Posted: 19 Jul 2017 08:45 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. เตือนกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าแก้ พ.ร.บ. บัตรทอง แยกเงินเดือนจะทำให้คนอีสานและคนยากจนในกรุงเทพฯ ที่ใช้บัตรทองเดือดร้อน

20 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด และอดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจากคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติและออกเป็นกฎหมายใหม่บังคับใช้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2560 แม้จะมีกระแสความวิตกของประชาชนที่ต้องพึ่งระบบบัตรทอง และเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แพทย์ชนบท อดีตผู้บริหารและนักวิชาการสาธารณสุขว่า เป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ที่หมกเม็ดมีการเพิ่มเติมสัดส่วนตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขให้มีเสียงมากขึ้นในโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีอำนาจในการเพิ่มหรือลดสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการร่วมจ่ายของประชาชนในอนาคต การไม่เพิ่มความชัดเจนในการจัดซื้อยาและวัคซีนรวม รวมทั้งมีประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายบริการสาธารณสุขที่หน่วยบริการทั่วประเทศจะได้รับ ซึ่งจะกระทบต่อ รพ.ขนาดเล็กในภาคอีสานและคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ อาจถึงกับต้องถอนตัวออกจากระบบบัตรทองของ สปสช. ประชาชน คนยากคนจนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ยากขึ้น ทำให้ระบบ 30 บาทในอนาคตอยู่ในอันตรายได้ เป็นประเด็นเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มช่องว่างในสังคม และจะเป็นประเด็นหาเสียงของกลุ่มหรือพรรคการเมืองในเวทีเลือกตั้งข้างหน้าได้

อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.บัตรทองในครั้งนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะนอกจากไม่ได้แก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการทั้ง 2 คณะที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา และ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นประธานแล้ว กลับมีการเพิ่มอีกหลายประเด็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งนอกเหนือจากคำสั่งที่หัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาเมื่อกลางปี 2559 ทำให้การบริหารกองทุนบัตรทองของ สปสช.และหน่วยบริการในระบบของกระทรวงสาธารณสุขสามารถเดินหน้าได้เป็นอย่างดี ประเด็นที่เพิ่มเติมอาทิเช่น การแยกเงินเดือนของบุคคลากรของหน่วยบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวโดยไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม หรือไม่ได้ใช้ข้อมูลผลการศึกษาที่มีอยู่แล้วมาประกอบการตัดสินใจแก้ พ.ร.บ.

ดังนั้นถ้า รมว.สาธารณสุขยังดึงดันให้มีการแยกเงินเดือนจะส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการในภาคอีสาน งบประมาณเหมาจ่ายจะลดลงทันทีกว่า 3,000 ล้านบาท และหน่วยบริการขนาดเล็กของรัฐ เช่น รพ.ชุมชน รพ.สต.นับหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นของเอกชนในระบบของ สปสช. กว่า 200 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยลงกว่า 1,400 ล้านบาท อาจทำให้หน่วยบริการเหล่านี้ต้องลดขีดความสามารถในการให้บริการหรือปิดตัวเองถอนออกจากระบบบัตรทองได้ เงินบัตรทองจะเทไปที่ภาคกลางและ รพ.ขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพมากอยู่แล้ว เพราะมีหมอ พยาบาลมาก และมีแหล่งรายได้อื่น เช่น รายได้จากข้าราชการ ประกันสังคม หรือประกันเอกชน ระบบบริการสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพของรัฐจะขัดแย้ง ปั่นป่วน และอ่อนแอลง ส่งผลเป็นการส่งต่อคนไข้ที่ยากจนให้ไปพึ่ง รพ.เอกชนมากขึ้น

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า การแก้ พ.ร.บ.เพื่อแยกเงินเดือนช่วยแก้ไขปัญหาของ รพ.ขนาดใหญ่ในภาคกลางบางแห่งได้ แต่จะกระทบและเพิ่มปัญหาให้กับ รพ.ชุมชน และ รพ.สต.ทั่วประเทศนับหมื่นแห่ง โดยเฉพาะในภาคอีสานจะถูกกระทบหนัก รวมทั้งคลินิกเอกชนกว่าสองร้อยแห่งใน กทม. อาจต้องปิดตัวแยกออกจากระบบบัตรทอง เป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงกับรัฐบาลและประชาชนสูง เพราะขาดความรอบรู้ ไม่ใช้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ ไม่เปิดให้มีการถกเถียงอย่างเพียงพอเพื่อหาข้อสรุปยุติจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าทำนองยิ่งแก้ พ.ร.บ.จะยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความกังวลว่าคนจนจะลำบากมากขึ้นในอนาคต เพิ่มความขัดแย้งภายในสังคมมากขึ้น ทำให้ระบบบริการสาธารณสุขของรัฐและการบริหารกองทุนของ สปสช. อ่อนแอลง ส่งผลต่อคนไข้ที่ยากจนและคนชั้นกลางต้องไปพึ่งบริการสาธารณสุขของ รพ.เอกชนที่มีราคาแพงมากขึ้น

“ถ้าท่านรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.บัตรทองจริง และมุ่งประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มมากขึ้นตามที่กล่าวอ้าง ก็ควรแก้เฉพาะประเด็นในคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ใช้อำนาจตาม ม.44 และเพิ่มทำให้ชัดเจนขึ้นในประเด็นเรื่องการจัดซื้อยาและวัคซีนที่จำเป็นต้องจัดซื้อรวม ก็น่าจะเพียงพอแล้ว” นพ.ประทีป กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.