Posted: 31 Jan 2019 04:42 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-31 19:42
เรื่อง: นลัทพร ไกรฤกษ์
ภาพ: คชรักษ์ แก้วสุราช และ มูลนิธิกระจกเงา
รายงานเปิดชีวิตคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตเวช พบเป็นจำนวนมากในกทม.และปริมณฑล ปี 2559 มูลนิธิกระจกเงาเก็บข้อมูลมี 125 คน ปี 2560 มูลนิธิอิสรชนเก็บข้อมูลมี 700 กว่าคน เราติดตามกระจกเงาลงพื้นที่พบหลากหลายกรณี รวมถึงผู้หญิงที่คลอดลูกข้างถนนแล้วลูกเสียชีวิตมา 3 ครั้งแล้ว พร้อมกันนี้จะพาไปดูระบบการดูแล ตั้งแต่การส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล การเข้าสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งโดยระบบปัจจุบันยังห่างไกลจากปลายทางที่จะทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขอย่างมาก
“ถ้าลุงไปแล้วใครจะให้หวย”
ป้าคนหนึ่งในละแวกนั้นพูดถึงฟังก์ชันของ ‘ลุงอ้วน’ ขึ้นมา ขณะที่ตำรวจกำลังนำตัวแกไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
วันนั้น เราและมูลนิธิกระจกเงาในส่วนของโครงการผู้ป่วยข้างถนนนัดเจอกันแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อนำส่งลุงอ้วนไปโรงพยาบาล แดดร้อน แต่ลุงอ้วนก็ยังนั่งตัวเปล่าเปลือยบนสะพานข้ามคลองเล็กๆ ที่รถขับเบียดกันไปมาอย่างลำบาก คนแถวนั้นต่างก็กลัวว่า สักวันลุงอ้วนจะโดนรถชนเข้าจนได้
ลุงอ้วนเป็นชายวัยห้าสิบเศษ ตัวใหญ่ ผิวคล้ำ และยิ่งคล้ำมากขึ้นอีกโขเพราะแกไม่ได้อาบน้ำมานานมากแล้ว คำบอกเล่าที่หนึ่งบอกว่า แกเป็นคนแถวนี้ มีบ้านแถวนี้ มีญาติพี่น้องแถวนี้ คำบอกเล่าที่สองบอกว่า แกมีญาติมาหาเรื่อยๆ เอาเงินมาให้แล้วก็หายไป คำบอกเล่าที่สามพยายามชี้ทิศทางของบ้านแก บ้านซึ่งไม่รู้มีจริงหรือเปล่า และคำบอกเล่าที่ สี่ ห้า หก ที่เรื่องราวไม่เคยตรงกัน
ตามดู-รู้จัก-เตรียมนำส่ง
ว่ากันตามตรง เราคุ้นเคยกับคนไร้บ้านที่นั่งอยู่ตามฟุตปาธ ป้ายรถเมล์ หรือหน้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ กันระดับหนึ่ง การมีอยู่ของพวกเขาเป็นเรื่องชินตาและผ่านเลยไป จนกระทั่งบางคนเริ่มคลุ้มคลั่ง อาละวาด ถืออาวุธ ทำร้ายตัวเองหรือคนรอบข้าง จึงเริ่มทำให้เรารู้สึกว่าการมีอยู่ของคนไร้บ้านนั้นน่ากลัว เป็นภัย เราขยับสถานะของเขาโดยเรียกว่า “คนบ้า” พร้อมกับรีบยกหูโทรแจ้งตำรวจให้มาจัดการนำตัวไป
คนบ้าข้างถนนที่หลายๆ คนเรียกกัน บางส่วนเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่หนีออกจากบ้านมา หลายคนมีบ้านและครอบครัว แต่ด้วยสภาพแวดล้อม ความกดดันและเหตุผลร้อยแปดที่ปะทะกับอาการป่วย บ้านจึงไม่ใช่สถานที่ที่พวกเขาหลายคนเลือกอยู่ จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาพบว่า ในปี 2559 มีคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ประมาณ 1,300 คน เป็นหญิง 202 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชร้อยละ 9.64 หรือ 125 คน แต่ในปี 2560 ข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชนกลับพบว่า คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็น 3,630 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 740 คน
ภาพโดย กิตติยา อรอินทร์
สิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงาเล่าว่า เมื่อทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านถึงได้เห็นว่ามีผู้มีอาการทางจิตร่วมด้วยเป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดเป็นโครงการผู้ป่วยข้างถนนเพื่อทำงานกับกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ปัญหาที่พบคือผู้ป่วยอาศัยข้างถนนเป็นที่พักพิง บ่อยครั้งจึงถูกทำร้ายร่างกาย ถูกไล่ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือกลั่นแกล้งเหมือนของเล่น แต่ผู้ป่วยข้างถนนก็จำเป็นต้องอยู่ตรงนั้นต่อ และหากมีการปรากฏตัวตามพื้นที่สาธารณะของผู้ป่วย ผู้คนก็มักเลือกถอยห่างเพื่อความปลอดภัย
ลุงอ้วนที่นั่งอยู่บนสะพานข้ามคลอง ยิ้ม โบกมือทักทายให้กับคนที่เดินผ่านไปมา ไม่มีสัญญาณอันตรายใดๆ จากเขา ไม่กี่นาทีลุงก็ลุกขึ้นแล้วเดินไปเข็นรถซาเล้งคันเก่าเข้าไปเก็บไว้ในวัดใกล้ๆ จากนั้นออกมานั่งบ่นอะไรสักอย่างบนสะพานเดิม
“เค้าขโมยรถไป” ลุงพูดซ้ำๆ เราค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้เพื่อคุยกับลุง จนกระทั่งลุงบอกหิวและบอกว่าอยากกินข้าวไข่เจียว 10 ฟองกับเป๊ปซี่ เงินถูกควักออกจากถุงย่าม เดินหายไป สักพักก็กลับมาพร้อมข้าวไข่เจียวกล่องมหึมา
ถ้าหากลุงอ้วนไม่ผมเผ้ารุงรัง เนื้อตัวสกปรก กินข้าวไข่เจียววันละหลายฟองจนปวดท้องและซัดยาธาตุเข้าไปทีละเกือบสิบขวด คนในละแวกนั้นก็คงไม่เอะใจและแจ้งหน่วยงานให้มาเอาตัวแกไป
ปัญหาของการระบุตัวตนผู้ป่วยเป็นปัญหาใหญ่ที่กระจกเงาก็ยอมรับว่ายังแก้ไม่ตก จึงทำให้กว่าจะได้รับแจ้งและรับตัวผู้ป่วยจิตเวชข้างถนนเข้าสู่กระบวนการรักษา อาการพวกเขาก็หนักมากแล้ว หลายคนหูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว และเริ่มทำร้ายคนรอบข้างด้วยความหวาดระแวง นอกจากนี้พวกเขาหลายคนไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย
แล้วพวกเขาจะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างไร?
เมื่อกล่องข้อความเฟสบุ๊คของโครงการผู้ป่วยข้างถนนเตือนขึ้นมาเพราะมีคนแจ้งเคสผู้ป่วย ทีมงานจะตรวจสอบเพื่อแยกแยะ ‘ผู้ป่วยข้างถนน’ออกจากคนไร้บ้านทั่วไป และกำหนดวิธีลงพื้นที่ประเมินผู้ป่วยเพื่อลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน โดยขั้นต้นจะถามผู้แจ้งกลับไปด้วยคำถาม 10 ข้อ คือ รูปถ่ายผู้ป่วย, เพศ, ช่วงอายุ, เวลาที่พบ, ระยะเวลาที่พบ, สถานที่ที่พบ, ลักษณะภายนอกทั่วไป เช่น เสื้อผ้า รูปร่าง, พฤติกรรมที่สังเกตได้, ข้อมูลจากคนแถวที่ผู้ป่วยอยู่ และชื่อ เบอร์โทรติดต่อกลับของผู้แจ้ง หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่ติดตาม ถ้าไม่เจอก็จะเดินเท้าและสอบถามจากคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เช่น วินมอเตอร์ไซค์ เจ้าของร้านค้า ฯลฯ
สายเกินไปเสมอ...กว่าจะได้รักษา
ใจ (นามสมมติ) หญิงสาวสวมเสื้อแจ็คเก็ตลายเสือที่นั่งและเดินไปเดินมาช่วงซอยทองหล่อถึงอโศก มักนั่งปัดมือไปมากลางอากาศ เตะขาใส่ภาพในจินตนาการจนเหมือนสู้กับตัวอะไรสักอย่าง พูดคนเดียว และบางครั้งก็ด่าใครสักคนในหัวของเธอจนดูเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง กระจกเงาได้รับการแจ้งกรณีของใจ คำบอกเล่าของป้าร้านขายดอกไม้ พี่รถเข็นขายผลไม้ วินมอเตอร์ไซค์และอีกหลายคนในละแวกนั้นคือ เธอนั่ง นอน เดิน อยู่ทุกที่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และเกิดอาการทางจิตอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานเธอก็เร่ร่อนอยู่แถวนี้ ไม่มีใครเอะใจจนอาการของเธอเริ่มแสดงออกรุนแรงขึ้น
ขั้นตอนต่อมา เธอจะต้องได้รับการประเมินว่าอยู่ในขอบข่ายของการช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่ เราลงติดตามกรณีนี้กับกระจกเงาหลายครั้ง เจอบ้างไม่เจอบ้าง ถ้าหากเจอก็จะติดตามดูพฤติกรรมของผู้ป่วยว่ามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไรที่บ่งชี้ถึงอาการทางจิตเวช เช่น คุยหรือหัวเราะคนเดียว โรคทางกายและสภาพทางกายภาพเป็นอย่างไร เช่น เสื้อผ้าร่างกายมอมแมมมาก สังเกตบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่อาศัย หากพบการสะสมของที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น ใบไม้ ของเน่าเสียก็ยิ่งเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการบอกถึงอาการทางจิตเวชได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อได้ข้อมูลจากการสังเกตผู้ป่วยทั้งทางพฤติกรรม กายภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูลจากปากคำของผู้คนที่อาศัยในบริเวณนั้น ในกรณีของใจ คำถามมีขึ้นเพื่อทบทวนเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อนจะนำส่งเธอไปรักษา
ในแต่ละปีกระจกเงาจะมีเคสผู้ป่วยไร้บ้านที่ดูแลอยู่ประมาณ 20 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง แม้ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 จะระบุว่า คนที่มีความผิดปกติทางจิตสามารถเข้ารับการรักษาได้จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ แต่ในสภาพความเป็นจริง หากไม่ใช่โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชแล้ว โรงพยาบาลทั่วๆ ไปก็มักไม่รับผู้ป่วยจิตเวชเข้ารักษาเนื่องจากความแออัดของผู้ป่วยเดิมที่มี ผู้ป่วยจิตเวชจึงมักถูกส่งไปโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีอยู่เพียงภาคละไม่กี่แห่งโดยอัตโนมัติ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการรักษา พวกเขาก็จะถูกส่งไปที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต่อไป
ผู้ป่วยข้างถนนส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ใช่คนต่างจังหวัดที่มีที่ทำกินแบบที่หลายคนเข้าใจ ฉะนั้นถึงแม้จะถูกส่งตัว รักษา ฟื้นฟู และส่งออกกลับภูมิลำเนา แต่พวกเขาก็ไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้จะทำอะไรหาเลี้ยงชีพ นอกจากกลับไปสู่พื้นที่ที่คุ้นเคยเมื่อตอนเร่ร่อนอีกครั้ง
ลุงอ้วนอยู่บนสะพานข้ามคลองมานานกว่า 10 ปีแล้วหรืออาจจะถึง 20 ปีตามคำบอกเล่าของคนแถวนั้น ไม่มีใครคิดพาลุงอ้วนออกจากสภาพความเป็นอยู่เช่นนั้นแม้มันจะไม่ถูกสุขลักษณะ เพียงเพราะลุงอ้วนเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม และให้หวยในบางครั้ง จากตอนแรกที่ลุงอ้วนยังพูดคุยได้ ดูแลตัวเองได้และไม่ปล่อยให้ผมเผ้ารุงรัง อาการทางจิตของลุงเริ่มหนักขึ้น คิดซ้ำ คิดวน พูดคนเดียว จนกลไกการใช้เหตุผลตัดสินใจหลายๆ เรื่องหายไป
เช่นเดียวกับดาว (นามสมมติ) หญิงสาวชุดกระโปรงยาวบนสะพานลอยย่านใจกลางเมือง ซึ่งวนเวียนเข้าสู่กระบวนการรักษามา 3 รอบแล้วในระยะเวลา 3 เดือน เรื่องราวของดาวซับซ้อนและเล่ายาก เดือนที่แล้วก่อนดาวคลอดลูก เธอถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลทางจิตและส่งต่อไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลทั่วไป ก่อนจะหนีออกมาอยู่ข้างถนนอีกครั้งจนถึงวันคลอด ไม่มีใครรู้ว่าเธอหายไปไหนจนเห็นศพของทารกที่ถูกทิ้งไว้ที่ป้ายรถเมล์ในค่ำคืนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานคนก็เห็นเธอกลับมาอยู่บนสะพานลอยเดิมย่านสุขุมวิท
ใช่ ดาวเคยอาการดีขึ้น ตอนที่เธอเข้ารักษาอาการจิตเวชครั้งแรก
แต่หลังจากสิ้นสุดกระบวนการรักษา ดาวที่กลับไปอยู่กับครอบครัวก็ออกมาเร่ร่อนใหม่ เธอบอกว่าที่บ้านไม่อิสระ ตอนนี้ดาวที่เคยพูดรู้เรื่องกลายเป็นดาวที่พูดไม่รู้เรื่อง เก็บตัว และประทังชีวิตด้วยการขอทาน
ช่องว่างในระบบ มีเหมือนไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ
ผู้ป่วยข้างถนนบางส่วนมีอาการไม่เข้าหลักเกณฑ์การนำส่งตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต กล่าวคือ คำว่า ‘บุคคลอันตรายในขอบข่ายต้องนำส่ง’ นั้นถูกระบุว่า เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ ความคิดหลงผิดหรือพฤติกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น เช่น อาละวาด ทำร้ายคนรอบข้าง ซึ่งหลายครั้งพบว่า ผู้ป่วยไร้บ้านไม่ได้อาละวาด ก้าวร้าว ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น แต่ด้วยสภาวะทางจิตทำให้พวกเขาไม่สามารถดูแล ปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย มีสุขลักษณะที่ดีและเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ข้อกำหนดเช่นนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยข้างถนนหลายคนไม่เข้าข่ายการนำส่งโรงพยาบาล และถูกปล่อยปละละเลยจนอาการกำเริบ
สุดท้าย อาการของพวกเขาจึงไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้เท่าที่ควรจะเป็น
การไม่มีเจ้าภาพและหน่วยนำส่งผู้ป่วยเป็นอีกเรื่องที่กระจกเงาพยายามผลักดัน ความคลุมเครือเมื่อผู้ป่วยมีปัจจัยแทรกซ้อน เช่น ท้อง เจ็บป่วยทางกาย ไร้สัญชาติ สูงอายุ พิการ ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถหาผู้ดูแลเคสที่ติดตามในระยะยาวได้ เหมือนกับดาวที่ถูกส่งไปโรงพยาบาลที่ไม่เข้าใจภาวะจิตเวช ส่วนโรงพยาบาลทางจิตเวชเองก็ไม่รับเพราะเธอท้อง จนกระทั่งคลอดลูกข้างถนนและมีหน่วยงานที่ชัดเจนมารับผิดชอบในที่สุด
ฉันควรรักษาที่โรงพยาบาลไหน?
ตอนนี้ลุงอ้วนอยู่โรงพยาบาลมากว่าเดือนแล้ว ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต ผู้ป่วยจะอยู่ในกระบวนการรักษานานที่สุด 90 วัน และอาจบวกเพิ่มอีก 90 วันถ้ายังรักษาให้ดีขึ้นได้อีก
การรักษาจะเริ่มจากการประเมินอาการโดยแพทย์ ให้ยา ทำกิจกรรมบำบัด และอาจช็อตไฟฟ้าได้หากเจ้าตัวอนุญาต โดยทั่วไปขั้นตอนการรักษาจะกินเวลา 3 สัปดาห์-2 เดือน แน่นอนว่า ผู้ป่วยข้างถนนเกือบทั้งหมดที่เข้ารับการรักษานั้นไม่สามารถระบุตัวตนได้ ลุงอ้วนเองก็บอกไม่ได้ว่า ตัวเองเป็นใคร มาจากไหน แม้แต่ชื่อก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ
หากถามชื่อ 10 ครั้ง ชื่อที่ได้ก็จะไม่เหมือนกันสักครั้ง แถมอาจจะไม่มีครั้งไหนที่ถูกต้องเลย
นั่นเป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิคนพิการ หรือสิทธิใดๆ ได้ หากโชคดีจะได้รับโควตาอนาถาสำหรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากโชคร้ายและโรงพยาบาลไม่มีพื้นที่เพียงพอ การรักษาก็ไม่เกิดขึ้น
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ถึงแม้ผู้ป่วยมีสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใดก็ได้ แต่ในความเป็นจริง พวกเขามักถูกส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช และโรงพยาบาลจิตเวชที่รับผู้ป่วยเข้ารักษามีอยู่เพียงภูมิภาคละไม่กี่แห่ง แถมยังมีคนไข้หนาแน่นอย่างมากโดยเฉพาะในภาคกลาง
ลุงอ้วนถูกส่งไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาและกำลังจะสิ้นสุดการรักษา คำว่า ‘สิ้นสุดการรักษา’ ไม่ใช่หายขาดจากอาการจิตเวช แต่หมายถึงรักษาอะไรไม่ได้อีกแล้ว หลังจากนี้ลุงอ้วนก็จะถูกส่งต่อไปที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะต้องอาศัยอยู่ในที่อยู่นี้ไปตลอดชีวิต
แล้วทำอย่างไร ลุงอ้วน ใจ และดาวจึงจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
สถานสงเคราะห์/สถานคุ้มครอง ไม่เพียงพอรองรับ
อ้อย (นามสมมติ) หญิงสาวผู้ป่วยข้างถนนอีกรายกำลังรอเข้าสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หลังวนเวียนเข้ารับการรักษากับศูนย์พักพิงมานับครั้งไม่ถ้วน ขณะอยู่ข้างถนนอ้อยตั้งครรภ์และคลอดลูกมาแล้ว 3 คน ตอนท้องครั้งล่าสุดได้ 8 เดือน ชาวบ้านใกล้เคียงแจ้งเข้ามาที่มูลนิธิกระจกเงาขอให้มารับตัวเธอไปเพราะชาวบ้านเห็นท้องโตและสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ กระจกเงาได้ดำเนินการส่งตัวผ่านรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังโรงพยาบาลจิตเวช แต่เนื่องจากเธอท้องใกล้คลอด จึงถูกส่งไปอยู่บ้านพักแม่และเด็กที่อาจไม่มีความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เด็กเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ที่นั่นโดนเธอตบ เพราะเธอหงุดหงิดเด็กที่ส่งเสียงดังอันเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีต่ออาการทางจิต
หลังสิ้นสุดการรักษา ผู้ป่วยไร้บ้านที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่รับกลับจะถูกส่งต่อไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แม้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งใหญ่ๆ ประจำภูมิภาคมักกันที่ไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยข้างถนน แต่ด้วยบุคลากรที่จำกัดทำให้ไม่สามารถดูแลและรองรับได้มากนัก
ณิชาภัทร วิบูลย์พานิช อดีตผู้ปกครองสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี เล่าว่า ปี 2561 สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรีมีผู้ใช้บริการ 430 คน มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 29 คนในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยในชีวิตประจำวันทั้งหมด 5 คน จากผู้รับบริการทั้งหมด เกินครึ่งเป็นคนไร้ที่พึ่งป่วยจิตเวช ที่เหลือเป็นคนแก่ คนพิการ กระทั่งคนหนุ่มสาว อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังมี พ.ร.บ.สุขภาพจิตที่ระบุให้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งรับคนกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชด้วย ปัจจุบันนี้อาคารที่พัก 5 หลังที่รับคนได้ทั้งหมดราว 350 คน กลับต้องรับคนมากถึงเกือบ 100 คนต่อหลัง และต้องพยายามทยอยผ่องถ่ายไปศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งตามแต่ละจังหวัดเพื่อให้พร้อมรับคนใหม่ได้ตลอดตามกฎหมายกำหนด
สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี 11 แห่ง เกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.หลัก 3 ฉบับที่ต้องปฏิบัติตามคือ (1) พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ปี 2557 (2) พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน เดิมเป็นกฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ปี 2484 แล้วแก้ไขใหม่ในปี 2559 (3) พ.ร.บ.สุขภาพจิตที่กำหนดว่า เมื่อผู้ป่วยจิตเวชสิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาลทางจิตแล้ว หากครอบครัวไม่ดูแล ดูแลไม่เหมาะสมหรือไม่มีครอบครัวให้ส่งกลับก็ให้ส่งผู้ป่วยมาที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อรับเข้ามาก็ต้องมีกระบวนการดูแลต่อเนื่อง เช่น การกินยา การดูแลหากเจ็บป่วยทางจิตฉุกเฉิน ฯลฯ
สองเหตุผลข้างต้นทำให้ไม่ใช่แค่คนท้องแบบอ้อยที่อาจถูกส่งต่อไปที่อื่น ผู้ป่วยจิตเวชที่มีสภาวะอื่นร่วมด้วยเช่น ความพิการ ติดเตียงและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ก็เป็นกลุ่มที่เกินกำลังของสถานคุ้มครองฯ ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงหยิบมือ
ณิชาภัทรระบุว่า เนื่องจากสถานคุ้มครองฯ เป็นหน่วยงานราชการการ จำนวนเจ้าหน้าที่จึงถูกจำกัดด้วยงบประมาณและตำแหน่ง งบส่วนใหญ่หมดไปกับการดูแลผู้ใช้บริการและค่าอาหาร เมื่อบุคลากรไม่พอ เจ้าหน้าที่ที่นี่จึงต้องทำงานหลายหน้าที่ เช่น พ่อบ้านมาช่วยขับรถ พยาบาลทำงานสำนักงานไปด้วย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังต้องได้รับการดูแลจิตใจเพราะอยู่กับความไม่น่าอภิรมย์ เช็ดอึ เช็ดฉี่ ตลอดเวลา หากผ่อนอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดีก็อาจเกิดผลเสียกับผู้ป่วย
คนไร้ที่พึ่ง = คนไม่ขยันทำมาหากิน ?
ความไม่เข้าใจของคนในสังคมเป็นเรื่องที่ณิชาภัทรยังมีความกังวล คนทั่วไปมักคิดว่าผู้ที่เข้ามาอยู่ในสถานคุ้มครองหรือสถานสงเคราะห์เป็นภาระของสังคม ไม่ทำมาหากินและอันตราย ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้อันตราย ขี้เกียจหรือไม่อยากทำงาน แต่หลายคนไม่มีโอกาสในชีวิตและจำนวนไม่น้อยก็ป่วยทางจิต จนเผชิญประสบการณ์ที่อาจทำให้ไม่สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวหรือครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ เหมือนกับดาวที่หลังได้รับการรักษา อยู่สถานคุ้มครองจนได้กลับบ้าน แต่ครอบครัวก็อาจไม่ได้มีความเข้าใจหรือไม่มีเวลามากนัก ดาวจึงออกมาสู่ข้างถนนครั้งแล้วครั้งเล่า
พื้นที่ข้างถนนไม่ใช่ที่ที่ง่ายนักสำหรับการเริ่มต้นทำมาหากิน ก่อนจะมีอาการทางจิต ใจเคยทำงานที่สถานบันเทิงและขายบริการเพศอยู่ย่านกลางเมือง ไม่มีใครรู้ว่าเธอทำอาชีพนี้มากี่ปี และเรื่องราวของเธอก็เป็นเพียงคำบอกเล่าของคนอื่นเพราะตัวเธอเองไม่สามารถสื่อสารกับใครได้รู้เรื่อง พอเริ่มมีอาการทางจิต ใจก็ยังคงขายบริการทางเพศอยู่แต่ลูกค้าก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะเธอมักโวยวายเสียงดังและบางครั้งก็ทำร้ายคนรอบข้าง เมื่อลูกค้าน้อยลง รายได้ที่เข้ามาก็น้อยลงไปด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจผันตัวเองออกมาอยู่ข้างถนนโดยมีรายได้หลักคือการขอทาน
เรื่องราวเหล่านี้ตอกย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังให้ผู้ป่วยข้างถนนมีอาชีพโดยไม่มีระบบสนับสนุนที่ดีพอ
เจ้าหน้าที่จากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งระบุว่า เมื่อคนไร้ที่พึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ วิธีที่ง่ายต่อการจัดการก็คือ กำหนดให้ผู้รับบริการทุกคนทำอะไรพร้อมๆ กัน เช่น ตื่นนอน อาบน้ำ กินข้าว กินยา ฯลฯ พวกเขาทุกคนใช้ชีวิตโดยไม่ต้องวางแผนเพราะแผนทั้งหมดมีคนวางให้ หลายคนอยู่แบบนี้เกือบครึ่งชีวิตจนคุ้นชิน และมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้มีโอกาสเข้าฝึกทักษะอาชีพ เช่น ปลูกผัก ฝึกงานหัตถกรรม จึงเป็นเรื่องยากมากที่ผู้ใช้บริการจะปรับตัวและออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้ หากไม่มีแต้มต่อหรือระบบสนับสนุนที่คอยติดตามใกล้ชิดตลอดเส้นทาง
การฟื้นฟูที่ยัง ฟื้นไม่ได้ ฟูไม่จริง
ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง นอกจากดูแลเรื่องความเป็นอยู่ ให้ยา และการรักษาตามอาการแล้ว ที่นี่ยังมุ่งหวังที่จะฟื้นฟูผู้รับบริการโดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชด้วย อุเทน ชนะกุล อดีตผู้ปกครองสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งธัญบุรีชาย ระบุว่า ธัญบุรีชายมีโมเดลหลายอย่างที่ฝึกให้ผู้รับบริการได้มีทักษะอาชีพ แต่ปัญหาคือในแต่ละปีมีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการฝึก และยังไม่สามารถออกไปทำงานได้จริง
ภาพโดย กิตติยา อรอินทร์
ผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่เช่นลุงอ้วน ใจ ดาว และอ้อยเมื่ออยู่ในสถานคุ้มครองจะถูกจัดกลุ่ม โดยการประเมิน IRP หรือ Individual Rehabilitation Program จากนักจิตวิทยา พ่อบ้านแม่บ้าน และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อวางแผนการดูแลเป็น กลุ่ม A B และ C
กลุ่ม A ช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นได้แต่ยังติดขัดปัญหาบางอย่าง เช่น ติดสุราเรื้อรัง
กลุ่ม B มีภาวะพึ่งพิง กินยาจิตเวช ยังต้องได้รับการดูแล ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเยอะที่สุดในสถานคุ้มครอง
กลุ่ม C ต้องการการพึ่งพิงสูง ติดเตียง ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
สำหรับกลุ่ม A มีโปรแกรมบำบัดและอาจเข้าฝึกอาชีพได้เลย หลายคนช่วยงานในอาคารพัก และช่วยอุ้มเพื่อนอาบน้ำ กลุ่ม B ทำงานง่ายๆ อย่างแยกพลาสติก แยกขยะต่างๆ แต่การเปลี่ยนกลุ่มจาก B ขยับขึ้นเป็น A มีน้อยกว่า B ขยับลงไปเป็น C เนื่องจากหลายคนกว่าจะได้เข้ามาฟื้นฟู ร่างกายและจิตใจก็บอบช้ำมาก
ผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่กลุ่ม A มีจำนวนปีละประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้นที่จะได้ไปฝึกการใช้ชีวิตประจำวันใน “บ้านน้อยในนิคม” พวกเขาอยู่ที่นั่นตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ ทำกับข้าว ซักผ้า เก็บผ้า โดยไม่มีใครมาบอกให้ทำ แต่ก็ยังถูกกำหนดด้วยกฎระเบียบ เช่น ห้ามกินเหล้า หลังจากนี้พวกเขาบางคนจะถูกส่งออกไปทำงานข้างนอกตามทักษะที่ถนัด บางคนไปทำงานโรงงานและมีชีวิตที่อิสระขึ้น แต่แม้จะอิสระมากขึ้นแต่ยาจิตเวชและการรักษาก็ยังเป็นเรื่องต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หลายคนไม่กินยาและกลับไปติดสุรา เสียงานเสียการ แล้ววนกลับเข้ามารับบริการในสถานคุ้มครองอีก
ในปีที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลของผู้ที่ได้ไปเข้าโครงการบ้านน้อยในนิคม แต่หากย้อนดูในปี 2560 2559 และ 2558 จำนวนของผู้ที่เข้าโครงการซึ่งอาจเป็นทั้งผู้ป่วยจิตเวชและไม่ป่วยจิตเวชอยู่ที่ 0 ราย 16 รายและ 5 รายคนตามลำดับ
แมลงในกล่อง...พวกเขาไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตภายนอก
“ลุงอ้วนจะอยู่ที่สถานคุ้มครองฯ ไปตลอดชีวิต” สิทธิพลกล่าว
แม้ในวันที่ลุงอ้วนถูกนำส่งจากข้างถนนสู่โรงพยาบาล ทุกคนต่างเกลี้ยกล่อมแกว่า “เอาของไว้นี่แหละลุง เดี๋ยวก็มา” จนแกยอมขึ้นท้ายรถกระบะตำรวจไปด้วยตัวเปล่า สีหน้ากังวลเหมือนกับรู้ว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ได้อยู่ที่นี่ บนสะพานที่อยู่มาเกือบ 20 ปี
ไม่ว่าจะเพราะอาการจิตเวช ต้นทุนในชีวิตต่ำ ทักษะในชีวิตมีน้อย ดูแลตัวเองแทบไม่ได้นัก ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนนไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปจากสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง การแก้ไขที่ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำได้ยากมาก หากไม่มีกลไกที่คำนึงถึงการดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ สิทธิพลจึงนำเสนอข้อเสนอว่า รัฐจะต้องมีกลไกที่ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ขั้นช่วยเหลือนำส่งออกจากข้างถนน ฟื้นฟูรักษาอาการทางกายและจิต ฝึกทักษะการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ จนถึงการติดตามและสร้างพื้นที่ทางโอกาสให้ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานคุ้มครองฯ
นอกจากนี้ยังเสนอว่า ควรมีสถานคุ้มครองหรือสถานสงเคราะห์ที่เหมาะกับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกระบวนการทางจิตเวช รวมถึงได้พัฒนาทักษะที่สูญหายและจำเป็นในการดำรงชีวิต และทักษะทางอาชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแทนที่จะใช้ชีวิตในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่มีแต่จะล้นมากขึ้นทุกวัน
ท้ายที่สุด พ.ร.บ.สุขภาพจิต ต้องทำหน้าที่คุ้มครองลุงอ้วน ใจ ดาว อ้อย และผู้ป่วยจิตเวชคนอื่นให้ได้รับสิทธิการดูแลรักษาและคุ้มครอง พวกเขาต้องไม่ถูกตีตราจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นกลไกที่ไม่เพียงแต่สร้างเครื่องมือเพื่อระวังผู้ป่วยให้คนทั่วไปในสังคมเท่านั้น แต่ต้องสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิต มีทักษะ ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชให้กับคนทั่วไปในสังคมให้มากขึ้น
เพื่อที่วันหนึ่ง ลุงอ้วนอาจได้ออกไปรับจ้างขับรถแบบที่แกอยากทำ ใจ อ้อย และผู้ป่วยคนอื่นๆ คงได้ทำงานและมีชีวิตในแบบที่เธออยากเป็น
ขอขอบคุณมูลนิธิกระจกเงาในการทำงานร่วมกันเพื่อผลิตรายงานชิ้นนี้ และขอบคุณ คุณถิรนันท์ ช่วยมิ่ง คุณเบญจมาศ พางาม และคุณสิทธิพล ชูประจง สำหรับข้อมูลและการลงพื้นที่ร่วมกัน
ข่าว
สังคม
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
depth
คนไร้บ้าน
คนเร่ร่อน
ผู้ป่วยจิตเวช
ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน
มูลนิธิกระจกเงา
มูลนิธิอิสรชน
ชุมชนเมือง
สถานสงเคราะห์
สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
กรุงเทพมหานคร
แสดงความคิดเห็น