“ปิยบุตร”งง!ศาลยกคำร้องยิ่งลักษณ์
ชี้ตีความเหนืออำนาจ ขัดรธน. ม.212


อ.ปิยบุตร งัดหลักวิชาการล้วนๆ แย้งศาลฎีกาฯตีความ รธน. ม.212 นอกเหนืออำนาจ ชี้ศาลฯไม่มีสิทธิ์สั่งยกคำร้อง ต้องเป็นดุลพินิจศาล รธน.เท่านั้น ระบุคำร้องโต้แย้งเหตุข้อกฎหมายขัด รธน. ไม่ใช้อำนาจศาลขัด รธน.

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีคดีโครงการรับจำนำข้าว ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ยอมส่งประเด็นที่จำเลยโต้แย้งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดรัฐธรรมนูญ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทาง มาตรา 212 โดยตามข่าว ศาลเห็นว่าให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายเต็มที่ในการนำพยานบุคคลไต่สวนแล้วตามหลักเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกาฯวินิจฉัยแบบนี้ได้อย่างไร งงมาก ผมเห็นว่าไม่ถูกต้องเลย

การตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรมในประเทศไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราใช้ระบบบังคับส่ง หมายความว่า เมื่อคู่ความโต้แย้งมา ศาลแห่งคดีต้องส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเสมอ เพราะมาตรา 212 ไม่มีส่วนที่ให้ศาลแห่งคดีใช้ดุลยพินิจไม่ส่งได้

เงื่อนไขเบื้องต้นของมาตรา 212 มีเพียงต้องเป็นประเด็นเรื่องกฎหมายที่จะใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ซึ่งกรณีที่เราพูดถึงอยู่นี้ เป็นกรณีที่โต้แย้งว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 ขัดรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 พึ่งประกาศใช้เอง

“ดังนั้น ศาลฎีกาฯจึงไม่มีอำนาจใดๆที่จะไปวินิจฉัยไม่ส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนถ้ามันเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่จำเป็นต้องพิจารณา หรือสุดท้ายกฎหมายที่โต้แย้งมาไม่ขัด รธน นั่นเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญครับ ไม่ใช่ศาลฎีกาฯ จำเลยไม่ได้โต้แย้งการใช้อำนาจของศาลว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยเขาโต้แย้งว่า กฎหมายที่ใช้กับคดีขัดรัฐธรรมนูญ แล้วศาลฎีกาฯไปบอกว่า ตนเองให้โอกาสคู่ความเต็มที่แล้ว ทำไม??? คนละเรื่องเลยครับ นี่ถ้าเอาเรื่องนี้ไปออกข้อสอบเนติบัณฑิต วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ยุ่งตายเลยครับ"

นายปิยบุตร ระบุเพิ่มเติมอีกว่า นี่คือ “การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นทางการ” (Informal Constitutional Change) คือ การใช้และการตีความรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนโดยไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยไม่ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ในคดีจำนำข้าว) โดยการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ของศาลฎีกา ส่งผลให้บทบัญญัติในมาตรา 212 เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

จากที่เขียนว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"

กลายเป็น "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลวินิจฉัยว่าจะส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้" ประเทศไทย มีกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้และตีความจนส่งผลเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหลายกรณีมาก

ผมกำลังเขียนเป็นงานวิจัยอยู่ เสร็จปีหน้า และจะนำบางส่วนไปบรรยายในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของ ป โท ในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ วันนี้ ได้มาอีกหนึ่งตัวอย่างแล้ว

PEACE NEWS

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.