Posted: 03 Feb 2019 02:57 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2019-02-03 17:57
เบห์รูซ บูชานี ชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ดผู้ขอลี้ภัยในออสเตรเลียกลายเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมวิกตอเรียนไพรซ์ จากหนังสือที่เขาเขียนด้วยโปรแกรมส่งข้อความ WhatsApp ขณะอยู่ในสถานกักกัน หลังจากที่ทางการออสเตรเลียปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าลี้ภัยในประเทศ เรื่องนี้ทำให้มีคนวิจารณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ว่าออสเตรเลียกำลังทำอะไรย้อนแย้งในตัวเองและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ขอลี้ภัยเหล่านี้
2 ก.พ. 2562 ชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ดชื่อเบห์รูซ บูชานี เคยหนีออกจากประเทศหลังทางการอิหร่านพยายามจับกุมเขาจากงานข่าวที่เขาทำ บูชานีพยายามเดินทางเข้าออสเตรเลียทางเรือสองครั้ง ในครั้งแรกเรือที่เขาโดยสารมาอับปางลงโดยที่บูชานีได้รับการช่วยชีวิตจากชาวประมงอินโดนีเซีย ส่วนครั้งที่สอง เหตุเกิดเมื่อปี 2556 กองทัพเรือออสเตรเลียสกัดจับเรือที่เขาโดยสารมาพร้อมผู้ขอลี้ภัย 75 ราย หลังจากนั้นบูชานีก็ถูกส่งตัวไปที่สถานกักกันเกาะมานัส พื้นที่ในเขตของปาปัวนิวกินีแต่มีออสเตรเลียเป็นเจ้าของสถานกักกัน
ที่นั่น บูชานีเขียนหนังสือของตัวเองจนได้รับรางวัลวรรณกรรมวิคตอเรียนไพรซ์ ซึ่งถือเป็นรางวัลวรรณกรรมที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย แต่เขาก็ไม่สามารถไปรับรางวัลในเมลเบิร์นด้วยตัวเองได้เพราะไม่สามารถออกจากสถานกักกัน
บูชานีได้รับรางวัลจากผลงานชื่อ "No Friend but the Mountains" (ไม่มีใครเป็นเพื่อนนอกจากภูเขา) โดยชนะทั้งรางวัลหลักที่มีเงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2.3 ล้านบาท) และชนะในสาขาหนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง (Non-Fiction) เป็นเงินรางวัล 25,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 560,000 บาท)
บูชานีเขียนเรื่องนี้ด้วยภาษาฟาร์ซีจากในที่สถานกักกันใจกลางเกาะมานัส (ปัจจุบันเป็นสถานกักกันที่ปิดตัวไปแล้ว) เขาเขียนมันด้วยโปรแกรมส่งข้อความโทรศัพท์มือถือที่ชื่อ WhatsApp โดยส่งไปให้กับผู้แปลงานของเขา อย่างไรก็ตามหลังจากที่ถูกคุมขังในเกาะมานัสในปี 2556 บูชานีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกอีกเลยเช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ
เรื่องนี้ทำให้บูชานีพูดว่าการที่เขาได้รับรางวัลเป็น "ความรู้สึกที่ย้อนแย้ง" และบอกว่าเขาไม่อยากเฉลิมฉลองความสำเร็จนี้ในขณะที่ต้องเห็นประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากรอบตัวเขาทนทุกข์ นอกจากนี้บูชานียังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ขอลี้ภัยโดยบอกว่า "พวกเราไม่ได้ก่ออาชญากรรมอะไร พวกเราแค่ต้องการขอลี้ภัย"
การให้รางวัลในครั้งนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านทวิตเตอร์ว่าออสเตรเลียแสดงออกแบบ "มือถือสากปากถือศีล" และ เป็น "การกระทำที่ไม่สอดคล้องกับความคิด" ในขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีกับบูชานี หนึ่งในผู้ที่วิจารณ์ในเรื่องนี้เป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ Omar Sakr ผู้ที่เป็นนักเขียนเหมือนกัน เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ออสเตรเลียยกย่องเรื่องราวและผลงานของ "คนที่พวกเขากำลังกระทำทารุณ" คนที่ยังถูกคุมขัง คนที่พวกเขาทำให้อยู่ในสภาพเป็นคนไร้รัฐ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคนเหล่านี้
เรียบเรียงจาก
Boochani: Asylum seeker on Manus wins Australian literature prize, Aljazeera, Feb. 2, 2019
แสดงความคิดเห็น