วมกันได้ อยู่ชุมชนเดียวกัน อยู่ติดๆกัน” มูลีดกล่าว

มูลีดมีแผนว่าหลังจากเวิร์คชอปนี้ กลับไปจะลองนำสิ่งที่ได้เรียนไปทำงานของตัวเองดู ซึ่งประเด็นที่มูลีดสนใจคือคนที่เคยโดนควบคุมตัวในค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเขาอยากไปนั่งคุยถึงรายละเอียดเหตุการณ์ ก่อนและระหว่างที่ถูกควบคุมตัว และหลังจากออกมาแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง






ศุภกานต์ ผดุงใจ: ความเป็นผู้หญิงที่ดี

ศุภกานต์ ผดุงใจ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์เล่าว่า เวิร์คชอปนี้ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงาน ทั้งเรื่องการถ่ายภาพและคอนเทนต์ โดยประเด็นที่เธอทำนั้นเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือประเด็นความเป็นหญิงที่ดีในสังคมไทย

“เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมา เริ่มตั้งคำถามกับความเป็นหญิงที่ดีในสังคมไทยแบบโรงเรียนหญิงล้วน ทำไมต้องใส่เสื้อทับ ทำไมกระโปรงต้องห้ามสั้น ซึ่งพอเราหาคำตอบ เราพบว่าจริงๆ แล้วโรงเรียนก็มีเหตุผลเพราะไม่อยากให้เด็กโป๊ แต่สังคมอาจมีค่านิยมของผู้หญิงที่ดีเพียงแบบเดียวซึ่งเหมือนกับโรงเรียนหญิงล้วน เป็นเรื่องที่เราไม่โอเคเท่าไหร่ เพราะสำหรับเราคำนิยามของผู้หญิงที่ดีมีหลายแบบ ซึ่งแต่ละคำนิยามไม่ได้ผิด เพียงแต่คำนิยามของเราอาจจะไม่ตรงกับของโรงเรียน ภาพที่ออกมาจะใช้สัญลักษณ์แทนความหมายมากกว่า ซึ่งเป็นแนวคอนเซปต์ชวลมากกว่าจะเป็นแบบสารคดี” ศุภกานต์กล่าว






สุภาพร ธรรมประโคน: ชุมชนคนรักการซิ่งรถ

สุภาพร ธรรมประโคน ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอป ‘Shoot it rights 1’ ปีที่แล้ว ซึ่งได้นำผลงานมาร่วมแสดงในงานครั้งนี้ด้วย โดยผลงานของเธอเล่าเรื่องของแก๊งค์เด็กซิ่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่เราอาจคุ้นเคยในนาม ‘เด็กแว๊น-สก๊อย’ เล่าให้ฟังถึงการเวิร์คชอปที่เคยเข้าร่วมว่า ช่วยในเรื่องของเทคนิค องค์ประกอบ การเล่าเรื่อง ทำให้ความคิดบางอย่าง มุมมองบางอย่างเปลี่ยนเช่น ความเข้าใจคน มองคนให้ลึกขึ้นในความเป็นปัจเจกมนุษย์คนหนึ่ง หรือการเล่าเรื่อง ที่บางครั้งไม่ต้องสื่อตรงๆแบบภาพข่าว แต่บางอย่างสื่อผ่านสัญลักษณ์หรือภาษากายได้

สุภาพรเล่าถึงกระบวนการถ่ายภาพชุดนี้ว่า เธอลงพื้นที่แถวปากน้ำ สมุทรปราการ ซึ่งเป็นแถวบ้านเพื่อน และลองขับรถตระเวนดูตามร้าน หลังจากพบร้านหนึ่งที่มีการรวมกลุ่มของเด็กเหล่านี้เยอะพอสมควร เธอจึงเดินเข้าไปทำความรู้จัก—อย่างง่ายดายขนาดนั้น

“คือต้องอาศัยความกล้าระดับหนึ่ง แต่เราก็อยากรู้จักพวกเขาจริงๆ คิดว่าการทำความรู้จักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับช่างภาพ บางทีจำเป็นมากกว่าการถ่ายภาพ

ถ้าคุยกันครั้งหนึ่งมันอาจไม่ได้เข้าใจอะไรมากไปกว่าเขาชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เราอยากเข้าใจเขามากกว่านี้ เขาเป็นใคร ทำไมเขาชอบแบบนี้ เหมือนการทำความรู้จักเพื่อนคนหนึ่ง พอเรารู้จักเพื่อนเราจะได้เห็นมิติชีวิตเขาในหลายด้าน ที่ไม่ใช่แค่เขาซิ่งรถ เราเห็นมิตรภาพบนท้องถนนที่มันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งมีแค่พวกเขาเท่านั้นที่เข้าใจกันเอง

ตอนแรกเขาปิดกั้นมากๆ มีคำถามเยอะมาก เราพยายามตอบ เขาก็ไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจว่าบางอย่างต้องใช้เวลา เราลงไปหาแก๊งค์นี้หลายครั้งมาก จนสุดท้ายเขายอมพูดกับเรา เราตามเขาไปทุกที่ แลกเปลี่ยนกับพวกเขาเยอะมาก เขาไม่ได้เรียกตัวเองว่าแวนซ์หรือสก๊อย เขาบอกว่าเขาก็แค่คนที่รักรถซิ่งคนหนึ่ง บางอย่างเราอาจมีความเห็นไม่ตรงกับเขา แต่สุดท้ายเขาก็เปิดใจกับเราจริงๆ เขาถามว่าเราจะเอารูปพวกนี้ไปทำร้ายเขาไหม เพราะเขาก็อยู่ในพื้นที่สีเทา เราก็เล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เราทำเป็นยังไง”สุภาพรเล่า

หลังจากนั้นเธอยังเข้าไปคุยกับครอบครัวของเด็กเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่ค่อยอยากให้ลูกทำอะไรแบบนี้ แต่ด้วยบริบทสังคมที่เขาอยู่ ชุมชนนั้น การซิ่งรถจริงเป็นเสมือนสังคมของพวกเขา

“บางทีสังคมโยนความผิดให้เขา ว่าการทำแบบนี้ไม่โอเค แต่เขารักที่จะซิ่ง เพียงแค่ไม่มีพื้นที่ให้เขา แถวนั้นมีแค่ถนนแถวบ้าน เขาก็ซิ่งกันอยู่ตรงนั้น พอเราถามว่าคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง น้องบอกว่าอยากให้มีสนามแข่ง อย่างในกรุงเทพฯ ตอนนี้ก็มีแค่ไม่กี่ที่ เวลาจัดงานแข่งพวกเขาก็ไปทุกครั้ง แต่บางทีมันไกล ถ้าผู้ใหญ่เพิ่มพื้นที่ให้เขา สนับสนุนไปเลย ก็น่าจะเป็นไปได้"

สุภาพพรเห็นว่าการถ่ายรูปของเธอเป็นการบอกเล่าว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้ในสังคม ไม่ได้อยากทำลายอคติที่คนอื่นมองพวกเขา เพราะบางครั้งเธอเห็นว่ามันก็เป็นแบบนี้จริงๆ

“อยากให้รู้ว่ามีพวกเขาในสังคม มีวัฒนธรรมของเขา มีโลกของเขา เหมือนที่เรามีโลกของเรา มีความชอบของเรา ไม่ได้อยากทำให้คนรู้สึกเกลียดหรือรัก แต่อยากให้เห็นความจริงว่ามันเป็นแบบนี้แต่เราจะอยู่ร่วมกันยังไง บางทีต้องอาศัยความเข้าใจ เข้าใจเขาที่มีหลายมิติ โดยไม่ให้อคติบดบัง” สุภาพรกล่าว








ข่าว
สังคม
วัฒนธรรม
การศึกษา
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
เรียลเฟรม
Realframe
องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ยศธร ไตรยศ
ภาพถ่าย
ศิลปะ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.