นโยบาย 'ทวงคืนผืนป่า' ส่งผลให้สิทธิมนุษยชนของประชาชนลดลง
Posted: 19 Feb 2017 07:07 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ผู้ผลิตรายการ backpack jounalist  ลงพื้นที่ชุมชนของสมาชิก คปอ.ในจังหวัดชัยภูมิ และหล่มสัก เพื่อเยี่ยมเยือน ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่ได้รับปัญหาผลกระทบเรื่องที่ดินทำกิน โดยเฉพาะผลกระทบล่าสุดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
 
 
ช่วงระหว่างวันที่ 15 - 17 ก.พ.2560 นักเดินทางอิสระจากรายการ backpack jounalist  เดินทางลงพื้นที่ชุมชนของสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)เพื่อเยี่ยมเยือน ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่ได้รับปัญหาผลกระทบเรื่องที่ดินทำกิน โดยเฉพาะผลกระทบล่าสุดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
 
ช่วงวันดังกล่าว นักเดินทางอิสระจากรายการ backpack jounalist  ลงพื้นที่ 3 ชุมชน ในจังหวัดชัยภูมิ และอีก 1 ชุมชน ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ดังนี้
 
วันที่ 15 ก.พ.2560  ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จัดตั้งเป็นชุมชนขึ้นมาในวันที่ 17 ก.ค.2552 โดยชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้บุกเข้ามายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา หลังจากที่ถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้สัมปทานปลูกป่าเมื่อปี 2521 โดยการนำต้นยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน ส่งผลให้ผู้ได้รับความเดือดร้อน เข้ายื่นหนังสือ และเรียกร้อง ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายมาหลายครั้ง เพื่อให้ยกเลิกสวนป่ายูคาฯ และนำที่ดินทำกินคืนให้กับผู้เดือดร้อน  เมื่อมีมติที่ประชุมให้ยกเลิกดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้รับการตอบสนอง จนกระทั่งชาวบ้านผู้เดือดร้อนพร้อมใจกันกลับเข้ามายึดที่ดินทำกินคืนมาในวันที่ 17 ก.ค.2552 แต่ผลของการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง กลับถูกแจ้งความดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 31 ราย
 
 
 
ขณะเดียวกันหลังจากที่ยึดที่ทำกินเดิมกลับมาได้ ชาวบ้านได้ต่อสู้เรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินแนวทางแก้ไขปัญหาให้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม มาโดยตลอด ต่อมาในวันที่ 26 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาในชุมชนบ่อแก้ว  โดยนำแผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ปิดประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557  ให้ชุมชนอพยพ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ออกจากพื้นที่
 
เช่นเดียวกันกับที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาในวันที่ 25 ส.ค.2557 โดยนำแผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ปิดประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557  ให้ชุมชนอพยพ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ทั้งสองชุมชน ต่างร่วมกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ ในคำสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่  กระทั่งได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยมีมติที่ประชุมให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
 
แต่ในชุมชนโคกยาว ยังได้รับปัญหาความเดือดร้อนตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น วันที่ 1 ต.ค.2557 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) นำแผ่นป้าย "ยุทธการทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม” เข้ามาปิดประกาศในชุมชน และวันที่ 8 ต.ค. 2557 นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม ในที่ประชุมมีมติให้ชุมชนโคกยาว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน  หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง
 
ต่อมาวันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งชาวบ้านได้ต่อสู้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาทางนโยบายกับภาครัฐมาโดยตลอด กระทั่งวันที่ 16 เม.ย.2559 แกนนำชาวบ้าน คือนายเด่น คำแหล้ (ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว) หายตัวไปในบริเวณสวนป่าโคกยาว
 
 
ชุมชนโคกยาวได้รับผลกระทบมานับแต่ช่วงรัฐได้เข้ามาดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์ นับแต่ช่วงปี 2528 และได้ดำเนินการจะปลูกป่า โดยการนำต้นยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ทำกินชาวบ้าน ให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ กลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน ชาวบ้านจึงได้ต่อสู้เรียกร้อง กระทั่งวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ได้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ณ ห้องประชุมอำเภอคอนสาร ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหา โดยมีมติให้ชาวบ้านเข้าทำกินได้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ขณะที่ชาวบ้านเข้ามาทำกินอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 1 ก.ค.2554 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาล้อมจับชาวบ้านโคกยาว และดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า จำนวน 10 ราย
 
วันที่ 16 ก.พ.2560 ลงพื้นที่ชุมชนหินรู ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
 
ชุมชนหินรู เป็นอีกหนึ่งในจำนวน 5 ชุมชน ที่ถูกประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินทำกิน ในพื้นที่   ต.ห้วยแย้  ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ มานับแต่ปี 2535 ต่อมา ได้รับความเดือดร้อนหนักขึ้นภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา  นั้น ได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยทำกินในพื้นที่ โดยมีลักษณะปัญหาที่ได้รับผลกระทบ เช่น เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้ามาหาชาวบ้านเป็นรายคน เพื่อให้เซ็นเอกสารยินยอมออกจากพื้นที่ โดยใช้วิธีการอ้างว่าชาวบ้านรายอื่นๆยอมเซ็นกันไปหลายรายแล้ว ทั้งนี้เมื่อไม่ยินยอมเซ็นจะใช้วิธีการข่มขู่ จะมีหมายจับ และถูกดำเนินคดี เป็นต้น
 
 
 
นับแต่วันที่ 3 ต.ค.2559  ถึงปัจจุบันนี้ มีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งความดำเนินคดี ในฐานข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุกป่า โดยเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.วังตะเฆ่ มีหมายเรียกเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา รวมแล้ว 15 ราย
 
และ ในวันที่ 23 ก.พ.2560 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจะเดินทางไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ หลังจากเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ได้เข้าพบเจ้าพนักงานอัยการ ณ สำนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการเพื่อให้ชะลอการส่งฟ้อง โดยทางสำนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ ได้อนุญาตให้เลื่อนระยะเวลาในการยื่นส่งฟ้องออกไปเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่จะถึงนี้
 
17 ก.พ.2560 ลงพื้นที่บ้านห้วยกลฑา ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
 
 
ผลกระทบจากที่ดินของชาวบ้านห้วยกลฑา นำมาสู่การถูกดำเนินคดีโลกร้อน โดยเมื่อวันที่  28 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดหล่มสักนัดฟังคำพิพากษา“ คดีโลกร้อน” ในคดีความเเพ่ง ระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางเเพ่งกับนางมณีรัตน์ คำเบ้า กับพวกรวม 16 คน ตกเป็นจำเลย ทั้งนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายไร่ละ 20,000 บาท ในจำนวนกว่า 9 ไร่
 
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2548 ได้มีการยื่นฟ้องคดีอาญา ในข้อหาหรือฐานความผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 กับ ชาวบ้านห้วยกลทา หมู่ที่ 6 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 11 ราย ต่อศาลจังหวัดหล่มสัก ในคดีหมายเลขดำที่ 831/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 349/2550 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดหล่มสัก โจทก์ นางมณีรัตน์ คำเบ้า ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน จำเลย
 
ต่อมาได้แยกฟ้องจำเลย 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชนต่อศาลจังหวัดเพชรบูรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในคดีหมายเลขดำที่ 340/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 89/2550 คือนางสาวมะลิ คำหมู่ กับพวกรวม 2 คน ในข้อหาหรือฐานความผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535  พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484  โดยทั้ง  2 คดีมีพฤติการณ์ในคดีเป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ จำเลยที่ถูกฟ้องคดีทั้งหมดได้เข้าไปรับจ้างหักข้าวโพดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาเเดง ในพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ 46 ตารางวา และคดีถึงที่สุดแล้ว
 
ต่อมา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯได้ยื่นเป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกครั้งต่อศาลหล่มสัก กับนางมณีรัตน์ คำเบ้า กับพวกอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ได้ยื่นฟ้องผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนทั้งสองเป็นคดีนี้รวมเข้าไปในคดีนี้ด้วยอีก 3 ราย รวมเป็นจำเลยในคดีนี้ทั้งหมด 16 คน โดยอาศัยข้อหาหรือฐานความผิดอาญา บุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง อันเป็นการทำลายป่าเเละเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าเพื่อให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดด้วย ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตาม มาตรา 97 เเห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมเเละรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อฟ้องเรียกมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นรวม 470,978.79 บาท โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว โดยศาลจังหวัดหล่มสักนัดฟังคำพิพากษา เมื่อวันที่  28 ธันวาคม 2559 ที่กล่าวมาแล้วนั้น และผู้ถูกดำเนินคดีได้ทำการยื่นอุทรณ์
 
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านห้วยกลฑา ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในที่ดินทำกิน หลังจากถูกประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 โดยได้มีการประกาศให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และใช้กำลังเข้ามาข่มขู่ จับกุมชาวบ้าน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการถือครองทำประโยชน์ในสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าไม้ กระทั่งช่วงปี 2548 ชาวบ้านถูกดำเนินคดีหลังจากเข้าไปหักข้าวโพดในที่ดินของตัวเอง
 
ปัจจุบันชาวบ้านบอกว่ายังได้รับผลกระทบจากการทำมาหากินในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า มาโดยตลอด โดยมีลักษณะที่เจ้าหน้าที่เข้ามาข่มขู่ เช่น ห้ามไม่ให้เข้าไปหาเก็บเห็ด หน่อไม้ ผักหวาน ในเขตป่า รวมทั้งห้ามนำไปวางขายตามริมทาง หากพบเห็น จะเข้ามาจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น
 
 
 
จะเห็นได้ว่าจากการลงพื้นที่จาก 4 ชุมชน ในจำนวนทั้งหมด 25 ชุมชน ของสมาชิกเครือข่าย คปอ. แต่ละพื้นที่ต่างได้รับปัญหาผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีต่างๆในความพยายามที่จะผลักดันในชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งนอกจากปัญหา ผลกระทบ ความเดือดร้อน ที่ชาวบ้านต่างประสบซะตากรรมที่ไม่ต่างกันเลย คือ  การทวงคืนผืนป่า ส่งผลให้สิทธิของชาวบ้านลดลง
 
นโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเด็ดขาดและเข้มข้น ที่เกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ชาวบ้านหลายๆชุมชนเกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน สิทธิที่ชาวบ้านเรียกร้องกลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรม ทั้งยังมีการดำเนินการออกคำสั่งปิดประกาศขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านผู้ที่ต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม แม้แต่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่นำเสนอข่าวต่างถูกดำเนินคดีตามไปด้วย
 
เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมีนโยบายทวงผืนป่า แต่กลับส่งผลให้สิทธิมนุษยชนของประชาชนลดลง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.