Posted: 06 Jul 2017 10:34 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ถกเครียดประชุมป้อมมหากาฬวันสุดท้าย สุนี ไชยรส ยื่นหนังสือข้อเสนอและทางออก นักวิชาการชี้ชุมชนป้อมมหากาฬทำเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตได้

7 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมามา ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประชุมครั้งสุดท้ายโดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) ชุมชนและนักวิชาการ 2) กรุงเทพมหานคร นำโดย ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกทม. 3) ทหาร มีตัวแทนจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อพิจารณาเนื้อหาเอกสารข้อเสนอที่จะนำไปสู่การลงนามร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา หลังจากมีการประชุมร่วมกัน 10 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงเช้าของการประชุมเป็นการรับรองเอกสารการประชุมครั้งที่ผ่านๆ มา โดยทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข โดยบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิชาการ โดย สุดจิต เศวตจินดา สนั่นไหว สมาคมสถาปนิกสยามฯ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ มีการทักท้วงถึงข้อความที่ตกหล่นไปในหลายประเด็นในบันทึกการประชุม พร้อมมีการยื่นเอกสารข้อสงวนสิทธิ์ความเห็นต่างและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม


ด้านยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เพิ่มเติมสาระสำคัญบางส่วนและให้เหตุผลกรณีไม่อนุรักษ์บ้านทั่วไปและบ้านร่วมสมัยจำนวน 11 หลัง และยังกล่าวอีกว่าในเรื่องการย้ายจะย้ายไปที่ไหน อย่างไรจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง “ที่ประชุมพิจารณาบ้านสีเทานั้นสร้างขึ้นในภายหลังและตั้งอยู่บนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ กทม. ที่ซื้อมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม ซึ่งไม่ได้ดูว่าเป็นบ้านเก่าหรือใหม่ เน้นดูเรื่องกรรมสิทธิ์ ในส่วนข้อมูลทางสถาปัตยกรรมจากสถาปนิกและศิลปกรรมในคุณค่าทั้ง 5 ด้านนั้นมีน้ำหนักมากน้อยแตกต่างกัน”

“บ้านสีเทานั้นตนเองมองว่าหลักฐานคุณค่าของสถานที่ไม่ได้ส่งเสริมและมีความสำคัญเพียงพอที่จะอนุรักษ์ไว้ ไม่เก็บตัวบ้านไว้เพราะไม่ได้อยู่ในที่ตั้งเดิมและรูปลักษณ์ที่ไม่ตรงของเดิม” ยุทธพันธุ์ กล่าว

ก่อนจบประชุมในช่วงเช้า สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) พร้อมนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตถือป้ายผ้า ข้อความว่า ‘ขอให้หยุดการรื้อย้ายบ้านในป้อมมหากาฬ’ และได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกเครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ศิลปิน และภาคประชาสังคม เรื่อง ข้อเสนอแนะ ทางออก แก้วิกฤตชุมชนป้อมมหากาฬ โดยยุทธพันธุ์เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ และยืนยันว่าไม่สามารถเก็บบ้านทุกหลังไว้ได้ ขณะที่ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด


“มาวันนี้เรารู้สึกว่าที่เราเสียสละ ยอมรื้อบ้านเพื่อให้ กทม. สร้างสวนสาธารณะมันเสียเปล่า ที่เรายอมรื้อเพราะเราคิดว่ายอมสละบ้านเพื่อจะได้อยู่พร้อมหน้าพี่น้องหลังอื่นๆ กันทุกคน มันเป็นบ้านที่เราอยู่ตั้งแต่เกิด เคยเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อปี 2513 พอผ่านไป 2-3 วันก็กลับมาสร้างที่เดิม จึงมีความผูกพันมาก เราอยากให้สังคมข้างนอกเห็นว่าจุดยืนของคนป้อมไม่ได้ต้องการดื้อด้าน ไม่อยากเห็นแก่ตัว อยากมีชีวิตที่ดีแต่เราเลือกเกิดไม่ได้ ความรู้สึกเมื่อได้รู้ว่าบ้านสีเทาต้องถูกรื้อก็เสียใจ ไม่รู้จะพูดยังไง เพราะเวลาเราเดินออกมาก็จะเจอพี่น้องที่บ้านนู้นบ้านนี้ แต่ในท้ายที่สุดถ้าต้องรื้อก็ไม่ต้องรื้อทั้งหมดได้ไหม มาปรับปรุงดีกว่าไหม” สุภาณัช ประจวบสุข ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวทั้งน้ำตา

สำหรับการประชุมครั้งนี้หลังจากมีการลงนามจะนำส่งทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งในรายงานมีทั้งความคิดเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นจะมีการส่งต่อไปที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อไป

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยสถาบันเอเชีย มหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลน่า แชปเปิ้ลฮิลล์ ได้ความเห็นต่อกรณีป้อมมหากาฬว่า กทม.เน้นเรื่องตัวบ้าน เน้นเรื่องสถาปัตยกรรมมากเกินไป อนุรักษ์แต่บ้าน ควรคิดถึงชุมชนมากกว่านี้ หากจะเน้นด้านการท่องเที่ยวต้องทำให้เป็น Living Heritage ให้นักท่องเที่ยวมาชื่นชมวิถีชีวิตแต่หากเป็น Living Museum เมื่อไรคนจะกลายเป็นวัตถุจัดแสดงทันที

“กทม.ไปเน้นที่ตัวสถาปัตยกรรมมากเกินไป ส่วนตัวคิดว่าต้องเน้นที่ชุมชน เพราะสถาปัตยกรรมมันเป็นองค์ประกอบมีความเสื่อมสลาย ตัวบ้านสามารถ reconstruction หรือจะสร้างขึ้นมาด้วยสถาปัตยกรรมแบบไหนก็ได้ อีกอย่างเราสามารถทำให้สะอาดได้ ทำให้สวยได้ ยังไงชุมชนก็ต้องปรับตัว ต้องดูแลบ้านเขาเอง ในเมื่อเขาอยู่ในใจกลางกรุงในจุดที่สวยงามของกรุงเทพฯ มี case study ในโลกนี้เยอะมาก เช่น เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซ้าท์แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา บ้านเมืองเป็นบ้านทาสแต่วันหนึ่งก็มีพวก gentrification ชนชั้นกลาง ที่ลุกขึ้นมาบอกว่าบ้านแบบนี้สวย ฉันอยากซื้อ หลังจากซื้อและเข้ามาอาศัยอยู่เขาก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับชุมชนเพราะเขามาจากเมืองอื่น ไม่ได้อยู่ในชาร์ลสตันตั้งแต่แรก แต่คนพวกนี้กลับอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้อย่างดีเลย”

“เพราะฉะนั้นเราจะมาหาของแท้ มาบอกว่าคนที่อยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬต้องสืบสายเจ้าพระยาเพชรปาณีมันไม่มีหรอก มีแต่ฮิตเลอร์ที่คิดแบบนั้น มันไม่มีอะไรแท้ มันผสมกันหมด ผสมไปผสมมาเป็นไฮบริดหมด แต่ว่าของแท้คือเขาอยู่ในชุมชนนี้ต่างหาก เขารู้จักพื้นที่ตัวเอง เขารู้จักทุกซอกทุกมุมว่าหินดินทรายเป็นอย่างไร ขนาดพิพิธภัณฑ์ที่สิงคโปร์เหลือหินก้อนเดียวยังสามารถนำมาเล่าเรื่องได้เป็นวันๆ” รังสิมา กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้มีการรื้อถอนบ้านเรือนไปแล้ว 19 หลัง อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ 1. ชุมชนและนักวิชาการ 2. กรุงเทพมหานคร และ 3. ทหารที่เข้ามาเป็นคนกลาง โดยมีความพยายามหาทางออกด้วยการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ ซึ่งมีการประชุมเรื่องคุณค่ากันไปแล้ว 10 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.