Posted: 07 Jul 2017 01:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องของรัฐอย่างเดียว ไม่มีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา เอาตัวเองไว้ก่อน นโยบายการศึกษาสั้น เปลี่ยนตามเจ้ากระทรวง การสอบและพัฒนาหลักสูตรทำผิดจุด ไม่ตอบโจทย์ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากหลายชาติ ควรลดกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์ ผู้ปกครองต้องร่วมมือพัฒนาอย่ารอแต่ปาฏิหาริย์ วอนโรงเรียนอย่าลืมเด็กไม่เก่ง

ภาพบรรยากาศงานเสวนาหลังฉายภาพยนตร์

จากกรณีงานเสวนาภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Most Likely to Succeed ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาการศึกษาของไทย และทางออกของระบบการศึกษาผ่านการเสวนาของ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระ
ชี้ปัญหาเรื้อรัง การวัดผลไม่เชื่อมโยงการพัฒนาหลักสูตร ข้อสอบไม่ชี้วัดทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21

อรรถพลมองว่า หนึ่งในปัญหาระบบการศึกษาไทยมาจากการวัดผลคะแนนสอบ จากคะแนนสอบระดับชาติ PISA* (Programme for International Student Assessment) 2558 พบว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการติวเข้มการสอบ PISA อย่างหนักหน่วง แต่ผลสอบกลับตบหน้านโยบายการติวสอบ เพราะค่าเฉลี่ยของคะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development-องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ผู้ริเริ่มโครงการ PISA)กำหนดไว้ สะท้อนว่านโยบายการศึกษาการติวสอบ PISA ล้มเหลว จากงานวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนสอบ PISA ที่ผ่านระดับมาตรฐาน จะเป็นกลุ่มโรงเรียนสาธิตต่างๆ และ โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์อย่างจุฬาภรณ์หรือมหิดลวิทยานุสรณ์ เมื่อมาเปรียบเทียบกันจึงพบว่า เด็กเก่งกระจุกตัวในบางโรงเรียน

อ่านสรุปผลงานวิจัย PISA 2015 ของ สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ

นักการศึกษาจากจุฬาฯ แนะว่า การใช้ข้อสอบวัดระดับมาตรฐานระดับชาติให้เป็นประโยชน์คือการใช้ข้อสอบเพื่อพัฒนาและออกแบบการศึกษาในโรงเรียน เช่น การทดสอบที่ประเทศออสเตรเลีย มีการสอบ NT หรือการทดสอบระดับชาติ ในระดับชั้น ป.3 ป.5 ม.1 และ ม.3 โดยมีการสอบหลังจากเปิดเทอม 1 เดือน เพื่อสอบวัดระดับ โดยหลังจากผลคะแนนออก จึงนำมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ว่าต้องใช้ระบบแบบใดนักเรียนถึงจะมีคะแนนเฉลี่ยมากขึ้น ในขณะที่ข้อสอบวัดระดับมาตรฐาน O-NET (Ordinary National Education Test) ของไทยเป็นการใช้คะแนนอย่างผิดจุดประสงค์ในการพัฒนาการศึกษา เพราะไม่สามารถวัดผลได้ เนื่องจากนักเรียนที่จะได้ศึกษาในหลักสูตรที่พัฒนาจะเป็นคนละรุ่นกับรุ่นที่สอบ บางปีโรงเรียนได้นักเรียนที่เก่งหลายคน ค่าเฉลี่ยก็สูงขึ้น ขณะที่รุ่นถัดมาไม่ใช่เด็กเก่ง ค่าเฉลี่ยก็ไม่สูงเท่า จะเห็นได้ว่าแตกต่างกับการวัดผลสอบของออสเตรเลียที่นักเรียนที่สอบและรับการพัฒนาตามผลสอบตั้งแต่ต้นเทอมเป็นเด็กรุ่นเดียวกัน

อรรถพลยังได้ยกสาระในหนังสือ”ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21” แปลโดยวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองที่กล่าวว่า ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษ 21 มี 3 ด้านได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งตนเห็นว่า ข้อสอบวัดมาตรฐานต่างๆไม่สามารถวัดทักษะชนิด Soft Skills เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม การคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การจัดการ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขภายในโรงเรียนผ่านการสอนแบบปฏิบัติ

อาจารย์จากจุฬาฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ปัจจุบันนี้ในเมืองไทย ผู้ปกครองมองว่าตนเองมีหน้าที่ส่งเสริมทรัพยากร เช่น หาเงินช่วยเหลือโรงเรียนประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในเฉพาะกรณีที่มีความพร้อมและผู้ปกครองสนับสนุน แต่โรงเรียนกระแสหลักในเมืองก็ยังตามกระแสโลกปัจจุบันไม่ทัน
นโยบายต้องยั่งยืนกว่าตัว รมว. แนะ โรงเรียนอย่าลืมเด็กไม่เก่ง

อรรถพลกล่าวว่า ปัญหาอีกประการหนึ่งคือการที่นโยบายการศึกษาผูกโยงกับการเมือง ในช่วงเวลา 20 ปี กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 20 คน มีเพียง 3 คนที่เรียนมาทางวิชาชีพครู โดยคนที่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามีเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาในระยะสั้น ซึ่งแท้จริงแล้ว การศึกษาไม่ควรถูกแทรกแซงโดยการเมือง ควรสร้างนโยบายระยะยาวทางการศึกษาและนโยบายควรเกิดการเปลี่ยนแปลงน้อย

โรงเรียนเองก็ควรแบ่งการใช้เงินไปพัฒนาการเรียนการสอน นโยบายเพิ่มเงินเดือนครู ที่ทำให้ครูต้องทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อขึ้นตำแหน่งและเงินเดือนผ่านการประเมินจากตำแหน่ง คศ. 1 คศ. 2 ครูชำนาญการ คศ. 3 ครูชำนาญการพิเศษ อาจทำให้ครูลืมใส่ใจการสอนในห้องเรียน นอกจากนั้น นโยบายการแข่งขันความเป็นเลิศต่างๆ อาทิ เพชรยอดมงกุฎ ทำให้ครูมองเด็กเก่งในฐานะการพัฒนาความเป็นเลิศ ขณะที่นักเรียนที่ไม่เก่งถูกทิ้งไว้ในห้องเรียน ตัวเลขที่โรงเรียนนำมาอ้างอิงมักเป็นจำนวนเด็กที่สอบติด แต่ไม่พูดถึงเด็กที่สอบไม่ติด

ความเห็นต่อประเด็นที่จะไม่มีทุนการศึกษาฟรีสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อรรถพล เห็นว่า 5 ปีแรกก่อนไปทำงานมีความสำคัญมากต่อชีวิตการทำงาน จำเป็นจริงๆ หรือที่ต้องตัดโอกาสการเรียน ม. ปลาย ซึ่งมีนโยบายการช่วยเหลือเด็ก 12+3 อยู่แล้ว โดยมีงานวิจัยพบว่า มีร้อยละ 54.8 ที่เด็กเรียนครบ 12 ปี ขณะอีกร้อยละ 45.2 เด็กออกระหว่างทางใน 12 ปี เพื่อไปทำงาน
ควรลดนโยบายแบบรวมศูนย์ ผู้ปกครองต้องร่วมมือพัฒนาอย่ารอแต่ปาฏิหาริย์

อรรถพล แนะว่า สังคมต้องไม่ฝากความหวังไปที่รัฐอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือความร่วมมือทางการศึกษา บ้านเรามองว่าการศึกษาเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครเชื่อระบบ เลยต้องพยายามซิกแซก เช่น การใช้เงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกเข้าได้โรงเรียนดัง โรงเรียนที่มีคุณภาพให้ได้ ไม่มีใครเชื่อว่าการศึกษาเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ เหมือนเป็นค่านิยมของสังคม ทั้งยังยกตัวอย่างกรณี-*โรงเรียนชุมชนของญี่ปุ่นที่เทศบาลมีส่วนร่วมในการลงเงินสนับสนุนกับโรงเรียน เหมือนเป็นการคืนความเป็นเจ้าของให้กับท้องถิ่น ผู้อำนวยการเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโรงเรียนชนบทดังกล่าว ขณะที่ในโรงเรียนไทยถ้าเป็นโรงเรียนเล็กจะมีโอกาสน้อยที่รัฐหรือชุมชนให้สนับสนุน อาจถูกยุบโรงเรียนไปในที่สุด

ในกรณีฟินแลนด์ หากเด็กไม่มีการศึกษาคือเด็กแพ้ รัฐต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเขาไปจนกระทั่งเสียชีวิต ขณะที่ รัฐอำนาจนิยมอย่างสิงคโปร์สามารถพัฒนาการศึกษาได้ เป็นเพราะเป้าหมายร่วมกันทางการศึกษาของโรงเรียนที่ผสานกับความร่วมมือของผู้ปกครอง ขณะที่ประเทศไทยมองดูแต่ผลลัพธ์ที่สำเร็จแล้ว ไม่ได้มองย้อนไปที่กระบวนการการศึกษา ไม่มีปาฏิหาริย์ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา แม้แต่ฟินแลนด์เองที่ได้รับการพูดถึงในฐานะประเทศที่มีการศึกษาชั้นนำระดับโลกยังใช้เวลาถึง 40 ปีในการเปลี่ยนแปลง

อรรถพล เห็นว่า การลงทุนทางการศึกษาคือความคุ้มค่าในระยะยาว ทำได้ได้โดยกระจายอำนาจไปอยู่ในท้องถิ่น ควรปล่อยอำนาจในการตัดสินใจลงไปสู่ระดับผู้อำนวยการและครู ถ้าหากครูและผู้อำนวยการยังไม่ตื่นตัว การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจะยิ่งยากขึ้น ทั้งนี้โครงการครูอาสาอย่าง Teach For Thailand และโครงการครูอาสานอกระบบต่างๆ ควรทำงานร่วมมือกับโรงเรียนในระบบให้ได้ โดยให้นักวิชาการมาร่วมมือกัน ทั้งยังต้องใช้นวัตกรรมทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นำมาใช้อย่างเข้าใจไม่ใช่นำมาแค่เปลือก และทำให้เชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ไม่ใช่รัฐทำไม่ดีก็โทษรัฐ ถ้าผู้ปกครองรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา รอดูผลอย่างเดียวก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับโมเดลทางการศึกษา แต่โอกาสการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาคือปัญหา อย่างห้องโปรแกรมพิเศษต่างๆ เช่น EP IEP Gifted ที่พ่อแม่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม โดยเด็กได้รับการปฏิบัติอย่างดี ขณะที่ห้องคละกลับถูกตอกย้ำเรื่องความไม่เก่ง ทำให้เขาไม่สามารถเป็นคนของสังคมนี้ได้ ผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนนักเรียนจนทำให้เขาสามารถพัฒนาตนเองได้ “ไม่มีประเทศไหนเปลี่ยนสังคมสำเร็จโดยไม่ใช้การศึกษา ดังนั้น เราทุกคนจึงควรช่วยกันพัฒนาการศึกษาในสังคม การศึกษายังต้องการเสียงจากสังคม” อรรถพล กล่าวก่อนปิดเสวนา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.