Posted: 05 Feb 2019 04:41 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-02-05 19:41
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล : สัมภาษณ์/เรียบเรียง
กิตติยา อรอินทร์ : ภาพ
มองผู้ใช้ยาเสพติดผ่านงานศึกษาระดับปริญญาเอกของแพร ศิริศักดิ์ดำเกิง เมื่อพวกเขาละเมิดทุกบรรทัดฐานที่สังคมกำหนด พวกเขาจึงต้องยึดถือคุณค่าอื่นแทนเพื่ออยู่ร่วมกับชุมชน ต้องสนทนากับตนเองและพระเจ้า ปรับตัวกับบาปโดยไม่ต้องการทิ้งศาสนา เมื่อผู้ใช้ยาเป็นมากกว่า ‘ไอ้ขี้ยา’ แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
กฎหมาย สุขภาพ และศีลธรรมทางศาสนา เมื่อผู้ใช้ยาละเมิดทุกบรรทัดฐานหลักๆ พวกเขาจึงต้องหาคุณค่าอื่นเพื่อยึดถือและอยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ทางเครือญาติ
ชุมชนไม่ได้มองเพียงมิติของการเป็นผู้ใช้ยา แต่ยังมองว่าคนเหล่านี้คือลูก หลาน เพื่อน ที่เติบโตขึ้นมาในชุมชน
งานศึกษาชิ้นนี้นำไปสู่คำตอบเชิงนโยบายเรื่องการลดอันตรายจากการใช้ยาและการใช้ชุมชนเป็นฐานในการดูแลผู้ใช้ยา
ทัศนคติของสังคมไทยต่อผู้ใช้ยาเสพติดยังเป็นไปในทางลบ ยากที่จะมองเป็นอย่างอื่น การเคลื่อนไหวกรณีกัญชาที่ค่อยๆ เห็นผลในทางรูปธรรมเป็นเพียงข้อยกเว้น
มันยาก เมื่อสังคมไทยถูกบ่มเพาะความคิด ความเชื่อ มุมมองต่อยาเสพติดและผู้ใช้ยาเสพติดมาอย่างยาวนานในแบบที่เห็นกันอยู่ พอฉายไฟไปที่ผู้ใช้ยาเสพติด สิ่งที่มองเห็นคือไอ้ขี้ยา ตัวถ่วงสังคม อาชญากร และอื่นๆ มันแบนราบถึงขนาดนั้น ไม่เหลือมิติอื่นๆ ให้ทำความเข้าใจอีกเลย
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของแพร ศิริศักดิ์ดำเกิง เรื่อง ‘ชีวิตมุสลิมใน “รังยาเสพติด”: ความปกติที่ต้องต่อรองในชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย’ พยายามมองผู้ใช้ยาเสพติดในมิติที่เป็นมนุษย์มากขึ้น มากกว่าตัวละครแบนราบและดำสนิทในฉากชีวิต ผู้ใช้ยา-พวกเขารู้ตัวดีว่าบาปและไม่บริสุทธิ์ตามกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมของศาสนา พวกเขาจึงต้องเสาะแสวงหาบรรทัดฐานอื่นๆ เพื่ออยู่ในชุมชนให้ได้ จัดรูปแบบความสัมพันธ์บางประเภทที่ยังพออนุญาตให้เขาเกาะเกี่ยวและมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ถึงวิทยานิพนธ์จะมีชื่อศาสนาระบุไว้ แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง การใช้ยาเสพติดมึนชาสติตนเองในทุกศาสนาล้วนเป็นบาป พวกเขาอาจเป็นคนบาป แต่ก็เป็นมนุษย์
จุดตั้งต้นแรกที่ทำให้สนใจศึกษาเรื่องนี้?
เราไปทำงานให้มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เขาอยากให้เล่าเรื่องชีวิตผู้ติดเชื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากผู้ติดเชื้อในที่อื่น เพราะผู้ติดเชื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักเกิดจากการมีสามีเป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด เขามีความรู้เรื่องเอชไอวี แต่เขาไม่คิดว่ามันจะติดต่อกันภายในครอบครัว และการที่อิสลามอนุญาตให้มีภรรยา 4 คน บางครอบครัวก็มีภรรยามากกว่า 1 คน การแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีจึงมีรูปแบบแตกต่างจากที่อื่น แล้วก็ได้หนังสือชื่อใต้เงาฮิญาบออกมา
คำถามตอนที่เราลงไปเก็บข้อมูลเรื่องนี้คือทำไมยาเสพติดถึงเยอะขนาดนี้ เข้าไปในชุมชนสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ เขาก็เล่าว่ายาเสพติดเยอะมาก คำถามที่มีต่อผู้คนที่นั่นคือเขากังวลเรื่องความรุนแรงหรือเปล่า เขาบอกว่าความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่สิ่งที่เขากังวลมากกว่าคือยาเสพติดที่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ เป็นที่มาของความอยากรู้เรื่องนี้ว่ามันเป็นยังไง เยอะแค่ไหน และทำไมคนที่นี่จึงเลือกใช้ยาเสพติด
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตอนลงไปศึกษา เราไม่ได้เลือกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมันมีปัญหาปะปนไปกับเรื่องความมั่นคง เราจึงเลือกพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ คำถามต่อมาคือชาวมุสลิมเป็นกลุ่มคนที่ถูกรับรู้ว่าเคร่งศาสนา แล้วทำไมถึงจัดการเรื่องการแพร่ระบาดของยาเสพติดไม่ได้ เพราะเราเชื่อเสมอว่าความเชื่อเรื่องศาสนาจะเป็นเครื่องป้องกันความไม่ดีทั้งปวง
แล้วได้คำตอบหรือเปล่าว่าทำไมเคร่งศาสนาแล้วยาเสพติดจึงแพร่ระบาดหนัก?
ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้คำตอบแบบนั้น เพราะลงไปก็จะมีมิติอื่นๆ ที่ทำให้เราเห็น ตอนออกแบบงานวิจัยมีคำถามแค่ว่า ทำไมเคร่งศาสนาแล้วยังมียาเสพติดแพร่ระบาด คำหนึ่งที่เราจะได้ยินเสมอจากคนในพื้นที่หรือคนที่เกี่ยวข้องว่า เห็นโดมมัสยิดไหนก็มียาเสพติดที่นั่น เป็นคำพูดที่เหมือนว่าชุมชนมุสลิมก็มียาเสพติด แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ ที่ไหนก็ใช้ยาเสพติดทั้งนั้น สังคมพุทธก็ไม่ได้สามารถป้องกันยาเสพติดได้ เพราะมันมีตัวแปรอื่นๆ อีกเยอะแยะ
เราในฐานะคนที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด เราจะมีการรับรู้ว่าคนใช้ยาเป็นอันตราย คำถามที่ 2 ของงานวิจัยคือเมื่อคนใช้ยามากขนาดนี้ เขาอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างไร
ที่ว่ามากนี่คือมากขนาดไหน?
ตอนที่เราลงไปทำใต้เงาฮิญาบ เราก็จะถามว่าที่บอกว่ามีปัญหาหนักๆ เราจะเรียกมันว่าหนักอย่างไร คนก็จะบอกว่าผู้ชายหกสิบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้านใช้ยาเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่ง เบาๆ ก็กัญชา น้ำกระท่อม หนักๆ ก็เฮโรอีน ยาบ้า ซึ่งก็เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เยอะ
กับผู้หญิง ตอนอยู่ในสนามมีคำเล่าลือว่าผู้หญิงใช้ยาเสพติด เราพยายามจะหาคล้ายๆ ว่าถ้าผู้ชายที่ใช้ยาได้รับการยอมรับในสังคมน้อยแล้ว ผู้หญิงน้อยยิ่งกว่าอีก การหาผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดที่ยอมให้สัมภาษณ์จึงยากมาก และเขาก็โดนตีตรา แต่เราหาเจอและมีผู้หญิงบางคนที่ยินดีที่จะเล่า ในวิทยานิพนธ์ก็จะมีเรื่องราวของผู้หญิงอยู่นิดหนึ่ง
พวกเขาทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ในชุมชนได้?
เวลาเราคิดถึงคนใช้ยาว่าเขาจะอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างไร หรือคนในสังคมจะอยู่ร่วมกับคนใช้ยาอย่างไร เรากำลังมีบรรทัดฐานใหญ่ๆ ในสังคม เช่น กฎหมาย เรารู้สึกว่าคนใช้ยาเป็นพวกทำผิดกฎหมาย สองคือผิดหลักการศาสนา เพราะเราก็รู้ว่าทุกศาสนาห้ามเรื่องยาเสพติด สามคือคนใช้ยาผิดบรรทัดฐานทางสุขภาพ เพราะคุณทำร้ายตัวเองด้วยการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย แล้วคนใช้ยา ณ วันนี้ถูกนิยามว่าเป็นผู้ป่วย ดังนั้น ตอนที่เราตั้งโจทย์วิจัยซึ่งไม่ดีหรอก เพราะเราใช้บรรทัดฐานของเราในการมองว่า เขาผิดบรรทัดฐานเหล่านี้ใช่มั้ย จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไรล่ะ คือถ้าเราไม่มีบรรทัดฐานนี้มาตั้ง เราก็จะไม่มีคำถามว่าจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร เพราะเขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งตอนหลังก็พบว่าคำถามวิจัยนี้ก็ตีตราเขาเหมือนกัน
สิ่งที่เราไปหาก็คือเขาอยู่กับคนอื่นอย่างไร ก็พบว่าจริงๆ สังคมไม่ได้มีบรรทัดฐานแค่นั้น แต่สังคมชุมชนมีบรรทัดฐานอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมายที่เขาให้คุณค่ายึดถือ ไม่จำเป็นต้องเป็นสามอย่างนี้เท่านั้น มันมีคุณค่าอื่นๆ อีกที่ชุมชนให้ค่า
ชุมชนที่เราไปศึกษาถูกบอกว่าเป็นชุมชนที่ไม่เคร่งศาสนา ยินดีที่จะทำผิดกฎหมายทุกอย่าง ถ้าถามคนนอกชุมชนก็จะบอกว่าเพราะพวกนี้ไม่เคร่งศาสนาไง ช่วยเหลือกันดีเหลือเกินเวลามีใครตรวจค้น ก็เลยทำให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด คำถามคือเคร่งและไม่เคร่งคืออะไร และการละเมิดกฎหมายก็มีทุกชุมชน ไม่ใช่มีเฉพาะชุมชนนี้เท่านั้น
เราก็ลงไปดูในชุมชนว่าคนใช้ยาอยู่ได้อย่างไร ในขณะที่สังคมตีตราว่าผิดกฎหมาย คนในสังคมชุมชนที่อยู่ร่วมคิดอย่างไรกับพวกเขา เพราะเวลาที่เราเดินเข้าไปก็ดูเป็นชุมชนที่สงบสุขดี อยู่ร่วมกันได้ คนใช้ยาก็เดินไปเดินมา คนในชุมชนรู้มั้ยว่าใครใช้ยา รู้หมด แล้วอะไรที่ทำให้เขาสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะเราคิดเสมอว่าคนใช้ยาเป็นคนอันตราย เขาอาจจะลักขโมยสิ่งของ จี้ปล้นเรา เพราะอยากได้เงินไปซื้อยา หรือเขาอาจจะคลุ้มคลั่งแล้วมาทำร้ายเรา
แต่ถามว่าคนในชุมชนกลัวคนใช้ยามั้ย คิดกับคนใช้ยาแบบนี้มั้ย พอเราลงไปเก็บข้อมูลก็พบว่า เขาไม่ได้เห็นคนใช้ยาเป็นแค่คนใช้ยา เพราะเขายังเห็นคนใช้ยาเป็นลูก เป็นหลาน เป็นเพื่อน เป็นคนที่เติบโตในชุมชน เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก เวลาเรามองเข้าไปเราจะเห็นคนใช้ยาเป็นคนใช้ยา แต่จะไม่เห็นความเป็นคนในมิติอื่นๆ ของเขา ตรงนี้สำคัญ คนในชุมชนก็บอกว่า มันติดยาก็ใช่ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่มันก็ลูกเราน่ะ ก็ญาติเรา แล้วเราจะทำยังไง
มีหลายเรื่องเล่าที่ทำให้เห็นว่าคนใช้ยาเป็นคนที่สำคัญกับเขาในทางใดทางหนึ่ง เป็นเพื่อนบ้าน เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน เป็นลูก ซึ่งมันตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด จะให้เรียกตำรวจมาจับ เขาก็ทำไม่ได้ เพราะมันมีความสัมพันธ์มากกว่าแค่การเป็นคนใช้ยา
คำตอบแรกที่ได้ก็คือเพราะเขาไม่ได้ยึดถือบรรทัดฐานตามกระแสหลัก แต่ยึดถือความเป็นญาติพี่น้องซึ่งสำคัญ การที่คนใช้ยาอยู่ในชุมชนและคนในชุมชนยึดถือเรื่องเครือญาติ มันจึงสำคัญ ส่งผลยังไงเมื่อยึดถือบรรทัดฐานแบบนี้ ผลก็คือคนใช้ยาจะต้องระมัดระวัง เขารู้ว่าอยู่ในชุมชนแบบนี้ ในความสัมพันธ์แบบนี้ และความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้เขาปลอดภัย
ในมุมหนึ่งคนใช้ยาเห็นคุณค่าตรงนี้มั้ย เห็น เพราะคนใช้ยาที่นี่ก็จะเลือกใช้ยาที่ไม่ทำให้เกิดความคลุ้มคลั่ง เช่น ถ้าใช้ยาประเภทกล่อมประสาท ถ้าใช้มากก็จะทำให้หลอน เขามีคำพูดว่าใช้แล้วมันจะจำพี่ จำน้อง จำเพื่อนไม่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะไปทำร้ายร่างกาย หรือใช้ยาบ้าในปริมาณมากและไม่นอนหลายวันก็จะทำให้เกิดภาวะหลอน จะคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น เขารู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นในซีนถัดไป เขาก็เลยเป็นคล้ายๆ ข้อห้ามของในชุมชนนี้ว่าจะไม่ใช้ยาประเภทนี้หรือจะไม่ใช้ยาบ้าเกินกว่านี้ เพราะจะจำพี่จำน้องไม่ได้
การจำพี่จำน้องไม่ได้แปลว่าอะไร แปลว่าเขาไม่กล้าใช้ เพราะเดี๋ยวจะควบคุมตัวเองไม่ได้แล้วไปทำร้ายญาติพี่น้อง ซึ่งเขาเลือกที่จะไม่ทำ เพราะถ้าเขาทำร้ายญาติพี่น้องก็จะมีปัญหาต่อความสัมพันธ์ทางเครือญาติ หรือเฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่มีอยู่ในชุมชนแห่งนี้ เขาก็รู้ว่าถ้าใช้เฮโรอีนจะต้องเพิ่มปริมาณ เพิ่มปริมาณแปลว่าเพิ่มเงิน เพราะฉะนั้นเมื่อต้องเพิ่มเงินแล้วจะหาเงินจากไหน ก็ต้องลักขโมย จี้ปล้น เขาบอกว่าเพื่อที่จะไม่ต้องเพิ่มปริมาณการใช้เฮโรอีน เขาก็ไปใช้เมธาโดนโดยไปรับที่โรงพยาบาล เมธาโดนออกฤทธิ์ระยะยาว แปลว่าใช้ตอนนี้จะอยู่ได้ทั้งวัน ก็จะไม่อยากไปใช้อย่างอื่น ทำให้ลดการใช้ยา
ประการต่อมา เขาจะรู้ว่าการลักขโมยอาจเป็นสิ่งที่ยังพอรับกันได้ แต่การจี้ปล้น ทำร้ายร่างกาย เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ภายในชุมชน คุณจะไปจี้ญาติเป็นความผิดร้ายแรง ในชุมชนบอกเลยว่าไม่เคยมีอาชญากรรมประเภทจี้ปล้น ข่มขืน ฆ่า อันเกิดจากคนใช้ยาเสพติด ไม่มี แล้วพอไปถามคนใช้ยาว่าทำไมไม่มีอาชญากรรมประเภทนี้ เขาก็ตอบว่าทำได้ยังไง คุณจะไปเอาเงินญาติด้วยการจี้ปล้น นี่ญาตินะ ทั้งหมดนี้คือการให้คุณค่าของการเป็นเครือญาติ
ผลของมันคืออะไร ผลของมันก็คือคนใช้ยาสามารถอยู่ได้โดยไม่ถูกรังเกียจรังงอน ถ้ามีคนใช้ยาสักคนที่ไปจี้ปล้น ฆ่า คนในชุมชนก็คงไม่ให้เขาอยู่ การที่ไม่ละเมิดกฎของเครือญาติก็ทำให้เขาอยู่ในชุมชนได้ ขณะเดียวกันชุมชนก็ยังยอมรับเขาในมิติของความเป็นญาติได้
มีอยู่แล้วค่ะ คิดว่าทุกคนที่เคยใช้ยาผ่านความรู้สึกพยายามที่จะเลิก เพราะการใช้ยาเสพติดมีวงจรของมัน เริ่มต้นรู้จักแล้วก็ใช้ ใช้จนหนัก จากเป็นผู้ใช้ก็กลายเป็นผู้ติด ตอนที่ติดหนักๆ สภาพร่างกายจะแย่ คนทุกคนรู้ว่าร่างกายจะไปไม่ไหวแล้ว เป็นช่วงที่รู้สึกผิด ก็ต้องหาทางเลิก ที่สำคัญคือหลายคนใช้ศาสนาเป็นหนทางเลิก เช่น ไปดะวะห์หรือการไปเผยแผ่ศาสนา เป็นกระบวนการที่ผู้ชายเดินทางไปหมู่บ้านต่างๆ เพื่อชักชวนคนให้กลับมาสู่ศาสนา ไม่ได้ชวนคนต่างศาสนานะ แต่ชวนคนในศาสนามานั่งสนทนาธรรม พูดคุยเรื่องศาสนา ซึ่งก็อาจจะไปดะวะห์ตั้งแต่ 3 วัน 7 วัน 10 วัน 100 วันก็แล้วแต่ เป็นหนทางหนึ่งที่คนใช้ยาใช้เป็นทางเลือกในการละทิ้งหรือลดเลิกการใช้ยา
หมายความระหว่างที่ไปดะวะห์ พวกเขาจะไม่เสพ แล้วจะไม่เกิดอาการถอนยา?
ก็มีอยู่แล้ว แต่เขาก็ใช้ศาสนาบำบัด เช่น ไปละหมาด ไปอาบน้ำ ในระหว่างกระบวนการหลายคนบอกว่าช่วงเวลานั้นทำให้เขารู้สึกละ ลด เลิกได้ ในทางจิตใจทำให้เขารู้สึกว่าร่างกายบริสุทธิ์ขึ้น หลายคนก็เลือกไปบำบัดในสถานบำบัดที่เป็นเรื่องศาสนาก็มี ก็แล้วแต่ใครจะเลือก บางคนก็เลือกวิธีสาบานต่อพระเจ้าว่าจะเลิกแล้ว ภาษาอาหรับเรียกว่าเตาบัต
มีเหตุให้ต้องถอนคำสาบานบ้างไหม?
อันนี้ก็มีปัญหาเรื่องการตีความอยู่เยอะ เพราะมีคนถามว่าจะไปสาบานหลายรอบได้มั้ยว่าจะเลิกแล้วนะ คนใช้ยาบางคนบอกว่าไม่เป็นไร ก็ตอนนี้สำนึกก็ต้องบอกว่าจะเลิก แล้วก็กลับมาใช้ยา แล้วก็สำนึกใหม่ก็ได้ หรือผู้นำศาสนาก็บอกว่าสาบานได้ครั้งเดียวพอแล้วในชีวิตว่าจะเลิก ไม่อย่างนั้นพระเจ้าจะไม่ยอมรับ มันมีความหลากหลายในการตีความ ซึ่งแล้วแต่ผู้นำจะอธิบาย
การเป็นผู้ใช้ยาก็คงหนักแล้ว และถ้าเป็นผู้ใช้ยาที่ติดเชื้อเอชไอวี มันจะยิ่งเพิ่มปัญหาในชีวิตหรือเปล่า?
โดยทั่วไปเวลาเป็นผู้ติดเชื้อ มันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะบอกหรือไม่บอกคนอื่น ไม่แน่ใจว่าชุมชนจะรู้มากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่ได้โฟกัส แต่เท่าที่เห็นหลายคนเลือกไม่บอกญาติพี่น้องในชุมชน
มีคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อและใช้ยาหนัก ขโมยของด้วย คนนี้เราใช้ชื่อเขาในวิทยานิพนธ์ว่าการิม เขาเป็นคนที่ใช้ยาเสพติดตั้งแต่วัยรุ่น ที่บ้านเดิมมีฐานะดี พ่อแม่ก็เลี้ยงดูด้วยการให้ทุกอย่าง บ้านการิมมีลูกชาย 2 คน คนหนึ่งติดยา อีกคนค้ายาและติดยาด้วย การิมก็เป็นคนที่ใช้ยามานานและติดเชื้อเอชไอวี ความทุกข์สาหัสในชีวิตของการิมคือตอนที่รู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี การิมแต่งงานแล้ว ถามว่าเขารักภรรยามั้ย รัก แต่ว่าภรรยาขอให้เลิกใช้ยากี่ครั้งกี่หนก็ไม่ยอมเลิก แต่พอรู้ว่าเขาติดเชื้อ เขาให้ภรรยาออกจากบ้านไปอยู่กับคนอื่น อย่ามายุ่งกับเขาอีกเลย
เขารู้สึกว่าใช้ยาก็แย่แล้ว ติดเชื้อยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ด้วยความรักที่เขามี เขาจะไม่เหนี่ยวรั้งภรรยาเขาอีกแล้ว พยายามให้ภรรยาออกไปจากชีวิต ภรรยาก็รักการิม แต่ท้ายที่สุดก็ไปและแต่งงานใหม่ หลังจากให้ภรรยาออกจากบ้านไปสิบกว่าปี ทุกวันนี้ การิมก็ไม่ได้มีภรรยาใหม่ เพราะเขาก็ยังรักภรรยา
และหลังจากที่รู้ว่าติดเชื้อ เขาจะให้ที่บ้านแยกจาน ชาม ช้อน ส้อมของตัวเองออก ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ติดผ่านสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้ครอบครัวต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งๆ ที่เขารู้ว่ามันไม่ติด แต่เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบเดียวที่เขาจะมีต่อครอบครัวได้
ครอบครัวเอง หลังจากแม่ตาย พี่สาวซึ่งรักกันมาก ก็แสดงให้เขารู้ว่าไม่รังเกียจ แล้วพี่สาวก็สั่งลูกๆ เอาไว้ว่าห้ามใครในบ้านแสดงท่าทีรังเกียจเขาโดยเด็ดขาด การิมมีหน้าที่อยู่สองอย่างคือดูแลพ่อที่ป่วยและเลี้ยงหลาน ดังนั้น ลูกของพี่สาว การิมจะเป็นคนเลี้ยง ทุกคนก็จะทำให้ชีวิตปกติ ด้วยความที่รักเขา แต่ยังใช้ยาอยู่ การิมเป็นคนที่อธิบายว่าไม่กล้าเจอโต๊ะครู เขาละอายใจ ตอนที่ติดยาเยอะๆ เขาก็ขโมยของทุกอย่าง
ในฐานะชาวมุสลิม ผู้ใช้ยาคุยกับตัวเองและคุยกับพระเจ้าอย่างไร?
คนใช้ยาเกือบทั้งหมดที่เราสัมภาษณ์ก็เรียนศาสนาที่โรงเรียนหรือที่บ้านโต๊ะครู เขารู้ว่าสิ่งนี้มันผิดหลักการ รู้สึกผิดมั้ย รู้สึกผิดตลอด แต่มันเป็นภาวะติด ไม่ต้องเป็นคนมุสลิมหรอก คนพุทธก็รู้ว่าผิดหลักศาสนา คนใช้ยาทุกคนก็ต้องต่อสู้กับตนเองในเรื่องความรู้สึกผิดบาป หลายคนเล่าว่าเขาไม่กล้ามองหน้าโต๊ะครูที่เคยสอนศาสนาเขา เขาจะหลบไปอีกทาง บางคนเล่าว่าหลายครั้งที่ใช้ยาก็ร้องไห้ว่าในที่สุดเขาจะตกนรก หลายคนก็ละอายใจที่จะไปละหมาดในมัสยิดเพราะคิดว่าตัวเองสกปรกจากการใช้ยา
การเตาบัตหรือการสาบานก็เป็นการคุยกับพระเจ้าของเขา การยอมรับว่าตัวเองทำบาป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับตัว มีคนหนึ่งพยายามที่จะเลิกใช้ยาและไปทำงานกับกลุ่มโอโซน เขาก็เล่าให้ฟังว่าทุกวันศุกร์เขาอยากไปละหมาด เพราะเขารู้ว่าทำบาป การไปละหมาดจะได้ทำให้เขาอยู่ในลู่ในทางของศาสนา เวลาไปละหมาดที่มัสยิดในชุมชน ก็จะถูกมอง บางทีก็มีคนมาถามว่าจะตายแล้วใช่มั้ยถึงมาละหมาด ใกล้จะไปกุโบร์ (สุสาน) แล้วใช่มั้ย เป็นการเบียดขับเขาออกไป ถูกตีตรา ไม่มีใครต้อนรับเขาให้กลับสู่ศาสนา เพราะฉะนั้นคนนี้ก็ไปทำงานกับกลุ่มโอโซนที่จังหวัดหนึ่ง ทุกเสาร์อาทิตย์ก็พยายามจะกลับบ้าน แต่เขาต้องละหมาดวันศุกร์ให้เสร็จก่อน จะไม่กลับมาละหมาดที่บ้าน เพราะมัสยิดอื่นไม่รู้ว่าเขาเป็นคนใช้ยา ทั้งที่ทางที่ดีที่สุดสำหรับชาวมุสลิมคือการกลับมาละหมาดที่มัสยิดที่บ้าน การไปละหมาดทุกครั้งของเขาก็คือการไปต่อรอง การคุยกับพระเจ้าของเขา เพราะเป็นการพยายามที่จะเข้าหาพระเจ้า
แล้วในเดือนรอมฎอนพวกเขาต้องทำอย่างไร?
เขาถือศีลอดนะ ไม่เสพยาตอนกลางวัน แล้วก็ไปใช้ยาตอนกลางคืน ใช้ไซเคิลปกติของคนถือศีลอด ไม่บริโภคอะไร คือในหมู่บ้านนี้มีคนไปรับเมธาโดนที่โรงพยาบาลเยอะ ในโรงพยาบาล ปกติจะให้เมธาโดนตั้งแต่ 8 โมงจนถึงเที่ยงเท่านั้น และต้องกินต่อหน้าผู้ให้คือพยาบาล แต่โรงพยาบาลก็เข้าใจในวิถีและอยากสนับสนุนให้คนใช้ยาถือศีลอด โรงพยาบาลแห่งนี้จึงอนุญาตให้ผู้ใช้ยามารับเมธาโดนหลังพระอาทิตย์ตกดินได้ วงจรการใช้ยาของเขาจะได้ล้อไปกับการถือศีลอด
ถ้าในฐานะผู้นำศาสนาก็บอกว่าก็คงไม่ได้รับการยอมรับล่ะมั้ง การถือศีลอดของเขาคงไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะถือศีลอดไปด้วย ใช้ยาไปด้วย แปลว่าอะไร การถือศีลอดคุณต้องบริสุทธิ์ ปราศจากการทำผิดหลักการศาสนา การใช้ยาแม้ในช่วงตอนกลางคืนก็ยังผิดอยู่ใช่มั้ย แต่นี่คือกระบวนการที่คนใช้ยาพยายามปฏิบัติกิจทางศาสนา เขาจัดการตัวเองได้แค่นี้
ข้อค้นพบจากงานชิ้นนี้ จะนำไปสู่นโยบายอะไรได้บ้างที่จะทำให้คนที่เสพและไม่เสพอยู่ร่วมกันได้?
มันมี 2 เรื่อง Harm Reduction หรือการลดอันตรายจากการใช้ยา อันที่ 2 คือชุมชนเป็นฐานในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งตอนนี้รัฐก็ออกนโยบายมาแล้วเรื่องชุมชนดูแลผู้ใช้ยา
การลดอันตรายจากการใช้ยาด้วยการแจกเข็มสะอาด สนับสนุนให้ไปรับเมธาโดน เป็นข้อถกเถียงมากทั้งทางกฎหมายและศาสนา เพราะฉะนั้นหลักการศาสนาก็จะไม่พูดว่านี่เป็นหลักการที่ทำได้ แต่ศาสนาอิสลามก็มีข้อดีคือความปลอดภัยในร่างกายของมนุษย์เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นผู้นำศาสนาบางคนก็ยึดหลักนี้คือให้ความปลอดภัยกับร่างกายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้นำทางศาสนาบางคนจึงยอมรับการลดอันตรายจากการใช้ยาในแง่นี้
การลดอันตรายจากการใช้ยาไม่ใช่แค่นี้ แต่เป็นการลดอันตรายสำหรับผู้ใช้ยาและคนรอบข้าง การแจกเข็มคือการที่ผู้ใช้ยาไม่ติดเชื้อเอชไอวี การไม่ติดเชื้อเอชไอวีก็เท่ากับคนที่อยู่รอบข้างเขาจะปลอดภัย แต่จริงๆ ไม่ใช่แค่นั้น ถ้าคุณอยู่กับเขา ยอมรับเขาในฐานะมนุษย์ ไม่เบียดขับเขาเป็นผู้ใช้ยาที่ละเมิดบรรทัดฐานทุกสิ่งอย่าง มันก็ทำให้เขารู้ว่าจะต่อรองเพื่ออยู่กับคุณยังไง เหมือนกับข้อค้นพบในงานวิจัย เขารู้ว่าถ้าเขาทำให้ชุมชนไม่ปลอดภัย เขาก็ไม่ปลอดภัย เขาทำตัวแย่มากๆ คนในชุมชนไม่ยอมรับ ขับเขาออกจากชุมชน การไปอยู่นอกชุมชนยิ่งทำให้เขาไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นการที่เห็นคนใช้ยายังเป็นลูก เป็นหลาน เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และดูแลเขาเท่าที่คุณจะดูแลได้ ยอมรับเขาเท่าที่คุณจะยอมรับเขาได้ ยอมรับเขามากกว่าเขาเป็นคนติดยาเสพติด เขารู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่กับคุณ คุณก็รู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่กับเขาเหมือนกัน
ในแง่นี้ถามว่าเป็นข้อเสนอทางนโยบายได้มั้ย คือทำให้คนใช้ยาปลอดภัย เราปลอดภัย ก็เป็นการลดอันตรายจากการใช้ยาอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง
ข้อเสนอเรื่องการดูแลผู้ใช้ยาโดยชุมชน จริงๆ มีตัวอย่างหลายที่ ชุมชนที่ยอมรับ ไม่เบียดขับผู้ใช้ยา ดูแลเขาเท่าที่จะดูแลได้ เช่น การดูแลเขา ตักเตือนเขา เห็นว่าช่วงนี้ใช้ยาหนักมากก็บอกให้เพลาๆ ลงหน่อย ตักเตือนกันด้วยความเป็นมิตร เป็นลูก เป็นหลาน ก็จะทำให้เขาลดการใช้ยาลง หรือท้ายที่สุดเขาอาจจะเลิกได้ก็ได้ การไม่เบียดขับเขาออกไป มันก็ทำให้เขาอยู่ในความสัมพันธ์ชุดใดชุดหนึ่งและดูแลเขาไปด้วยกันในชุมชน
แต่ตอนนี้มีความเข้าใจผิดว่าการดูแลผู้ใช้ยาโดยชุมชนกลายเป็นคิดว่าต้องไปตั้งสถานบำบัดในชุมชนต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ การตั้งสถานบำบัดไม่ใช่การดูแลโดยชุมชน และถ้าเกิดคุณเอาคนใช้ยาที่ไม่ใช่ลูกใช่หลานมาอยู่ในชุมชน ชุมชนก็อาจจะมีความวิตกกังวล เป็นคนที่เขาไม่รู้จัก ในชุมชนที่เราไปเก็บข้อมูล เพราะเขารู้จัก เขาไว้ใจได้ว่าคนนี้โตมากับมือ ให้ใช้ยายังไงมันก็ไม่ทำร้ายเรา ไม่ขโมยเรา คนใช้ยาไม่ใช่ทุกคนที่จะขโมยของ ไม่ใช่ทุกคนที่จะโกหก คนที่ไม่โกหกก็มี คนที่ไม่ขโมยก็มี คนที่รับผิดชอบก็มี แล้วคนในชุมชนก็มั่นใจว่าคนนี้ไม่ทำ เพราะเขารู้ไงว่าคนนี้โตมากับมือ เลี้ยงมากับมือ เห็นกับตา รู้จักคนนี้ นี่คือการดูแลผู้ใช้ยาโดยการดูแลด้วยชุมชน ซึ่งแปลว่าชุมชนเห็นสิ่งเหล่านี้ต่างหาก ไม่ใช่ตั้งสถานบำบัด แล้วเอาคนใช้ยาที่ไหนก็ไม่รู้มาไว้ที่นี่
แสดงความคิดเห็น