Posted: 03 Feb 2019 07:38 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2019-02-03 22:38


นิธิ เอียวศรีวงศ์

มือกฎหมายฝ่าย คสช. บอกแก่นักข่าวว่า การที่รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทหารออกไปก่อตั้ง และเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองซึ่งพยายามจะสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารต่อไป “ไม่ผิดกฎหมาย” ซ้ำยังเปรียบเทียบให้ นักข่าวเห็นอีกว่า เมื่อรัฐบาล (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ยุบสภา รัฐมนตรีที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปเหมือนเดิมได้

ผมเชื่อว่า มือกฎหมายคนนี้คงเป็นรุ่นน้องผมจากคณะอักษรศาสตร์แน่ๆ เพราะกฎหมายของเขามีความหมายตามลายลักษณ์อักษรของตัวบทเท่านั้น

เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยประกาศยุบสภา รัฐบาลนั้นก็กลายเป็นรัฐบาลรักษาการไปทันที (ในบางประเทศมีกฎหมายบังคับ บางประเทศเป็น “ประเพณี” ซึ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่ากฎหมายเสียอีก) กล่าวคือ ไม่ริเริ่มนโยบายใหม่ ไม่ทำอะไรที่จะผูกมัดรัฐบาลต่อไป กำกับให้งานประจำดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุดเท่านั้น

และด้วยเหตุดังนั้น รัฐมนตรีซึ่งจะลงเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพื่อให้งานประจำของรัฐดำเนินต่อไป แต่ไม่สามารถใช้อำนาจทางการเมืองซึ่งมีอยู่ตามตำแหน่งไปเป็นเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองได้

ตัวบทของกฎหมายซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรคือส่วนเดียวของสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” เท่านั้น (คิดถึงคำว่า Law และ law ในภาษาอังกฤษให้ดี) ความหมายที่แท้จริงของกฎหมายยังมีแบบธรรมเนียมซึ่งถือปฏิบัติมานาน และที่สำคัญเหนืออื่นใดคือหลักการบางอย่าง ซึ่งกฎหมายบังคับใช้เพื่อตอบสนองต่อหลักการนั้น และอำนวยให้หลักการนั้นดำรงอยู่อย่างมั่นคงแข็งแรง

หลักการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียม คือหลักการที่ต้องดำรงอยู่อย่างมั่นคงในการเลือกตั้ง รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเปี่ยมควรดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปหรือไม่ เมื่อตัดสินใจลงแข่งขันทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง จะไปค้นหาถ้อยคำวรรคตอนตัวสะกดในกฎหมายเหมือนอ่าน กำศรวลสมุทร ไม่ได้ แบบธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาก็ตาม และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลักการความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการเมืองของการเลือกตั้ง หากไม่ต้องการรักษาหลักการข้อนี้ จะจัดเลือกตั้งไปทำไม

แต่เพราะอ่านกฎหมายกันตามแนวอักษรศาสตร์เช่นนี้แหละ ที่ทำให้ 4 รัฐมนตรีซึ่งอาสาไปรวบรวมที่นั่งในสภาหลังการเลือกตั้งเพื่อมาสนับสนุนคณะ คสช.ต่อไป ออกมาแก้ตัวด้วยเหตุผลของเด็กอมมือว่า ตนจะใช้โอกาสนอกเวลาราชการเท่านั้นในการไปดำเนินงานทางการเมือง ประหนึ่งว่าอำนาจทางการเมืองเปิด-ปิด ได้ด้วยเวลาราชการ เหมือนสถานที่ราชการ

บางคนบอกว่าพวกเขาหน้าด้าน ผมไม่ทราบว่าเขาโง่จริงหรือแกล้งโง่ (ที่คิดว่าคนไทยโง่ถึงขนาดเชื่อเหตุผลของเด็กอมมือได้) ก็คนขนาดมือกฎหมายยังอ่านกฎหมายเหมือนกำศรวลสมุทรถึงเพียงนั้น ก็ยากที่จะทำให้พรรคพวกกำกับความโลภความหลงของตนเองให้อยู่ในขอบเขตที่พองามได้ ในเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามลายลักษณ์อักษรของกฎหมายหมดแล้ว

ผมกลับไปเช็กดูว่ามือกฎหมายคนนั้นเป็นรุ่นน้องอักษรศาสตร์ของผมสักกี่รุ่น ปรากฏว่าเขาไม่เคยเป็นศิษย์เก่าของคณะอักษรศาสตร์เลย ผมรู้สึกตระหนกอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะเขาไม่ใช่รุ่นน้องอย่างที่เข้าใจ แต่เพราะกฎหมายในเมืองไทยถูกอ่าน-สอน-เรียน-ใช้-บังคับใช้ หรือแม้แต่พิพากษาด้วยความหมายตามลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวอย่างมากต่างหาก

กฎหมายไทยมี “ปาฏิหาริย์”, “อภินิหาร”, “เล่นกล”, หรือ “ตุลาการภิวัตน์” ได้ ก็เพราะกฎหมายถูกอ่านและใช้อย่างไม่สนใจหลักการซึ่งอยู่เบื้องหลังข้อบังคับเหล่านั้น เพราะลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวกำหนดความหมายให้ตายตัวไม่ได้ เช่นเดียวกับกำศรวลสมุทร อ่านสิบคนก็มีความหมายสิบอย่าง แม้แต่คนเดียวกันอ่านคนละเวลาก็อาจให้ความหมายที่ต่างออกไปได้

หากความหมายของกฎหมายขึ้นอยู่กับการตีความของ “มือ” กฎหมายตามใจชอบเช่นนี้ มือกฎหมายย่อมสามารถสร้างอภินิหารหรือปาฏิหาริย์ของกฎหมายได้ตามใจชอบของตนหรือของ “นาย” ได้เสมอ และความหมายนั้นอาจขัดแย้งกับหลักการและธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างไรก็ได้ ภายใต้ภาวะอย่างหนึ่ง การกระทำอย่างนี้ถือเป็นเสรีภาพ แต่ภายใต้ภาวะอีกอย่างหนึ่ง การกระทำอย่างเดียวกันกลับถูกห้ามปรามและลงโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายจึงไม่แตกต่างจากคำสั่งโจร เพราะไม่มีหลักการใดๆ เพื่อความเจริญผาสุกและก้าวหน้าของสังคมรองรับเลย

อำนาจเถื่อนต่างๆ ที่ใช้ในการฉีกกฎหมายไทยนั้น อาจอ้างว่ากฎหมายนั้นๆ ยังไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญแก่ชาติ แต่หลักการของกฎหมายเหล่านั้น เช่น ความยุติธรรม, ความเป็นธรรม, มนุษยธรรม, และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เล่า ไม่สำคัญและไม่จำเป็นแก่ชาติด้วยหรือ เมื่อกฎหมายถูกฉีก ไม่ใช่เศษกระดาษชิ้นหนึ่งถูกฉีกทิ้ง แต่หลักการที่จำเป็นและขาดไม่ได้ของสังคมมนุษย์ซึ่งอยู่เบื้องหลังกฎหมายนั้น ก็ถูกฉีกทิ้งทำลายไปพร้อมกัน

แม้กระนั้นอำนาจเถื่อนต่างๆ ที่กระทำย่ำยีกฎหมายไทยตลอดมา ก็อาจแสวงหามือกฎหมายมารับใช้ได้ไม่ยากตลอดมาเหมือนกัน ไม่มีมือกฎหมายไทยคนใดรู้สึกตะขิดตะขวงว่า จะร่างกฎหมายใหม่ขึ้นบนหลักการอะไร ภาระของเขาเพียงแต่หาถ้อยคำในภาษาไทยมาทำให้ความต้องการอันไร้หลักการของอำนาจเถื่อนมีหน้าตาเป็นกฎหมายเท่านั้น

กฎหมายจึงกลายเป็นคำสั่งของบุคคล เพื่อประโยชน์ของบุคคล ความหมายของมันถูกกำหนดไว้อย่างแน่ชัดในอักขรวิธี, วจีวิภาค และวากยสัมพันธ์ของตัวบท โดยไม่สัมพันธ์กับหลักการอะไรทั้งสิ้น นอกจากประโยชน์ของบุคคลผู้ถืออำนาจ และนั่นคือเหตุผลที่นักกฎหมายไทยบางคนแยกไม่ออกว่า คำสั่งของโจรกับคำสั่งของรัฐต่างกันอย่างไร

อันที่จริงซ่องโจรกับรัฐนั้นต่างกันนิดเดียว แต่เป็นนิดเดียวที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือในซ่องโจร กฎเกณฑ์และการบังคับใช้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในขณะที่ในรัฐ กฎเกณฑ์และการบังคับใช้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์สาธารณะ

พรรคพวกที่ใกล้ชิดกับหัวหน้าโจร ทำอะไรก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะความหมายของกฎหมายมีอยู่เพียง ในลายลักษณ์อักษรของตัวบทเท่านั้น จึงอาจ “อ่าน” ให้มีความหมายอย่างไรก็ได้ ในทางตรงกันข้าม กลับ “อ่าน” กฎหมายฉบับเดียวกันเพื่อลงโทษคนที่ไม่ใช่พรรคพวกของหัวหน้าโจร หรือเป็นอริกับหัวหน้าโจร

ลายลักษณ์อักษรของตัวบทของกฎหมายในรัฐ อาจเข้าใจได้จากหลักการของความสัมพันธ์สาธารณะ การกระทำใดๆ ที่เป็นภัยในระยะสั้นหรือในระยะยาวแก่ความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อประโยชน์ส่วนรวม ย่อมเป็นความผิดเสมอ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นใครก็ตาม และไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจใกล้ชิดสักเพียงไรก็ตาม

อันที่จริง แม้แต่ความแตกต่างระหว่างรัฐที่เจริญก้าวหน้ากับรัฐล้าหลังก็อยู่ตรงนี้เหมือนกัน การปกครองของรัฐล้าหลังตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนบุคคล รัฐที่เจริญก้าวหน้าคือรัฐที่พยายามดิ้นให้หลุดจากแบบปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนบุคคล มาเป็นความสัมพันธ์สาธารณะ แม้แต่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ก้าวหน้า ซึ่งโดยหลักการแล้ว อำนาจย่อมมีฐานมาจากบุคคล แต่ในรัฐประเภทนั้นหลายรัฐ อำนาจของบุคคลกลับมีความมั่นคงขึ้น หากทำให้การบริหารเป็นไปตามหลักการความสัมพันธ์สาธารณะ (ด้วยเหตุผลที่พันท้ายนรสิงห์กราบทูลพระเจ้าเสือในเรื่องเล่านั่นแหละ)

หากกฎหมายในประเทศไทยถูกสอน-เรียน-ใช้-บังคับใช้-พิพากษากันตามตัวอักษร โดยไม่มีหลักการที่พ้นไปจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล นักกฎหมายก็จะเป็นข้ารับใช้ของอำนาจเถื่อนตลอดไป เพราะนักกฎหมายไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาแห่งอำนาจของผู้มีอำนาจ ดูอยู่อย่างเดียวคือสอดคล้องกับอักษรในตัวบทหรือยัง ถ้ายังก็ “อ่าน” ใหม่ให้สอดคล้อง ตราบเท่าที่เป็นอยู่เช่นนี้ การปกครองของรัฐไทยก็ยังเป็นเรื่องของบุคคลอยู่ตราบนั้น

กฎหมายจะแสดงปาฏิหาริย์แก่บางคน และบางกรณีตลอดไป กฎหมายจึงไม่ใช่กฎหมาย เป็นแต่เพียงความต้องการตามอารมณ์ของผู้มีอำนาจเท่านั้น ดังที่เกิดในประเทศล้าหลังทั่วไป



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1188428[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.