หลังการทำงานมาเป็นเวลา 5 ปี ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ นายประนาบ มุขเคอร์จี ประธานาธิบดีคนที่ 13 ของอินเดียก็จะลงจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ ในการนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งแห่งอินเดีย หรือ Election Commission of India จึงได้ประกาศจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินเดียคนใหม่ โดยประกาศผลการเลือกตั้งออกมาเมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้
ผลสรุปว่า นายราม นาถ โกวินท์ (Mr. Ram Nath Kovind) ผู้สมัครที่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรค BJP ของนายโมดีให้การสนับสนุน ได้รับชัยชนะด้วยเสียง 2,930 เสียง ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับ 702,044 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 65.6 ของคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ทั้งหมด ส่วนนางมีรา กุมาร (Mrs. Meira Kumar) ซึ่งเป็นผู้สมัครที่พรรคร่วมฝ่ายค้านให้การสนับสนุน ได้รับคะแนนเสียง 1,844 เสียง คำนวณแล้วเท่ากับ 367,314 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 34.35 โดยนายโกวินท์จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 14 ของอินเดียในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ที่รัฐสภาอินเดีย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 14 ของอินเดีย

หนึ่ง ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีอินเดียเป็นการเลือกตั้งผ่านระบบผู้แทน คือ ผ่านกลไกคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน 4,896 คน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกโลกสภา (สภาล่าง) 543 คน สมาชิกราชยสภา (สภาสูง) 233 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐต่าง ๆ 4,120 คน นอกจากนี้ กฎหมายเลือกตั้งอินเดียยังได้กำหนดวิธีการคิดถ่วงน้ำหนักของเสียงของสมาชิก Electoral College ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับรัฐไว้ไม่เท่ากันโดยผันแปรตามจำนวนประชากรของรัฐนั้น ๆ ซึ่งเมื่อคำนวณตามสูตรของอินเดียแล้ว คะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้ง 4,896 คะแนนเสียงจะคำนวณออกมาได้เท่ากับ 1,098,882 คะแนน

สอง ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า นายโกวินท์ฯ จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเนื่องจากพรรค BJP มีพื้นฐานจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติเกือบถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามบางพรรคอีกด้วย

สาม
การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ นับว่ามีจำนวนผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินเดีย โดยมีสมาชิกคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ออกมาลงคะแนนใน 32 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99

สี่ มีการมองว่า การที่นายกรัฐมนตรีโมดี เลือกสนับสนุนนายโกวินท์ฯ ซึ่งเป็นผู้นำดาลิต (ชนวรรณะจัณฑาล) เป็นการเดินเกมใหญ่ที่สามารถแบ่งแยกฝ่ายค้าน รักษาพันธมิตร และรวมพลังสนับสนุนที่เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากกลุ่มชนชั้นล่างผู้ด้อยโอกาสซึ่งมีความสำคัญทางการเมืองอินเดีย

ห้า ในเดือนสิงหาคม 2560 จะมีการจัดการเลือกตั้งรองประธานาธิบดีอินเดีย สืบแทนนายโมหะหมัด ฮามิด อันสารี (Mohamad Hamid Ansari) ซึ่งหากนายเวนไกอา นายดู (Venkaiah Naidu) ผู้สมัครจากพรรค BJP ได้รับเลือกตั้งอีกคนหนึ่ง ก็จะทำให้อินเดียมีประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานโลกสภา มาจากพรรค BJP ทั้งหมด อันจะยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลโมดีได้บริหารประเทศในระดับชาติต่อไป และจะทำให้การดำเนินและผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางภายใต้การนำของนายโมดีมีความราบรื่นและต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มการเมืองในระดับรัฐยังเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามกันต่อไป และพรรคการเมืองในท้องถิ่นน่าจะยังคงมีอำนาจต่อรองในเกมการจับคู่สร้างพันธมิตรเพื่อเอาชนะกันระหว่างพรรค BJP และพรรคคองเกรส

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในระดับรัฐเอง แนวโน้มระยะหลังของพรรค BJP ก็สามารถครองชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐได้ติดต่อกันหลายครั้งในหลายรัฐเช่นกัน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ก็สะท้อนอีกครั้งหนึ่งว่า ส่วนหนึ่งของเสียงที่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรค BJP ก็มาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับรัฐด้วย ในชั้นนี้จึงน่าจะประเมินได้ว่า พรรค BJP น่าจะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า (พ.ศ. 2562) และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีกเป็นสมัยที่สองต่อไป


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
20 กรกฎาคม 2560


source :- https://goo.gl/WYbbDk

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.