Posted: 30 Jan 2019 08:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-30 23:28


อันนา หล่อวัฒนตระกูล : เรื่อง

กิตติยา อรอินทร์ : ภาพ

ควันหลงจากกระแส รู้จัก/ไม่รู้จัก ‘นาซี’ เราขอแนะนำหนังดี 8 เรื่องที่ไม่ใช่เพียงนำพาเราไปรู้จักสงครามโลกแบบท่องจำ แต่ประกอบด้วยมุมมองที่สลับซับซ้อน บีบคั้นหัวใจ ทำตัวเลขแบนๆ ของเหยื่อให้มีใบหน้า-เลือดเนื้อ ตั้งคำถามกับนิยาม ผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำ ฯลฯ

ผ่านเรื่องเล่าของเหยื่อ เรื่องเล่าของผู้ช่วยเหลือเหยื่อ และเรื่องเล่าของผู้ที่ไม่อาจบอกได้ว่าเขาอยู่ตรงไหนในพรมแดนระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เรื่องเล่าเหล่านี้คือภาพสะท้อนใบหน้าของมนุษย์ที่จมหายไปกับตัวเลขสถิติ

ความบันเทิงเหล่านี้เองที่อาจสร้างแรงบันดาลใจแท้จริงในการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของโลกในช่วงเวลานั้น

The Great Dictator

สร้างในปี 2483
กำกับและแสดงนำโดย ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin)

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในปีที่สองของสงคราม กำกับและแสดงนำโดยชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกชื่อดัง โดยแชปลินแสดงเองทั้งบทผู้นำเผด็จการและช่างตัดผมชาวยิว

The Great Dictator ใช้การเสียดสีล้อเลียนผู้นำเผด็จการในยุคนั้น เช่น ฮิตเลอร์และมุสโสลินี เพื่อนำเสนอเนื้อหาต่อต้านเผด็จการและเชิดชูความเป็นมนุษย์ ในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ แชปลินได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ยังเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ โดยเรียกร้องให้ทุกคนรวมกันเป็นหนึ่งในนามของประชาธิปไตย
เชิญรับชมสุนทรพจน์ดังกล่าวได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=J7GY1Xg6X20



The Pianist

สร้างในปี 2545
กำกับโดยโรมัน โปแลนสกี (Roman Polanski) 
เอเดรียน โบรดี (Adrien Brody) รับบทวลาดิสลาฟ ชปิลมาน 

สร้างจากเรื่องจริงของวลาดิสลาฟ ชปิลมาน นักเปียโนชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงวอร์ซอ หลังจากกรุงวอร์ซอถูกนาซียึดครอง วลาดิสลาฟและครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ในเขต Warsaw Ghetto และต้องเอาตัวรอดในพื้นที่แออัดในขณะที่สงครามเกิดขึ้นรอบตัว

The Pianist เป็นเรื่องราวของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่สองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเป็นเรื่องราวของการเอาชีวิตรอด มีคนเช่นชปิลมานมากมายซึ่งถูกทำร้ายด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่าเขาเกิดมาเป็นชาวยิว ชปิลมานรอดชีวิตมาได้และเสียชีวิตในปี 2543 ขณะมีอายุได้ 88 ปี แต่เหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จำนวนมหาศาลไม่อาจรอดชีวิตกลับมาเล่าเรื่องราวของตน อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นใบหน้าที่เป็นมนุษย์ของเหยื่อที่ถูกกลืนหายไปกับสถิติผู้เสียชีวิตในสงคราม

The Boy in the Striped Pajamas 

สร้างในปี 2551 
กำกับโดยมาร์ก เฮอร์มาน (Mark Herman) 

เอซา บัทเตอร์ฟิลด์ และ แจ๊ค สแกนลอน (Asa Butterfield and Jack Scanlon) รับบทบรูโนและชมูเอล
ภาพยนตร์สร้างจากนวนิยายของจอห์น บอยน์ (John Boyne) พิมพ์ครั้งแรกปี 2549 ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เด็กชายในชุดนอนลายทาง” แปลโดยวารี ตัณฑุลากร พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน


บรูโน เด็กชายวัยแปดปี บุตรชายของนายทหารนาซีผู้คุมค่ายกักกัน ต้องย้ายไปอยู่ในชนบทพร้อมกับครอบครัว เนื่องจากพ่อของเขาได้เลื่อนตำแหน่ง ในระหว่างที่แอบหนีไปเล่นในป่าใกล้บ้าน บรูโนได้พบกับชมูเอล เด็กชายในชุดนอนลายทาง

ถึงแม้นวนิยายเรื่องเด็กชายในชุดนอนลายทางจะถูกวิจารณ์โดยนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามโลกครั้งที่สองว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางที่จะมีเด็กวัยเท่าชมูเอลอยู่ในค่ายกักกันได้ แต่ทั้งหนังสือและภาพยนตร์ก็เป็นที่รู้จัก อีกทั้งการเล่าจากมุมมองของเด็กนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

Schindler’s List

สร้างในปี 2536
กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ค (Steven Spielberg) 
เลียม นีสัน (Liam Neeson) รับบท ออสการ์ ชินด์เลอร์

ภาพยนตร์สร้างจากเรื่องจริงของออสการ์ ชินด์เลอร์ นักธุรกิจชาวเยอรมันผู้ช่วยชีวิตชาวยิวไว้กว่าพันคน โดยให้พวกเขาทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานของตนในเมืองคราคุฟ ประเทศโปแลนด์

มีคำกล่าวว่า ในทุกๆเหตุการณ์เลวร้าย ขอให้มองหาผู้ที่ช่วยเหลือคนอื่น เพราะมีคนเช่นนั้นอยู่เสมอ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เช่นกัน มีคนมากมายที่ไม่ได้หันหลังให้กับผู้เดือดร้อน แต่เลือกที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือแม้จะรู้ถึงความเสี่ยง ใบหน้าของผู้ให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นอีกหนึ่งใบหน้ามนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในสงครามเสมอ

The Zookeeper’s Wife

สร้างในปี 2560
กำกับโดย นิกิ คาโร (Niki Caro) 
เจสสิก้า ชาสเทน (Jessica Chastain) รับบทอันโตนินา ซาบินสกา

ภาพยนตร์สร้างจากนวนิยายโดยไดแอนน์ แอคเคอร์แมน (Diane Ackerman) พิมพ์ครั้งแรกปี 2550

ณ กรุงวอร์ซอ ปี ค.ศ. 1939 อันโตนินา ซาบินสกาและยาน สามีของเธอ ทำงานเป็นผู้ดูแลสวนสัตว์วอร์ซอ หลังจากกองทัพเยอรมนีบุกโจมตีวอร์ซอ อันโตนินาและสามีตัดสินใจใช้พื้นที่ในสวนสัตว์เพื่อเป็นที่ซ่อนของชาวยิวจนกว่าจะหาที่ปลอดภัยได้

เช่นเดียวกับเรื่อง Schindler’s List และเรื่องเล่าคล้ายกันอีกมากมาย The Zookeeper’s Wife คือเรื่องเล่าของผู้คนซึ่งไม่ยอมหันหลังให้กับความอยุติธรรมที่อยู่ตรงหน้าและเลือกที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้อื่น ถึงแม้ว่านั่นอาจหมายถึงความตายของตนเองก็ตาม

The Shop on Main Street (Obchod na korze) 

สร้างในปี 2508 
กำกับโดย ญาณ คาดาร์และเอลมาร์ คลอส (Ján Kadár and Elmar Klos)
ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2508

จากนโยบาย “ทำให้เป็นอารยัน” หรือ Aryanization ในเชโกสโลวาเกียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชายชาวสโลวักนามโทโน บรืทโก ได้รับมอบหมายให้เข้าไปเป็นผู้ดูแลร้านขายอุปกรณ์เย็บผ้าของหญิงชราชาวยิวนามว่าโรซาเลีย เลาท์มานโนวา อย่างไรก็ตาม โรซาเลียซึ่งมีอายุมากแล้วไม่ได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และคิดไปว่าโทโนเป็นหลานชายของเธอที่มาช่วยงานที่ร้านไปเสียอย่างนั้น

ส่วนใหญ่เมื่อเราเล่าเรื่องของสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นแบ่งระหว่าง “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” นั้นแบ่งให้เห็นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น ประชาชนคนธรรมดามากมายเช่นโทโนอยู่ในสถานะผู้ร่วมมือกับรัฐบาลนาซี แต่คำถามที่อาจไม่มีคำตอบคือพวกเขาอยู่ที่ไหนในพรมแดนระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ The Shop on Main Street ชวนให้เราตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งนี้ ซึ่งอาจคลุมเครือกว่าที่เราคิด

Son of Saul

สร้างในปี 2558 
กำกับโดย ลาสโล เนเมส (László Nemes)
ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2559 

ในปี ค.ศ. 1944 ซาลเป็นนักโทษในค่ายเอาท์ชวิตซ์ ซึ่งมีหน้าที่ทำความสะอาดห้องรมแก๊สและจัดการกับศพของนักโทษด้วยกัน ขณะทำความสะอาดห้องรมแก็ส ซาลเห็นแพทย์นาซีคนหนึ่งฆ่าเด็กชายซึ่งรอดจากการรมแก็ส ซาลต้องการจัดการศพของเด็กชายผู้นั้นตามประเพณีจึงได้ขโมยร่างนั้นไป จนนำไปสู่จุดจบที่น่าเศร้า

ภาพชีวิตในค่ายกักกันที่เราคุ้นเคยกันอาจเป็นภาพของผู้คนในชุดลายทางที่ผอมเหมือนโครงกระดูกและภาพร่างมนุษย์กองสูงเป็นภูเขา แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงภาพที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น Son of Saul แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษด้วยกัน และนำเสนอเรื่องราวของชีวิตในค่ายกักกันจากมุมมองของนักโทษที่อยู่ในตำแหน่ง Sonderkommando ซึ่งต้องทำงานรับใช้ผู้คุม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ให้ใบหน้ามนุษย์กับนักโทษในค่ายกักกันผู้ถูกลดทอนลงเหลือเพียงตัวเลข และแสดงให้เห็นภาพของชายผู้หนึ่งที่กอบกู้ตัวตนส่วนหนึ่งของเขากลับมาได้ ถึงแม้ว่าเรื่องจะไม่ได้จบลงด้วยดีก็ตาม

Spring of Life

สร้างในปี 2543
กำกับโดย มิลาน เซสลา (Milan Cieslar) 
โมนิกา ฮิลเมโรวา (Monika Hilmerová) รับบท เกรทกา 

Spring of Life กล่าวถึง เกรทกา หญิงสาวชาวเช็คผู้เข้าร่วมในโครงการ Lebensborn หญิงสาวที่เข้าร่วมในโครงการนี้จะถูกคัดเลือกจากลักษณะทางกายภาพ พวกเธอทุกคนมีผมสีทอง ตาสีฟ้า และรูปร่างตามแบบของหญิงสาวชาวอารยันตามฉบับลัทธินาซี เกรทกาอาศัยอยู่ในสถานพยาบาลแห่งหนึ่งร่วมกับหญิงสาวคนอื่นๆในโครงการ พวกเธอได้รับการศึกษาตามแบบลัทธินาซี และมีหน้าที่ให้กำเนิดเด็กทารกเพื่อสร้างชนชาติอารยัน แต่เธอกลับตกหลุมรักกับลีโอ ชายชาวยิวซึ่งแอบอาศัยอยู่ในเขตของสถานพยาบาล

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” เลือนราง เกรทกาอาจเข้าร่วมในโครงการที่สนับสนุนแนวคิดพันธุกรรมที่ดีที่สุดตามแนวคิดระบอบนาซี แต่คำถามคือเธอมีทางเลือกหรือเปล่า เธอคือเหยื่อหรือผู้ทำร้าย และท้ายที่สุดแล้วเส้นแบ่งนี้อยู่ตรงไหนกันแน่
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.