Posted: 02 Feb 2019 08:34 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-02-02 23:34
กสม. ฉัตรสุดา ห่วงใยวิกฤตการณ์ฝุ่นละออง ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีสุขภาพและสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนขอรัฐบาลปฏิบัติตามพันธกรณีสากลคุ้มครองประชาชนจากภัยมลพิษ
2 ก.พ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏวิกฤตการณ์ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มาชั่วระยะเวลาหนึ่งจนถึงปัจจุบันนั้น ตนในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข มีความห่วงใยต่อวิกฤตการณ์ฝุ่นละอองดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีการดำรงชีวิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ จะได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นการเร่งด่วนในหลายมาตรการแล้ว แต่เพื่อให้สิทธิในการมีสุขภาพและสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริงตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและรัฐมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยที่ข้อ 12 (1) และ (2) แห่งกติกาดังกล่าวระบุไว้ว่า “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการโดยรัฐภาคีแห่งกติกา เพื่อบรรลุในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์จะต้องรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อการปรับปรุงในทุกด้านของสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม” นั้น
ฉัตรสุดา กล่าวเรียกร้องว่า ตนจึงขอให้รัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพและสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ดังต่อไปนี้
1. ขอให้รัฐบาลพิจารณายกวิกฤตการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ และเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยควรกำหนดแผนการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น แผนการควบคุมมลพิษทางการจราจร แผนการเตือนภัยและป้องกันวิกฤตการณ์ฝุ่นละออง แผนการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ตลอดจนแผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยบูรณาการการทำงานและองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาออกมาตรการในการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่สำคัญ ตลอดจนให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง
3. ขอให้ประชาชน ร่วมกันติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองร่วมกับหน่วยงานของรัฐ โดยป้องกันตนเองจากมลพิษที่เกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ
“วิกฤตฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนสิทธิในความเป็นอยู่ที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์หายใจ และได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว รวมทั้งวางแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวต่อไปในอนาคต” ฉัตรสุดา กล่าว
ข่าว
การเมือง
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
ฝุ่น
PM 2.5
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง
แสดงความคิดเห็น