15 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากการออกกฎหมายตามมาตรา 77 ชี้ที่ผ่านมาการเร่งดำเนินการรับฟังเพียงการทำตามแบบฟอร์ม ส่อขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 77
30 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า 15 เครือข่ายองค์ภาคประชาสังคมร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แถลงการณ์ฉบับนี้รวบรวมและสรุปความคิดเห็นจากนักวิชาการ และภาคประชาชน ในงานเสวนา “การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย กับ กรณีการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (แฟ้มภาพ)
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบของกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็นไว้แค่ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ อย่างน้อย 15 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับฟังประชาชนที่ต่ำมาก ทำให้การรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นแค่เพียงพิธีกรรม
“ที่ผ่านมา การเร่งดำเนินการร่างกฎหมายหลายฉบับที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมากเป็นไปอย่างรวดเร็ว การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงการทำตามแบบฟอร์มตามมติคณะรับมนตรีและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ” สุรชัย กล่าว
สุรชัย ยกตัวอย่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า รัฐไม่สนใจการรับฟังความเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย การเปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์จะเริ่มต้นเมื่อรัฐร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อย นอกจากนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สะดวก ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียง 15 วัน ทำให้เสียงของพวกเขาต้องตกหล่นไป
หรือ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ที่จะส่งผลผูกพันกับอนาคตของคนไทยทั้งประเทศไปอีก 20 ปี ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ 8 คน เท่านั้น
ทั้งนี้ แถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาชนต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 มีข้อเรียกร้องต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสองแนวทาง
ในระยะสั้น ให้ชะลอร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และนำมารับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านเสียก่อน ส่วนร่างกฎหมายใหม่ในทุกลำดับชั้น รวมทั้งคำสั่งตามม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หากไม่เช่นนั้น ภาคประชาชนอาจจะหาช่องใช้สิทธิทางศาลคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น
ในระยะยาว ขอให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกฎหมาย ที่กำลังดำเนินการยกร่างกันอยู่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหา และเปิดพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างและแสดงความคิดเห็น” นายสุรชัย กล่าว
15 สำหรับองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมาย ตามมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อาทิ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฯลฯ
รายละเอียดแถลงการณ์ :
แถลงการณ์ 15 องค์กรภาคประชาสังคม เรื่อง แสดงความกังวลต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560
ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน โดยต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ตลอดเกือบสามเดือนหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ข้อเท็จจริงพบว่าการดำเนินการของภาครัฐตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการทำตามแบบฟอร์มตามมติคณะรัฐมนตรีและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฎว่าหน่วยรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างพ.ร.บ.ของตนเองเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่
หลักเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลต่อประชาชน เช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็นของร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีวิถีชีวิตร่วมกับพื้นที่ป่า แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับไม่สามารถมีปากมีเสียงกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ เนื่องจากขาดการรับฟังความเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยรัฐร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น และช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ หรือ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ที่จะส่งผลผูกพันกับอนาคตของคนไทยทั้งประเทศไปอีก 20 ปี ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 8 คน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น
ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเพียงประเด็นหนึ่งของมติคณะรัฐมนตรีที่สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ทั้งนี้ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น หน่วยงานไม่มีการสรุปเนื้อหาของร่างกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจโดยง่าย ไม่บอกวัตถุประสงค์ในการยกร่างให้ชัด หรือการไม่มีหน่วยงานกลางในการดูแลควบคุมคุณภาพในการออกกฎหมาย
.
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้กระบวนการออกกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีความโปร่งใส่ และให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองมากขึ้น เครือข่ายภาคประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในสองแนวทาง ดังนี้
ในระยะสั้น
1. ในทุกขั้นตอนของกระบวนการร่างกฎหมายหน่วยงานรัฐ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของตนเองมีอะไรบ้าง การดำเนินการเป็นอย่างไร หรือถ้ากำลังมีแนวคิดในการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า
2. ร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้ชะลอการร่างกฎหมาย และให้นำมาประเมินผลกระทบตามหลักการสากลและรับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านเสียก่อน
3. ร่างกฎหมายใหม่หลังจากนี้ในทุกลำดับชั้น รวมทั้งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามม.44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ สิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77
4. ให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมาตรฐานสากล ซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย มีสถาบันวิชาการและนักวิชาการไทย ได้ศึกษาไว้เป็นตัวอย่างที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว
5. หากไม่มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ภาคประชาชนอาจจะหาช่องทางในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น
ในระยะยาว
1. ให้สำนักงานคณะกฤษฎีกาเปิดเผย ร่างพ.ร.บ.กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกฎหมาย ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
2. ให้มีการเปิดพื้นที่และช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายและแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
3. ให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ วางอยู่บนหลักการทางวิชาการและข้อเท็จจริงทางสังคมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน
องค์กรภาคประสังคมตามรายชื่อแนบท้ายจึงข้อเรียกร้องต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการออกกฎหมายที่เกิดขึ้นลดการเกิดผลกระทบต่อประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมได้แสดงความเห็นในร่างกฎหมายที่จะกระทบต่ออนาคตของตนเอง และให้การออกกฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
รายชื่อองค์กร
1. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
3. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
5. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
6. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
7. กลุ่มศึกษาตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
8. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
9. เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคใต้
10. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออกและเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคตะวันออก
11. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
12. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
13. สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ดและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด
14. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
15. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
แสดงความคิดเห็น