จากซ้ายไปขวา อนันต์ เมืองมูลไชย, วิโรจน์ ณ ระนอง, ชลน่าน ศรีแก้ว, วินัย สวัสดิวร และอธึกกิต แสวงสุข

Posted: 23 Jul 2017 09:57 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เวทีเสวนาชี้ 'คนไทยต้องมีฉันทามติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ลดความเหลื่อมล้ำ เผยหลังค่ารักษาแพงจากนโยบายเมดิคัลฮับ คนชั้นกลางหันมาใช้บัตรทองมากขึ้น ระบุคนชั้นกลางต้องใช้สิทธิบัตรทอง ช่วยจี้รัฐบาลพัฒนาระบบให้มีมาตรฐานคุณภาพ และไม่หายไปจากประเทศ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. ร่วมกับคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ 'จากบัตรทองสู่บัตรอนาถา? ปัญหาและทางออกของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค' ว่าด้วยแนวคิดเบื้องหลังของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัญหาที่พบตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ และเสนอทางออกร่วมกันเพื่อช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืนต่อไป โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เป็นวิทยากร และ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ 'ใบตองแห้ง' ดำเนินรายการ


สำนักข่าว Hfocus รายงานว่า ดร.วิโรจน์ เริ่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยจะได้รับการชื่นชนจากองค์กรต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีฉันทามติชัดเจนต่อการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในเรื่องการร่วมจ่าย การเข้าถึงและความเท่าเทียมในการรักษาภายใต้ระบบของประชากรในทุกกลุ่ม รวมถึงมาตรฐานและคุณภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และยังดำเนินมาจนถึงขณะนี้

ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัญหาที่สำคัญคือคนชั้นกลางซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของประชากรประเทศและเป็นกลุ่มที่มีเสียงดัง ไม่อยากมาใช้ระบบนี้ และมองว่าไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งยังไม่อยากให้มีการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปสนับสนุน ทำให้ขาดแรงผลักดันที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีมาตรฐาน ประกอบกับรัฐบาลไม่เพิ่มเติมงบประมาณสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหามาตรฐานบริการมากขึ้น ขยายความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ และในที่สุดการบริการในระบบจะเสื่อมถอยและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศก็จะหายไป รวมถึงนโยบายดึงคนไข้ต่างชาติเข้ารักษาพยาบาลในประเทศ ที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามดึงคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศมากขึ้น มีกำลังซื้อมหาศาลเข้ามา โดยเราปล่อยให้คนไข้ต่างชาติเข้ามาอย่างเสรี แต่กลับทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีมานี้ ส่งผลให้คนชั้นกลางที่เคยคิดว่า 30 บาทตายทุกโรค จะไม่ใช้บริการ 30 บาท แต่เมื่อไม่สบายและเข้ารักษา รพ.เอกชนมีชื่อเสียง แต่หลังเสียค่าใช้จ่ายเดือนละหลายแสน ที่สุดต้องวิ่งกลับมาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น วันนี้คนชั้นกลางซึ่งไม่ใช่เศรษฐี ควรหันกลับมาร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดความยั่งยืนแทน” ดร.วิโรจน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้การที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีมาตรฐานและคุณภาพ จากงานวิจัยระบุว่า รัฐบาลต้องเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ดร.วิโรจน์ กล่าว พร้อมระบุว่า ส่วนสาเหตุที่ยังต้องมี สปสช. เพราะต้องมีผู้ทำหน้าที่ซื้อบริการแทนประชาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสียงและคัดง้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แทนประชาชน แต่ด้วยระบบบริการปัจจุบันร้อยละ 90 เป็นของ สธ. ทำให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องพึ่งพากัน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่

นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะนี้มองไม่ออกว่าอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ขณะนี้ยืนยันว่าประชาชนจะไม่ได้อะไรเพิ่ม ส่วนจะแย่ลงแค่ไหนนั้นยังไม่รู้ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายต้องเอาปัญหาการเข้ารับบริการของประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาในฐานะเลขาธิการ สปสช. ที่เป็นเลขานุการในบอร์ด สปสช. ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้รวมกองทุนใน ม.9, 10 และ 11 แต่กลับไม่สามารถทำได้ ขณะที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีความพยายามทำให้ สปสช. อ่อนแอลง อย่างการจัดซื้อยา ไม่เคยบอกว่า สปสช. ทุจริต การทักท้วงก็ระบุเพียงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่ในการแก้กฎหมายฉบับใหม่กลับไม่แก้ให้ สปสช. มีอำนาจเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมายที่มีการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนผู้ให้บริการ ทั้งที่เป็นบอร์ดผู้ซื้อบริการ ส่วนตัวจึงหมดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

“เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงต้องพยายาทำให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ทำให้ทุกระบบมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งคงต้องฝากรัฐบาลหน้าหากมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลนี้คงไม่สนว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ใช่ภาระงบประมาณประเทศ” อดีตเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองจะเป็นบัตรอนาถาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ประเด็น คือ 1.รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่แตกต่างจากปี 2540 และ 2550 ที่ไม่มีคำว่าผู้ป่วยอนาถาหรือผู้ป่วยรายได้น้อย และไม่จำกัดให้เข้าถึงบริการเฉพาะของรัฐ แต่ให้ประชาชนมีสิทธิและเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีการจำกัดสิทธิ 2.การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้ จะมีประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งต้องยึดหลักการคือ ทุกคนต้องเข้าถึงระบบสาธารณสุขภายใต้หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มีมาตรฐานเสมอกัน และเปิดโอกาสให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเองได้ ไม่จำกัดให้อยู่แต่เฉพาะมือหมอและพยาบาลเท่านั้น และ 3.ความมีอคติของผู้ให้บริการที่เกิดจากการแบ่งแยกชนชั้นผู้รับบริการจากสิทธิสุขภาพและอคติทางการเมือง

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายขณะนี้ว่า ยังมีประโยขน์ และมองว่าเรื่องการร่วมจ่ายต้องคงไว้ เพียงแต่ควรเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องหมวดส่งเสริมสุขภาพว่าค่าใช้จ่ายจะไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณในเรื่องนี้ให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะมีการสรุปเนื้อหาแล้ว แต่เรายังมีโอการแสดงความเห็นและปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และแม้จะออกเป็นกฎหมายแล้วก็สามารถทบทวนได้ หากดูสาระแล้วว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นต้องปรับแก้

อนันต์ ในฐานะแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ประสบปัญหาการทำงานหนักมากจากปัญหาการตีความกฎหมายกำหนดให้งบบัตรทองต้องลงสู่หน่วยบริการเท่านั้น งบประมาณที่ใช้เพื่อสร้างกระบวนการทำงานกับผู้ติดเชื้อ 29 ล้านบาท จึงกระจายกองไว้ที่โรงพยาบาล แม้ว่าเครือข่ายฯ จะทำแผนส่งไปยัง รพ. แต่ก็ติดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเงินบำรุง ทำให้หลายพื้นที่ทำงานไม่ได้ โดยในปี 2560 ยังไม่ผ่าน และจนถึงวันนี้ปัญหายังไม่คลี่คลาย ซึ่งทิศทางในปี 2561 ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ซ้ำยังมีแนวโน้มจะแยกเงินเดือนอีก

อธิกกิต กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้เรื่องฉันทามติต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญ ประชากรร้อยละ 99 ต้องใช้สิทธินี้ ซึ่งอาจมีเพียงร้อยละ 1 ที่สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ เนื่องจากค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้นทุกวัน วันนี้ถึงเวลาที่คนไทยต้องคุยกัน มองให้กว้างขึ้นกว่าการทะเลาะกันอย่างทุกวันนี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.