Posted: 01 Jul 2017 12:04 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สำรวจมรดกทางเศรษฐกิจและการเมืองที่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อนยังคงฝากไว้แก่สังคมไทย ผ่านการศึกษาของ ‘อภิชาต สถิตนิรามัย’ โดยเฉพาะเมื่อมรดกทางเศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งเคยพยุงเศรษฐกิจไทย ถึงวันนี้กำลังจะดับ


วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาจนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของประเทศไทย-วิกฤตต้มยำกุ้ง มันเป็นวันประกาศลดค่าเงินบาทและเพียงไม่นานค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำนวนพังทลายลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง

ผ่านมา 20 ปี ความทรงจำเจ็บปวดในอดีต กับบางคนยังจำได้ขึ้นใจ วิกฤตต้มยำกุ้งไม่เพียงทิ้งรอยแผลไว้กับผู้คน แต่ยังทิ้งมรดกไว้กับเศรษฐกิจไทยจวบจนปัจจุบัน มรดกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และปัจจุบันมันกำลังจะหมดเรี่ยวแรง

เศรษฐกิจ: มรดกเครื่องยนต์ที่กำลังดับ


อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาและเขียนงานวิชาการเกี่ยวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง กล่าวกับประชาไทว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอดีตพึ่งพิงการลงทุนในประเทศสูง พูดได้ว่าเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับตัวเรามากกว่า ทว่า การลงทุนที่สูงเกินไปนั้นเองที่ทำให้เกิดวิกฤต เพราะประเทศไทยลงทุนมากกว่าศักยภาพที่มีอยู่ กล่าวคือลงทุนมากกว่าเงินออมที่มี ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ จนมีภาระหนี้ต่างประเทศสูง

เป็นสภาพการณ์ที่เดินตามโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการลงทุนโดยมีรัฐและเอกชนเป็นตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของไทยหรือต่างประเทศ การเติบโตเป็นตัวนำการลงทุน อภิชาตเรียกว่า เป็น Investment let Growth แต่ภาพนี้ก็แปรเปลี่ยนหลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็น Export let Growth หมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ก็ขึ้นกับว่าจะส่งออกได้มากหรือไม่

เครื่องยนต์ในการนำเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนตัว แต่ก่อนเครื่องยนต์ที่เป็นตัวนำคือการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชน หลังวิกฤตเศรษฐกิจกลายเป็นการส่งออก

“ในทางเศรษฐกิจ มรดกหลัง 20 ของวิกฤตเศรษฐกิจ คือมันทำให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกสูงมาก จากเดิมสัดส่วนการส่งออกต่อรายได้ประชาชาติของเราก่อนวิกฤตอยู่ที่ร้อยละ 20-30 เท่านั้น แต่กลายเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป และจีนในระยะหลัง มันจึงทำให้การเติบโตของไทยต่ำลงไปด้วย คือเราพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจได้ไม่นาน ประมาณ 10 ปีแรกของวิกฤต ค่าเงินบาทอ่อนลงกว่าเดิมมาก ทำให้การส่งออกของเรายังขยายตัว เรายังมีการลงทุนเพื่อการส่งออกจำนวนหนึ่ง เศรษฐกิจไทยก็ยังโตได้ เช่นในยุคทักษิณ โตประมาณร้อยละ 5-6 แต่หลังปี 2550 เราก็มีวิกฤตการเมือง มีวิกฤตเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การส่งออกของเราน้อยลง โตช้าลง เมื่อส่งออกน้อยลง เราก็จะลงทุนในการผลิตน้อยลง ถ้าลงทุนเยอะเกินไป ผลิตแล้วอาจจะไม่มีคนซื้อ”


อภิชาต กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีหลังมานี้การลงทุนของไทยต่ำลงมาก หากเปรียบเทียบกับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้ที่ประเทศไทยหาได้ 100 บาท มาจากการลงทุนถึง 40 บาท แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ มูลค่าการลงทุนเฉลี่ยเหลือเพียง 20 บาท เมื่อการเติบโตของการส่งออกลดลง เงินลงทุนก็ยิ่งลดลงตาม เศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในสภาพโตช้าลง นี่คือผลอย่างสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

อภิชาต ขยายความต่อ Export let Growth หนึ่ง-พึ่งตลาดภายนอก ถ้าตลาดภายนอกไม่ดี ไทยก็แย่ไปด้วย สอง-พึ่งความสามารถในการแข่งขันระหว่างไทยเทียบกับคู่แข่ง ที่ผ่านมาไทยใช้ทรัพยากรแบบเดิมหมดแล้ว เช่น ทรัพยากรป่าไม้ ปลาในทะเล ของเหล่านี้ย่อมแพงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันต่ำลง ที่สำคัญไปกว่านั้น กำลังแรงงานหมด ไม่มีแรงงานราคาถูก แต่เปลี่ยนเป็นแรงงานรายได้ปานกลาง จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระยะหลังของไทยต่ำลงด้วย เมื่อสองปัจจัยนี้เจอกันก็ยิ่งทำให้มีการลงทุนน้อย การเติบโตก็จะยิ่งน้อย เพราะลงทุนผลิตแล้วไม่รู้จะขายใคร จะแข่งกับเพื่อนบ้านในสินค้าแบบเดิมๆ ที่ไม่มีนวัตกรรมก็ไม่สามารถทำได้

“ถ้าสถานการณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะไม่เจอวิกฤตเศรษฐกิจแบบในปี 2540 ซึ่งในความหมายหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจด้านมหภาค เป็นวิกฤตการเงิน การธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยน...แต่สิ่งที่เราจะเจอ ถ้าจะเรียกว่าวิกฤตในอนาคตก็คือวิกฤตที่เราโตช้า ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเราโตร้อยละ 7 ต่อปี 10 แรกหลังวิกฤตเราโตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเราโตประมาณร้อยละ 3 ในขณะที่ประชากรของเราแก่ขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของคนแก่ในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเราโตช้าลงเยอะ ถ้าจะเจอวิกฤตเราจะเจอแบบที่เรียกว่าวิกฤตต้มกบ"

วิกฤตเศรษฐกิจเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นฐานของประเทศอย่างญี่ปุ่น เงินที่เข้ามาหลังวิกฤต เงินที่เข้ามาช้อนซื้อธุรกิจก็คือเงินญี่ปุ่น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น รถยนต์ เพราะค่าเงินบาทตก ตอนนั้นทรัพยากร แรงงานก็ยังพอมี ถึงจุดนี้สิ่งที่เป็นฐานเหล่านี้มันหมดลงแล้ว

การลงทุนที่ผ่านมาเหมาะกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เมื่อ 40 ปีมาแล้ว แต่ไทยกลับยังลงทุนในแบบเดิมมาตลอด คือการโตขึ้นบนฐานของทรัพยากรอุดมสมบูรณ์รวมแรงงาน เมื่อสิ่งเหล่านี้หมด การลงทุนจึงหดลง ถ้ายังอยากลงทุนให้สูงกว่านี้ก็ต้องลงทุนในสินค้าที่ขายออก ดังนั้น สินค้าแบบเก่าจึงไม่มีคนลงทุน ต้องไปลงทุนในสินค้าแบบใหม่

“ถ้าสถานการณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะไม่เจอวิกฤตเศรษฐกิจแบบในปี 2540 ซึ่งในความหมายหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจด้านมหภาค เป็นวิกฤตการเงิน การธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยน ที่เกิดจากภาวะความไม่มั่นคงของทางมหภาค ตรงกันข้าม ภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันของเรามั่นคงมาก แต่สิ่งที่เราจะเจอ ถ้าจะเรียกว่าวิกฤตในอนาคตก็คือวิกฤตที่เราโตช้า ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเราโตร้อยละ 7 ต่อปี 10 แรกหลังวิกฤตเราโตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเราโตประมาณร้อยละ 3 ในขณะที่ประชากรของเราแก่ขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของคนแก่ในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเราโตช้าลงเยอะ ถ้าจะเจอวิกฤตเราจะเจอแบบที่เรียกว่าวิกฤตต้มกบ

“เมื่อเศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ สังคมก็จะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรองรับคนแก่ วิกฤตที่เราจะเจอ ไม่ใช่วิกฤตการเงิน การธนาคาร อัตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นวิกฤตสังคมแก่ก่อนรวย แปลว่าเป็นสังคมที่ไม่มีศักยภาพที่จะเลี้ยงดูคนแก่ เพราะคนแก่ใช้เงินเยอะ เราจะมีคนอายุเกิน 65 ปีในสัดส่วนที่เกินร้อยละ 20 ของประชากรภายใน 4-5 ปีข้างหน้า แปลว่าภาระของสังคมที่จะต้องเลี้ยงดูคนแก่จะสูงขึ้น ถ้าเศรษฐกิจโตช้าๆ ถ้าไม่มีความพยายามที่จะเก็บภาษีเพิ่ม สัดส่วนที่จะต้องใช้ในค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้น แล้วรัฐจะยอมลดค่าใช้จ่ายตรงไหนมาดูแลคนแก่ ขณะที่ลูกหลานจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤต นี่คือภาวะต้มกบ”

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า หากเทกบใส่ลงไปในน้ำเดือด มันจะกระโดดออกมาทันที แต่ถ้าใส่มันไว้ในน้ำอุณหภูมิห้อง แล้วค่อยๆ ต้มน้ำจนเดือด ในตอนแรกกบจะไม่กระโดดหนี แต่จะค่อยๆ ปรับตัวกับน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นๆ จนในที่สุดก็ไม่สามารถทานทนได้อีกต่อไปและตายในที่สุด อภิชาตย้ำว่า

“มันเป็นวิกฤตที่จะอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น เกิดขึ้นช้าๆ ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น ซึ่งจะทำให้คนไม่ค่อยตระหนัก มรดกของวิกฤตเศรษฐกิจคือต่ออายุการเติบโตออกไป แต่ตอนนี้หมดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบที่จะทำให้เศรษฐกิจโต”

นี่คือสิ่งที่เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง

“เราต้องลงทุนในสินค้าใหม่ ซึ่งเราไปไม่ได้ และอย่าคิดว่าต้องลงทุนเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเดียว ลงทุนแบบเคป็อปหรือสินค้าเชิงวัฒนธรรมก็ได้”

การเมือง: ช่องว่างทางการเมือง การเปลี่ยนรุ่น และรัฐธรรมนูญ 2540

“ปัจจุบัน 20 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เราไม่ต้องกู้ต่างประเทศแล้ว เราออมมากกว่าการลงทุน ในความหมายนี้ เรากลายเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศแล้ว ตอนนี้เราลงทุนน้อย เราจึงโตช้า เงินออมจึงเหลือ เราก็ส่งออกเงินออมนี้ไปให้ต่างประเทศกู้ ตัวเลขที่ชัดเจนคือเงินสำรองของแบงค์ชาติเรามีเป็นแสนล้าน เรามั่นคงมาก เราจะไม่เจอปัญหาแบบต้มยำกุ้ง”

เมื่อเงินออมมีปริมาณมาก อัตราดอกเบี้ยจึงต่ำเตี้ยตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย อย่างไรก็ตาม อภิชาตกล่าวว่าประเด็นที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดคือธนาคารได้กำไรมหาศาลภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้สูงกว่าก่อนวิกฤตเสียอีก นำมาสู่ประเด็นต่อมาที่ว่า

“ภาคการธนาคารของไทยเป็นภาคที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐสูงมาโดยตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมีความพยายามจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งธนาคารได้ แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ แบงค์ขาดทุนมาก รัฐจึงอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นของแบงค์ที่มีอยู่แล้วและเปลี่ยนชื่อเป็นแบงค์ต่างชาติ ดังนั้น เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจกับปัจจุบันมีผู้เล่นที่เป็นต่างชาติมากขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐไม่ได้ขยายให้ต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการมากขึ้นด้วยซ้ำ ในแง่นี้ ภาคธนาคารจึงเป็นภาคที่ได้รับการปกป้องจากภาครัฐมาโดยตลอด”

ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ นายทุนระดับชาติที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการเมืองไทยคือทุนธนาคารพาณิชย์ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ชาตรี โสภณพานิชย์ แห่งอาณาจักรธนาคารกรุงเทพ ถึงกับกล่าวว่าตนเองเป็นเจ้าสัว Yesterday ทุนหายไป ภาคธนาคารล้มทั้งภาค ในแง่นี้จึงเปิดช่องว่างให้กับนายทุนหน้าใหม่ที่เป็นทุนระดับชาติ

“ช่องว่างทางการเมืองเกิดขึ้นได้ มันก็เปลี่ยนรุ่น เงินน้อยก็เจ๊งไป แล้วพวกทุนธนาคารก็ไม่เคยเล่นการเมืองแบบตั้งพรรคการเมืองเอง การเมืองก็คนละวิถี ทักษิณโตมาจากทุนสัมปทาน การเป็นนักการเมืองเองจึงน่าจะมีแรงจูงใจมากกว่า ประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดช่อง เขาเห็นกติกาใหม่ว่าแบบนี้มีทางไปได้ดีกว่ากติกาเก่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ เขาจะลงมั้ย ก็อาจไม่ลงก็ได้ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ 2540 การเมืองก็จะเป็นรัฐบาลผสมและอ่อนแอ”

ปัจจุบัน นายธนาคารไม่ได้เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจอีกแล้ว การเปิดเสรีทางการเงินในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจทำให้นายทุนไม่ต้องพึ่งเงินกู้ธนาคาร แต่สามารถกู้จากตลาดทุน จากตลาดพันธะบัตร ออกหุ้นกู้ นำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน หรือกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรง จึงเท่ากับลดอิทธิพลของนายธนาคารลง

“อีกด้านหนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจเป็นตัวทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2540 ผมคิดว่านี่คือตัวสำคัญที่ทำให้กระแสมันไป สุดท้ายมันบีบให้รัฐสภาต้องผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งที่คนอย่างเสนาะ เทียนทอง บอกว่าจะคัดค้านมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงตอนที่สภาต้องโหวต เสนาะก็โหวตให้รัฐธรรมนูญ 2540 ในแง่นี้วิกฤตเศรษฐกิจจึงทำคลอดรัฐธรรมนูญปี 2540”


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.