(กลาง ใส่ตรวน) ฮาคีม อัล อาไรบี (ที่มา: Banrasdr Photo)

Posted: 04 Feb 2019 12:14 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-02-04 15:14


ศาลอ่านคำร้องขอส่งตัว 'ฮาคีม อัล อาไรบี' แข้งบาห์เรนลี้ภัยที่ถูกจับในไทยกลับไปรับโทษที่บาห์เรน สถานทูตสิบกว่าประเทศ-องค์กรสิทธินานาชาติแห่สังเกตการณ์ ทนายยื่นคัดค้านส่งกลับอีก 60 วัน นัดส่งภายใน 5 เม.ย. พิสูจน์หลักฐาน 22 เม.ย. จำเลยปัด ไม่ได้กระทำผิด ถูกทำร้ายทางการเมือง-ศาสนา สถานทูตออสเตรเลียอัด บาห์เรนไม่เคยถามถึงฮาคีมเลยจนกระทั่งมีการจับกุมในไทย

4 ก.พ. 2562 ที่ศาลอาญารัชดา ศาลนัดสอบคำให้การคดีฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ผู้ถูกรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย แต่ถูกคุมขังในไทยมาตั้งแต่ 27 พ.ย. 2561 นัดของศาลครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีคำร้องจากราชอาณาจักรบาห์เรนให้ส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทย

การสอบคำให้การครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสถานทูตต่างประเทศหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยและต่างชาติอีกหลายองค์กร

ฮาคีมปรากฏตัวพร้อมทีมทนายความและล่ามแปลภาษาจากไทย-อราบิก จากนั้นศาลได้อ่านคำร้องของอัยการที่เห็นพ้องให้ส่งฮาคีมกลับไปยังราชอาณาจักรบาห์เรน โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ต้องสงสัยของสำนักงานอัยการและศาลบาห์เรน เนื่องจากทำผิดกฎหมายบาห์เรนที่มีโทษจำคุก 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากนั้น ทีมทนายความจำเลย (ฮาคีม) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านการส่งตัวข้ามแดนไปยังบาห์เรนไปอีก 60 วัน เนื่องจากเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องและเอกสารประกอบจากทางอัยการในวันนี้ และยังต้องเตรียมเอกสารจากต่างประเทศทั้งจากบาห์เรนและออสเตรเลีย ซึ่งมีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับและภาษาไทย จึงต้องใช้เวลาศึกษาและแปลเอกสาร

ศาลอนุญาตให้ยื่นคำคัดค้านภายในวันที่ 5 เม.ย. 2562 กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อตรวจบัญชีพยานและเอกสารของทั้งฝ่ายอัยการและจำเลยในวันที่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 09.00 น. เพื่อกำหนดประเด็นในการนัดสืบพยานต่อไป

ฮาคีมได้แถลงต่อศาลถึงความกังวลหากมีการส่งตัวกลับประเทศบาร์เรนก็จะถูกลงโทษสถานหนัก และมีความเสี่ยงจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากสิ่งที่เขาพบเจอนั้นเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา ในส่วนของข้อหาที่บาห์เรนตั้งเอาไว้ว่าเขาทำลายทรัพย์สินราชการนั้น ฮาคีมให้การปฏิเสธ เนื่องจากในวันและเวลาที่เกิดเหตุนั้น เขาเตะฟุตบอลในการแข่งขันที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อยู่

หลังเสร็จสิ้นการนัดสอบคำให้การ ที่หน้าศาลอาญา อัลลัน แมคคินนอน รักษาการเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่สถานทูต อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวฮาคีมเป็นภาษาไทย

“ในนามของเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย รัฐบาลบาห์เรนทราบดีอยู่แล้วว่าคุณฮาคีม อัล อาไรบี อาศัยอยู่ที่ในประเทศออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี 2557 ในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลบาห์เรนไม่เคยแสดงความพยายามหรือแจ้งรัฐบาลออสเตรเลียแม้แต่ครั้งเดียว ถึงกรณีคุณฮาคีม หรือต้องการตัวคุณฮาคีมกลับประเทศบาห์เรน แต่ว่าทันทีที่คุณฮาคีมและภรรยาเดินทางมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย รัฐบาลบาห์เรนได้ประสานมาที่รัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วนเพื่อขอให้ควบคุมตัวคุณฮาคีมและดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศบาห์เรนทันที การกระทำของรัฐบาลบาห์เรนทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบากมากครับ ซึ่งจริงๆ แล้วปีนี้เป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวไทยและประเทศไทย”

“ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ารัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้คุณฮาคีมกลับไปยังประเทศออสเตรเลียให้เร็วที่สุด เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย คุณฮาคีมเป็นนักฟุตบอลผู้เป็นที่รักของแฟนฟุตบอลทีม Pasco Vale FC และแฟนฟุตบอลทั่วประเทศเลยครับ เราหวังว่าคุณฮาคีมจะได้กลับไปหาครอบครัวและภรรยาของเขาในเร็ววัน”

อัลลันกล่าวว่า ได้มีการติดต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้ปล่อยฮาคีมกลับไปออสเตรเลียเพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย โดยอัลลันได้รับการยืนยันจากอัยการว่าตามกระบวนการผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลไทยสามารถหยุดการดำเนินคดีนี้ได้

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน หนึ่งในทีมทนายความของฮาคีมกล่าวในกรณีที่อัยการคัดค้านการขอประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะมีการหลบหนีว่า ตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้ามีใครเป็นผู้ต้องหาแล้วศาลควรจะคุมขังตัวเอาไว้ แต่ทั้งนี้ศาลก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ให้ใช้ได้

ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมืองกล่าวว่าเธอได้ไปพูดคุยกับฮาคีมและบอกว่าข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความที่ฮาคีมฝากมา

“ผมกลัวการถูกส่งกลับไปบาห์เรน พวกเขาฆ่าผมได้ ผมไม่ได้ทำอะไร ผมเล่น(ฟุตบอล)อยู่ในลีกบาห์เรนและมันถูกถ่ายทอดสดในทีวีในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้น ช่วยผมด้วย อย่าไปเชื่อบาห์เรน พวกเขาทำสิ่งนี้กับผมเพราะว่าผมเป็น (มุสลิมนิกาย) ชีอะห์”


แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วันนี้ (4 ก.พ. 2562) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์สืบเนื่องกรณีของฮาคีม ใจความว่า

ประเทศไทย: ยกเลิกคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อฮาคีม อาลี อัล อาไรบี ผู้ลี้ภัย

ก่อน “ฮาคีม อาลี อัล อาไรบี” นักฟุตบอลซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจะขึ้นศาล เพื่อรับการไต่สวนคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ แคทเธอรีน เกอร์สัน นักรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเด็นประเทศไทยกล่าวว่า

“ทางการไทยควรยุติกระบวนการใด ๆ ที่เป็นผลมาจากคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ฮาคีมเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการทรมานในบาห์เรน และครอบครัวของเขายังถูกประหัตประหารต่อไปที่นั่น นอกจากนั้นฮาคีมและภรรยาก็ยังได้รับที่พักพิงในออสเตรเลีย เขาไม่ควรถูกกักตัวแม้แต่อีกเพียงวันเดียวก็ตาม และควรได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านที่เมลเบิร์นทันที

“รัฐบาลไทยควรตระหนักว่า แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวของบาห์เรนคือการจับตัวฮาคีมมาลงโทษอีก จากการที่เขาออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสงบ และหากถูกส่งตัวกลับไปบาห์เรน ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่เขาจะถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย ทั้งนี้ตำรวจสากลทำถูกต้องแล้วที่ได้ยกเลิก “หมายแดง” เพื่อจับตัวฮาคีม เนื่องจากเป็นการออกหมายที่ขัดกับนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัยของหน่วยงาน

“กรณีนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลก ทำให้คนทั้งโลกต้องตื่นตระหนก เช่นเดียวกับกรณีราฮาฟ โมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยจากซาอุดิอาระเบีย ทางการไทยมีโอกาสอีกครั้งที่จะแสดงเจตจำนงเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย โดยการปล่อยตัวฮาคีม และไม่ปฏิบัติตามคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของบาห์เรน เนื่องจากการปฏิบัติตามคำขอเช่นนี้ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”

ข้อมูลพื้นฐาน

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พนักงานอัยการของไทยได้ยื่นคำร้องขอส่งตัวอัล อาไรบีเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ในนามของรัฐบาลบาห์เรน ระหว่างเดินทางโดยใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทางของออสเตรเลีย อัล อาไรบีถูกควบคุมตัวพร้อมกับภรรยา ทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อปีที่แล้ว เป็นไปตามการออกหมายแดงที่ผิดพลาดของตำรวจสากล ปัจจุบันเขายังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ

ตามขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คาดว่าอัล อาไรบีจะต้องขึ้นศาลในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) โดยศาลจะสอบถามว่าเขาประสงค์ที่จะถูกส่งตัวไปบาห์เรนหรือไม่

เขาเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน และที่ผ่านมาได้วิพากษ์วิจารณ์ทางการบาห์เรนอย่างสงบและเปิดเผยหลังถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และถูกทรมาน เขาหลบหนีไปออสเตรเลียและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2560 ทางการบาห์เรนมีสถิติที่เลวร้ายในแง่การปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ

ในปี 2557 ผลจากการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้เขาได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในการพิจารณาลับหลัง ในข้อหาทำลายโรงพัก ปัจจุบันพี่ชายหรือน้องชายของเขายังคงใช้โทษจำคุกในข้อหาเดียวกัน

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในการส่งตัวบุคคลกลับไปยังดินแดนใด ๆ ที่บุคคลผู้นั้นมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะถูกทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความเคารพมากขึ้นต่อข้อห้ามนี้ รวมทั้งการให้สัญญาในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2559 ว่าจะออกพระราชบัญญัติต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยรวมถึงการคุ้มครองไม่ให้มีการบังคับส่งกลับ

ที่ผ่านมามีทีมฟุตบอลในไทยออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรนผ่านแฮชแท็ก #SaveHakeem ที่ผ่านมามีเชียงใหม่ เอฟซี และเชียงราย ยูไนเต็ดที่ออกมาร่วมรณรงค์ปล่อยตัวฮาคีม


เชียงใหม่ เอฟซี รณรงค์ปล่อยตัวฮาคีม (ที่มา: Facebook/Official Chiangmai Football Club)

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขระยะเวลาที่ฮาคีมถูกคุมขังในไทย จาก ตั้งแต่ 27 พ.ค. 2561 เป็น 27 พ.ย. 2561
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.