Posted: 05 Feb 2019 12:59 AM PST
Submitted on Tue, 2019-02-05 15:59

อันนา หล่อวัฒนตระกูล และธรรมชาติ กรีอักษร : เรื่อง
กิตติยา อรอินทร์ : ภาพ


แนะนำหนังสือดีอีก 8 เล่มที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งจากถ้อยคำของผู้เป็นเหยื่อโดยตรงและจากเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้น พร้อมตั้งคำถามว่าความโหดร้ายอันเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันลบเลือนได้ของมนุษยชาตินั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเราจะทำอย่างไรอาชญากรรมอันร้ายแรงระดับนั้นจึงจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก


หลังจากได้แนะนำหนังดีทั้ง 8 เรื่องที่จะพาเราไปทำความรู้จักกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมุมมองของมนุษย์ที่มีใบหน้าและมีหัวใจกันไปแล้ว เราขอแนะนำหนังสือดีอีก 8 เล่มที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งจากถ้อยคำของผู้เป็นเหยื่อโดยตรงและจากเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ซึ่งให้ใบหน้าและเลือดเนื้อแก่เหยื่อที่หลงเหลือเพียงตัวเลขในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงมุมมองแบบนักวิชาการ ซึ่งชวนเรามาตั้งคำถามว่าความโหดร้ายอันเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันลบเลือนได้ของมนุษยชาตินั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเราจะทำอย่างไรอาชญากรรมอันร้ายแรงระดับนั้นจึงจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก

การอ่านวรรณกรรมอาจทำให้เราเข้าใจบาดแผลของผู้อื่นมากขึ้น อาจสอนให้เราเข้าใจความเจ็บปวดของผู้ที่ไม่ใช่เราและไม่ใช่พวกพ้องของเรา อีกทั้งยังอาจชวนให้เราหันมองชีวิตและบ้านเมืองของเราเองว่ากำลังเดินไปทางใด เราจะรักษาเสรีภาพของเราไว้ได้อย่างไร และทำอย่างไรเราจึงจะไม่ตกหลุมแห่งความเกลียดชังจนถึงกับยินยอมพร้อมใจส่งเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไปสู่ความตาย ดังเช่นที่ซูซาน ซอนทาคได้กล่าวไว้ว่า

“วรรณกรรมอาจถูกเรียกได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของการตอบสนองของมนุษย์ต่อสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่กำลังจะตายในขณะที่วัฒนธรรมต่างๆพัฒนาไปและมีปฏิสัมพันธ์กับกันและกัน...วรรณกรรมสามารถบอกเราว่าโลกเป็นอย่างไร วรรณกรรมให้บรรทัดฐานและเป็นเครื่องส่งต่อความรู้ที่บรรจุอยู่ในภาษาและในเรื่องเล่า วรรณกรรมสามารถสอนเราและฝึกฝนเราให้สามารถร้องไห้ให้กับผู้ที่ไม่ใช่ตัวเราหรือพวกพ้องของเรา”

000


แนะนำ 8 หนังดีเกี่ยวกับ ‘นาซี’, 30 ม.ค. 2562

Night

โดย เอลี วีเซล (Elie Wiesel)
พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2501
ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “คืนดับ” แปลโดยสายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอ้มายก้อด


นวนิยายซึ่งเขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของเอลี วีเซล ซึ่งเป็นนักโทษในค่ายกักกันเอาท์ชวิตซ์และบูเคนวัลด์ในช่วงปีค.ศ. 1944 – 1945 “คืนดับ” เป็นเรื่องเล่าของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่สูญสลายไปด้วยผลแห่งความโหดร้ายของชีวิตในค่ายกักกัน และความเป็นมนุษย์ที่ถูกทำลายไปจนไม่เหลือแม้แต่ความต้องการจะมีชีวิตอยู่ ดังที่เอลี วีเซลได้เขียนไว้

“ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมความเงียบสงัดในค่ำคืนนั้นที่ได้พาความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ไปจากข้าพเจ้าจนหมดสิ้น ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมช่วงเวลาเหล่านั้นซึ่งได้ฆ่าพระเจ้าและจิตวิญญาณของข้าพเจ้าและทำลายความฝันของข้าพเจ้าจนเป็นผุยผง”

ซึ่งเรื่องเล่าของการสูญเสียตัวตนและความเป็นมนุษย์นี้พบเห็นได้มากในวรรณกรรมว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาซี เมื่ออยู่ในค่ายกักกัน นักโทษสูญเสียทุกอย่าง ตัวตนของพวกเขาถูกลดทอนลงจนเหลือเพียงตัวเลขที่สักไว้บนแขน และความเจ็บปวดของอาชญากรรมสงครามนาซีกลับกลายเป็นบาดแผลที่อาจไม่มีวันเลือนหายของมนุษย์ชาติ วีเซลเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้สิบปีหลังจากค่ายกักกันบูเคนวัลด์ถูกปลดปล่อย โดยเขากล่าวว่า “ใน “คืนดับ” ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงจุดจบ...ทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นลง – มนุษย์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศาสนา พระเจ้า ไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก แต่ถึงกระนั้นเราก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้งในยามราตรี”

นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในงานเขียนไตรภาคของเอลี วีเซลที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเล่มที่สองและสาม คือ “Dawn” และ “Day”

The Diary of a Young Girl

โดย แอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank)
พิมพ์ครั้งแรกในภาษาดัชท์ปี 2490 ภาษาอังกฤษปี 2495
ฉบับภาษาไทยชื่อว่า “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์” แปลโดยสังวร ไกรฤกษ์ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ


แอนน์ แฟรงค์ได้รับสมุดไดอารี่ปกสีแดงเป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ 13 ปี ซึ่งแอนน์ตั้งชื่อว่า “คิตตี้” หนึ่งเดือนต่อมา พี่สาวของแอนน์ได้รับใบเรียกให้ไปรายงานตัว ครอบครัวของเธอจึงต้องย้ายจากบ้านไปหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องชั้นบนของตึกที่ทำงานของพ่อของเธอ โดยประตูทางเข้าถูกบังไว้ด้วยชั้นหนังสือ หลังจากแอนน์เสียชีวิตในค่ายกักกันเบอร์เกน-เบลเซน ขณะที่มีอายุได้ 15 ปี พ่อของเธอ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวของครอบครัว ได้ตีพิมพ์ไดอารี่ของเธอ

แอนน์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1945 ถ้าหากในขณะนี้เธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจะมีอายุ 90 ปี และถึงแม้ว่าเธออาจไม่มีชีวิตรอดมาเล่าเรื่องราวของตัวเองเหมือนกับเอลี วีเซล แต่ข้อความในไดอารี่ที่เธอทิ้งไว้ก็เป็นเหมือนตัวแทนของเธอและสื่อกลางในการเล่าเรื่องราวของชีวิตที่ถูกตัดให้สั้นไปด้วยเหตุแห่งสงคราม ขณะนี้ “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์” ได้มีการแปลไว้แล้วถึง 60 ภาษา และอาจถือเป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธ์นาซีที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดในโลก

The Book Thief

โดย มาร์คัส ซูซัก (Markus Zusak)
พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2548
ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “จอมโจรหนังสือ” แปลโดยบีจา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพิร์ล พับบลิชชิ่ง
สร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2556 กำกับโดย ไบรอัน เพอร์ซิวาล (Brian Percival)
โซฟี เนลิสเซ (Sophie Nélisse) รับบทลีเซล เมมิงเจอร์


ในนวนิยายเรื่องนี้ ความตายเป็นผู้เล่าเรื่องราวของลีเซล เมมิงเจอร์วัย 10 ปี ซึ่งพ่อของเธอหายตัวไป น้องชายเสียชีวิต และแม่จำต้องส่งลีเซลให้กับพ่อแม่อุปถัมป์ ลีเซลล์เริ่มขโมยหนังสือจากที่ต่างๆ รวมไปถึงจากในกองไฟที่ทหารนาซีกำลังเผาหนังสือเพื่อฉลองในวันเกิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นอกจากนี้พ่อแม่อุปถัมป์ของลีเซลยังให้ที่หลบซ่อนกับชายชาวยิวคนหนึ่ง อันเป็นการกระทำที่อาจหมายถึงความตายในนาซีเยอรมนี นวนิยายเรื่องนี้เลือกเล่าเรื่องราวของการใช้ชีวิตในนาซีเยอรมนีผ่านสายตาของเด็กหญิง ซึ่งถึงแม้ว่าเธอจะไม่ใช่นักโทษในค่ายกักกันเ ลีเซลเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นกัน โดย “จอมโจรหนังสือ” เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงพลังของถ้อยคำและงานเขียนในห้วงเวลาแห่งความเกลียดชัง เป็นเรื่องราวของความกล้าหาญของผู้ที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำ แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือนั้นอาจเป็นอันตรายต่อตัวพวกเขาเอง เรื่องราวของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในโลกที่โหดร้าย เรื่องราวของชีวิตและความตาย

Sophie Scholl กุหลาบขาวและนาซี

โดย ไพรัช แสนสวัสดิ์
พิมพ์ครั้งแรกปี 2559 โดยสำนักพิมพ์ Way of Book


โซฟี โชล เป็นสมาชิกของ “ขบวนการกุหลาบขาว” กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่ต่อต้านระบอบนาซีโดยใช้สันติวิธี ไม่ใช่อาวุธ ใช้เพียงถ้อยคำ ต่อมาโซฟีถูกจับข้อหากบฏหลังจากเธอถูกพบว่าแจกใบปลิวต่อต้านสงครามในมหาวิทยาลัยมิวนิค เธอและฮันส์ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกระดับแกนนำของกลุ่มถูกตัดสินประหารชีวิต

เรื่องราวของโซฟีและขบวนการกุหลาบขาวคือเรื่องเล่าของกลุ่มคนเล็กๆที่แม้อาจไม่มีพลังอำนาจมากมาย แต่เป็นผู้ยึดมั่นในหลักการและกล้ายืนหยัดต่อสู้กับความโหดร้ายและอยุติธรรม และถึงแม้ว่าจะไม่มีแรงสนับสนุนมากมายในเวลานั้น เรื่องราวของโซฟีและขบวนการกุหลาบขาวก็ได้กลายเป็นตำนานในปัจจุบัน โดยในมหาวิทยาลัยมิวนิคยังมีจัตุรัสชื่อ “จัตุรัสสองพี่น้องโชล” ซึ่งเป็นที่ระลึกถึงฮันส์และโซฟี หนังสือเล่มนี้อาจไม่เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าของประวัติศาสตร์ที่ไกลตัว แต่อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราควรตั้งคำถามต่อระบบและยืนหยัดต่อสู้ความโหดร้ายแทนที่จะเงียบเสียงไว้ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอยได้อีกครั้งเช่นกัน

I Serve the King of England (Obsluhoval jsem anglického krále)

โดย โบฮุมิล ฮราบัล (Bohumil Hrabal)
พิมพ์ครั้งแรกในภาษาเช็ก ปี 2514 ภาษาอังกฤษปี 2532


นวนิยายเรื่องนี้คือเรื่องของชายนามดีเจ (Dítě เป็นภาษาเช็ค แปลว่าเด็ก) ซึ่งทำงานอยู่ในโรงแรมในกรุงปราก คนรักของเขาคือลีเซ่นั้นเป็นชาวเยอรมันและเป็นผู้สนับสนุนฮิตเลอร์อย่างสุดจิตสุดใจ ยานและลีเซ่แต่งงานกันและย้ายไปอยู่ในสถานตากอากาศสำหรับหญิงชาวอารยันของพรรคนาซี เมื่อเขาและภรรยาต้องการมีบุตร ยานต้องถูกตรวจร่างกายเพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้มีบุตร เนื่องจากเขาไม่ใช่ชาวเยอรมัน นี่คือนวนิยายที่ชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างเหยื่อและผู้กระทำ ยานนั้นอาจไม่ได้สนับสนุนระบอบนาซีอย่างเต็มตัว แต่เขาก็ไม่ได้ต่อต้านเช่นกัน เขาเพียงแต่ใช้ชีวิตไป พยายามไปให้ถึงความฝัน เช่นนี้แล้ว เขาทำผิดหรือเปล่าที่เลือกจะใช้ชีวิตของตัวเองโดยไม่ต่อต้านหรือตั้งคำถามกับระบอบ เขาคือผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำกันแน่ นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องนี้ยังชวนให้คิดถึงผลกระทบของสงคราม ที่ไม่ได้มีผลแค่กับผู้ที่เป็นเหยื่อโดยตรง หรือเป็นผู้กระทำโดยตรงเท่านั้น

I Serve the King of England ได้มีการสร้างเป็นภาพยนตร์โดยยิชี เมนเซล ผู้กำกับชาวเช็ค และได้ฉายครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2549

Why Read Hannah Arendt Now?

โดย ริชาร์ด เจ. เบิร์นสไตน์ (Richard J. Bernstein)
พิมพ์ครั้งแรกปี 2561


หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Richard J. Bernstein นักวิชาการจาก New School for Social Research และเพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2018 นี้เอง หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอความคิดและงานเขียนของ Hannah Arendt ที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในยุครว่มสมัย

ผู้เขียนบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตและแนวคิดที่สำคัญของ Hannah Arendt นักคิดคนสำคัญแห่งยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งลี้ภัยจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีมาอยู่ฝรั่งเศส และเมื่อฝรั่งเศสถูกยึดครอง ก็ได้ย้ายหนีมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1941 ในระหว่างนี้ อาเรนท์ต้องเป็นคนไร้รัฐเป็นเวลานาน

ในช่วงชีวิตของเธอ เธอได้พัฒนา​แนวคิดขึ้นมากมาย งานบางส่วนของเธอเขียนขึ้นเพื่อศึกษา​ระบอบนาซี​ในช่วงดังกล่าว​ หนึ่งในงานที่สำคั​ญ​ของเธอ คือ งานเขียนเรื่อง Eichmann in Jerusalem ซึ่ง​เธอ​เสนอ​ว่า​ความ​โหดร้าย​ในระบอบนาซีเป็นสิ่งซึ่งสามัญ​ธรรม​ดา (banal)​ และเกิดขึ้น​เพียงเพราะ​ความ​สิ้นไร้ซึ่งความ​สามารถ​ในการคิด (thoughtlessness)​ มากกว่า​ที่​จะเกิดจากจิตวิญญาณ​ซาตานที่ต้องการทำลายล้างโลกของปีศาจผู้ชั่ว​ร้าย

หลายคนเห็นอย่างกับอาเรนท์อย่างรุนแรง แต่อาเรนท์ไม่ได้พยายาม​บอกว่า​ความ​โหดร้ายของระบอบนาซี​เป็น​เรื่องปกติ​ เธอพยายาม​เสนอให้เห็น​ว่าความชั่วร้ายนั้นทำงานอยู่ได้เพราะการที่คนไร้ซึ่งความสามารถ​ในการคิดเช่นนี้เอง และวิธีการแก้ปัญหา​ความโหดร้าย​เช่นนี้อาจสามารถเริ่มต้น​ได้ด้วยการคิด หนังสือเล่มนี้นำแนวคิดต่าง ๆ ของ Hannah Arendt​ ให้อ่านง่าย และชี้ให้เห็น​ว่าแนวคิดของเธอ ยิ่งสำคัญ​ในยุคร่วมสมัยที่เราใช้ชีวิต​อยู่​

Escape from Freedom

โดย อีริค ฟรอมม์ (Eric Fromm)
พิมพ์ครั้งแรกปี 2484
ฉบับภาษาไทยชื่อ “หนีไปจากเสรีภาพ” แปลโดยสมบัติ พิศสะอาด


หนังสือ Escape from Freedom เขียนโดย อิริก ฟรอมม์ นักจิตวิเคราะห์ชาวยิวที่หนีออกมาจากเยอรมนีภายใต้ระบอบนาซีใน ค.ศ. 1934 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1941 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 อิริก ฟรอมม์ วิเคราะห์เงื่อนไขทางสังคมในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางถึงศตวรรษที่ 20 เพื่ออธิบายว่าเหตุใดมนุษย์ถึงหนีเสรีภาพ จนนำไปสู่การขึ้นมาของระบอบนาซีและฮิตเลอร์

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่การขาดไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ แต่อาจเป็นเพราะลักษณะนิสัยของมนุษย์บางอย่างไม่สามารถหลีกหนีจากอิทธิพลของปัจจัยทางสังคมที่สร้างมันขึ้นมาได้ ในทางจิตวิทยาแล้ว มนุษย์เป็นปัจเจกที่รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์สามารถจัดการกับความโดดเดี่ยวได้หลายวิธี

อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมกลับยิ่งทำให้มนุษย์รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก ด้วยเหตุนี้ การยอมเชื่อฟังจำนนต่อผู้มีอำนาจภายใต้ระบอบนาซีจึงเป็นวิธีหนึ่งในการหลีกหนีความโดดเดี่ยวดังกล่าว ผู้เขียนเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจไปสู่สังคมนิยม เป็นทางเลือกที่สามารถแก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวทางจิตวิทยาดังกล่าวได้ และอาจป้องกันไม่ให้ระบอบอำนาจนิยมอย่างเผด็จการนาซีเกิดขึ้นอีก
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

โดย ภาณุ ตรัยเวช
พิมพ์ครั้งแรกปี 2559 โดยสำนักพิมพ์มติชน


วาทกรรม “ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง” อยู่คู่กับการเล่าเรื่องราวของเยอรมนีในยุคนาซีมาเป็นเวลานาน แต่หนังสือเล่มนี้พยายามที่จะลบล้างวาทกรรมดังกล่าวด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาพของสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในเยอรมนี แต่ก็อาจถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนที่สุดของประเทศด้วยเช่นกัน ประชาธิปไตยในสาธารณรัฐไวมาร์ล่มสลายลงได้อย่างไร เผด็จการนาซีเยอรมนีกำเนิดมาได้อย่างไร นี่คือคำถามที่หนังสือเล่มนี้ต้องการตอบ ซึ่งอาจทำให้เราต้องย้อนมามองดูบ้านเมืองของเราเองว่ากำลังเดินไปในเส้นทางใด และเราจะทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราหรือสร้างความเกลียดชังในระดับที่จะทำให้เราผลักผู้อื่นไปสู่ความตาย
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.