บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน ภาพจากเฟสบุ๊คไลฟ์มติชน

Posted: 31 Jan 2019 05:13 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-31 20:13


บรรยง พงษ์พานิช ชี้หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 หน่วยงานข้าราชการขยายกว่าเท่าตัวเป็นปัญหาที่ทำให้ไทยไม่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า เผยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือการขยายหน่วยงานข้าราชการเพิ่มไปอีก ชี้หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ที่มีสถานะเป็นกฎหมาย และทางที่จะเลิกได้เจ้าของไอเดียต้องไม่อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป

30 ม.ค. 2562 ที่โรงแรม พูลแมน คิงพาวเวอร์ สำนักข่าวมติชนได้จัดเวทีเสนวาหัวข้อ “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดยมีวิยากรประกอบด้วย ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน รองศาสตราจารย์โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone

ทั้งนี้เวทีแบ่งออกเป็นสองส่วน ในช่วงแรกได้เปิดเวทีให้วิทยากรทั้งหมดได้อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเชียวชาญ จากนั้นเป็นเวทีเสวนารวม สำหรับบรรยง พงษ์พานิช ได้อภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเติบโตอย่างเชื่องช้าจนได้รับฉายาว่าผู้ป่วยแห่งเอเชีย พร้อมชี้สาเหตุของโรคว่ามาจากการขยายตัวของรัฐราชการที่ไร้ศักยภาพ และประสิทธิภาพในการทำงาน และชวนมองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่าจะส่งผลอย่างไรในอนาคต

  • จุดเปลี่ยนประเทศไทย(1): มุมมองคนรุ่นใหม่ต่อการเมือง และใช้โซเชียลมีเดีย
  • จุดเปลี่ยนประเทศไทย(2): ปริญญาแนะ คสช. ถอยเป็นคนกลาง ได้ ส.ว. 250 ควรพอได้แล้ว
  • จุดเปลี่ยนประเทศไทย(3): โคทมเสนอช่วงเปลี่ยนผ่าน พรรคอันดับ 1 ควรดึง พปชร. ร่วมรัฐบาล
จุดเปลี่ยนประเทศไทย(จบ): สุรชาติ ชี้ถึงเวลาปลดแอกที่สร้างโดยฝ่ายอนุรักษนิยม

บรรยง พงษ์พานิช : วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจไทย ซัดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สุดท้ายก็ต้องเลิก

บรรยง กล่าวว่า ก่อนการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เศรษฐกิจจะกลับมาคึกคัก และหลังเลือกตั้งระยะต้นก็จะยังคงคึกคักต่อไปอีกสักระยะ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้มีอำนาจเดิมจะต้องรีบปิดโปรเจค จะมีการทยอยเซ็นสัญญาต่างๆ ให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง และหลังจากเลือกตั้งเสร็จต่อให้ผู้มีอำนาจเดิมได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ย่อมมีกลุ่มทุนต่างๆ เข้ามาดีลงานกับรัฐบาล มาเสนอโปรเจค แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมของเศรษฐกิจไทยก็จะเป็นไปแบบเดิมคือ เป็นประเทศที่ติดกับดักต่อไป เป็นคนป่วยแห่งเอเซียต่อไป ศักยภาพการเติบโตของไทยยังอยู่เพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นศักยภาพที่แทบจะต่ำที่สุดในโลกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

เขา กล่าวต่อว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ โดยมีลักษณะที่เรียกว่า แข็งนอก-อ่อนใน คือ การเติบโตต้องพึ่งพาต่างประเทศ เศรษฐกิจโลก การส่งออก และการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจภายในยังมีความอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีสภาพที่เรียกว่า แข็งบน-อ่อนล่าง คือ คนที่อยู่ข้างล่างจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีความเหลื่อมล้ำสูง และเป็นเศรษฐกิจที่แข็งไม่ถาวร คือ มีความเปราะบางในการเติบโต แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเงินการคลังค่อนข้างดี ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดวิกฤติในระยะเวลาอันสั้นนี้ค่อนข้างต่ำ แต่จะเป็นประเทศไทยเติบโตไปไหนไม่ได้ไกล

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น บรรยง ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มต้นการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ปี 2503 ในยุคแรกจนถึง 2535 ถือได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยดีมาก และดีในระดับต้นของโลก จากประเทศยากจนที่มีรายได้ต่อหัวแค่ 100 เหรียญ ขึ้นมาอยู่ที่ 3,000 เหรียญ แต่หลังจากปี 2535 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมาตลอด 5 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีแรก และ 3 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีหลัง จนได้ฉายาว่าติดกับดัก และเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย

คำถามที่ตามมาคือ มีอะไรที่ผิดพลาดไปสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย บรรยง ระบุว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจประเทศไทยขยายรัฐอย่างมโหฬาร ไม่ใช่เพียงแค่งบประมาณที่โตจาก 17 เปอร์เซ็นต์เป็น 22 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เท่านั้น แต่จำนวนข้าราชการไทยและลูกจ้างของรัฐเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านคน วันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน ในขณะที่จำนวนประชากรขยายตัวแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการเพิ่มข้าราชการมากกว่าเท่าตัว โดยจำนวนนี้ยังไม่ได้นับรวมพนักงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ประเทศไทยขยายรัฐวิสาหกิจจากเดิมมีทรัพย์สินประมาณ 3 ล้านล้านบาท วันนี้มีจำนวน 17 ล้านล้านบาท และยังมีการออกกฎหมายจำนวนมหาศาล ทั้งพระราชบัญญัติ ระเบียบ และคำสั่งต่างๆ เพิ่มขึ้นหลายหมื่นฉบับ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการขยายบทบาท และอำนาจรัฐอย่างมโหฬาร โดยที่ไม่ค่อยมีใครตระหนักถึงการค่อยๆ ขยายตัวนี้

เขา กล่าวต่อไปว่า ในด้านทรัยากรบุคคลประเทศไทยกำลังประสบปัญหา คนหมด คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่มีน้อยกว่ากลุ่มคนรุ่นเก่าที่หายไปจากตลาดแรงงาน คนห่วย คือ ประเทศไทยมีความล้มเหลวเรื่องการศึกษามาโดยตลอด และยังมีปัญหาด้านการเงิน คือ มีจำนวนหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทย กลับทุ่มเททรัพยากรที่เหลือน้อยทั้งหมดนี้ไปขยายภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำ ผลิตภาพต่ำ และหากไทยไม่มีการปรับโครงสร้างนี้ ศักยภาพการเติบโตของประเทศก็จะติดกับดักอยู่เหมือนเดิม

“ผมไม่ได้โทษรัฐบาลนี้ เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นมาตลอด ไม่ว่าจะชวนโนมิกส์ ทักษิโณมิกส์ สุรยุทธ์โนมิกส์ อภิสิทธิ์โนมิกส์ ประยุทธ์โนมิกส์ เพราะมีวิธีคิดเหมือนกันหมด เมื่อคิดอะไรไม่ออกก็ขยายรัฐ โดยหวังว่ามันจะแก้ปัญหาได้ แต่มันกลับทำให้ศักยภาพ และประสิทธิภาพของประเทศอ่อนลง” บรรยง กล่าว

บรรยง กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งใจความสำคัญคือ การขยายรัฐแบบมโหฬาร และเป็นแผนที่เขียนโดยเหล่าข้าราชการ อดีตข้าราชการ นักธุรกิจที่ค้าข้ายพึ่งพารัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมอีกนิดหน่อย

“แผนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เราคิดว่าควรจะมีแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นกฎหมาย คือปกติแผนยุทธศาสตร์ใครๆ ก็มีได้ และก็ควรจะมีด้วย แต่มันเป็นแผนที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นกฎหมาย” บรรยง กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า ธรรมชาติของกฎหมายจะเป็นการจำกัดเสรีภาพเพื่อให้คนอยู่ในกรอบอยู่ในระเบียบ ฉะนั้นการมียุทธศาสตร์เป็นกฎหมายคือ การจำกัดเสรีภาพของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการจำกัดเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศไปด้วย ทั้งนี้กฎหมายโดยทั่วไปจะเป็นการบอกว่าห้ามทำอะไร มีจำนวนน้อยที่กฎหมายจะสั่งให้ต้องทำอะไร ซึ่งกฎหมายยุทธศาสตร์มีลักษณะของการสั่งให้ทำ

“มันเกิดจากวิสัยทัศน์ชั่ววูบที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบ และไม่น่าเชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องอย่างนิติบริกรก็ไปจัดให้ออกมาเป็นกฎหมายอยู่ในรัฐธรรมนูญ และเป็นกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับ คนสองร้อยกว่าคนซึ่งหลายๆ ท่านเป็นคนที่หวังดี ก็แห่กันไปช่วยร่างเพราะว่า ส่วนหนึ่งทำด้วยความหวังดี ส่วนหนึ่งก็ต้องการทัดทานอะไรที่กลัวว่าจะมีเรื่องไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งก็ต้องการเข้าไปดูไม่อยากตกขบวนเพราะเกรงว่าจะมีอะไรที่ขัดกับผลประโยชน์ ขณะที่ผมกำลังพูดอยู่ ท่านนายกฯ ก็พูดอยู่อีกเวทีหนึ่งเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ คงจะพูดสักสองชั่วโมง แล้วก็ไม่รู้ว่าสาระคืออะไรเหมือนเคย” บรรยง กล่าว

บรรยง กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์มีจำนวนไม่เกิน 35 คน จำนวน 18 คนเป็นโดยตำแหน่ง มาจากฝ่ายการเมือง 4 คน คือนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรองนายกรัฐมนตรีอีก 1 คน อีก 8 คนเป็นข้าราชการ โดยใน 8 คนนี้มียศเป็นพลเอก 7 คน และที่น่าแปลกใจคือมีการตั้งประธานสมาคมการค้าต่างๆ เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นมายาคติของสังคมไทยว่า สภาหอการค้า สภาอุตสหกรรม สภาธุรกิจต่างๆ จะทำเพื่อประโยชน์ของสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเท่านั้น ในส่วนของคณะกรรมการที่เหลืออยู่เป็นกรรมการจากการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเป็นนักธุรกิจ 3 คน นักวิชาการ 2 คน เป็นภาคประชาสังคมที่ไม่แน่ใจว่าจะถูกยอมรับหรือไม่ 1 คน และเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน 6 คน และมีตำแหน่งที่ว่างอยู่อีก 5 ตำแหน่งซึ่งคาดว่าจะมีการตั้งก่อนการเลือกตั้ง

เขา กล่าวต่อว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีอำนาจมาก เพราะสามารถควบคุมกำกับให้ทุกหน่วยงานในของรัฐต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปประเทศ หากไม่ทำตามจะมีอำนาจที่จะชี้โทษ โดยส่งให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิด หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็จะต้องออกจากตำแหน่ง

“ป.ป.ช. ไปเกี่ยวอะไรกับยุทธศาสตร์ว่ะ นึกอะไรไม่ออกก็เอาคนที่กูสั่งได้รึไง ป.ป.ช. มันไม่เกี่ยวอะไรกับยุทธศาสตร์เลยนะครับ หานาฬิกายังหาไม่เจอเลย....แผนยุทธศาสตร์ชาติสรุปยังไงก็ต้องเลิก ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลต่อไป และวิธีที่จะเลิกก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยก็ต้องแก้กฎหมายลูก และทางเดียวที่จะเลิกคือเจ้าของไอเดีย ต้องไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป ”


ข่าว
การเมือง
เศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์ชาติ
บรรยง พงษ์พานิช
มติชนเสวนา
เลือกตั้ง 62

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.