today.line.me

“แต๊ะเอียก้อนใหญ่” เงินคนไทยที่รัฐบาลไทยใส่หีบถวายรัฐบาลจีน!

เข้าสู่ฤดูกาลแห่งเทศกาลตรุษจีน “ซินเจียหยู่อี่ซินนี้ฮวดไช้” เทศกาลปีใหม่ของชาวจีนที่เต็มไปด้วยสีแดงอันเป็นสีมงคลของวัฒนธรรมจีน พ่วงมาด้วยธรรมเนียมของการให้ “แต๊ะเอีย” อันเป็นสัญลักษณ์ของการอวยพร ผ่านการให้สิ่งของหรือเงินเพื่อเป็นสิริมงคลกับคนที่รักในวันปีใหม่

คนทั่วไปอาจจะได้รับแต๊ะเอียเป็นเงินขวัญถุง แต่ถ้ามองไปในช่วงที่รัฐบาล คสช. ขึ้นมาบริหารประเทศ ดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน จะดูแน่นแฟ้นขึ้นมากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว

สอดคล้องกับนโยบายสร้าง “เส้นทางสายไหม” ของจีน ที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจของโลก ต่อกรกับจ้าวโลกเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา

ในสถานะแบบ บ้านพี่เมืองน้องที่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากขึ้น หนีไม่พ้นที่จะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และรัฐบาลไทยเองก็ดูเหมือนจะมอบ แต๊ะเอียเป็นของขวัญสร้างสัมพันธภาพแสนดีให้กับจีน จนบางครั้งดูเหมือนว่าจะ ‘มากเกินเหตุ’ และถูกครอบงำอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็น ‘ลูกไล่’ มากกว่าจะเป็น ‘คู่ค้า’

สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน จากคำพูดของ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล"ที่ออกมาเขียนบทความ ชื่อว่า “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก” ที่มีตอนหนึ่งพูดถึงการถ่วงดุลอำนาจผ่านนโยบายต่างประเทศ ที่แต่เดิมเข้าหาหลายประเทศเพื่อไม่ฝักใฝ่ประเทศใดประเทศหนึ่งจนเกินไป แต่ในช่วงที่ คสช. เข้ามาทำหน้าที่ ดูเหมือนจะดำเนินนโยบายที่เอาใจประเทศจีนมากกว่ามหามิตรอื่น ๆ

ผ่าน แต๊ะเอียก้อนยักษ์ที่ใส่ซองเอาใจจีนอย่างไม่สนผลประโยชน์ชาติ

โครงการยักษ์แรก อย่าง ‘รถไฟความเร็วสูงไทย- จีน’ ที่เป็นโครงการความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ หวังให้ทางการจีนรับซื้อข้าวจากไทยเพื่อแลกเปลี่ยน และยอมให้ใช้ทรัพยากรจากจีนในการก่อสร้างและเดินรถ ทั้งการใช้ขบวนรถไฟจากจีน ให้บริษัทจีนออกแบบและคุมงาน โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีความสามารถที่พอสู้ได้เข้ามานำเสนอเพื่อเปรียบเทียบก่อนเลือก

แถมยังใช้อำนาจมาตรา 44 ลงดาบออกคำสั่งเปิดช่องให้สถาปนิกและวิศวกรจากจีนเข้ามาทำงานได้ จากที่แต่เดิมมีกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิศวกรและสถาปนิก กำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพเสียก่อน เมื่อมีคำสั่งนี้ ก็เพียงแค่มีหลักสูตรฝึกอบรบเร่งรัดตามความเหมาะสมอย่างเดียวก็พอ

แถมในคำสั่งนี้ยังอนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของโครงการ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ หรือการจัดหาผู้ประกอบการและเสนอราคา อย่างที่โครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องทำตาม เพื่อลดช่องคอร์รัปชั่น

เป็นผลประโยชน์ที่มีแต่ คสช. เท่านั้นที่ทำได้ ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จในการยกเลิกกฎหมายตามมาตรา 44 ที่มีอยู่ในมือ เป็น ‘ของขวัญ’ ที่มอบให้จีนเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น

อีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่เหมือนเป็นของขวัญให้กับรัฐบาลและนักลงทุนชาวจีน คือ "โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" หรือ EEC ที่เป็นความฝันของไทยในการผลักดันให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค ทั้งด้านอุตสาหกรรมและดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0

ดูเผิน ๆ จะเป็นการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ผ่านการเชื่อมโยงกับนโยบาย One Belt One Road ของประเทศจีน แต่ในตัวกฎหมาย EEC เอง กลับมีข้อความที่เปิดโอกาสเต็มที่ให้ชาวต่างชาติมาเป็นผู้อยู่อาศัยและถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย อย่างไม่จำกัดจำนวนสูงสุด

อีกทั้งยังไม่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่ดินเดิม หรือกฎหมายอาคารชุดเดิม ที่จำกัดจำนวนสิทธิ์ที่ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถือครองที่อยู่อาศัยและที่ดินในไทยได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังกล่าวด้วยว่า การเปิดช่องทางถือครองที่ดินแบบนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนชาวจีนโดยตรง เพราะในแวดวงของนักลงทุนชาติอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีความต้องการเข้ามาซื้อที่ดินมากขนาดนั้น (อาจมีเฉพาะผู้ประกอบการที่อาจมาตั้งโรงงานต่าง ๆ)

นี่ดูจะเป็นการเข้ามาครอบงำดินแดนไทยภายใต้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านฉลุยอย่างง่ายดาย ไม่มีการทบทวนแต่อย่างใด เพื่อให้รัฐบาลจีนมองไทยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ส่งเครื่องบรรณาการเป็นข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจในแบบที่ ‘ยอม’ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ในระดับโลก เขาเรียกสิ่งที่จีนกำลังพยายามทำกันว่า ‘New Colonialism’ หรือการสร้าง จักรวรรดินิยมยุคใหม่ผ่านข้อแลกเปลี่ยนในการสร้างระบบโครงสร้างขนาดยักษ์ หรือสิทธิ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อแลกกับประโยชน์ทางการฑูตในภายภาคหน้า

น่าจับตามองว่า ซองแต๊ะเอียขนาดยักษ์ที่รัฐบาลทหารไทยยื่นให้จีนครั้งนี้ เราจะต้องเสียอะไรไปในอนาคตบ้าง

ที่มาข้อมูล:

https://www.khaosod.co.th/politics/news_1997305

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/162/27.PDF

https://www.prachachat.net/economy/news-209895

https://prachatai.com/journal/2018/06/77305

https://thestandard.co/news-politics-worasak-mahatdhanobol-china-one-belt-one-road/

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.