Atukkit Sawangsuk

ว่าด้วยการเลือกประธานศาลฎีกา


ประเพณีของศาล ที่ถือกันเคร่งครัด ประธานศาลฎีกามาจากคนสอบได้ที่ 1 ของรุ่น เมื่อตอนสอบเข้าผู้พิพากษา อายุ 25 ปี ถ้าไม่เป็นมะเร็งตายเสียก่อน ถ้าไม่รถคว่ำคอหักตายเสียก่อน ถ้าไม่มีเรื่องอื้อฉาวถูกให้ออกเสียก่อน พออายุ 64 (ปัจจุบันเกษียณ 65) ก็จะได้เป็นประธานศาลฎีกา ชัวร์ นอนมา

เพราะเขาถือว่านั่นคือคนอาวุโสสูงสุด สอบได้ที่ 1 ก็บรรจุก่อนคนสอบได้ที่ 2,3,4 การแต่งตั้งแต่ละระดับ เช่นใครจะได้เป็นอธิบดีก่อน ก็ยึดหลักนี้เคร่งครัด

บางคนอาจร้องเฮ้ยไหงงั้น ไม่ดูผลงานไม่ดูคุณธรรมความสามารถเลยหรือ ไม่จริงๆ นะครับ ต่อให้ความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ ก็ได้เป็นอยู่ดี

ทำไม? ก็เพราะเขาถือว่าประธานศาลฎีกา "ไม่มีอำนาจ" แม้เป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กร แต่ก็ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการผู้พิพากษา ซึ่งมีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ แต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ดังนั้น เมื่อไม่มีอำนาจ (แต่มีเกียรติยศศักดิ์ศรี) ก็ไม่ต้องการให้เกิดแก่งแย่งแข่งขัน จึงใช้อาวุโสสถานเดียว

อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา เป็นอำนาจของ ก.ต. ซึ่งมี 15 คน แม้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่ก็มี ก.ต.12 คน มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษากันเอง (ศาลก็ชอบอำนาจจากเลือกตั้งนะ) วุฒิสภาแต่งตั้งมาอีก 2 คน (จาก รธน.2540 ให้ยึดโยงประชาชนผ่าน ส.ว.เลือกตั้ง แต่ปัจจุบันคือ สนช.แต่งตั้ง)

ส่วนหลักความเป็นอิสระของศาล ก็คือผู้พิพากษาแต่ละคนมีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา อธิบดีศาล ประธานศาล ประธานแผนก ฯลฯ สั่่งไม่ได้ ก้าวก่ายไม่ได้ จะไปบอกว่า เฮ้ย คุณตัดสินอย่างนี้ผิด ยกฟ้องได้ไง ต้องเปลี่ยนใหม่ ให้จำเลยยอมจ่ายโจทก์ซะดีๆ 600 ล้าน ฯลฯ อะไรแบบนี้ไม่ได้นะครับ ศาลไม่เหมือนข้าราชการ ทหาร มหาดไทย หรือตำรวจ ที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้ ทำงานไม่ถูกใจ ผู้บังคับบัญชาสั่งแก้ใหม่ได้ (ซึ่งความจริงตำรวจก็ควรมีอิสระในการทำสำนวนคดี)

อันนี้คือว่าตาม "หลักอุดมคติ" ของศาล ประธานศาลฎีกา "ไม่มีอำนาจ" แต่ในความเป็นจริงก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าประธานศาล ประธานแผนก อธิบดีศาล ไม่มีอำนาจจริงหรือ อย่างน้อยก็ดูเหมือนจะมีอำนาจในการแจกสำนวน ว่าคดีนี้จะให้องค์คณะไหนพิจารณา (ตอนหลังยังให้อำนาจอธิบดีศาลทำความเห็นแย้ง แม้ไม่มีผลต่อคำพิพากษา) อย่างน้อยก็ดูเหมือนมีอำนาจบริหารงบประมาณ บริหารหน่วยงานที่ขึ้นต่อ

ก็เลยเป็นที่ถกเถียงมากขึ้นๆ ว่าการเลือกประธานศาลฎีกาจะยังยึดหลักอาวุโสไหม เช่น อ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร (ในวารสารจุลนิติที่ผมเคยอ้าง) ก็เห็นแย้งว่าควรเอาผลงานมาพิจารณาด้วย แต่ที่ผ่านมา การเลือกประธานก็ยังยึดอาวุโส เพราะกลัวเกิดการต่อสู้แข่งขันช่วงชิิงฐานเสียงกันอุตลุด

นี่อธิบายให้ฟังในเรื่องหลักเกณฑ์ ไม่เกี่ยวว่าใครจะเป็นประธานคนใหม่ แต่อ่านข่าวมติชนวันนี้ ก็มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือกลายเป็นว่ามีข้อโต้แย้งกันเรื่องท่านพยายามจะ "คุมแนว" (การพิพากษาคดี)

ซึ่ง "แหล่งข่าว" บอกว่าทำได้ ไม่เช่นนัั้นคดีหนึ่งตัดสินอย่าง อีกคดีตัดสินอย่าง จะเป็นปัญหา แต่ความพยายาม "คุมแนว" ก็ถูกมองเป็นเชิงลบ และเป็นประเด็นพูดถึงในขณะนี้ (แปลว่าเรื่องนี้แหละที่วิพากษ์วิจารณ์กัน)

อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่จะเกิดข้อถกเถียง ไม่เฉพาะกรณีท่านศิริชัยหรอก แต่ทั้งศาล ถ้าอธิบดี ประธาน "คุมแนว" ถูกต้องหรือไม่ "คุมแนว" ขัดต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไหม ระดับไหนเรียกว่า "คุมแนว" ระดับไหนเรียกว่า "แทรกแซงความเป็นอิสระในการวินิจฉัยคดี" ศาลน่าจะอธิบายให้ชาวบ้านฟังด้วย

เสนอเลื่อนถกกต. ให้”ศิริชัย”แจง ก่อนเคาะปธ.ศาลฎีกา
https://www.matichon.co.th/news/594428

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.