Posted: 23 Jul 2017 09:43 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังจากถูกสั่งแบนไปก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์ "ลิปสติกอันเดอร์มายบุรกา" จากผู้กำกับหญิงชาวอินเดียที่มีเนิ้อหาสะท้อนมุมมองจากผู้หญิงรวมถึงเรื่องเพศก็ได้ฉายแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผกก. มอง การเมืองเรื่องเพศในชีวิตประจำวันถูกนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในสังคมถือเป็นเรื่องดี


โปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง "ลิปสติกอันเดอร์มายบุรกา" (Lipstick Under My Burkha) (ที่มา:วิกิพีเดีย)

24 ก.ค. 2560 ภาพยนตร์ "ลิปสติกอันเดอร์มายบุรกา" (Lipstick Under My Burkha) โดยผู้กำกับหญิงชาวอินเดีย อาลันคริตา ชรีวาสตาวา เคยถูกสั่งแบนจากทางการอินเดียมาก่อนด้วยข้ออ้างที่ว่า "เอนเอียงไปในทางผู้หญิงมากเกินไป" แต่ก็มีการจัดฉายเป็นครั้งแรกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้กำกับหญิงมองว่าเป็นชัยชนะสำหรับผู้หญิงอินเดีย

ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นภาพยนตร์แนวตลกร้าย (black comedy) ที่นำเสนอโลกของผู้หญิงที่ชายชาวอินเดียอาจจะไม่คุ้นเคย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง 4 คน ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของอินเดียผู้พยายามดิ้นรนเพื่ออิสรภาพและได้เป็นตัวของตัวเอง โดยในเรื่องนี้ยังนำเสนอเรื่องเพศจากมุมมองของสตรีอินเดียด้วย

ถึงแม้ว่าลิปสติกอันเดอร์มายบุรกาจะได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวและเทศกาลภาพยนตร์มุมไบมาก่อนหน้านี้ และได้รับรางวัลสปิริตออฟเอเชียกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้านความเท่าเทียมทางเพศของอ็อกแฟมมาก่อน แต่คณะกรรมการตรวจสอบรับรองภาพยนตร์อินเดีย (CBFC) ก็ไม่ยอมให้การรับรองและจัดประเภทภาพยนตร์นี้โดยบอกว่ามีเนื้อหาที่เอนเอียงไปทางผู้หญิง จินตนาการเหนือชีวิตจริงของผู้หญิง และกล่าวหาว่ามีฉากเพศสัมพันธ์ คำหยาบ การใช้เสียงที่ส่อไปในทางเพศ รวมถึง "มีการแตะต้องเรื่องอ่อนไหวในภาคส่วนหนึ่งของสังคม"

พวกเขาเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่คณะกรรมการตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดียปฏิเสธไม่ให้การรับรองภาพยนตร์ของชรีวาสตาวา ทำให้ชาวอินเดียตำหนิการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้จากภายนอกประเทศ กระทั่งต่อมาคณะกรรมการบอร์ดอุทธรณ์ก็ยกเลิกการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้


Thank you for all your support for #LipstickUnderMyBurkha against this ridiculous regressiveness. We won't be silenced. #CensorTheCensors pic.twitter.com/sBSSbx5FRy


เอกสารไม่รับรองภาพยนตร์โดยคณะกรรมการตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดีย (ที่มา: twitter/Under My Burkha)

ขณะเดียวกันการที่เรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในเรื่องการสั่งห้ามก็ทำให้ผู้คนสนใจจนต่อคิวเข้าชมในการฉายรอบแรกที่เมืองสาเกต มีนักศึกษารายหนึ่งชื่อซากอนชมภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่ามันมีเรื่องของการพูดคุยถกเถียงกันเกียวกับประเด็นสตรีนิยมและปัญหาในอินเดียที่มีความขัดแย้งระหว่างหลายศาสนา เป็นการที่ภาพยนตร์พูดถึงปัญหาเหล่านี้ให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่แอบซ่อน

ในขณะที่คนดูที่เป็นชายหนุ่มชื่อนิบราสมองว่าที่คณะกรรมการฯ ปิดกั้นเรื่องนี้เป็นเพราะฉากโป๊เปลือย แต่เพื่อนของเขาชื่อไคนาทคิดว่าน่าจะเป็นเพราะแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่มากกว่า เขาอธิบายว่าพวกเขาอยู่ในสังคมภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่พอเมื่อมีภาพยนตร์นำเสนอมุมมองของผู้หญิงก็จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องชวนถกเถียง และคนในสังคมแบบนี้ก็จะแปลกใจมากถ้าหากผู้หญิงพูดถึงเสรีภาพหรือความปรารถนาของตัวเอง เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ไม่ได้มองว่าผู้หญิงมีความปรารถนาของตัวเอง

ผู้ชมที่มีอายุอีกคนหนึ่งชื่ออนุภัมกล่าวว่า CBFC คงแบนเรื่องนี้เพราะกลัวว่ามันจะส่งเสริมให้ผู้หญิงเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองมากขึ้น แต่การแบนเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลเลยสำหรับเขาเพราะคนทำภาพยนตร์สื่อเรื่องราวต่างๆ ออกมาควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่จะทำได้ ถ้าใครไม่อยากดูก็แค่ไม่ต้องไปดู คู่รักของอนุภัมชื่อมานจูบอกว่า มันถึงเวลาแล้วที่ต้องรับฟังความรู้สึกของผู้หญิงบ้าง เธอบอกว่าแม้ CBFC อาจจะไม่รู้ แต่เรื่องในภาพยนตร์ก็เป็นเรื่องที่ผู้หญิงพูดกันเองอยู่แล้ว

ถึงแม้ชรีวาสตาวา ผู้กำกับหญิงของภาพยนตร์เรื่องนี้เองจะกังวลว่าผู้คนจะมาดูภาพยนตร์ของเธอเพียงเพราะแค่ได้รับรู้ข่าว "ดราม่า" ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์โดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่การที่เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงก็นับเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่การเมืองในชีวิตประจำวันของผู้หญิงมีการพูดคุยกันในกระแสหลักรวมถึงโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจับจ้องของเพศชาย (Male Gaze) ที่ทำให้ผู้หญิงดูเป็นเพียงวัตถุไม่มีความรู้สึกและประเด็นอื่นๆ ที่เป็น กระบวนทัศน์ของภาพยนตร์อินเดียโดยส่วนใหญ่

สำนักข่าว เดอะการ์เดียน รายงานว่าคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ของอินเดียในช่วงหลังๆ เริ่มทำการแบนและการเซ็นเซอร์มากขึ้นจนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับอมาตยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ก็มีการเซ็นเซอร์คำว่า "วัว" และ "คุชราต" ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของนายกรัฐมนนตรีอินเดียคนปัจจุบัน นเรนทรา โมดี

มีอดีตคนทำงานให้กับ CBFC ชื่อ ชูบรา กุปตา เปิดเผยว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ในอินเดียถูกครอบงำโดยแนวคิดอนุรักษ์นิยมฝังรากลึกทำให้ทั้งคนทำภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์ต่างไม่ชอบหน่วยงานนี้ แต่คนทำภาพยนตร์ก็พยายามผลักและท้าทายเส้นอาณาเขตการเซ็นเซอร์อยู่ตลอดและผู้คนก็ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเซ็นเซอร์เหล่านี้มากขึ้น

เรียบเรียงจาก

Lipstick Under My Burkha's release hailed as victory for Indian women, The Guardian, 23-07-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/jul/23/lipstick-uner-my-burkha-release-hailed-as-victory-for-indian-women

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Lipstick_Under_My_Burkha

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.