บรรยากาศการเข้ารับบริการการรักษาในโรงพยาบาลแม่สาย
Posted: 02 Feb 2019 07:51 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-02-02 22:51
กาญจนพงค์ รินสินธุ์ รายงาน
สรพ. ลงพื้นที่ชมการพัฒนาคุณภาพรพ. แม่สาย ขณะที่ ผอ.รพ.เผยส่งผู้ป่วยข้ามชายแดนใช้สัญญาใจ ด้านบุคลากรขยายความสัญญาใจคือเครือข่ายที่โรงพยาบาลมี ทั้งล่ามประสานงาน ทั้งกู้ภัย ผู้ป่วยข้ามแดนมาก็รักษาให้ตามหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนเรื่องปัญหาภาระค่าใช้จ่ายหรือความรุนแรงยังไม่น่าหนักใจเท่าบุคลากรไม่เพียงพอ
2 ก.พ.2562 ที่โรงพยาบาลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตัวแทนจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) นำโดย นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ได้เข้าเยี่ยมชมการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐาน HA ในพื้นที่โรงพยาบาลแม่สายเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยภายในพิธีเปิดการเยี่ยมชม นพ.ศิริศักดิ์ นันทะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สายได้กล่าวถึงเส้นทางการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลซึ่งรวมถึงกระบวนการจัดการการรักษาผู้ป่วยที่ข้ามชายแดนจากฝั่งเมียนมาร์ที่ข้ามมาใช้บริการหรือถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลแม่สาย
ส่งผู้ป่วยข้ามชายแดนด้วยสัญญาใจ ในขณะที่ยังไร้ MOU จากเบื้องบน
ผอ.รพ.แม่สาย กล่าวว่าโรงพยาบาลแม่สายมีผู้มาใช้บริการทั้งที่เป็นชาวไทย ชาวเมียนมาร์ และชาวลาวซึ่งกลุ่มนี้นานๆ จะมาสักครั้ง โรงพยาบาลทางฝั่งเมียนมาร์ซึ่งตั้งใกล้เคียงกับโรงพยาบาลแม่สายได้แก่โรงพยาบาลท่าขี้เหล็กซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนคือ โรงพยาบาลอาเชวต่อว์ (A Shwe Taw) และโรงพยาบาลมยาทาฮาร์ (Mya Tha Har) ซึ่งในการส่งผู้ป่วยข้ามแดนนั้น นพ. ศิริศักดิ์กล่าวว่ายังต้องใช้สัญญาใจ เพราะยังไม่มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวประชาไทได้สอบถามเพิ่มเติมในประเด็นการดูแลรักษาชาวต่างชาติแถบชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็กจาก ณหทัย พันโททัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแม่สายว่า “สัญญาใจ” ที่ นพ.ศิริศักดิ์กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนคืออะไรนั้น ณหทัยอธิบายว่า สัญญาใจในที่นี้เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของทางทีมโรงพยาบาลแม่สายกับทางล่ามประสานงานซึ่งจะติดต่อกับโรงพยาบาลทางฝั่งเมียนมาร์ อีกกลุ่มหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ส่วนตัวกับทีมกู้ภัยเมียนมาร์อย่างหน่วยกู้ภัยอะลินหย่อง ด้วยความสัมพันธ์แบบแนวราบนี้เองที่ทำให้มีการส่งผู้ป่วยข้ามแดนกันได้สะดวกระดับหนึ่งแม้จะยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการส่งตัวกรณีโรคระบาดตามชายแดนอย่าง HIV หรือวัณโรคปอด เธอให้ข้อมูลว่าเริ่มพัฒนาเป็นระบบที่ดีขึ้น มีระบบส่งตัว มีการติดต่อประสานงานโดยตรงระหว่างแผนกที่ดูแลเรื่องโรคดังกล่าวในไทยกับในเมียนมาร์
ภาพถ่ายรวมหมู่ที่ระลึกในการเยี่ยมชมการพัฒนาคุณภาพ รพ.แม่สาย
ข้ามแดนไม่ถูกต้องก็เรื่องหนึ่ง แต่สิทธิมนุษยชนอนุญาตให้คนเข้ารักษาตัวได้
ในแง่ของการจัดการดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งข้ามแดนมาก็ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือสถานะของผู้ข้ามแดน ณหทัยให้ข้อมูลว่า บางรายที่ข้ามแดนมาอย่างถูกต้องก็ใช้บัตรข้ามแดนในการเข้ารับบริการ หรือบางรายไม่มีบัตรข้ามแดนก็ให้แจ้งชื่อตนและชื่อบิดามารดาของตนเพื่อระบุตัวบุคคล
อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่าในประเด็นที่ผู้มาเข้ารับการรักษาข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมาย ทางโรงพยาบาลแม่สายจะดำเนินการอย่างไรนั้น ณหทัยกล่าวว่า ในแง่ของการรักษานั้น ทางโรงพยาบาลก็รักษาตามสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วซึ่งจะเป็นคนละเรื่องกับกฎหมายการข้ามแดน แต่ที่จริงแล้วตามแนวชายแดนก็มีจุดผ่อนปรนซึ่งผู้คนสามารถข้ามแดนมาเองได้อย่างปางห้า
ณหทัยเล่าต่อไปว่าทางโรงพยาบาลแม่สายให้การดูแลรักษาคนที่ข้ามแดนมาอย่างเท่าเทียมกับคนไทย ไม่ได้มีการแยกการเข้ารับการบริการตามสัญชาติหรือชาติพันธุ์แต่จะคัดกรองผู้เข้ารับการดูแลรักษาตามอาการ ซึ่งคนที่ข้ามแดนมาก็ทั้งกลุ่มคนเมียนมาร์ที่พูดไทยคล่องไปจนถึงกลุ่มคนที่พูดไทยได้ไม่มากซึ่งบางรายก็จะพาล่ามมาเองหรือบางรายที่ไม่มีเงินก็มาหาล่ามแถวฝั่งไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เข้ามารับการรักษาอย่างคะฉิ่น ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง และกลุ่มอื่นๆ รวมราวสิบชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตามเรื่องภาษาก็ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะบางคนสามารถพูดได้ห้าถึงหกภาษา หรือถ้าสื่อสารกันไม่ได้จริงๆ ก็ภาษาอังกฤษ
ความรุนแรงผ่านไปแล้ว แต่ปัจจุบันปัญหาคือภาวะกดดันและบุคลากรที่ไม่เพียงพอ
สำหรับประสบการณ์ด้านการรับมือผลกระทบจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังตามตะเข็บชายแดน ณหทัยเล่าว่าเหตุการณ์ครั้งสำคัญคือตอนที่กองกำลังว้าแดงปะทะกับกองทัพไทยในปี 2544 ซึ่งใกล้กับโรงพยาบาลมากจนต้องมีการจัดคนคอยเฝ้าระวังภัยและคอยรับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะ ในสถานการณ์อย่างนั้นไม่สามารถปิดโรงพยาบาลทิ้งไว้เฉยๆ ได้เพราะบทบาทหน้าที่ของผู้ให้การรักษา แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นมาก็ไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของกองกำลังติดอาวุธอีกเลย
ส่วนเรื่องระบบการรักษาที่ข้ามแดนอย่างนี้ ณหทัยเห็นว่ายังต้องพัฒนาต่อไป เพราะตอนนี้ยังจัดการเป็นระบบได้แค่สองโรค ซึ่งยังเหลือระบบอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาอย่างเช่น ระบบผู้ป่วยไร้ญาติ ผู้ป่วยเร่ร่อน
โจทย์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโรงพยาบาลชายแดนอย่างโรงพยาบาลแม่สายคือการจัดการโรคติดต่อตามชายแดน ซึ่งณหทัยเล่าว่าความยากของมันก็คือพื้นที่ของโรคติดต่อมันไม่ได้มีแค่พื้นที่ของฝั่งไทยแต่มันอยู่ในพื้นที่ของฝั่งเมียนมาร์ซึ่งทำให้การวางระบบจัดการโรคยากกว่าการจัดการโรคระบาดในเขตอธิปไตยของไทย ตอนนี้จึงวางระบบจัดการได้แค่สองโรคซึ่งเป็นระบบที่ดูแลผ่านองค์กรเฉพาะทาง ส่วนไข้เลือดออกก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ทางโรงพยาบาลก็ป้องกันต่อไป
สำหรับภาพฝันของการรักษาที่ข้ามแดนกันไปมาระหว่างไทยกับเมียนมาร์คือการที่ข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในด้านสาธารณสุขได้รับการดำเนินการได้เร็วขึ้นเพื่อร่วมกันรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ได้อย่างทันท่วงที
ในส่วนของการแบกรับค่ารักษาค้างชำระนั้น ณหทัยให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลแม่สายเองก็แบกรับไว้เยอะมากเช่นกัน แต่ไม่ถึงขั้นที่เป็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะค่ารักษาที่ได้จากกลุ่มคนที่มีเงินจ่ายก็คอยพยุงการแบกรับส่วนนี้ไว้ซึ่งก็เหมือนกันทุกที่ อันที่จริงแล้วชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่ข้ามชายแดนมารักษากับโรงพยาบาลแม่สายนั้นค่อนข้างที่จะมีฐานะ
“แถบนี้เขามีเงิน ไม่เหมือนทางโรงพยาบาลแถวแม่สอดหรือระนองที่ขาดทุนเพราะต้องแบกรับค่ารักษาจากคนงาน” ณหทัย กล่าว
ส่วนปัญหาที่โรงพยาบาลยังคงเผชิญอยู่คือการที่บุคลากรไม่เพียงพอในทุกด้านนั้น ณหทัยเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากภาวะการทำงานที่ถูกกดดัน ต้องระวังเรื่องการถูกฟ้องร้อง ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่มาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็จะอยู่ไม่นาน สถานการณ์ด้านบุคลากรในโรงพยาบาลจึงมีลักษณะเวียนเข้าเวียนออก
“มันสุ่มเสี่ยงนะทำงานตรงนี้ ก็เหมือนเอาขาก้าวเข้าไปในตารางแล้วหนึ่งข้าง ประชาชนก็คาดหวังสูงว่ามาตรวจแล้วจะต้องรู้โรคทันทีและได้รับการรักษาที่แม่นยำ” ณหทัย กล่าว
สำหรับ กาญจนพงค์ รินสินธุ์ ผู้รายงานฉบับนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งฝึกงานกับประชาไท จากหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แสดงความคิดเห็น