Posted: 04 Feb 2019 04:41 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-02-04 19:41


บอร์ด สปสช. ชี้หลักประกันสุขภาพฯ ปี 61 บรรลุตามเป้า ทั้งเบิกจ่ายงบประมาณ ดูแลผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการ ครอบคลุมทั่วถึง ช่วยลดครัวเรือนยากจนจากค่ารักษาลง จากร้อยละ 2.01 ในปี 45 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 60 งบประมาณปี 61 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ

4 ก.พ. 2562 วันนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ โดยที่ประชุมได้มีมติรับรองผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณและการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของประชาชนผู้มีสิทธิ์ จากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลที่ได้รวมกับงบกลางที่เพิ่มเติม จำนวน 130,719.62 ล้านบาท (หลังหักเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ) ทั้งในส่วนของงบบริการสาธารณสุขเหมาจ่ายรายหัวและงบบริการเฉพาะ อาทิ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น

ในปีงบประมาณ 2561 มีประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.803 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66.24 ล้านคน สามารถดำเนินการดูแลครอบคลุมผู้มีสิทธิได้ถึงร้อยละ 99.94 มีการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 184.6 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.73 ครั้ง/คน/ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราเข้ารับบริการเกิน 7 ครั้ง/คน/ปี ส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยใน อยู่ที่ 6.2 ล้านครั้ง หรือ 0.12 ครั้ง/คน/ปี

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะที่การดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มที่แยกบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั้งผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่ตามเป้าหมาย โดยบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ป่วยรับบริการ 261,930 คน การการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 74,857 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 57,288 คน การควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดัน) 3.93 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 10,389 คน ผู้อายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 211,290 คน นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2561 ได้เพิ่มเติมค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ 202แห่ง จากที่กำหนดเป้าหมาย 175 แห่ง อย่างไรก็ตามมีเพียงบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริการ 332,968 ครั้ง หรือร้อยละ 51.1 ซึ่งต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายในปีต่อไป

สำหรับในส่วนหน่วยบริการในระบบบัตรทองนั้น ปี 2561 มีหน่วยบริการที่ร่วมดูแลประชากรผู้มีสิทธิจำนวน12,151 แห่ง ครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริกรประจำ หน่วยบริการ และหน่วยบริการรับส่งต่อ รวมถึงหน่วยบริการไม่ได้จัดเครือข่าย โดยเป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11,070 แห่ง กระทรวงอื่นๆ 240แห่ง เอกชน 527 แห่ง และท้องถิ่น 314 แห่ง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ยังได้มีการรายงานในส่วนภาพรวมการคลังสุขภาพ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2533-2560 โดยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ขณะที่รายจ่ายสุขภาพโดยรวมของทั้งประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.02เมื่อเทียบกับ GDP

การลดลงของครัวเรือนที่ต้องยากจนลงจากจ่ายค่ารักษาหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากร้อยละ2.01 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 2560 หรือจาก 2.2 แสนครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 5.2 หมื่นครัวเรือนในปี 2560, ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจากร้อยละ 4.06 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ2.26 ในปี 2560 หรือจาก 6.6 ครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 4.8 แสนครัวเรือนในปี 2560 และสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจากครัวเรือนจากร้อยละ 27 ในปี 2545 ลดลงเหลือร้อยละ 11.32 ในปี 2560

“จากผลดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับครัวเรือน ช่วยลดวิกฤตทางการเงิน โดยเฉพาะจากโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ส่งผลต่อความพึ่งพอใจของประชาชนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 93.93 ขณะที่ความพึงพอใจผู้ให้บริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 70.67 ซึ่งเกิดจากผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.